ญารินดา บุนนาค ถึง ศัตรูที่รัก
บทบาทในเรื่อง อินทรีแดง นี่เป็นอย่างไรบ้างครับ
เรื่องนี้ค่อนข้างที่จะสุดเหวี่ยงน่ะค่ะ ปกตินาจะเป็นคนค่อนข้าง เรียบ ๆ นิ่ง ๆ แต่ในเรื่องนี้มันต้องแสดงอะไรที่มัน ตกใจสุดขีด กลัวสุดขีด โมโหสุดขีด คือมันมีความสุดขีดค่อนข้างเยอะ ซึ่งปกติมันเป็นอะไรที่ไม่ใช่เรา ก็ต้องเรียนรู้เยอะเหมือนกันในแง่ของการแสดง ว่าจะทำยังไงที่จะแสดงได้สมบทบาท
วาสนา นางเอกเรื่องนี้เป็นคนแบบไหนครับ
เป็นคนที่ถ้าดูภายนอกจะเป็นผู้หญิงแกร่ง เพราะเค้าเป็นคนที่ต่อสู้ ต่อต้านการคอรัปชั่น พิทักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นแอ็คติวิสต์ เอ็นจีโอ เดินขบวนประท้วง ฯลฯ แต่ในอีกด้านนึงเขาจะมีความเป็นผู้หญิงมาก มีขี้น้อยใจ ขี้ประชด อะไรอย่างงี้ ในเรื่องจะมีความเป็นแอ็คชั่น แล้วก็ด้านที่มีความเป็นดราม่า และโรแมนติกค่อนข้างจะเยอะ ทั้งไม่ว่ากับตัว อินทรีแดง ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่อง แล้วก็ตัวพี่ใหญ่ (พรวุฒิ สารสิน) ที่เล่นเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นคู่หมั้นเก่าของนางเอก เพราะฉะนั้นกับสองคนนี้จะมีบทที่เกี่ยวข้องกับความรักค่อนข้างจะเยอะ แล้วยังมีกับ หมวดชาติ อีก (หัวเราะ) ซึ่งหมวดชาติ เล่นโดย วรรณสิงห์ (ประเสริฐกุล) ก็จะเป็นเหมือนผู้ชายเจ้าชู้ที่ชอบเฟลิร์ตกับนางเอก มันมีหลายมุมมาก มันไม่ตรงไปตรงมา (หัวเราะ)
เป็นนางเอ๊กนางเอกเหมือนในหนังต้นฉบับไหมครับ?
ไม่เหมือน คุณเพชรา (เชาวราษฎร์) เลยค่ะ คือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ พี่วิศิษฏ์ (ศาสนเที่ยง) เขียนขึ้นมาใหม่โดยที่อิงคาแรคเตอร์เดิมของอินทรีแดง แต่ร่วมสมัย บุคลิกของนางเอกก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย คือเวอร์ชั่นเก่านี่ นางเอกจะเป็นเหมือนคู่หูคู่ใจของพระเอก แต่เวอร์ชั่นนี้ ตัววาสนาเป็นด็อกเตอร์ เรียนจบธรณีวิทยามาจากฮาร์วาร์ด กลับมาแล้วก็มาช่วยเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมในประเทศ การมาเจอกับพระเอกนี่เป็นอุบัติเหตุ ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน เขาบังเอิญช่วยชีวิตพระเอกไว้โดยไม่ได้ตั้งใจ ก็เลยกลายเป็นคนเดียวที่รู้ว่าอินทรีแดงจริง ๆ เป็นใคร เล่าได้แค่นี้แหละ เดี๋ยวสปอยล์ (หัวเราะ) เพราะอย่างนั้นมันก็เลยมีความรู้จักที่ลึกซึ้งระหว่างพระเอกกับนางเอกมากกว่าคนอื่น
พื้นเพของนางเอกในเวอร์ชั่นนี้ก็ร่วมสมัยเอามาก ๆ สมัยนั้นคงไม่มีประเด็นแบบนี้
ใช่ ๆ (หัวเราะ) เรื่องมันเกี่ยวข้องกับการที่ รัฐบาล (ในหนัง) พยายามที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ แล้วนางเอกก็ต่อต้าน เพราะเหมือนกับนางเอกเข้าไปคลุกคลีกับชุมชนชาวบ้านแถบนั้น แล้วชาวบ้านเขาก็มีผลกระทบเยอะ
แล้วอย่างนี้คุณนามีพื้นด้านการเป็นนักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวมาก่อนไหมครับ
ไม่มี ไม่มีเลย (หัวเราะ) พี่วิศิษฏ์สั่งให้เราไปประท้วงจริง ๆ เลยค่ะ
ถามจริง!
คือตอนแรกเลยเนี่ย นาไปคุยกับผู้มีความรู้หลาย ๆ คนที่ทำงานเกี่ยวกับธรณีวิทยา ทำงานกรีนพีซ ทำงานเกี่ยวกับชุมชน สิ่งแวดล้อม แล้วก็ไปดูว่าเวลาที่เขายื่นเรื่องเสนอพิจารณามติ ครม. หรือกระทรวงฯ เขาทำกันยังไง หรือเวลาที่ชาวบ้านอพยพมาแล้วประท้วงอยู่หน้ากระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ใช่การประท้วงแบบรุนแรงนะ แต่หมายถึงเวลาที่ชาวบ้านมากันทั้งหมู่บ้านเพื่อจะยื่นเรื่องนี่เค้าทำกันยังไง ก็ต้องไปอยู่กับเขา ไปดูว่าเขาทำยังไง ขั้นตอนมันเป็นยังไง เวลาผู้นำการประท้วงเขาทำพรีเซนเทชั่น ตัวอย่างเช่นว่า การก่อสร้างโรงถลุงหินมันจะมีผลกระทบต่อแหล่งเพาะพันธุ์ปลายังไง ๆ เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพ เพื่อที่จะมีประสบการณ์ร่วมและเอาไปแสดงในหนังได้ เพราะในหนังก็จะมีบทแบบนี้เหมือนกัน ...คือมันจะไม่เหมือนเรื่อง ความจำสั้นฯ เพราะในเรื่องนั้นนาจะไปเรียนการแสดง แต่เรื่องนี้คือจะไปทำรีเสิร์ชเสียส่วนใหญ่ กับคนจริง ๆ ก็ประมาณเดือนนึง
แล้วมันทำให้คุณนาได้เห็นหรือเปลี่ยนความคิดอะไรไหมครับ?
ก็มีความรู้เยอะขึ้น มากกก รู้สึกฉลาดขึ้น (หัวเราะ) เพราะอย่างแรก พี่วิศิษฏ์หยิบหนังสือเอกสารตั้งเบ้อเริ่มมาให้อ่านว่า โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ มันทำยังไง มันมีที่มาที่ไปยังไง นิวเคลียร์ฟิสิกส์จริง ๆ มันคืออะไร ก็ต้องอ่าน ยังกับท่องสอบ! (หัวเราะ) เพราะมันจะมีบทอย่างนี้เยอะเหมือนกันน่ะค่ะ เพราะนางเอกเป็นนักวิชาการ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีบทที่พรีเซนต์ว่า โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อันนี้เกิดขึ้นที่นี่ ปีนี้ ๆ ในประเทศรัสเซียเกิดเหตุการณ์อย่างงี้ มันจะมีซีนแบบนี้ในหนัง เพราะฉะนั้นเราต้องพูดศัพท์เทคนิคต่าง ๆ ให้คล่องปาก
อย่างงี้ก็ต้องมีบทแรง ๆ ดราม่าแรง ๆ หนัก ๆ เยอะเลยสิครับ
ใช่ เยอะ พูดมากไม่ได้ เดี๋ยวสปอยล์ (หัวเราะ) แต่ว่ามันมีการต่อต้านค่อนข้างจะรุนแรง มันมีการคอรัปชั่นในเรื่องค่อนข้างเยอะ และการต่อสู้เราไม่ได้ต่อสู้กับรัฐบาลอย่างเดียว แต่เราต้องต่อสู้กับผู้ร้าย กับอำนาจมืดที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังด้วย เพราะฉะนั้นมันก็มีคนบาดเจ็บล้มตายไปด้วยเหตุการณ์นี้เยอะ
หนังเรื่องนี้เป็นหนังแอ็คชั่น แล้วคุณนาได้เล่นฉากแอ็คชั่นบ้างไหม
โอ้โห! เยอะ แต่ว่าเป็นผู้ถูกกระทำ โดนทำร้ายทั้งเรื่องเลย (หัวเราะ) คือไม่มีว่าตัวเองเป็นคนบู๊น่ะค่ะ แต่จะมีฉากที่ต้องหนี โดนเอาปืนจ่อหัว เอามีดจี้คออะไรประมาณนี้ โดนไล่ล่าค่อนข้างเยอะค่ะ
แล้วเป็นไงบ้างครับ?
เอ่อ (หัวเราะ) ก็อย่างที่บอกน่ะค่ะ มันยาก เพราะไม่ใช่เหตุการณ์เราเจอในชีวิตจริงหรือมีประสบการณ์ร่วมได้ แต่ว่าก็ท้าทายค่ะ แล้วด้วยความที่โปรดักชั่นมันใหญ่มากเนี่ย มันทำให้เกิดอารมณ์ร่วมค่อนข้างจะง่าย อย่างเช่นถ่ายฉากประท้วง มันก็มีตัวประกอบ 300 กว่าคน แล้วก็ไปถ่ายกันที่มาบตาพุด ซึ่งสถานที่ใหญ่ แล้วก็มีการปาหิน มีพรอพจริง ๆ มา คือมันสมจริงมากน่ะค่ะ ด้วยความใหญ่ของเซ็ต ทีมงาน และก็ปริมาณคน มันก็ช่วยทำให้อะไรมันง่ายขึ้น คือนารู้สึกว่าถ้าเราเล่นกับบลูสกรีน หรือ กรีนสกรีน มันก็อาจจะยากกว่า
การผ่านการทำงานกับผู้กำกับสองคนอย่าง คุณสิน (ยงยุทธ ทองกองทุน) กับ คุณวิศิษฏ์ นี่ แตกต่างกันมากไหมครับ
แตกต่างกันมากค่ะ คือต้องนับว่าโชคดีเพราะได้เรียนทั้งสองวิชา เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ อย่าง พี่สิน เนี่ย จะให้โอกาสนักแสดงได้ทดลองดูเอง มีความยืดหยุ่นในการเล่นสูง แต่พี่วิศิษฏ์เนี่ย นาว่าเขามีพรสวรรค์มากในแง่ว่าเขาเห็นภาพชัดเจนในหัวแล้ว ว่าเขาอยากให้มันเป็นยังไง มุมนี้ต้องหันหน้ามาแบบนี้ ต้องออกอารมณ์แบบนี้ แล้วยิ่งความที่เขาเขียนบทเองด้วยเนี่ย เขามีภาพอยู่ในหัวค่อนข้างจะชัดเจนมาก เพราะฉะนั้น หน้าที่เราก็คือ เราต้องทำภาพนั้นให้มันเป็นความจริงให้ได้ ซึ่งมันก็ยากมากในแง่นั้น แต่พอได้ออกมาแล้ว มาเห็นในจอมอนิเตอร์เนี่ย โอ้โห! มันได้เอฟเฟกต์อย่างที่พี่วิศิษฏ์เขาคิดไว้จริง ๆ
มีผู้กำกับบางคนเคยพูดเอาไว้ว่า นักแสดงคือโสเภณีของศิลปะ หรือเป็นเหมือนทัศนธาตุอันหนึ่งในงานศิลปะ ในฐานะที่คุณนาเป็นนักแสดงที่เคยทำงานกับผู้กำกับทั้งสองแบบมา คุณนาคิดว่าคำว่าการเป็นนักแสดงของคุณนาเป็นอย่างไรครับ เราจะสามารถทำอะไรก็ได้เพื่องานศิลปะไหม?
ไม่! เรามีสิทธิ์ที่จะนำเสนอ แสดงความคิดเห็นอยู่แล้วล่ะ ว่าตัวละครที่เราเล่นน่าจะเป็นยังไง ในบทต่าง ๆ เราน่าที่จะมีปฏิกิริยากับสิ่งต่าง ๆ ยังไง แต่ว่าท้ายที่สุด ผู้กำกับก็คือเป็นอันดับหนึ่งน่ะ เขาคือคนที่เห็นภาพรวมทั้งหมด เราเห็นแค่จุดจุดนึง เราเป็นแค่ตัวละครตัวนึงในเรื่อง เพราะฉะนั้น ท้ายที่สุดแล้ว เขารู้ดีที่สุด อย่างเรื่องนี้เองนาก็คุยกับพี่วิศิษฏ์ตั้งแต่ได้บทตอนแรก ก็จะคุยกันตลอด เรื่องตัวละคร ว่าตัวละครตัวนี้เป็นยังไง หลังจากที่อ่านบทเสร็จแล้ว สิ่งที่นาคิด กับสิ่งที่พี่วิศิษฏ์คิด กับตัวละครวาสนา มันตรงกันไหม? ก็พยายามที่จะปรับปรุงจนเห็นตรงกัน ทุกอย่างมันก็ออกมาราบรื่น แต่ช่วงแรก ๆ ก็ยังไม่ได้ตรงกัน 100% หรอก
ทำงานเป็นครั้งแรกกับ อนันดา เป็นอย่างไรบ้างครับ
เวลาเล่นกัน ในกองมันจะเป็นอีกไดนามิกนึงเลยน่ะ ต่างจากหนังเรื่องแรกมาก บทที่นาเล่นกับ อนันดา มันค่อนข้างจะเครียด คือมันเป็นบทที่ Passion เยอะมากน่ะ ถ้าไม่โกรธก็เครียด ถ้าไม่เครียดก็รัก อารมณ์มันแรงมาก อนันดา เป็นนักแสดงที่เก่งมาก เขาเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับการแสดง ไม่ใช่แค่กับบท แต่เป็นในฐานะของอาชีพ เขาถือว่าการแสดงเป็นอาชีพจริง ๆ นาว่าตรงนั้นน่ะสำคัญ เพราะเขาทำรีเสิร์ชตลอดเวลา หรือเวลาที่คุยกันเรื่องหนังเรื่องอะไร วิธีการมองหรือวิธีการที่เขาวิจารณ์ เขาจริงจังกับมันน่ะ เขาใช้ความคิด มีข้อถกเถียงที่น่าสนใจ เขาถือว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ซีเรียสของเขามาก
แล้วสำหรับคุณนาล่ะครับ การเป็นนักแสดงคืออะไร
อาชีพหลักของนาคือสถาปนิก กับ นักร้อง แต่การแสดงเป็นอะไรที่นาเพิ่งทำมาสองเรื่อง นาไม่สามารถที่จะกล้าพูดหรอกว่ามันเป็นอาชีพ มันเป็นโอกาสที่เราได้รับมาสองครั้ง แล้วเราก็ชอบมาก เอนจอยมัน แล้วเราก็พยายามทำให้มันดีที่สุดน่ะค่ะ (ยิ้ม)