10 หนังบันดาลใจ ของหนุ่มมาดกวน จอห์น วิญญู

10 หนังบันดาลใจ ของหนุ่มมาดกวน จอห์น วิญญู

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิบหนังบันดาลใจ นักจิกตีเสียดสีสังคมแห่งยุคสมัย จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ในยุคสมัยที่สื่อกระแสหลักของบ้านเราตกอยู่ในความมืดบอดทางปัญญา อ่อนล้า ขาดไร้ข้อมูล เพราะมัวแต่กังวลสนใจหมกมุ่นขุดคุ้ยอยู่แต่ว่าใครเป็นพ่อของลูกใคร? ใครแย่งผัวแย่งเมียใคร? หรือคลิปลับนี้เป็นของดาราคนไหน? ไม่ต่างอะไรกับละครหลังข่าว หรือไม่ก็สักแต่นำเสนอข่าวสารด้วยข้อเท็จจริงที่เบาบาง มุมมองที่ตื้นเขินจำเจ นำเสนอข้อมูลที่คับแคบแต่เพียงด้านเดียว ทางออกของประชาชนผู้เบื่อหน่ายความซ้ำซากในยุคการสื่อสารไร้พรมแดนเยี่ยงนี้ ก็คือการหันไปหาสื่ออิสระหรือสื่อทางเลือกอย่างอินเตอร์เน็ตนั่นเอง และในท่ามกลางสื่ออิสระ สื่อทางเลือก หรือสื่อออนไลน์อันหลากหลายมากมายที่ว่า ก็กำลังมีดาวรุ่งพุ่งแรงที่น่าจับตาอยู่คนหนึ่ง! ในภาคหนึ่ง เขาสวมบทบาทเป็นดีเจและพิธีกรรายการโทรทัศน์ขวัญใจวัยทีนผู้สนุกสนานเฮฮา แต่ในอีกภาคหนึ่ง เขาคือนักจัดรายการทีวีนักเสียดสีการเมืองและสังคมตัวยง ผ่านรายการ "เจาะข่าวตื้น" ที่ออกอากาศทางอินเตอร์เน็ตอย่าง iHere TV ของเขาเอง ด้วยสโลแกนเจ็บ ๆ ว่า ดูถูกสติปัญญา เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ดูถูกสติปัญญาคนดูอย่างที่ว่าเลย กับการนำเสนอเรื่องราวข่าวเด่นประเด็นร้อนทางสังคม วัฒนธรรม ไปจนถึงการเมือง ที่นำมาบอกเล่า วิพากษ์วิจารณ์ ไปจนถึงกระทบกระเทียบเสียดสีด้วยลีลาอันแสนจะยียวน แสบสัน โหด มัน และโคตรฮา แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความลุ่มลึกคมคาย บวกกับการวิเคราะห์เจาะข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ไม่น้อยหน้ารายการคุยข่าวที่ชอบอ้างตัวว่าเจาะลึกข้อมูลทั้งหลายเลย (เผลอ ๆ จะลึกกว่าด้วยซ้ำไป) ด้วยความที่เป็นแฟนอันเหนียวแน่นของรายการเขาเราจึงถือวิสาสะ และถือโอกาสทวงสิทธิอันชอบธรรม ในการบุกรุกเข้าไปขุดคุ้ย ล้วงแคะ แกะเกามุมมอง ความคิดทัศนคติ ของนักจิกกัดเสียดสีสังคมแห่งยุคสมัยอย่างจูวินยอน เอ๊ย! จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ผ่านหนัง 10 เรื่องที่เขาเลือกมา ว่ามันจะแสบสัน โหด มัน ฮา และลุ่มลึกคมคายเหมือนอย่างรายการของเขาหรือไม่? ก็ต้องมาพิสูจน์กัน! เข้าเรื่องหนังที่คุณจอห์นเลือกมาเลยนะครับ เรื่องแรก Cinema Paradiso Cinema Paradiso นี่ต้องยกให้คุณแม่ เพราะคุณแม่ก็หยิบมาดูบ่อยพอสมควร คือจริง ๆ แล้วผมชอบในแง่ที่มันเป็นหนังต่างประเทศที่ไม่พูดภาษาอังกฤษเรื่อง แรก ๆ ที่ผมดูแล้วผมรู้สึกว่ามันสามารถสื่อสารกับเราได้ดีพอสมควร แล้วผมว่าเขาจับประเด็นได้ค่อนข้างกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครอบครัว ความสัมพันธ์ การวางตัวในสังคม กับสิ่งที่มันเกิดขึ้นในอิตาลี ในซิซิลี เรื่องของเทคโนโลยีอะไรต่าง ๆ ที่มันเพิ่งเข้ามา อย่างเมื่อก่อนนี่ เวลาคุณอยากรู้อยากรับข่าวสาร อยากรู้เรื่องอะไรคุณต้องไปนั่งในโรงภาพยนตร์ ดูพร้อม ๆ กับชาวบ้านเขา อย่างตัวเอกของเรื่อง โตโต้ ที่พ่อของเขาเสียชีวิตในสงคราม หรือว่าการที่เขาเหมือนกับได้พ่ออีกคนนึง ก็คือ อัลเฟรโด้ เราก็รู้สึกว่ามันพูดถึงเรื่องราวของการมีปฏิสัมพันธ์กันในสังคม บางทีไม่จำเป็นต้องเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน คุณก็สามารถมอบความรู้สึกดี ๆ ความห่วงใยให้กันได้ มันก็เป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจให้เรา โดยเฉพาะกับหนังที่แบบ... ฉิบหายแล้ว ดูยากมากว่ะ! (หัวเราะ) มันพูดภาษาอิตาเลียนแล้วต้องอ่านซับฯ

ได้ดูตอนอายุเท่าไหร่ครับ โหย เด็กมาก! ตอนนั้นอยู่ประถมน่ะครับ มันก็ฝังใจ รู้สึกประทับใจ ตอนเด็กก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไมไอ้ โตโต้ตอนเด็กมันดูมีสีสัน มีความสดใสอยู่ในตัวเขา แต่พอโตขึ้น มันเหมือนบางส่วนของเขาตายไป คือเขาก็ประสบความสำเร็จ โด่งดัง ทำชีวิตให้ดีขึ้นได้ ส่งเงินกลับมาให้แม่ ให้น้องมีกินมีใช้สบาย แต่อะไรสักอย่างของเขามันหายไป แล้วในตอนท้ายการที่เขาได้มาสัมผัสความรู้สึกที่อัลเฟรโด้ทิ้งไว้ในม้วนฟิล์มที่เมื่อก่อนถูกเซ็นเซอร์ ที่ภาพการจูบ แม้กระทั่งการเห็นขาสวย ๆ ของนางเอก หรืออะไรที่มันค่อนข้างเปิดเผย มันก็เหมือนเขาได้ความรู้สึกดี ๆ เหล่านั้นกลับมา ซึ่งเรารู้สึกว่า พวกเราที่ใช้ชีวิตกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรจะปล่อยให้ความรู้สึกนั้นหายไป ถ้ามันคงอยู่กับเราได้ตลอดเวลา ชีวิตเราคงมีความสุขอย่างเต็มที่ การเป็นผู้ใหญ่ทำให้เราสูญเสียอะไรบางอย่าง เยอะครับ! ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันอาจจะเป็นการตีความอย่างนั้นก็ได้ เมื่อคุณโตขึ้น หรือคุณต้องไปเผชิญโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น ความเจ็บปวด ความเศร้า ความน่าเบื่อ มันอาจจะมีให้คุณได้เจอทุกวัน แต่การที่คุณได้ความรู้สึกดี ๆ กลับมา ความรู้สึกห่วงใย ความรักจากใครสักคนที่เขายังเก็บไว้ให้เราอยู่ มันก็ดีเหมือนกัน เรื่องที่สอง Any Given Sunday ครับ ผมตามงานของ โอลิเวอร์ สโตน มานานแล้ว อาจจะไม่ได้ดูครบทุกเรื่อง แต่พยายามดูเท่าที่หาได้ แล้วก็ที่ความรู้สึก ณ เวลานั้นอยากจะเสพหนังของเขา อย่าง Wall Street, Platoon แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ผมชอบในแง่ของการตัดต่อมากกว่า คือมันเป็นหนังกีฬา แล้วมันก็มีการเปรียบเทียบเรื่องราวการเป็นผู้นำ การเสียสละ แล้วก็มีการนำเสนอในเรื่องของชื่อเสียง เงินทองที่มันมีส่วนเข้ามาแทรกแซงในวงการกีฬา ถ้าเกิดเขานำเสนอในฟีล Wall Street แมร่งก็คงเป็นหนังกีฬาที่น่าเบื่อมาก ๆ (หัวเราะ) แต่เวลาที่เขาตัดต่อ เวลาที่เขาใส่เสียง ใส่เพลงในหนัง มันทำให้ผมรู้สึกว่าการตัดต่อเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ อย่างตอนเปิดเรื่องที่เขาโคลสอัพไปที่หน้าของนักกีฬาแต่ละคน แล้วก็เป็นเสียงของสิงสาราสัตว์ เสียงคำรามของสิงโต ก็คือคล้าย ๆ กับเมื่อเขาอยู่ในสนาม เขาก็เป็น Animals หรือเป็น Gladiator แล้วเขาก็มีการตัดต่อย้อนถึงอดีตให้คุณนึกถึงสภาพกีฬาสมัยก่อนที่มันบริสุทธิ์ เป็นการเล่นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับคนในสังคม ซึ่งผมว่าการตัดต่อในเรื่องนี้ของเขาเจ๋งว่ะ!

ดู ๆ ไปมันก็คล้ายงานโฆษณาเหมือนกันนะ ใช่! มันทำให้ไม่น่าเบื่อ แล้วอันนี้ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่านะ แต่ผมรู้สึกว่า หนังเรื่องนี้ ถ้าวัยรุ่นคนไหนดูแล้วจะกลายเป็นแฟนหนังของโอลิเวอร์ สโตนไปทันที เรื่องที่สามครับ Magnolia พ่อผมสอนมาว่า สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในสังคมของเรา ก็คือสถาบันทางสังคม ที่มันเหมือนเสาหลักของสังคมที่มีอยู่เจ็ดอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ นันทนาการ (ศาสนา การศึกษา สื่อสารมวลชน) แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นพื้นฐานของทุกอย่างก็คือครอบครัว ซึ่งผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้นำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในสถาบันครอบครัวว่า ถ้าเราปล่อยให้มันยังแย่แบบนี้ต่อไป ผลกระทบมันจะเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรม การเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งมันส่งผลเสียกับสังคม ซึ่งผมก็ชอบตั้งแต่ตอนต้นที่เขามีการนำเสนอเรื่องราวที่มันดูเหมือนจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือเปล่าวะ? ตั้งแต่การฆาตกรรมของหมอที่ตายบนถนนนี้ แล้วชื่อเสือกเหมือนคนฆ่าทั้งสามคน หรือแม้กระทั่งเรื่องที่โคตรเพี้ยนพิสดารของคนที่ตกลงมาจากยอดตึกเก้าชั้นและโดนยิงระหว่างทางที่ตกลงมาโดยพ่อแม่ตัวเอง ซึ่งแบบว่า โอ้โห! มันเกิดขึ้นมาได้ไงวะ! คือเขาก็คงพยายามจะทำให้เห็นว่าเรื่องบังเอิญพวกนี้มันคงเกิดขึ้นได้ ชีวิตมันมีความเชื่อมโยงกัน แต่อย่าลืมสิว่า ไอ้สิ่งที่มันโคตรชัดเจนอย่างเรื่องครอบครัว อย่างเรื่องที่ลูกสาวโดนพ่อข่มขืนกระทำชำเราตั้งแต่เด็กมันมีอยู่ ซึ่งมันก็ต้องส่งผลอย่างชัดเจนกับเขาอยู่แล้ว มันก็ต้องเป็นแผลอะไรสักอย่างที่ค้างอยู่ในใจเขา

แล้วตัวพ่อเองก็เป็นคนที่มีหน้ามีตาในสังคม ซึ่งจริง ๆ เรื่องแบบนี้มันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นดาษดื่น แม้แต่ในสังคมของเราเอง ใช่ เรามักจะตื่นเต้นกับสิ่งที่มันเกิดได้ยากมาก อย่างเรื่องอุบัติเหตุพิสดาร แต่ว่าสิ่งที่เป็นเรื่องที่เลวร้ายที่ไม่น่าจะรับกันได้ กลับมองว่าเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทั่งบางทีก็ยอมรับมันด้วยซ้ำ เหมือนที่เขาพูดว่า บาปของพ่อแม่ท้ายที่สุดแล้วมันก็ต้องตกเป็นของลูก ซึ่งมันก็จะค้างอยู่อย่างนั้นตลอดไป ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะ ถ้าครอบครัวไม่ดี ผลผลิตที่ส่งออกมาสู่สังคมมันก็ต้องด่างพร้อยเช่นกัน มันอาจจะเป็นเรื่องของการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในสังคม แต่กลับละเลยในสิ่งที่เบซิกเบสิก นั่นก็คือเรื่องของครอบครัว เรื่องที่สี่ Reservoir Dogs ครับ อันนี้ชอบแค่ความดิบของมัน (หัวเราะ) ชอบในแง่ที่มันเป็นหนังแก๊งสเตอร์เท่ ๆ ที่ไม่ต้องละเมียดมากน่ะ ผมชอบ เควนติน ทารันติโน่ อยู่แล้ว คือผมดู Pulp Fiction ก่อน เพราะมันเป็นหนังที่พี่สาวผมเอาไปทำเป็นรายงาน บทวิจารณ์ตอนที่เขาเรียนฟิล์มอยู่ที่วารสารฯ ธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจารย์ก็เหมือนจะรับไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ (หัวเราะ) ตอนนั้นพี่สาวก็ดูเป็นบ้าเป็นหลัง แม่ก็มาดูด้วยว่าหนังบ้าอะไรวะ! เราดูแล้วก็เออ มันเจ๋งดีว่ะ! วิธีการเล่าเรื่องสำหรับผมตอนนั้นมันเป็นอะไรที่ใหม่

งั้นควบเรื่องที่ห้าไปด้วยเลยนะครับ Pulp Fiction (หัวเราะ) ควบไปเลยแล้วกันครับ คือผมชอบวิธีการนำเสนอของเขาอยู่แล้ว สลับโน่นสลับนี่ เอาตอนนั้นไปไว้ตรงนี้ ตอนนี้ไปไว้ตรงนั้น ไม่เรียงลำดับเวลา ใช่ ซึ่ง Reservoir Dogs ก็มีบางส่วนที่คล้าย ๆ กันกับการเล่าเรื่องตอนที่มีการรวบรวมทีม หรือตอนที่ไอ้ Mr.Orange พระเอกของเรื่องมันอยู่ในช่วงที่ค่อย ๆ เปลี่ยนตัวเองให้เป็นโจรเพื่อเป็นสาย มันก็เป็นสิ่งที่ตื่นเต้นดีในการเสพหนังในลักษณะใหม่ ๆ ที่ดิบ หรือโหดพอสมควร ซึ่งเควนตินเขาก็ขึ้นชื่ออยู่แล้วน่ะ โหดมาก ตัดหู อะไรอย่างงี้ หรือที่หนังพูดเรื่องการปล้นโดยที่ไม่มีฉากปล้นเลย เห็นภาพของการยิงกันตายฆ่ากันตายในโกดังอย่างเดียว ผมมองว่าสองเรื่องนี้มันเอ็นเตอร์เทน สนุก แล้วมันก็ให้รสชาติใหม่สำหรับผมในการดูหนังเวลานั้น แต่ในช่วงแรก ๆ ที่เข้ามาฉายในบ้านเรา คนก็ยังรับไม่ค่อยได้ เดินออกกันตรึม ใช่ ๆ อย่างผมเองต้องดูรอบสองถึงจะเก็ต รอบแรกผมจะ อะไรวะ! สรุปแมร่งยังไงกันแน่วะ! พอดูรอบสองก็อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้นี่เอง บางคนดูหนังแล้วอาจจะแค่เพื่อบอกว่า เฮ้ย! กูดูแล้วว่ะ! เรื่องนี้ แล้วก็จบ แต่การที่เราโดนปลูกฝังให้ต้อง ดูแล้วดูอีก ๆ ๆ ๆ อย่าง Magnolia อีตอนเปิดเรื่องขึ้นมาที่เห็นไอ้ จิมมี่ เกเตอร์ พ่อที่ลวนลามลูกสาวมันกำลังซั่มผู้หญิงอยู่ (ฮา) ผมมักจะคิดมาตลอดว่ามันกำลังซั่มเมียตัวเอง เพราะมันไวมากไง พอมาดูเมื่อสักอาทิตย์ที่แล้วก็เพิ่งรู้ว่าที่เราดูมาเมื่อหลายปีก่อน เราเข้าใจผิดมาตลอด คือจริง ๆ แล้ว คนที่มันซั่มอยู่ เป็นพนักงานในบริษัทตัวเอง แล้วไอ้ช็อตประมาณสักสี่ห้าซีนต่อไป ก่อนที่มันจะไปออกรายการ มันก็บอกให้ผู้ช่วยของมันไปตาม ผู้หญิงคนนี้ไปหามันในห้องอีก แล้วอีผู้ช่วยของมันก็ หา! จะให้ตามมาอีกเหรอ? นี่คุณต้องออนโชว์ในอีก 20 นาทีนี้แล้วนะ! คือคนในบริษัทมันก็คงรู้ว่าไอ้นี่มันเชี่ย มันเลวน่ะ แต่ก็ยอมรับและก็ทนกับความเลวของมัน

ซึ่งถ้าเราไม่สังเกต หรือดูหลายรอบก็คงมองไม่เห็น ใช่ ๆ แม้กระทั่งดู Pulp Fiction ตอนต้นที่มันมีการเปลี่ยนคลื่นวิทยุ ตอนแรกผมก็คิดว่า สงสัยมันเป็นความเท่ในการนำเสนอเพลงหรืออะไรสักอย่างในการดำเนินเรื่อง แต่พอไปฟังดูดี ๆ ตอนที่ จอห์น ทราโวลตา กับ แซมวล แอล. แจ็คสัน คุยกันอยู่ในรถ เพลงมันก็ยังเป็นคลื่นนั้นอยู่ ซึ่งมันก็เป็นการเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มันเจ๋งดี ซึ่งเราจะจับมันได้จากการดูบ่อย ๆ ซึ่งมันก็สนุกดีกับการที่ทุกครั้งเราเปิดขึ้นมาแล้วเจออะไรใหม่ ๆ อย่างสองเรื่องนี้ถ้ามันมาเรียงในแบบปกติมันก็คงเป็นหนังแก๊งสเตอร์ธรรมดาทั่ว ๆ ไป ใช่ มันก็อาจจะออกมาคล้าย ๆ Goodfellas ก็ได้ แต่ Goodfellas มันจะมีรสชาติของการนำเสนอตามสไตล์ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ ซึ่งเค้าก็จะมีการนำเสนอที่... งั้นเข้าเรื่องที่หกเลยนะครับ Goodfellas อ๋อ โอเค! ได้ครับ ๆ (หัวเราะ) คือมันก็แก๊งสเตอร์เหมือนกันใช่ไหมครับ แต่มันอาจจะเป็นของคนสองยุคสองสมัย อย่างเควนติน วิธีการนำเสนอมันก็จะเป็นวัยรุ่น ดู ดิบ ๆ เถื่อน ๆ แต่ของมาร์ตินมันจะดูละเมียดละไม วิธีการเล่าเรื่องแมร่งเจ๋งดีว่ะ! ผมไม่รู้ว่ามันเจ๋งเพราะเขาเขียนบทมาได้ประมาณนึงแล้ว หรือด้วยความที่เขาได้นักแสดงเบอร์ใหญ่ ๆ ที่คุ้นเคยกับเขามาก ๆ อย่าง โรเบิร์ต เดอ นีโร, โจ เพสซี่, เรย์ ลีออตต้า ด้วยความที่องค์ประกอบมันผสมผสานทำให้การเล่าเรื่องธรรมดา ๆ มันโดดเด่นได้ ซึ่งการกำกับหรือการเล่าเรื่องของแต่ละคนก็จะมีรสชาติที่มันแตกต่างกันออกไป อย่างตอนหนึ่งอยู่ดี ๆ ก็เป็นเพลงของ จิมมี่ เฮนดริกซ์ ขึ้นมา แล้วก็ซูมไปที่หน้าของ เดอ นีโร ที่มันกำลังจะทำเรื่องชั่ว ๆ ประมาณว่า เดี๋ยวกูฆ่าแมร่งเลย! แต่ในใจของเราก็ยังแอบมองว่า เท่ว่ะ! (หัวเราะ) มันเป็นรสชาติที่มันสนุกดี บางคนดูแล้วรู้สึกว่ามันรุนแรงเหลือเกิน! แต่มันเป็นหนังที่ผมดูบ่อยมากนะ ต้องโหลดลง ไอพอดไว้เลย เวลาไปต่างประเทศก็เปิดดูอยู่ตลอด ชอบ

เรื่องที่เจ็ด The Dark Knight ครับ ผมเป็นแฟนการ์ตูน แบทแมน อ่านตั้งแต่ ป.4 ป.5 แล้วแม่ก็จะเห็นว่าเราอ่านเยอะมาก บ่อยมาก ก็จะตั้งคำถามว่า ทำไมชอบอ่าน ชอบแบทแมนกับ โรบิน เหรอ? ป่าว ไม่ใช่ เราชอบ โจ๊กเกอร์ แล้วแม่ก็จะ หา! โอ้มายก็อด! ลูกฉันโตขึ้นจะกลายเป็นเด็กเลว เป็นพวกต่อต้านสังคมหรือเปล่าเนี่ย? ซึ่งเออ...ก็เป็นอยู่นี่หว่า (หัวเราะ) แล้วแม่ก็จะบอกตลอดว่า ไม่ได้นะลูก อย่าไปเลียนแบบไอ้นี่นะ! (หัวเราะ) จำได้ว่าตอน ป.5 ป.6 ก็อยากจะดูหนังแบทแมนมาก ๆ แม่ก็มาบอกว่า ก็มีนี่! มีที่เป็นโจ๊กเกอร์ด้วย เราก็ หา! จริงหรือนี่? ก็ไปขวนขวายหามา เป็นแบทแมนเวอร์ชั่น ทิม เบอร์ตัน, แจ็ค นิโคลสัน เล่นเป็นโจ๊กเกอร์ ซึ่งจริง ๆ ก็ผิดหวังนิดนึงว่าทำไมโจ๊กเกอร์ถึงออกมาเป็นแบบนี้วะ! คือตอนนั้นอาจจะยังไม่ได้ดูหนังเขาเยอะ มาชอบเขาตอนดู China Town, About Schmidt แต่ตอนดูตอนนั้นเราก็รู้สึกว่า แมร่งเอ๊ย! มันเลวได้มากกว่านี้ มันแสบมันกวนได้มากกว่านี้น่ะ แต่จริง ๆ เขาก็เล่นได้แสบ ได้กวน อยู่นะ ผมก็ว่ามันกวนระดับนึงแล้ว แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้ ว้าว! น่ะ แล้วก็จะคิดมาตลอดว่าจะมีใครเอาแบทแมนมาทำอีกหรือเปล่า ซึ่งตอนนั้นก็มีทำ แต่ก็เป็นเวอร์ชั่นแบบที่มี จิม แคร์รี่ โอ้ พระเจ้าจอร์จ! ทำออกมาได้ยังไงวะ! จอร์จ คลูนีย์ เป็นแบทแมนเนี่ยนะ! แต่พอมาดู Batman Begins คือเราก็ชอบ คริสโตเฟอร์ โนแลน อยู่แล้ว ดูมาตั้งแต่ Memento, Insomnia ก็รู้สึกว่าแบทแมนเวอร์ชั่นนี้ก็น่าจะโอเค พอดูแล้วก็โอเคจริง ๆ ก็แฮปปี้ ได้ทั้งความบันเทิงและได้ดูด้านดาร์ก ๆ อย่างเรื่องผลกระทบหรือผลต่อเนื่องทางสังคมที่มันมาลงกับตัวละครของเขา แต่พอตอนท้ายปุ๊บ ที่มันมีนามบัตรทิ้งไว้เป็นตัวโจ๊กเกอร์ เราก็ เช้ดด! ภาคใหม่มาแล้วโว้ย!! มีโจ๊กเกอร์ด้วย!!! เราก็โคตรอยากรู้เลยว่าใครเล่นเป็นโจ๊กเกอร์ เป็นหนังใหม่ที่เฝ้ารอคอยเลย แล้วพอได้ดูหนังปุ๊บก็ยิ่งโอเคมาก ๆ เลย ตั้งแต่โจ๊กเกอร์เป็น ฮีธ เลดเจอร์ แล้ว คริสโตเฟอร์ โนแลน เขาเก็บรายละเอียดในความเป็นโจ๊กเกอร์ที่มันดาร์ก แต่มันก็ยังเคลือบด้วยความกวนประสาทอยู่ ต้องยกให้เขาเลย ชอบ ๆ ๆ แต่ก็อาจจะไม่ได้เหมือนกับภาพที่มันติดตามาตั้งแต่เด็ก ที่โจ๊กเกอร์ปากแสยะยิ้ม ผมหวีแหลม ๆ ไปข้างหลัง ซึ่งเราก็จะติดภาพนั้นว่ายังไงโจ๊กเกอร์ก็ต้องเป็นตัวการ์ตูนตัวนี้แหละ แล้วหนังมันเหมือนพลิกในแง่ของการนำเสนอหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่มันเป็นแค่ความสนุกแบบผิวเผิน แต่เรื่องนี้มันทำให้คนดูได้อะไรกลับไปคิดได้บ้าง และเป็นการนำเสนอในแง่ของสังคมสมัยใหม่ที่ทุกอย่างมันไม่ได้ขาวจั๊ว หรือดำสนิท ทุกอย่างมันก็มีความเป็นสีเทาอยู่

เรื่องที่แปดครับ Monty Python and the Holy Grail Monty Python นี่ผมได้มาจากการที่พี่สาวผมเขาซื้อมาจากอเมริกา ตอนนั้นผมก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร แต่ว่ามาดูตอนที่อยู่สัก ม.6 ดูไปประมาณสองสามรอบก็รู้สึกว่าแมร่งฮาดี แล้วในช่วงระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมาก็หยิบมาดูอีก ก็รู้สึกว่ามันเป็นการเสียดสีดี อันดับหนึ่งที่ผมชอบคือ มันเป็นหนังคอเมดี้อยู่แล้ว แล้วมันก็หยิบเอารายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันมาล้อ แต่ว่าผมก็มาจับตอนดูช่วงหลัง ๆ ได้ว่า เขาก็มีการหยิบรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของการเมืองการปกครอง หรือสิ่งที่มันเกิดขึ้นในสังคมมาล้อเลียนด้วย ถ้าดูจากรายการส่วนใหญ่ของคุณ โดยเฉพาะ เจาะข่าวตื้น ก็รู้สึกได้ถึงอารมณ์ขันแบบเสียดสีแบบ Monty Python เหมือนกันนะ เออ ใช่ ผมก็มานั่งคิดดูทีหลังเหมือนกัน พอวันก่อนที่ผมส่งรายชื่อหนังไปให้ ผมก็หยิบเรื่องนี้มาดูอีกที ก็เออ รายการเราก็เป็นการหยิบเอารายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มาขยี้เหมือนกันเนอะ จุดที่เรารู้สึกว่าเป็นจุดที่ไม่ดี หรือจุดที่แย่ เราก็หยิบมาขยี้ แล้วก็ทำแบบเสียดสีมันไป มันก็สนุกดีเหมือนกันพอเรามาดูหนังเรื่องนี้ปุ๊บ เออ มันก็ฟีล ๆ เดียวกันเลยว่ะ ผมชอบน่ะ ผมรู้สึกว่าหนังในสมัยนั้นทำได้ขนาดนี้มันก็เจ๋งแล้ว แล้วเขาก็ทำแบบอินดี้ ๆ มีภาพแอนิเมชั่นแบบสาก ๆ (หัวเราะ) นอกจากเรื่องพวกนี้แล้วเขายังหยิบประเด็นเกี่ยวกับศาสนา การเมืองการปกครองมาใช้ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการกดขี่เพศหญิง ที่ผู้หญิงถูกกดไว้ว่าห้ามอย่างโง้น ห้ามอย่างงี้ แต่จริง ๆ ผู้หญิงก็มีความต้องการเหมือนกัน มันก็หยิบเอาเรื่องเล็ก ๆ พวกนี้มาล้อ ซึ่งผมว่ามันตลกดีเหมือนกัน

ต่อด้วยเรื่องที่เก้า ลุงบุญมีระลึกชาติ ครับ ที่หยิบเรื่องนี้มาเพราะว่าผมไม่ได้ดูหนังไทยที่ผมมองว่ามันเป็นงานศิลปะมานานแล้ว คือผมดูหนังไทยทั่ว ๆ ไป ก็ต้องยอมรับว่ามันก็ได้แค่ในระดับนึงน่ะ อย่างคุณดูหนังรักคุณก็จะได้อารมณ์ความรัก ดูหนังผีก็จะได้ความกลัว ท้ายที่สุด เต็มที่ก็แค่ มึงทำชั่วไว้เดี๋ยวกรรมก็จะตามทัน แต่พอดู ลุงบุญมีฯ ในโรง ก็รู้สึกว่ามันเจ๋งดี ผมไม่แน่ใจว่า คุณเจ้ย เองจะตีความหนังยังไง แต่ผมรู้สึกในแนวเดียวกับคุณแม่ว่า งานศิลปะที่ดีมันไม่ควรจะมีการตีความที่ตายตัว ผมรู้สึกว่า ลุงบุญมีฯ เป็นการทำหนังในแบบที่เป็นงานศิลปะ พอมันเป็นงานศิลปะมันก็ค่อนข้างจะสากล ไม่ว่าวัฒนธรรมไหนที่เอาหนังเรื่องนี้ไปดู เขาก็จะมีการตีความที่หลากหลายกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลิงผี เรื่องการเข้าไปในถ้ำ เรื่องการเห็นตัวเองนั่งอยู่ตรงปลายเตียงตอนจบเรื่อง การเห็นผีเมีย หรือการเห็นปลาดุกด้นสดอะไรตรงนั้นน่ะ (หัวเราะ) อย่างตัวผมก็ตีความไปอีกแบบ จำได้ว่าคุณแม่ไปดูก่อนผม คุณแม่ก็ตีความอีกแบบ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ดี ถ้ายอมรับกันตรง ๆ ตั้งแต่ดูหนังไทยมา ผมยังไม่เคยเห็นหนังไทยเรื่องไหนที่มันสามารถทำให้มันออกมาเป็นงานศิลปะได้แบบนี้

แต่น่าเสียดายที่หนังไทยประเภทนี้มีคนดูน้อย คนไทยก็จะ เชี่ย! กูเข้าไปดูแล้วกูหลับว่ะ! อย่างตอนที่มันเพิ่งเข้า ผมจำได้ว่าผมก็มาบอกคนโน้นคนนี้ว่า หนังดีมากเลยพี่! พี่ต้องไปดู เขาก็จะ เออ กูไปดูมาแล้วนะ กูโคตรงงเลย! หรือบางคน เออ กูดูแล้ว แต่กูหลับน่ะ ไม่รู้กูเหนื่อยหรืออะไร กูดูไม่จบน่ะ ซึ่งเราก็แบบ โอเค! (หัวเราะ) เรื่องสุดท้าย All the President's Men ครับ เรื่องนี้ผมชอบตั้งแต่เห็น โรเบิร์ต เรดฟอร์ด กับ ดัสติน ฮอฟแมน บนปกดีวีดีแล้ว โห! มันเป็นการดวลกันทางการแสดงเลยน่ะ ผมจำได้ว่าเคยมีการตั้งความหวังไว้ระดับนึง ในแง่ของการเจอกันของดาราใหญ่ตั้งแต่ตอนที่ผมดู Heat แล้ว แต่พอดูแล้วก็ อะไรวะ! เจอกันอยู่แค่ฉากสองฉากเอง แค่เนี้ย! เซ็ง! พอเห็นเรื่องนี้ปุ๊บ! เออ มันอาจจะเป็นหนังเรื่องที่ทำให้ความรู้สึกนั้นกลับมาก็ได้วุ้ย! พอดูแล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ดูแล้วมันน่าเชื่อ มันสมจริงน่ะ แล้วผมก็ชอบหนังประมาณนี้อยู่แล้ว หนังที่มันตามพิสูจน์ความเป็นจริง ซึ่งก่อนหน้านั้นผมก็ดู State of Play ดู JFK ดู Frost/Nixon ผมก็โอเคประมาณนึงอยู่แล้ว แต่พอดูเรื่องนี้ปุ๊บ ย้อนกลับไปในยุคสมัยที่ไม่ได้มีอินเตอร์เน็ต ไม่ได้มีช่องทางในการหาข้อมูลที่มันง่ายเหมือนปัจจุบัน ผมก็ยิ่งรู้สึกประทับใจ โดยเฉพาะกับการที่มันเป็นเรื่องจริงด้วย เราก็รู้สึกว่า เออ มันเจ๋งดีว่ะ! หนังเรื่องนี้มันเป็นหนังที่ยาวมาก แต่สนุกทั้งเรื่องเลย ย้อนกลับไปที่คุณจอห์นพูดถึงสื่อมวลชนหรือรายการข่าวของบ้านเรา ถ้าเทียบกับหนังเรื่องนี้มันคงเป็นไปได้ยากที่สื่อมวลชนบ้านเราจะขุดคุ้ยและตีแผ่อะไรได้ขนาดนี้ ใช่ แต่ผมก็เห็นตัวอย่างนึงของสื่อมวลชนบ้านเราที่เป็นประมาณนี้ แต่ว่าโดนยิงตาย เพราะไปแฉเรื่องบ่อนเรื่องอะไร ซึ่งมันก็อาจจะเป็นส่วนนึงที่ทำให้สื่อมวลชนทุกวันนี้ไม่กล้าที่จะขุดคุ้ยอะไรลึก หรือว่าเจาะจงไปที่ตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะมันมีเรื่องอิทธิพลอยู่มาก แต่จริง ๆ บ้านเขาก็มีเรื่องอิทธิพลนะ แต่สิทธิพลเมืองเขาดีกว่าเรา ใช่ แล้วเขาก็มีระบบของการถ่วงดุลอำนาจค่อนข้างดี อย่างถ้าเขามีปัญหากับตำรวจ เขาก็ไปหาอัยการ มันมีการถ่วงดุลที่ชัดเจน รัฐบาลท้องถิ่นหรือการปกครองท้องถิ่นมีปัญหาก็เข้าไปหารัฐบาลกลาง คือถ้าถามในแง่ของความชัดเจนหรือความปลอดภัยมันก็ดีกว่าเรา ถึงขนาดที่ว่าคนธรรมดาไม่กี่คนสามารถล้มรัฐบาลหรือประธานาธิบดีได้เลย มันแสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของข่าวสารและสื่อมันมีพลังมหาศาลมาก ใช่ ซึ่งเราก็ต้องย้อนกลับมามองตัวเองด้วยว่า การนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนบ้านเรา อะไรที่มันเป็นประโยชน์กับสังคมมากกว่า การเช็คว่าใครเป็นพ่อเด็ก หรือการตีข่าวว่าคลิปโน้นคลิปนี้จริงไหม ประโยชน์ที่ได้จากข่าวนี้คืออะไร? เป็นการบอกว่า ครอบครัวคนไทยที่ดีไม่ควรเป็นอย่างนี้นะ! เหรอ?

แต่ถ้าเทียบพลังและความอุตสาหะในการขุดคุ้ยนี่ พอ ๆ กันกับของเมืองนอกเลยนะ โดยที่ไม่พูดถึงเนื้อหาสาระนะ เออ ทีเรื่องนี้มึงสืบสวนกันจัง! แต่ไอ้เรื่องที่มันน่าจะได้ประโยชน์กว่านี้ไม่เห็นทำกัน ผมแค่รู้สึกว่า ถ้าคนมันพูดกันเยอะ ๆ มึงจะไปฆ่าให้หมดทุกสำนักพิมพ์ ทุกหัวหนังสือพิมพ์เลยเหรอ? แต่เราก็มักจะเซ็นเซอร์ตัวเองเสียก่อน ใช่ ซึ่งพอเซ็นเซอร์ตัวเองปุ๊บ มันก็จะเป็นต้นเหตุของการเซ็นเซอร์ทุก ๆ อย่าง คำถามสุดท้ายครับ หนังให้อะไรกับคุณบ้าง อืมม... ก็อย่างที่ผมบอกนะ มันให้ความหวังอะไรสักอย่างกับผมน่ะ บางทีเวลาดูหนังแล้วมันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง แล้วเขาเอามานำเสนอ มันก็ให้ความหวังอะไรสักอย่างว่า มีคนที่เห็นสิ่งที่เป็นเรื่องจริงแล้วเอามาบอกต่อ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ผมประทับใจ มันทำให้ผมมีความรู้สึกว่า ไอ้สิ่งต่าง ๆ ที่มันอาจจะดีหรือไม่ดีในสังคม คุณจะทำดี หรือทำไม่ดี ก็ยังมีคนเห็น และมีคนที่จะหยิบเอามาทำเป็นภาพยนตร์ ผมรู้สึกว่ามันเป็นความหวังอย่างนึงที่มันดีมาก ๆ การดูหนัง มันก็เป็นการให้ความหวังผมว่า สังคมของเรายังมีคนที่มอง และพร้อมที่จะนำเสนอความเป็นจริงอยู่บ้าง แล้วคิดจะเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอแบบนี้ไหม? (หัวเราะลั่น) ...เป็น อินทรีแดง เหรอครับ! เดี๋ยวค่อยว่ากันก็แล้วกัน!!! (หัวเราะ)

Cinema Paradiso (1988) กำกับ: จูเซปเป้ ทอร์นาทอเร่ นำแสดง: ฟิลิปป์ นัวเรต์, ซัลวาตอเร คาสิโอ หนังในดวงใจของคนรักหนังทุกคน เรื่องราวความทรงจำ ความรัก และความผูกพันของเด็กน้อย กับชายชรานักฉายหนัง ในโรงหนังอันเป็นที่รักของพวกเขา

Any Given Sunday (1999) กำกับ: โอลิเวอร์ สโตน นำแสดง: อัล ปาชิโน่, เจมี่ ฟ็อกซ์, คาเมรอน ดิแอซ เรื่องราวการตีแผ่วงการกีฬา ที่เป็นการเชือดเฉือนกันระหว่างความรักในการเล่น กับผลประโยชน์มหาศาลในวงการกีฬาคนชนคน ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านโค้ชชราอารมณ์ร้อน เจ้าของทีมสาวรุ่นที่สองสุดเขี้ยว นักฟุตบอลหน้าเก่าผู้กำลังจะหมดไฟ และนักฟุตบอลหน้าใหม่สุดอหังการ

Magnolia (1999) กำกับ: พอล โธมัส แอนเดอร์สัน นำแสดง: จูเลียน มัวร์, วิลเลี่ยม เอช. เมซี่, จอห์น ซี. ไรย์ลี่, ฟิลิป เบเกอร์ ฮอล, ฟิลิป ซีย์มัวร์ ฮอฟแมน, ทอม ครูส เรื่องราวอันเปรียบเสมือนภาพต่อจิ๊กซอว์ของหลากชีวิต ความทุกข์ ความสุข ความรัก ความเกลียด ความแค้น และการให้อภัย ที่กระจัดกระจายแต่ก็เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก

Reservoir Dogs (1992) กำกับ: เควนติน ทารันติโน นำแสดง: ฮาร์วีย์ ไคเทล, ทิม รอธ, สตีฟ บุสเซมี เรื่องราวชุลมุนชุลเก ปนโหด มัน ฮา ของแก๊งโจรปล้นธนาคารในชุดสูทหกคน ที่มีชื่อเป็นสี และหนึ่งในนั้นมีคนหนึ่งเป็นตำรวจปลอมตัวเข้ามา

Pulp Fiction (1994) กำกับ: เควนติน ทารันติโน่ นำแสดง: จอห์น ทราโวลตา, แซมมวล แอล. แจ็คสัน ผลงานแจ้งเกิดของผู้กำกับสุดระห่ำแห่งยุคสมัย เควนติน ทารันติโน่ เรื่องราวของสองมือปืนสมุนเจ้าพ่อเหี้ยม นักมวยขาโหด เมียสาวสุดเซ็กซี่ของเจ้าพ่อ และคู่รักนักปล้นร้านอาหารดวงซวย ที่บังเอิญมาเกี่ยวพันกันแบบไม่ได้นัดหมาย

Goodfellas (1990) กำกับ: มาร์ติน สกอร์เซซี่ นำแสดง: โรเบิร์ต เดอ นีโร, โจ เพสซี่, เรย์ ลีออตตา หนึ่งในไตรภาคแก๊งสเตอร์ ของมาร์ติน สกอร์เซซี่ ที่เล่าเรื่องราวของจิ๋กโก๋หนุ่มนาม เฮนรี่ ฮิลล์ ที่ย่างเท้าเข้าไปพัวพันในโลกอาชญากรรมของนิวยอร์กโดยการชักนำของนักเลงรุ่นพี่อย่าง จิมมี่ คอนเวย์ และ ทอมมี่ เดอ วีโต โดยหารู้ไม่ว่ามันกำลังจะนำพาเขาสู่หนทางแห่งความฉิบหายอย่างไม่รู้ตัว

The Dark Knight (2008) กำกับ: คริสโตเฟอร์ โนแลน นำแสดง: คริสเตียน เบล, ฮีธ เลดเจอร์ คริสโตเฟอร์ โนแลน เปลี่ยนหนังซูเปอร์ฮีโร่ธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นหนังแอ็คชั่น ดราม่า-จิตวิทยา อาชญากรรมชั้นดี ด้วยการให้รายละเอียดเชิงลึก และวิเคราะห์ตัวละครเข้มข้นจริงจังอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ประกอบกับการแสดงระดับสุดยอดของ ฮีธ เลดเจอร์ ในบทโจ๊กเกอร์ตัวละครวายร้ายอัจฉริยะผู้น่าสะพรึงที่จะถูกกล่าวถึงไปอีกนานแสนนาน

Monty Python and the Holy Grail (1975) กำกับ: เทอร์รี่ กิลเลี่ยม นำแสดง: เกรแฮม แชปแมน, จอห์น ชีส หนังตลกคลาสสิกขึ้นหิ้งของกลุ่มตลกปัญญาชน Monty Python ที่ว่าด้วยเรื่องราวของกษัตริย์อาเธอร์กับเหล่าอัศวิน ที่ออกตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ในเวอร์ชั่นปัญญาอ่อน

ลุงบุญมีระลึกชาติ (2010) กำกับ: อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นำแสดง: ธนภัทร สายเสมา, เจนจิรา จันทร์สุดา, ศักดิ์ดา แก้วบัวดี หนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ ภาพยนตร์ ยอดเยี่ยม ปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ ที่เล่าเรื่องราวที่เหมือนกับภาพฝันอันลี้ลับในป่าเขตร้อน ที่ว่าด้วยการระลึกชาติของลุงบุญมี ชายแก่ที่กำลังล้มป่วยและใกล้จะตาย และการปรากฏตัวของผีเมีย และลูกชายที่หายสาบสูญแล้วกลับมาในสภาพลิงผี

All the President's Men (1976) กำกับ: อลัน เจ. พาคูล่า นำแสดง: ดัสติน ฮอฟแมน โรเบิร์ต เรดฟอร์ด เรื่องราวของสองนักข่าวหัวเห็ด บ็อบ วูดเวิร์ด และ คาร์ล เบิร์นสตีน ที่มุ่งมั่นขุดคุ้ยหาความจริงในคดี วอเตอร์เกต อันอื้อฉาว และตีแผ่มันออกมาสู่สาธารณชน นำไปสู่การลาออกของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ในท้ายที่สุด

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ ของ 10 หนังบันดาลใจ ของหนุ่มมาดกวน จอห์น วิญญู

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook