ไอดอลเก๋า! เต๋อ นักเขียนบทรุ่นใหม่มาแรง
ฉันทวิชช์ ธนะเสวี : ความคิด มุมมอง ของนักเขียนบทรุ่นใหม่มาแรง
ฉันทวิชช์ ธนะเสวี หรือ เต๋อ คนรุ่นใหม่ที่โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นงานเบื้องหลังอย่างงานเขียนบทหรืองานเบื้องหน้าในฐานะนักแสดงนำ จากภาพยนตร์ทำเงินของ บริษัท จีทีเอช อาทิ "ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น", "โปรแกรมหน้าวิญญาณอาฆาต" จนมาถึงเรื่อง "กวน มึน โฮ" ที่ทำให้เขากลายเป็นพระเอกหนังร้อยล้านคนล่าสุด ถือว่าเขาเป็นคนหนุ่มที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในเวลารวดเร็ว วันนี้ GUEST TALK เลยไม่พลาดที่จะพูดคุยกับเขาถึงความคิด มุมมอง ของการทำงาน
ค้นพบว่าตัวเองเป็นคนที่เขียนบทได้ดี
"ตอนที่ผมจะเรียนจบ ม.6 ผมก็เอาชื่อเพื่อนทุกคนในห้องมาเขียนเป็นเรื่องเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเพื่อนทุกคนออกจีนๆ หน่อย ตัวละครคือเพื่อนในห้องทั้งหมด 30-40 คนได้ ผมเขียนได้ยาวมากประมาณ 200 หน้าได้ ในเวลา 3-4 เดือน ตอนแรกเขียนมา 2 ตอนก่อนแล้วเอาไปให้เพื่อนอ่านแล้วเพื่อนชอบบอกเอาอีก ผมก็เลยกลับมาเขียนอีกแบบบ้าเลือด โดยที่ผมไม่รู้หรอกว่าสิ่งนี้คืออะไรรู้แค่ว่าสนุกเวลาได้ทำและเราชอบ จนมาเอนทรานซ์เข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมถึงได้รู้ว่าสิ่งนี้คือการเขียนบท
ผมจะถือคติผมทำสิ่งที่ผมชอบ เหมือนเราเรียนหนังตอนแรกไม่รู้ด้วยซ้ำจบมาจะทำอะไร แต่รู้สึกเราชอบก็น่าจะทำได้ดีที่สุด ตอนเรียนก็มีทำหนังสั้นและไปเล่นเอ็มวีให้เพื่อน จากนั้นได้ไปแคสโฆษณา ชิ้นแรกในชีวิตคือ 'วันทูคอล' ปรากฏว่าโฆษณาตัวนี้ดังประมาณหนึ่งทำให้ผมมีงานเอ็มวีเข้ามา คือเพลง 'ไม่มีใครรู้' ของ เป๊ก ผลิตโชค เพลง 'คืนข้ามปี' ของ ดา อินโดรฟิน"
โอกาสมาพร้อมกับความสามารถแต่ต้องมีความพร้อม
"เหมือนโอกาสมาโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่โชคดีที่เรามีความพร้อมอยู่แล้ว และสนุกที่ได้ทำ มันก็เลยกลายเป็นเส้นทางชีวิตของผมสองเส้นที่เดินควบคู่กันไป ทางหนึ่งคือชอบเขียนบทก็ทำหนังสั้นก็เขียนบทไป อีกทางเป็นทางแสดง มันเข้ามาพร้อมๆ กัน เพราะผมสนุกกับทั้งคู่ แต่พอผมเรียนจบ เพื่อนผมชื่อเมษ ซึ่งทำหนังสั้นเรื่องหนึ่งและได้ไปฉายในงานเทศกาล พี่เก้ง จิระมณีกุล เห็นแล้วชอบมากเลยเรียกเพื่อนผมไปเขียนบทให้ ผมเลยมีโอกาสได้เข้ามาทำงานตรงนี้ มาเขียนบทหนังกับเพื่อนเรื่องแรกคึอ 'เก๋า เก๋า' ซึ่งตอนนั้นผมก็มีงานเอ็มวีและงานโฆษณาเล่นด้วย
แต่ผมรู้สึกว่าโอกาสเป็นสิ่งที่เราไขว่คว้าไม่ได้ มันจะมามันก็มาเอง สิ่งที่เราทำได้คือเราต้องพร้อมเสมอตลอดเวลา อย่างตอนเขียนบทหนังเรื่องแรก 'เก๋า เก๋า' ผมรู้สึกว่าผมถนัดเขียนบท ผมเขียนได้ผมเขียนเก่งตอนสมัยเรียน แต่พอได้มาเขียนจริงมันเละเทะมาก มันยากและมีอะไรมากกว่าที่ผมคิดไว้เยอะเลย จนผมกับเพื่อนๆ รู้สึกท้อเครียดกันหมด สุดท้าย 'เก๋า เก๋า' ใช้เวลาเขียนบท 1 ปี 6 เดือน นานมากเลย เพราะต้องแก้เยอะ พอเขียนบทเสร็จเพื่อนคนอื่นก็ไปทำอย่างอื่นเหลือผมกับเมษสองคน เมษชัดเจนอยากเป็นผู้กำกับฯ เลยทำต่อ ส่วนผมรู้สึกว่าคงไปทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว คือทั้งชีวิตที่ผมชอบดูหนัง ผมรู้สึกเขียนบทได้ อย่างอื่นผมทำไม่เป็นเลยอดทนเขียนต่อ
จาก 'เก๋า เก๋า' มาเขียนบทเรื่อง '4 แพร่ง' ตอน 'คนกลาง' ซึ่งค่อนข้างได้รับคำชมเยอะ ทำให้ผมได้รู้ว่าทางของผมเป็นแบบนี้ ผมเข้าใจทางตัวเองแล้ว ต้องเป็นแนวตลกร้าย ตลกหน้าตายสถานการณ์ พอมีเรื่อง '5 แพร่ง' ผมเลยได้มาเขียนบทอีกตอน 'คนกอง' แนวกวนๆ หน่อยผมเลยเริ่มเข้าใจ และช่วงเวลานั้นได้โอกาสอีกอย่างหนึ่งได้เล่นหนังเรื่อง 'ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น' มา 'โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต' จนมาถึงเรื่อง 'กวน มึน โฮ' ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่การทำงานสองเส้นของผมมาบรรจบกัน เพราะผมเขียนบทหนัง แต่ผมไม่เคยเล่นบทหนังที่ผมเขียนเอง มาเรื่อง 'กวน มึน โฮ' ที่ผมร่วมเขียนบทและเล่นเองด้วย"
เขียนบทร่วมกับคนอื่นมาตลอดยังไม่พร้อมที่จะแยกออกมาเขียนบทคนเดียว
"จริงๆ ผมก็เขียนได้นะ แต่ผมรู้สึกยังไม่เก่ง คือเขียนหลายคนเหมือนมีคนคอยเช็กกันจะดีกว่า แต่ถ้าให้เขียนเดี่ยวเขียนได้ แต่ดีหรือเปล่าไม่รู้ เพราะไม่มีใครมาคอยบอกเราดีหรือไม่ดี บางทีเขียนเองจะมีอีโก้บางอย่างที่บอกดีแล้ว แต่เขียนหลายคนต้องมีจุดยืนและรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ คือเขาก็ให้โอกาสแต่ผมยังไม่ยอมเขียน ผมอยากเก็บเกี่ยวประสบการณ์เยอะๆ ก่อน"
การเขียนบทหนังสมัยนี้ต้องตอบกระแสหรือตอบโจทย์คนดู
"ก็มีส่วนนะเพราะเราเขียนบทหนังไม่ได้เขียนเพื่อตัวเองนะ เราเขียนเพื่อคนดู แล้วคนที่อ่านหรือวิจารณ์เขาคือคนดูคือคนอ่าน เหมือนตอนที่ผมเขียนเรื่องสั้นตอน ม.6 ถ้าเขียนไปเพื่อนทุกคนด่าว่าห่วยมากเลย ผมยังดื้อเขียนต่อไปก็ไม่มีใครอ่าน งานชิ้นนั้นก็ไม่มีค่า ผมรู้สึกเราทำหนังเพื่อตอบโจทย์คนดู คือบางครั้งความเป็นตัวตนก็สำคัญนะ อย่างที่ผมได้ค้นพบว่าผมเป็นคนกวนๆ เลยเขียนบทแนวกวนๆ ไปก็เป็นตัวเอง นั่นคือตอบโจทย์ตัวเอง ในขณะเดียวกันความกวนก็ไม่ได้ถ่อยมากๆ จนคนดูรับไม่ได้ ก็ต้องคำนึงถึงคนดูด้วยว่ามีตรงไหนที่คนดูรู้สึกตลก ดูแล้วรู้สึกฮาน่ารัก"
วิธีหรือมุมมองในการเขียนบทของคนรุ่นใหม่อย่างเต๋อ
"ถ้าเป็นข้อมูลมันหาได้ทุกที่ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนเจออะไรเอามาเป็นวัตถุดิบได้หมด ยิ่งเราเป็นนักแสดงยิ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดี เพราะเราต้องไปโน่นไปนี่ตลอดเวลาได้เจอที่ใหม่ได้เจอคนแปลกๆ ก็มี เป็นวัตถุดิบในการเขียนบทได้หมด แต่ขั้นตอนการเขียนบทที่ยากสุดคือตอนจบ สมมติเราไปดูหนังเรื่องนี้มาทั้งเรื่องห่วยมากเลยแต่มันจบดีมาก เราจะไปเล่าให้เพื่อนฟังว่าหนังเรื่องนี้ดีมันเป็นความประทับใจครั้งสุดท้าย
ในขณะเดียวกันถ้าตอนต้นดีมากแต่ตอนจบห่วยแตกเขาจะมาพูดว่าหนังห่วย เพราะฉะนั้นตอนจบมันต้องเป็นอะไรที่ระยะสุดท้ายเราต้องทำให้ได้ต้องเอาใจคนดูให้ได้ ดังนั้นมันเลยยากถ้าเป็นหนังผีก็ยากตรงที่ต้องหักมุม ต้องมีความไม่คาดฝัน แต่ทุกวันนี้มันหักมุมไปล้านแบบแล้ว มันคิดไม่ออกแล้วจะหักมุมอะไรได้อีก"
มองวงการเขียนบทตอนนี้ยังไง
"ผมว่าหนังไทยยังมีปัญหาเรื่องบทเพราะคนมันน้อย น้อยมากจนน่าตกใจ เมื่อมันน้อยเงินไม่ค่อยได้เยอะมาก ดังนั้นคนที่เป็นนักเขียนบทจึงรีบทำให้จบเพื่อไปทำเรื่องใหม่ ผลงานเลยออกมาไม่ดี ผมก็ไม่รู้จะแก้ยังไงนะ เพราะคนต้องหาเลี้ยงชีพ อย่างตอนที่ผมเขียนบทเรื่องแรกใช้เวลาปีครึ่งผมจนแกลบมากต้องต้มมาม่ากิน โอ้โฮ...ชีวิตมันแย่มากไม่มีเงินจริงๆ การเขียนบทหนังให้มันออกมาดีๆ ต้องใช้เวลาแต่ถ้าใช้เวลานานขนาดนี้ก็ไม่ได้ ผมเลยรู้สึกว่าถ้าได้เงินเพิ่มก็คงดี
แต่ที่ได้เงินน้อยผมหมายถึงคนเขียนบทรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำจะได้เงินไม่เยอะหรอก ทำให้บางคนก็ท้อเลิกเขียน แต่ถ้าเป็นคนเขียนบทเก่าๆ จะได้เงินเยอะ หรือบางคนพอเขียนบทเสร็จแล้วก็ไม่มีที่ไป เขียนจบแล้วจะเอาไปไหนเอาไปขายถ้าเขาไม่ซื้อก็ต้องเลิกล้มไป แต่ผมเชื่อว่าถ้าบทมันดีจริงๆ สุดท้ายมันจะมีทางของมัน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะไม่ปั้นมันดีขนาดนั้นก่อนที่จะมาขาย ผมว่าอย่าไปท้อเลยเอาไปให้เขาดูแล้วเขายังไม่ชอบก็ทำใหม่ทำส่งไปเรื่อยๆ"
คิดจะเขียนบทละครบ้างไหม
"ผมเคยเขียนซีรีส์แต่เขียนแค่ 3-4 ตอน ผมว่ามันเป็นคนละศาสตร์กัน ผมเคยอ่านบทละครแล้วผมงงอ่ะ ผมรู้สึกมันเป็นคนละแบบกันเลย คือหนังทุกอย่างต้องกระชับต้องตัดออกไปเลย ในขณะที่ละครมันต้องยืดให้ตรงตามเวลา ให้มันจบใน 1 ตอนต้องน่าสนใจ แต่หนังไม่ใช่ต้องร้อยเรียงให้คนดูต้องตัดออกไป เพราะยิ่งยาวยิ่งน่าเบื่อ ในขณะที่ละครควรจะยาวๆ เพราะคนจะติดตามตลอด ผมเลยรู้สึกว่าเขียนอย่างนั้นไม่ได้เขียนไม่เป็น ถามว่าอยากลองไหมอยากลองนะ แต่คงไม่มีเวลาไปลองขนาดนั้น ก็มีติดต่อมาแต่ผมก็ขอดูก่อนนะครับ"
เป็นคนเขียนบทรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างเร็ว
"ก็เร็วจริงๆ ผมก็ต้องขอบคุณทุกคน ชีวิตนี้ผมได้โอกาสเยอะมากไม่คิดว่าจะได้โอกาสขนาดนี้ รู้สึกดีใจมากที่ได้เล่นและได้เขียนบทได้ทำทุกอย่างอย่างที่ตัวเองอยากทำและมีความสุขกับมัน"
อยากลองงานกำกับฯ
"อยากมากเป็นความฝันอย่างหนึ่งแต่ขนาดให้เขียนบทคนเดียวยังไม่พร้อมเลย กำกับฯ ผมว่าเอาไว้ก่อนดีกว่า ให้เขียนบทคนเดียวให้ได้ก่อนค่อยคิดถึงงานกำกับฯ ทางจีทีเอชก็ให้โอกาสนะ แต่ผมก็เอาไว้ก่อนดีกว่า ผมดันเป็นคนคิดมากและคาดหวังสิ่งดีๆ เยอะ บางคนอาจจะงานชิ้นแรกไม่เป็นไรหรอกทำออกมาห่วยๆ ก็ได้ไม่เป็นไร แต่ผมรู้สึกว่าเขาจ้างเรามาทำเราจะมาคิดอย่างนี้ไม่ได้ต้องทำให้ดีมากๆ แล้วมันก็จะเป็นการกดดันตัวเอง เพราะผมรู้สึกยังไม่เก่งพอจะทำให้มันดีขนาดนั้นได้ ผมว่าอีกสัก 3-4 ปีอาจจะพร้อมกับงานกำกับฯ"
ไม่ได้ผูกขาดกับจีทีเอชแต่ก็ไม่คิดไปทำที่ไหน
"ไม่เชิงแต่ทำก็ทำกับจีทีเอชที่เดียว มันรู้สึกไม่ค่อยสะดวกใจ รู้สึกทำงานกับทีจีเอชแล้วผมสะดวกใจ เพราะคุยกันได้ทุกเรื่อง พอทำงานกับที่อื่นบางทีเขาก็ให้เงินเยอะนะรู้สึกก็น่าทำ แต่แบบไม่รู้สิมันไม่สบายใจเท่าไหร่ คือผมอยากทำในสิ่งที่ผมชอบและอยากอยู่ในที่ที่ผมมีความสุข ซึ่งผมอยู่ตรงนี้ผมมีความสุขมาก ผมไม่อยากไปอยู่ที่อื่น หรือไปลองที่อื่นแล้วเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีความมสุข เหมือนเขาบอกการอยู่ในที่ที่เราไม่สบายใจแม้เพียงนาทีเดียวก็ไม่คุ้ม
และสิ่งที่ผมชอบมากๆ ที่จีทีเอช เหมือนการทำงานมีคนสอนเราด้วยนะ ไม่เหมือนเราทำงานเหมือนเรากำลังเรียนรู้ เวลาเราส่งบทไป พี่เก้ง อ่านจะบอกตรงนี้ไม่ดีตรงนั้นไม่ดีเพราะอะไร ตรงนี้จะสื่ออะไรก็คุยกัน มี พี่วรรณฤดี ครีเอทีฟ ที่เก่งคอยสอนเรา ทุกคนสอนเราหมดเลยในทุกๆ ด้าน ในแง่การตลาดก็จะมีคนคอยสอนเราตรงนี้จะขายได้ดีกว่า"
อยากให้หนังไทยมีคุณภาพ
"ผมเชื่อมาตลอดว่าคนไทยมีศักยภาพดีมากที่จะทำหนังดีมากๆ สู้กับเมืองนอกได้สบาย เวลาผมไปบอกกับทีมงานต่างชาติว่าผมทำหนังเรื่องนี้ด้วยงบแค่นี้นะ ทุกคนตกใจมากเงินแค่นี้ทำได้ขนาดนี้เลยหรือ ผมก็เลยรู้สึกว่าอย่าให้อะไรมาทำลายความเก่งของเรา เหมือนบางครั้งเรารู้สึกทำอันนี้ไปให้มันเสร็จๆไปดีกว่าจะได้รีบฉายเอาเงินมา สู้เราให้เวลากับมันอีกนิดแล้วทำผลงานที่ดีออกมาดีกว่า
หนังไทยช่วงหลังๆ เยอะขึ้นจริงแต่บางเรื่องคุณภาพไม่ค่อยมี เราไม่ต้องทำเยอะเรื่องแต่เอาคุณภาพเยอะๆ คนจะได้ให้ความมั่นใจกับหนังไทยมาก คนไทยไม่ค่อยชอบดูหนังไทยชอบไปดูหนังฝรั่งไม่รู้ทำไม หรือบางทีอาจจะมีหนังที่เขารู้สึกไม่โอเค. ก็อยากให้คนไทยเปิดกว้างดูหนังไทยกันเยอะๆ เพราะหนังไทยที่ดีๆ เยอะนะ ผมรู้สึกว่าบางเรื่องดีมากๆ เลยแต่ไม่ได้เงิน ผมรู้สึกเสียดายแทนเขา ก็ต้องช่วยกัน คนดูก็ต้องช่วยดูคนทำก็ต้องช่วยทำให้มันดีๆ ความฝันของผมอยากเห็นหนังไทยไปฉายเมืองนอกไปฉายตลาดใหญ่ๆ สมมติผมอยู่ออสเตรเลียแล้วเห็นหนังไทยเข้าฉายในโรงของเขาด้วย มันจะมีความรู้สึกที่ดีมากว่าหนังไทยมาอยู่ที่นี่แล้ว"
ข้อคิดสำหรับน้องๆ
"มันก็เหมือนนักกีฬาไม่มีใครสนุกกับการฝึกฝนแต่เราก็ต้องหมั่นฝึก การเป็นนักเขียนบทก็ต้องฝึกฝนเรียนรู้ทุกอยางว่าโลกไปถึงไหนแล้ว มีเรื่องอะไรน่าสนใจแล้วฝึกเขียนไปเลย เขียนให้เพื่อนให้ใครอ่านก็ได้ สักวันโอกาสมาแล้วเราพร้อมจะไปเร็วมาก แต่อย่าไปท้อเสียก่อน"