เปิดใจนักเขียนบทมือดี ถึงยังไงละครน้ำเน่าก็อยู่คู่คนไทย

เปิดใจนักเขียนบทมือดี ถึงยังไงละครน้ำเน่าก็อยู่คู่คนไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
Guest Talk นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ : ถึงยังไงละครน้ำเน่าก็อยู่คู่คนไทย

นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ หรือ "บ๊วย" นักเขียนบทละครโทรทัศน์มือดีอีกคนของวงการละคร ที่ผ่านงานเขียนบทมากว่า 20 ปี เริ่มจากการเป็นผู้ช่วยเขียนบทละครสั้นกับ "ครูช่าง" ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง ขณะเรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนจบก็ไปทำงานประจำบริษัทอีเวนต์ได้ไม่นานก็มาเขียนบทร่วมกับคุณลลิตา ฉันทศาสตร์โกศล มีผลงานเป็นที่รู้จักมากมาย อาทิ ทางผ่านกามเทพ, สายรุ้ง, สามีตีตรา, ยอดชีวัน, สามี, บังเกิดเกล้า, สี่ไม้คาน, เลื่อมสลับลาย, พรหมไม่ได้ลิขิต, ก้านกฤษณา ฯลฯ จากนั้นเธอก็บินเดี่ยวแยกออกมาเขียนบทคนเดียว ให้กับบริษัทเอ็กแซ็กท์และบรอดคาซท์ จนทำให้ชื่อของ นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ กลายเป็นที่รู้จักจากผลงาน เล่ห์ระตี, หัวใจช็อกโกแลต, คลื่นรักสีคราม, กิ่งแก้วกลางใจ, ดั่งดวงตะวัน, สาปภูษา ในขณะเดียวกันเธอก็ร่วมเขียนบทเป็นทีมกับกลุ่มช่างปั้นเรื่อง มีผลงานโด่งดังหลายเรื่อง คือ พลิกดินสู่ดาว, อุ่นไอรัก, เบญจา คีตา ความรัก, เพียงผืนฟ้า, ปิ่นไพร, รุ่งทิพย์ ฯลฯ นอกจากเขียนบทแล้ว เธอยังเป็นเจ้าของบทประพันธ์ละครหลายเรื่อง อาทิ สู่แสงตะวัน, ดั่งดวงตะวัน, เปลวไฟในฝัน, กลิ่นแก้วกลางใจ, เพียงผืนฟ้า, อธิษฐานรัก, เพลงรักข้ามภพ และ สวรรค์สร้าง ที่กำลังออกอากาศขณะนี้ โดยผลงานของเธอไม่ว่าจะมาจากการเขียนบทหรือจากบทประพันธ์จะออกแนวดราม่าซะเป็นส่วนใหญ่ หรือที่ใครๆ มักจะเรียกว่าละครน้ำเน่า แต่เธอก็รักในความเป็นละครน้ำเน่าของเธอ "ใครจะมองยังไงเราไม่รู้ แต่เรารู้สึกภูมิใจในความเป็นละครน้ำเน่า เรารักมันมากเพราะละครน้ำเน่ากับนวนิยายไทยมันเป็นของคู่กัน อันนี้มาจากพี่ลลิตาสอนเราด้วยว่า การที่เราชอบนวนิยายไทย ชอบเขียนเรื่องน้ำเน่าก็ไม่ต้องไปอายใคร เพราะเรื่องน้ำเน่ามันของคนไทย แต่ตอนอยู่อักษรฯจะไม่ใช่ไง เพราะคนที่อยู่อักษรฯจะชอบเสพละครเวที ชอบดูหนัง แต่เรามาอยู่กับพี่ลลิตาแกก็จะคอยสอนตลอด แล้วเราเป็นคนชอบอ่านนิยายอยู่แล้ว" ละครน้ำเน่ายังไงก็ถูกใจคนไทย "คือเด็กสมัยนี้บางคนที่มาเรียนเขียนบทจะบอกหนูไม่อยากเขียนละครน้ำเน่า หรือบางคนบอกว่าหนีวงการหนังเพื่อมาทำละครน้ำเน่าให้ดีขึ้น เราบอกได้เลยว่าละครน้ำเน่าไม่ต้องการให้ใครมาทำอะไรให้ดีขึ้นเหมือนหนัง มันมีธรรมชาติของมันอยู่แล้ว ไม่ต้องมาพยายามบอกว่าคนทำละครน้ำเน่าไม่มีปัญญาทำงานดีๆแบบหนัง เขาไม่เคยพัฒนาเลย คุณอย่าไปบอกแบบนั้น ถ้าคุณยังไม่รู้จักมันจริงๆ ละครน้ำเน่าก็เหมือนเราดูลิเกเหมือนเรากินส้มตำ เราต้องทำให้ละครน้ำเน่าเป็นที่ยอมรับแบบนี้ ไม่ใช่การที่แบบคนวงการหนังมาบอกว่าถ้าอยากได้เงินก็ต้องยอมนายทุนทำละครน้ำเน่า หรือจะบอกเพราะนายทุนบังคับให้ทำเลยทำออกมาแบบนั้นก็ไม่ใช่ แต่มันถูกอรรถรสคนไทย ก็คนไทยชอบแบบนี้ แล้วละครไม่ว่าจะเป็นละครน้ำเน่าสุดๆ ยังไงก็สะท้อนปัญหาสังคมเสมอ" เขียนคนเดียวกับเขียนเป็นทีมวิธีการเขียนแตกต่างกันยังไง "เขียนเดี่ยวงานจะมีรายละเอียดที่เป็นลายเซ็นของเรา เช่น ถ้าเป็นหนังรักวิธีการพูดหรือไดอะล็อกเราจะมีความเป็นผู้หญิงเยอะ ตัวละครมีมิติ และจะมีคำคมในภาษาพูด ตรงนี้มาจากการที่เราชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ ส่วนเขียนเป็นทีมเราจะลงลายเซ็นลงลึกของเรามากไม่ได้ เราจะบู๊จัดมากก็ไม่ได้เพราะเด็กบางคนเขียนบู๊ไม่ดี หรือเราจะลงดราม่าจัดก็ไม่ได้เพราะเด็กบางคนเขียน ดราม่าไม่ได้ แต่เขียนเป็นทีมมันจะเป็นงานกลุ่มที่กลมกล่อม คนดูจะรู้สึกเล่าเรื่องได้เข้มข้นดีเพราะมาจากหลายหัว อย่างเราให้เขียนคนเดียวทำงานเดี่ยวๆ ก็ไม่เอาเพราะมันเขียนได้น้อย อย่างปีหนึ่งเขียนได้อย่างมาก 3 เรื่อง แต่ถ้าเขียนเป็นกลุ่มทำได้หลายเรื่องและได้เจอเพื่อนด้วย ที่สำคัญเราไม่ต้องไปฟาดฟันกับผู้จัดฯเพราะจะมีคนจัดการให้เราเสร็จเรียบร้อย อย่างตอนอยู่กับพี่ลลิตาพี่เขาก็จัดการให้ หรืออยู่กับช่างปั้นเรื่อง "พี่หนึ่ง" คฑาหัสต์ บุษปะเกศ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีม ก็เป็นคนจัดการ ส่วนเราก็แค่เขียนบทไป" งานเขียนบทต้องมีใจรักจริงถึงจะทำได้ "พี่ลลิตาบอกเราเลยว่าเขียนบท 5 ปีแรกต้องกินแกลบ เพราะมันเป็นอาชีพที่ไม่แน่นอนอะไรเลย ไม่รู้เงินจะออกเมื่อไหร่เพราะขึ้นอยู่กับการแก้บทว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ หรือถ้ามีการเปลี่ยนโปรเจ็กต์เปลี่ยนคนเขียนบท เปลี่ยนผู้กำกับฯ บางทีไม่ผ่านช่อง เราก็เขียนฟรี ถ้าบทละครไม่ผ่านช่องเขาไม่มีเงินมาจ่ายให้เราเต็มก็จ่ายแค่ครึ่งเดียว ซึ่งมันเป็นปัญหาของคนเขียนบท โดยที่เราไม่มีระบบจัดการที่แน่นอน เป็นเรื่องของความที่แบบจะไปโทษเขาก็ไม่ถูก และพอมีการแก้ไขบทก็ต้องรอการจ่ายเงินก็เป็นเดือนสิ บางทีแก้เป็นเดือนเลยนะ เพราะต้องส่งไปให้นางเอก ให้ผู้กำกับฯ อ่านถ้าเขายังไม่ชอบหรือไม่ถูกใจเพราะบทน้อยเกินไปก็ต้องแก้บทกันใหม่อีก เพราะฉะนั้น 5-6 ปีแรกลำบาก เชื่อมั้ยว่าเราเงินเดือนน้อยกว่าเพื่อนๆ ที่ทำงานประจำด้วยซ้ำไป แต่ถ้าเทียบกับงานอีเวนต์ เหมือนเราส่งงานไปพรีเซนต์ครีเอทีฟไอเดีย เราทำงานเป็นเดือนแต่ถ้าเขาไม่ชอบเราจะไม่ได้รายได้จากเดือนนั้น แต่ตอนหลังในวงการ อีเวนต์จะบอกว่าจะต้องจ่ายเงิน 15 % ก่อนถึงจะทำให้ นี่เป็นระบบที่เราอยากเห็นในวงการเขียนบท ถ้าเราเอาระบบของอีเวนต์มาใช้ในวงการเขียนบทน่าจะดี เราต้องนับถือความคิดเริ่มต้นจากไอเดียก่อน การเริ่มต้นจากกระดาษเปล่าไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ใช้เวลาหมดเลย แต่เขาจะบอกว่าความคิดของเราเริ่มต้นบนอากาศเราไม่ได้ลงทุนเรื่องเครื่องมืออะไรนี่น่า" รู้สึกเหมือนถูกเอาเปรียบไหม "ไม่รู้สึกเหมือนถูกเอาเปรียบหรอก เราจะไปว่าเขาก็ไม่ได้ ซึ่งคนเขียนบทก็เห็นในปัญหาพวกนี้ เป็นเรื่องที่พวกเราต้องแก้ปัญหาให้รุ่นน้องต่อไป ต้องค่อยๆ หาทางแก้ปัญหาต่อไป แต่เราว่าควรจะมีการจ่ายเงินก่อนค่าความคิดของเขาประมาณ 10 หรือ 15 % ก็ว่ากันไป เหมือนที่พี่ลลิตาเคยบอกว่าคนที่ฝันแล้วไปเรียนเขียนบทเนี่ย ความจริงมันไม่ได้สวยขนาดนั้น คนที่อยู่ตรงนี้ได้จริงๆ คือคนที่รักจริงๆ อย่างเราเรียนอักษรมา เราไปทำงานอย่างอื่นก็ได้ แต่เราชอบงานเขียนและรู้สึกว่าถ้าทำไปเรื่อยมันจะมองเห็นอนาคต เพราะเรามีโมเดลอย่าง ครูช่าง ชลประคัลภ์ คอยบอกทำไปเถอะมันมองเห็นอนาคตนะ พอเลย 5 ปีไปแล้วถ้าเราเริ่มมีผลงาน งานจะเข้ามาเรื่อยๆ" ส่วนใหญ่ปัญหาของผู้จัดฯที่คนเขียนบทต้องเผชิญ "ไม่มีอะไรมากหรอก แค่เขาต้อง การบทตลอดเวลา บทต้องทำให้นักแสดงมีความสุขที่จะเล่น หรือมีบางเรื่องที่ไปเจอบทประพันธ์ขั้นเทพเนี่ยก็ต้องรักษาคุณค่าของบทประพันธ์ด้วย ส่วนใหญ่เรื่องของเรื่องก็คือเร่งให้บทเสร็จตามเวลา มันเป็นปัญหาในอาชีพมากกว่า ผู้จัดฯต้องการรับเรื่องใหม่ๆ ไปขายแต่จะขายได้หรือไม่ได้ไม่รู้นะ แต่เราพล็อตเรื่องไปแล้ว ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่มีเงินให้แต่เราทำไปแล้วเดือนหนึ่งแล้วในเดือนนั้นเราก็ต้องกินข้าวด้วย" แนวคิดในการเขียนบท "ถ้าเป็นบทประพันธ์มาจากการที่เราอ่านหนังสือเยอะ หรือมาจากเรื่องใกล้ตัว อย่าง "รักในม่านเมฆ" เป็นละครที่ทำเรตติ้งสูงสุด แต่คนที่ดูจะต้องบอกน้ำเน่า นางเอกขาพิการ น่าสงสาร ตบกันเพื่อแย่งพระเอก แต่ "รักในม่านเมฆ" จริงๆ สำหรับคนดูเขาจะรู้ว่ามันมีมิติของตัวละครให้ตัวร้ายมีเหตุผลมีที่มาที่ไปและมีความเป็นคน ส่วนเรื่องคนพิการเราไปดูข่าวว่าคนพิการจริงๆ เขาต้องการอะไร เขาไม่ได้เรียกร้องความสนใจแต่เขาต้องการทำให้เรารู้ว่าเขาก็เป็นคนเหมือนเรา แต่ถ้าเป็นพล็อตขึ้นมาอย่างเรื่อง "กิ่งแก้วกลางใจ" เราไปอ่านบทความของพ่อแม่สิ่งที่เขากังวลมากที่สุดคือลูกของตัวเองไปสลับกับลูกของคนอื่น "กิ่งแก้วกลางใจ" ก็จะพูดเรื่องลูกถูกสลับกัน" แต่บางครั้งการวางตัวนักแสดงก็ไม่ได้ดั่งใจคนเขียนบทละคร "เรารู้สึกว่าต้องเผชิญกับคนด่าแน่นอน ถ้าเราเป็นคนอ่านอาจจะรู้สึกไม่ชอบ ใจในทุกๆ อย่างของหนังสือที่จะไปเป็นละคร แต่พอเรามาเป็นคนเขียนบทละครโทรทัศน์ เรารู้สึกว่าคนเขียนบทไม่มีทางเขียนละครให้ถูกใจคนอ่านและนักประพันธ์ได้หรอก แม้แต่ทีมงานก็ไม่มีทางทำฉากดีๆ ให้คนทั้งประเทศชอบใจได้ เราถึงต้องยอมรับสภาพที่คนอ่านอาจจะไม่พอใจในมุมที่เราเป็นนักประพันธ์หรือเป็นคนเขียนบท อย่าง "ทวิภพ" อ๋อม อรรคพันธ์ จะต้องเล่นเป็นคุณหลวง บางคนก็รับได้ บางคนก็รับไม่ได้บอกว่าฉันจะไม่ดูแล้วนะ คือยังไงคนเขียนบทมันต้องโดนด่าอยู่แล้วเราก็ต้องทำใจ คราวที่แล้วเขียน "รักในม่านเมฆ" ว่าพระเอกเชื่อนางร้าย ก็โดนด่าในกระทู้เลยว่าคนเขียนบทปัญญาอ่อน คือมันจะมีธรรมชาติอย่าง ถ้าละครไม่ถูกใจเขาด่าคนเขียนบท แต่ถ้าละครถูกใจเขาจะชมดาราอันดับแรกและชมผู้กำกับฯเป็นอันดับต่อไป สำหรับคนเขียนบทยังไงเสียก็ต้องโดนด่าก่อน ก็คิดซะว่าถ้าไม่ดังก็ไม่โดนด่าหรอก" สมัยนี้บางครั้งการทำละครก็ถูกกำหนดด้วยตัวนักแสดง "ปัจจุบันมีละครที่เกิดขึ้นจาก อย่างเช่น นางเอกคนนี้ที่กำลังเป็นซูเปอร์สตาร์เราจะวางเขาเล่นละครเรื่องไหนดี ไปวางไว้ที่ละครบู๊ดีไหมไปวางไว้ที่ละครดราม่าดีหรือเปล่า คือบทประพันธ์ในตลาดไม่มีหรือเขาหาไม่ได้ก็จะมาหาจากเรา เขาจะขอจากคนเขียนบทที่เป็นนักประพันธ์เรื่อง มีอะไรเจ๋งๆไหม หรือตอนนี้เกาหลีก็กำลังน่าสนใจนะ เรามีเรื่องอะไรไปถ่ายที่เกาหลีบ้างมั้ย ก็มีบางครั้งที่มาจากดารา แต่ส่วนใหญ่จะมาจากช่องว่าช่วงนี้อยากได้ละครแนวไหน" อยากให้รัฐบาลหันมาสนใจละครไทย "รู้สึกรัฐบาลไม่ค่อยสนันสนุน แต่พอเราดูข่าวเกาหลีเขาสนับสนุนละครให้เป็นอาวุธสำคัญในการส่งออกเพื่อสร้างวัฒนธรรมให้คนสนใจเกาหลี แต่คนไทยยังไม่สนใจเรื่องนี้ อย่าง "ซอดองโย" มีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์เกาหลีหมดเลยและมีตัวตน ขนาดกษัตริย์ของเขาก็มีตัวตนเขายังเอามาทำเป็นละครเลยเพราะเขาไม่กลัว แค่แตะตำรวจ ทหาร หรือหมอก็ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดแตะประวัติศาสตร์ไทยเลย และสิ่งที่เกิดขึ้นกับละครคือคนระดับสูงชอบสร้างภาพว่าละครน้ำเน่าอย่าง "ไทรโศก" ทำให้เด็กฆ่าตัวตาย มันรู้สึกง่ายมากที่โทษว่าบ้านเรามีละครน้ำเน่าเด็กก็เลยดูตามละครน้ำเน่า เขามองละครไทยเป็นเรื่องชั่วร้ายในครอบครัว ฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนมุมมองละครไทยบ้าง และถ้ามองในด้านดีละครไทยเป็นสินค้าส่งออกได้ เราไปทำอาหารไทย เครื่องจักสานไทยให้ส่งออก แต่ถ้าจะเลยมาถึงละครไทยบ้างก็ได้"

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ ของ เปิดใจนักเขียนบทมือดี ถึงยังไงละครน้ำเน่าก็อยู่คู่คนไทย

เปิดใจนักเขียนบทมือดี ถึงยังไงละครน้ำเน่าก็อยู่คู่คนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook