10 หนังโปรดในดวงใจของ หล่อเล็ก อภิรักษ์ โกษะโยธิน

10 หนังโปรดในดวงใจของ หล่อเล็ก อภิรักษ์ โกษะโยธิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อปลายปีที่แล้ว มีนักการเมืองคนหนึ่งตกเป็นจำเลยพัวพันกับข้อหาทุจริตบางประการ ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาผิดหรือไม่ผิด แต่การที่เขาลาออกจากตำแหน่งอย่างลูกผู้ชาย ทั้งๆ ที่กฎหมายมิได้มีผลบังคับ มันก็เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่อันหนึ่งให้กับวงการการเมืองไทย ที่มีแต่ภาพเดิมๆ ของนักการเมืองหวงเก้าอี้ ยึดติดตำแหน่ง ไล่ยังไงก็ไม่ยอมไปเสียที ถึงแม้จะยุติบทบาทการเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานครลง แต่ปัจจุบันเขาผู้นี้ก็ยังคงสานต่อการทำงานในด้านการเมือง ด้วยการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เราบังเอิญมีโอกาสได้พบปะกับนักการเมืองท่านนี้ ในชุมชนออนไลน์สุดฮิตอย่าง Facebook (แนวไหม?) จึงถือโอกาสทักทาย และขออนุญาตสัมภาษณ์ พูดคุย สอบถามเป็นการส่วนตัว ถึง 10 หนังในที่อยู่ดวงใจของนักการเมืองรุ่นใหม่ ฉายา หล่อเล็ก อดีตพ่อเมืองกทม.ของเราอย่างคุณ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ว่าจะมีเรื่องไหนตรงกับใจของนักอ่านกันบ้าง ขอถามเรื่องงานก่อนนะครับ ตอนนี้ท่านเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนี่ ดูแลเรื่องอะไรบ้างครับ? คุณ อภิรักษ์ : จริงๆ ก็จะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจนะครับ ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลก็กำลังทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นมาตรการ 6 เดือน หรือแผน ไทยเข้มแข็ง และมีแนวความคิดอันใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เชื่อว่า น่าจะเป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว ก็พยายามที่จะไปศึกษา ดูประเทศที่มีการพัฒนา และเริ่มพัฒนาจากพื้นฐานต้นทุนที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในประเทศนั้นๆ อย่างประเทศไทยเองเราก็มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา 700 กว่าปี มีเอกลักษณ์ของความเป็นคนไทย วิถีชีวิตไทย ย้อนไปอาจจะตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัยด้วยซ้ำไป ซึ่งอันนี้ ผมว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งในองค์ประกอบของมันเนี่ย ผมว่า คนไทยเราเองมีพื้นฐานของเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เรื่องวัฒนธรรมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นองค์ประกอบของอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ตอนนี้ที่ผมทำงานร่วมกับทางสภาพัฒน์ และเครือข่ายทางด้านเอกชน ก็จะมีทั้ง หนึ่ง ในเรื่องของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางด้านศิลปวัฒนธรรม ทางด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งก็จะเชื่อมโยงกับเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วย สอง ก็จะเป็นในส่วนของเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปาชีพ งานหัตถกรรม งานฝีมือต่างๆ ซึ่งจริงๆ คนไทยก็เก่งอยู่แล้วนะครับ ในองค์ความรู้ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น สาม ก็จะเป็นในเรื่องของงานที่เกี่ยวข้องทางด้านศิลปะ ทางด้านศิลปการแสดง ทางด้าน Visual Art ซึ่งมีเยอะมาก แต่ว่าเรายังไม่สามารถต่อยอดในมุมที่กว้างกว่านี้ แล้วนอกจากนั้นก็จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางด้านบันเทิง เรื่องภาพยนตร์ เรื่องเพลงเรื่อง Digital Content เรื่องการโฆษณา แล้วก็รวมไปถึงเรื่องงานออกแบบดีไซน์ เรื่องแฟชั่น เรื่องจิวเวลรี่ นี่คือระบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เราเชื่อว่าอุตสาหกรรมไทยอยู่ในระดับนั้นแล้ว เพียงแต่ว่า ทำยังไงที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนมันไปให้ได้ เรื่องที่สองก็จะเชื่อมโยงกับเรื่องการส่งเสริมกระบวนการการเรียนรู้ ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเรามีหน่วยงานที่ชื่อว่า ‘สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้’ ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน ที่เรียกว่า OKMD ซึ่งก็จะมี TK Park, TCDC, มิวเซียมสยาม และก็ศูนย์ที่ดูแลพัฒนาในเรื่องของการส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ อันนี้ก็จะมาช่วยปูพื้นฐานเพื่อจะเป็นการต่อยอดในเรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ด้วย เข้าเรื่องหนังนะครับ ท่านชอบดูหนังมาตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ? คุณ อภิรักษ์ : ตอนวัยรุ่น ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ สมัยก่อนมีเวลาบ้าง ก็อาจจะไปดูหนังตามโรงภาพยนตร์ ช่วงหลังเวลาน้อย แต่ว่าก็ยังมีโอกาสไปบ้างนะ ตามพวกโรงหนังแบบมัลติเพล็กที่มันสะดวก ไปตามห้างบ้าง อะไรบ้าง ก็ดู แต่พอเวลาไม่ค่อยมีก็จะไปซื้อเป็นดีวีดี วีซีดี เอามาเก็บไว้ แล้วถ้ามีเวลาว่างก็จะดู แล้วก็จะมีหนังหรือภาพยนตร์ที่จะได้ดูบ่อยมาก เช่น เวลาเดินทางไปต่างประเทศก็อาจจะดูบนเครื่องบิน ซึ่งอาจจะเป็นหนังใหม่หน่อย พอกลับมาก็จะซื้อดีวีดีเก็บไว้ แล้วบางเรื่องที่ชอบก็จะดูหลายครั้งมาก ชอบดูหนังแนวไหนเป็นพิเศษไหมครับ? คุณ อภิรักษ์ : อาจจะเรียกได้ว่าชอบหนังบล็อกบัสเตอร์นะครับ พูดง่ายๆ ก็หนังฟอร์มใหญ่ แต่ไม่ได้ดูที่โปรดักชั่นของหนังนะ จะดูที่ Story มากกว่า ว่ามันมีความหมายมีอะไรที่เราชอบ ซึ่งก็จะมีทั้งภาพยนตร์ไทย และภาพยนตร์ต่างประเทศ เข้าลิสต์หนังที่ท่านเลือกมาเลยนะครับ เรื่องแรก 15 ค่ำเดือน 11? คุณ อภิรักษ์ : เรื่องนี้เนี่ย หนึ่งเลย ตอนนั้นเป็นช่วงปลายสมัยทำงานที่แกรมมี่ด้วย ก็มีโอกาสได้เห็นสคริปต์ ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่แกรมมี่ พยายามที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งสมัยก่อนอาจจะเคยทำอยู่บ้าง แต่อาจจะไม่ได้ทำเยอะขนาดนี้ ตอนนั้นทีมงานที่เค้าเข้ามาร่วมงานกับแกรมมี่ ก็จะมีคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ อย่างคุณ เก้ง (จิระ มะลิกุล) เริ่มเข้ามา สองเนี่ย ผมว่ามันเป็นเหมือนตำนานที่คนไทยรู้จักกันดี ในเรื่องบั้งไฟพญานาค ก็เป็นเรื่องที่เรียกว่าเป็นความเชื่อที่เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ หรือว่ามีใครไปทำมันขึ้นมาหรือเปล่า แต่ว่าทุกปี พอถึงช่วงระยะเวลานี้ 15 ค่ำ เดือน 11 มันก็จะมีสิ่งที่เรียกกันว่าบั้งไปพญานาคออกมา มันก็เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเชื่อของคนไทย แต่เวลาทำหนังก็ถือว่ามันมีมุมมองที่มีความร่วมสมัยในการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของหนัง พล็อตเรื่อง เป็นหนังที่อาจจะดูร่วมสมัย แต่เอาเนื้อเรื่องที่เอาตำนานพื้นบ้านของอีสานมาให้คนทั่วไปได้ดู ท่านดูแล้วมีความคิดเอนเอียงไปทางด้านไหนไหมครับ? คุณ อภิรักษ์ : ว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ? (ยิ้ม) คือผมคิดว่า จริงๆ เนื่องจากว่ามันเป็นตำนานน่ะครับ ความเป็นไปได้ในเชิงวิทยาศาสตร์มันก็มี ที่เค้าพยายามอธิบายตอนทำสคริปต์ ที่เค้าเล่าว่า เป็นช่วงที่อุณหภูมิของน้ำ หรือเป็นช่วงของจังหวะเวลาน้ำขึ้นน้ำลงเพราะพระจันทร์เต็มดวง ผมคิดว่ามันก็มีความเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์นะ เพียงแต่ว่า แน่นอน ถ้าอยู่บนพื้นฐานแบบสังคมไทย ก็ดูเหมือนมันจะเป็นความเชื่อของคนที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ มันก็เป็นเรื่องแปลกนะ ว่าทำไมมันมาเกิดในช่วงระยะเวลานั้น แล้วจำนวนที่มันเห็น มันดูเหมือนไม่น่าจะเป็นไปได้ คือวันนี้มันเป็นปรากฏการณ์ อาจจะไม่ใช่แค่ระดับท้องถิ่นแล้ว แต่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกด้วยซ้ำไป ก็เป็นวิธีการสะท้อนถึงความเป็นสังคมไทย ซึ่งอันนี้ จะเห็นว่ามันมีความเป็นเอกลักษณ์ แต่วิธีการนำเสนอทำแบบร่วมสมัย เรื่องที่สองครับ มาเป็นคู่ สุริโยไท กับ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร? คุณ อภิรักษ์ : คือส่วนตัวเนี่ย ผมเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นว่าทั้ง สุริโยไท และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และผมคิดว่า วิธีแบบนี้น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะมากเลย สำหรับเด็กไทย หรือคนไทย ในการเรียนประวัติศาสตร์ (หัวเราะ) แทนที่จะไปท่องหนังสือแล้วเราก็จำไม่ค่อยได้น่ะครับ มันมีความรู้สึกว่า เออ ได้เห็น แล้วยิ่งถ้ามองมาถึงวันนี้ที่กำลังทำงานเรื่อง การส่งเสริมเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภาพยนตร์เนี่ย พูดง่ายๆ ว่าเป็นการนำเอาประวัติศาสตร์ให้กลับมามีชีวิตในวันนี้ ให้คนได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงตำนาน หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น แต่ว่าที่มันมีความน่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ เนื้อเรื่องที่มันแสดงให้เห็นถึงความรักชาติ ความเสียสละของบุคคลในประวัติศาสตร์ของยุคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง สุริโยไท ผมคิดว่าอาจจะเป็นช่วงจังหวะเวลาของประเทศไทยด้วย ในสถานการณ์ในช่วงนั้น ที่อยากให้คนไทยมารักกัน หรือให้คนไทยมีความรักชาติมากกว่านี้ อันนี้เป็นเรื่องของเนื้อเรื่องก่อน เรื่องที่สอง ก็คงเป็นเรื่องของรายละเอียดของการนำเสนอภาพยนตร์ จะเป็นพล็อตเรื่อง Story Line หรือแม้แต่โปรดักชั่นเนี่ย ผมคิดว่าอาจจะเป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่อยู่ในขั้นมาตรฐานสากล เมื่อเทียบกับฮอลลีวูด แล้ว ท่านมุ้ย ก็ทำงานอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการหาโลเคชั่น เครื่องแต่งกาย การออกแบบฉาก ฯลฯ ผมว่ามีรายละเอียด มีการลงทุน มีการไปฉายต่างประเทศ มีการทำเป็นดีวีดี มีการทำเป็นเวอร์ชั่นต่างๆ อันนี้ก็เป็นมุมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในหนังไทย อย่างตำนานสมเด็จพระนเรศวรเองก็มีความคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ว่า ในวิธีการนำเสนอก็จะมีความเป็นเอกลักษณ์ หรืออรรถรสของหนัง ซึ่งอาจจะแตกต่างกับสุริโยไท ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าคนไทยรู้จักกันดีด้วยซ้ำไป เทียบกันแล้วเรื่องไหนสนุกกว่ากันครับ? คุณ อภิรักษ์ : ผมคิดว่าสนุกคนละแบบน่ะ คือผมว่า สุริโยไท นี่ มันเป็นหนังที่อาจจะดูเป็นหนังชีวิตมากกว่า ในขณะที่ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร เป็นเรื่องที่สะท้อนความรักชาติมากกว่า เพราะเป็นเรื่องตอนที่ไทยเสียกรุงด้วย แต่การทำหนังอิงประวัติศาสตร์อาจเสี่ยงต่อประเด็นความไม่สมจริง หรือประเด็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ได้ผมคิดว่าอันนี้ต้องแยกกัน เพราะว่ามันเป็นภาพยนตร์ ไม่ใช่เป็นหนังสารคดี เราไม่ได้ทำหนังสารคดีเพื่อจะมาบอกว่าประเทศไทยเก่งกว่าพม่า (หัวเราะ) คงไม่ใช่ ความจริงคงไม่มีใครทราบ ถูกไหม พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับตำนานในประวัติศาสตร์ ซึ่งแน่นอน คนเขียนบทก็ดี หรือผู้กำกับอาจจะมีการปรับแต่งให้มันเหมาะสม เพราะมันเป็นภาพยนตร์น่ะครับ เรื่องที่สาม Star Wars ครับ? คุณ อภิรักษ์ : Star Wars เนี่ย ผมดูภาคแรกตอนเรียนมหาวิทยาลัย ปี 1 ประมาณปี 2521 เป็นเรื่องแรกเลย แล้วก็เป็นเรื่องที่โห! ทันสมัยมาก สำหรับเด็กวัยรุ่นสมัยนั้น ก็รู้สึกมีความผูกพัน พอโตขึ้น เรียนจบ ทำงาน ก็จะมีไอ้เวอร์ชั่นใหม่ๆ ของ Star Wars ออกมาเรื่อยๆ อันหลังๆ ที่ชอบมากก็คือ Episode 1 คือชอบวิธีคิดเค้าน่ะ เค้าทำหนังตอนแรกแล้วพอไปถึงตอนจบก็ อ้าว! ย้อนกลับไป Episode 1 ถึงที่มาเลย เพราะตอนที่เราดูหนังภาคแรก เราก็ไม่ทราบว่าที่มามันเป็นยังไง อันนี้ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นเสน่ห์ของการทำหนังของฮอลลีวูดนะครับ คือมันมีความลึกซึ้งของรายละเอียด ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเค้าพล็อตไว้อย่างงั้นหรือเปล่า อาจจะไม่ได้พล็อตไว้ว่า 3 ปี 5 ปี 10 ปี จะมาสร้างภาค 1 น่ะ (หัวเราะ) อาจจะทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ผมคิดว่ามันก็เป็นหนังที่มีความทันสมัยในยุคนั้น และก็แน่นอน ในแต่ละช่วงมันก็จะมีการนำเสนอเทคนิคอะไรใหม่ๆ แล้วถ้าถามผมนะ ไม่ว่าหนัง Platform มันจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสงครามอวกาศ หรือมนุษย์ในอีกโลกนึงก็ตาม แต่มันสะท้อนถึงชีวิตจริงของคนในปัจจุบัน ก็คือมันเป็นการทำสงคราม เป็นเรื่องการเมือง มีคนดี คนไม่ดี ถูกไหม ผมคิดว่าหนังพยายามที่จะสะท้อนเรื่องนี้ เรื่องคุณธรรม ความชั่วร้าย ด้านมืด ด้านสว่าง นอกเหนือไปจากตัวหนังที่มีความสนุกหรือเทคนิคแล้วเนี่ย ผมคิดว่า เรื่องนี้เป็นการสอนที่ดีด้วย ในฐานะที่เป็นแฟนและดูมาหมดทุกภาคแล้ว ชอบภาคไหนที่สุดครับ? คุณ อภิรักษ์ : จริงๆ ถ้าผมชอบที่สุดจะชอบ Episode 1 เพราะว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะช่วงวัย ด้วยความที่เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นน่ะครับ แล้วช่วงที่เค้าทำ Episode 1 ก็มีโอกาสซื้อหนังสือมาอ่าน มันเริ่มรู้สึกว่าเออ เรา mature ขึ้นด้วย โอเค ภาคแรกที่ดูตอนนั้นเราก็ยังวัยรุ่นน่ะ แล้วก็อาจจะชอบด้วยวิธีคิดที่เค้าย้อนไปบอกถึงจุดเริ่มต้นว่ามันมายังไง พวกนี้ก็ซื้อเก็บไว้ แล้วก็เอามาดูเรื่อยๆ เรื่องที่สี่ครับ The Godfather? คุณ อภิรักษ์ : อันนี้ก็ชอบมากๆ เพราะผมว่าก็มันเป็นสีสันของชีวิต น่ะครับ (ยิ้ม) แล้วก็ชอบด้วยวิธีการนำเสนอ คือมันเล่าเรื่องตั้งแต่ ภาค 1 ภาค 2 ภาค 3 ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ของ ครอบครัวคอร์ลิโอเน่ อะไรพวกนี้ แล้วเค้าก็ทำได้ดีนะ เมื่อก่อนก็ซื้อทีละภาคนะ ตอนหลังก็ซื้อเป็นกล่อง มีทั้ง 3 ภาค ซื้อมาเก็บไว้ แล้วบางทีก็ดูคืนเดียวรวดเลยทั้ง 3 ภาค มันก็หลายชั่วโมงมาก มันก็เห็นความต่อเนื่อง เก่งนะ ผมว่าเค้าทำได้ดี ในการที่จะเลือกตัวแสดง ตั้งแต่เด็ก แล้วเป็นหนุ่ม แล้วก็อยู่ในวัยที่เป็น Gangster จนขึ้นมาถึงวัยที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นหนังที่แม๊น แมนมากๆ นะครับ ไปสัมภาษณ์ผู้ชายส่วนใหญ่จะชอบหนังเรื่องนี้กันทั้งนั้น? คุณ อภิรักษ์ : เหรอ (หัวเราะ) ผมว่ามันดูมีความลึกซึ้งน่ะ มันมีชีวิต นึกออกไหม ยิ่งไอ้ตอนสุดท้ายนะ คือมันเหมือนว่าเค้าผ่านยุคตั้งแต่สมัยพ่อเค้าต้องหนีมาจากอิตาลี ข้ามน้ำข้ามทะเลมาอยู่อเมริกา แล้วสร้างเนื้อสร้างตัว มันถ่ายทอดชีวิต หนังมันก็ทำได้ดีนะ มันดูเป็นยุคนั้นจริงๆ จนกระทั่งวันนึงเค้าขึ้นมามีชื่อเสียง เหมือนเราเห็นในสังคมไทยน่ะ ถ้าถามผมนะ มันก็สะท้อนชีวิตจริงน่ะ แล้วเค้าก็คงอยากมีเกียรติ เป็นที่ยอมรับในสังคม แต่ว่าบางทีพอในที่สุดมันก็ไม่สามารถเลือกได้จริงๆ น่ะ มันเป็นวงจรชีวิตของคนเราเหมือนกัน ผมว่าหนังเรื่องนี้มันก็มีไอ้ Lesson learned ที่สอนคนน่ะครับ เวลาดู เรื่องที่ห้า The Lord of the Rings ครับ? คุณ อภิรักษ์ : คือผมเวลาดูหนังเนี่ย ผมจะชอบเนื้อหาก่อน ว่ามันสอนอะไรไหม ในเรื่องนั้นๆ เพียงแต่ว่าวิธีการนำเสนอมันจะนำเสนอในรูปของหนังแบบไหน Lord of the Rings เนี่ยก็ชอบ ยิ่งเราทำงานเป็นนักธุรกิจ เราเป็นผู้บริหารมา แล้ววันนึง เราก็มาเล่นการเมือง หนังเรื่องนี้มันสอนเรื่องอำนาจ มันสอนเรื่องความอันตรายของคนที่มีอำนาจ ในเรื่องของกิเลส เพียงแต่ว่านำเสนอในรูปของแหวน แล้วทุกคนก็จะต่อสู้เพื่อจะให้ได้มาซึ่งอำนาจ ผมคิดว่าวิธีการที่เค้าเขียนเรื่อง หรือแม้แต่ตัวละครอะไรมันน่าสนใจน่ะ แล้วมันก็เป็นหนังไตรภาค จะเห็นว่าหนังหลายเรื่องที่ผมชอบจะเป็นหนังภาคต่อ เป็นซีรีส์ จะชอบหนังแบบนี้ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นหนังแบบบล็อกบัสเตอร์ คือมีการลงทุน แต่เรื่องเทคนิคผมมองเป็นเรื่องรองนะ สำหรับผมน่าจะเป็นเรื่อง Story Line เรื่องสคริปต์น่าจะมีความสำคัญมากกว่า แล้วเวลาผมดูหนังนอกเหนือจากความสนุก นอกจากจะเอนเตอร์เทนตัวเองแล้วเนี่ย ก็อยากจะได้อะไรที่เป็นบทเรียนที่เราได้จากหนังด้วย อย่างหนังทุกเรื่องที่เลือกมาเนี่ย ส่วนใหญ่จะดูบ่อยๆ คือดูแล้วชอบ ถ้าถามเนี่ย อาจจะชอบมากกว่าดูโทรทัศน์ด้วยซ้ำไป คือดูโทรทัศน์เนี่ย มันเหมือนเค้าเลือกมาให้เราดู ถูกไหมครับ แต่ว่าดูหนังนี่ เราเลือกที่จะดูเอง เราตั้งใจที่จะหยิบมันมาดู นี่จะแตกต่างกัน ใน The Lord of the Rings เปรียบแหวนเป็นตัวแทนของอำนาจ นักการเมืองส่วนใหญ่ตอนนี้ก็ยึดติดหลงใหลในแหวนอยู่เหมือนกันนะครับ? คุณ อภิรักษ์ : ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างนึงที่เค้าสะท้อนให้เห็นนะ ว่าเวลาคนเราไขว่คว้าอยากได้มาซึ่งอำนาจ ถ้าเอาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ผมว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เรื่องที่หกครับ Gladiator? คุณ อภิรักษ์ : จะเห็นว่าเป็นหนังแนวๆ ประวัติศาสตร์หน่อยๆ ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่ทำได้ดีมาก แล้วก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนกลับไปในยุคสมัยโรมันจริงๆ เพราะผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็พอจะรู้จักประวัติศาสตร์ของตะวันตก ประวัติศาสตร์โรมันกันอยู่บ้างเวลาเรียนหนังสือ ก็ดูเหมือนว่าหนังทำได้ค่อนข้างสมจริง ผมเองเวลาทำงานก็มีโอกาสได้ไปเที่ยวกรุงโรม ก็ไปดูที่โคลิเซี่ยม เราก็รู้สึกว่า เออ พอเอามาทำเป็นหนังจริงๆ โอ ทำได้ดีมาก ด้วยโปรดักชั่นที่เค้าทำออกมา แล้วก็แน่นอน มันก็จะมีบทเรียนที่สอนเราอยู่ในหนังเรื่องนี้อยู่แล้ว ในเรื่องของความซื่อสัตย์ ในเรื่องของอุดมการณ์ ความเชื่อมัน จงรักภักดี ผมว่าอันนี้ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่ดี แต่รู้สึกไหมครับว่าคนที่ยึดอุดมการณ์ หรือคนที่ซื่อสัตย์มักจะ...? คุณ อภิรักษ์ : ตายตอนจบใช่ไหม (หัวเราะลั่น) ผมว่าอันนี้อาจจะเป็นมุมของผู้กำกับหรือผู้อำนวยการสร้างนะ เพราะว่าอันนี้ก็เป็นวิธีการนำเสนอแบบสื่อน่ะ ถูกไหม ที่เราเห็นจากสื่อส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเสนอข่าวดีน่ะ เสนอในมุมอะไรที่มันดูหวือหวาหน่อย หนังก็เหมือนกัน ส่วนใหญ่หนังที่คนจะชอบ และหนังที่ดัง ส่วนใหญ่มันจะไม่ค่อยแฮปปี้เอนดิ้ง ต้องเป็นโศกนาฏกรรม? คุณ อภิรักษ์ : ใช่ ส่วนใหญ่มันจะเป็นแบบนั้น แล้วคนจะจำ แล้วมันจะอิน มันจะซึ้ง อะไรแบบนี้ ผมว่าอันนี้ก็จะเป็นวิธีการนำเสนอ ซึ่งไม่อยากให้มองว่า เอ๊ะ! ถ้าอย่างงั้นเราจะเป็นคนดีทำไม เพราะมันแย่ตลอดเลย (หัวเราะ) แต่ว่ามันก็สะท้อนให้เห็นนะ ซึ่งจริงๆ ในสังคมไทย สังคมที่ไหน หรือแม้แต่ในยุคประวัติศาสตร์ มันก็มีเรื่องแบบนี้อยู่ด้วย เรื่องที่เจ็ด The Last Emperor ครับ? คุณ อภิรักษ์ : The Last Emperor นี่ ผมว่าเค้าเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ได้ดีมาก เป็นหนังฟอร์มใหญ่มากที่เล่าให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ย้อนหลังไป แล้วเราเข้าใจง่าย เราเห็นจากชีวิตที่เกิดขึ้นในหนัง ถ้ามองความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิจีน ในที่สุดแล้ว เบื้องหลังมันก็เป็นเรื่องที่ไม่มีความสุขน่ะ คืออยู่ในราชสำนักแต่ไม่มีความเป็นอิสระ ไม่รู้จักโลกภายนอกว่ามันเกิดอะไรขึ้น อันนั้นก็เป็นที่มาความล่มสลายของราชวงศ์จีนที่เป็นจักรพรรดิองค์สุดท้าย เป็นอีกเรื่องที่แนะนำเลย แล้วผมคิดว่ามันมีความใกล้ตัว พูดง่ายๆ คือ สมมุติหนังฝรั่งบางทีเรารู้สึกไกลตัว อันนี้เป็นหนังที่ ถ้าไม่นับ สุริโยไทกับ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ผมว่ามันเป็นหนังที่เรารู้สึกใกล้ตัว เป็นหนังเอเชีย และคนไทยก็พอรู้จักคนจีนอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ฝรั่งทำนะครับ? คุณ อภิรักษ์ : ใช่ๆๆ แต่ทำออกมาได้ไม่มีความเป็นฝรั่ง ดูเป็นหนังจีนเลยไง แล้วช่วงหลังพอจีนเค้าเปิดประเทศเนี่ย มันทำให้ผมมีโอกาสไป เรายังอยากไปดูเลย นึกออกไหม แล้วเรื่องที่ผมรู้สึกอินมากก็คือในตอนจบ ที่ตัว ฮ่องเต้ปูยี กลายเป็นคนธรรมดาไปแล้ว ทำอะไรไม่เป็น แล้ววันนึงเค้าเดินกลับไปที่พระราชวังต้องห้าม ไปนั่งที่บัลลังก์ แล้วเค้าก็เอามือเอื้อมไปหยิบไอ้กล่องที่เค้าเล่นจิ้งหรีด นึกออกไหม คือมันเป็นความรู้สึกว่า เออ นี่ก็คือชีวิตคนคนนึง ซึ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงของสังคม จากวันที่ตัวเองเคยเป็นจักรพรรดิ ชีวิตก็เปลี่ยนไปเพราะสงคราม เพราะความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือเห็นเลย หนังส่วนใหญ่ที่ผมพูดถึงน่ะ โอเค จะเป็นหนังประวัติศาสตร์ก็ดี แต่มันก็เป็นหนังชีวิตน่ะ ที่เรียกว่าเป็น Slice of Life น่ะ ผมว่าอันนี้เป็นสไตล์ของหนังที่ผมจะชอบ มันเห็นการดำเนินชีวิตของคนในแต่ละยุค คือมันไม่ใช่ดูแบบเร็วๆ นึกออกไหม คือหนังบางเรื่องมันดูสนุกเร็วๆ ก็จบแล้ว แต่นี่มันเห็นชีวิตน่ะครับ เรื่องที่แปดครับ The Mummy? คุณ อภิรักษ์ : อันนี้เป็นเรื่องที่อาจจะส่วนตัวนิดหน่อย คือสมัยเด็กๆ ผมชอบอ่าน ‘ต่วยตูน’ (หัวเราะ) จะชอบอ่านพวก ปิรามิด, มัมมี่, ฟาโรห์ อะไรอย่างนี้นะครับ คือชอบ แล้วพอตอนหลังมันมีหนังไอ้มัมมี่เรื่องนี้มา แล้วมันก็มีเทคนิคที่ดีด้วย เทคนิคสมัยใหม่:? คุณ อภิรักษ์ : ใช่ เป็นเรื่องแรกเลยที่เอาเทคนิคมาใช้ ก็ชอบน่ะ อันนี้ก็ดูไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้มีอะไรอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเป็นเรื่องที่เราชอบมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วเค้าก็ทำโปรดักชั่นทำเทคนิคได้ดี แต่ว่าถ้าเทียบ 3 ตอน ก็ยังชอบตอนแรกที่สุด คือมันเป็นครั้งแรกที่ทำออกมาในมุมใหม่ ทำออกมาได้ดีมาก หรือตอนที่สองก็ยังดี มันมาเชื่อมโยงให้เห็นในอีกมุมนึง นึกออกไหม ผมชอบหนังแบบนี้ ที่บางทีมันพลิกให้เราถึงเบื้องหลังของหนังภาคแรก ตอนแรกเราก็เห็นแต่ข้างหน้า แต่ว่าไอ้ตอนที่สองมันมาเห็นข้างหลัง ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ตอนล่าสุดก็ดูนะ แต่อาจจะผิดหวังนิดหน่อย (หัวเราะ) เพราะมันแทบไม่มีอะไรเลย หนังมันดูหลวมๆ ไปหน่อย เรื่องที่เก้า Titanic ครับ? คุณ อภิรักษ์ : ผมว่า Titanic เนี่ย เป็นหนังที่ อาจจะด้วยตัวโปรดักชั่น ด้วย Story ของมัน และด้วยเพลง มันก็ออกมาเป็นหนังรักหนังโรแมนติกที่ดีมาก แล้วก็ทำได้เหมือนจริงมาก ในความรู้สึกผม ชอบ เป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่เอาเรื่องราวของหายนะภัยมาผสมกับความโรแมนติก? คุณ อภิรักษ์ : ผมว่ามันก็จะคล้ายกับคำถามเมื่อกี้นะ ที่บอกว่าหนังส่วนใหญ่มันต้องเป็นโศกนาฏกรรม มันถึงจะเป็นตำนาน (หัวเราะ) ซึ่งจริงๆ ผมก็ไม่เชื่อนะ หนังมันดูสนุกจริง แต่ถ้ามาดูแบบเป็นเหตุเป็นผล มันเป็นไปได้ยาก คนมาเจอกันแป๊บเดียว อะไรมันจะรักกันได้มากขนาดนั้น แต่ว่าโอเค มันเป็นภาพยนตร์ แล้วมันก็ทำได้ดีมาก แล้วเป็นโศกนาฏกรรมที่คนส่วนใหญ่ก็คงเคยได้ยิน แต่แน่นอน ด้วยวัยเราก็คงไม่ทันน่ะครับ แต่ในช่วงที่เค้าทำหนังเรื่องนี้มา จะด้วยการโปรโมท จะด้วยกระแสหนังอะไรอย่างงี้ โอ้โห! เป็นหนังที่ดี แล้วพอมาดูบ่อยๆ มันก็ซึ้งนะ หนังฮอลลีวูด
เค้าพิถีพิถันน่ะ เรื่องการออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย สคริปต์ การถ่ายทำ หรือแม้แต่รายละเอียดบางอัน เนื่องจากผมเป็นคนชอบศิลปะอยู่แล้ว แล้วเค้าก็มีหยิบภาพเขียนของ ปิกัสโซ่ ออกมา ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องตลกของคนในสมัยนั้น แต่ว่าเออ เราดูมันก็รู้สึก ผมว่าพวกนี้มันเป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่หนังเค้าหยิบขึ้นมา อันนี้ก็ชอบ เรื่องสุดท้ายครับ Twilight? คุณ อภิรักษ์ : Twilight นี่เป็นหนังที่ผมไม่เคยสนใจเลยนะ คือวันเสาร์อาทิตย์ผมจะชอบไปร้านหนังสือ จะไปเอเชียบุ๊คส์, คิโนะคูนิยะ ก็จะเห็นไอ้หนังสือก้อนๆ ของ Twilight ตั้งขายอยู่ ก็นานแล้วล่ะ ได้ยินคนบอกว่าเด็กวัยรุ่นชอบอ่าน ก็ไม่ได้สนใจ จนกระทั่งวันนึงไปต่างประเทศ แล้วได้ดูในเครื่องบิน ก็เออ ชอบ แล้วตอนไปอเมริกาก็ได้ดูอีกครัั้้งทางช่อง Pay Per View ในโรงแรม กลับก็มาหาซื้อดีวีดี แล้วตอนหลังเนี่ย ชอบเพลง ก็ไปโหลดดูในยูทูป มันก็จะมีเพลงเล่าในแต่ละฉาก โอ ชอบมาก แล้วตอนนี้ก็กำลังจะมี New Moon ก็ชอบ ชอบโปรดักชั่น ก็ถือว่าเป็นหนังที่อาจจะเรียกได้ว่าใหม่ที่สุดที่ดูแล้วชอบ สังเกตนิดนึงว่าหนังส่วนใหญ่ที่ท่านเลือกมา จะเป็นหนังที่ได้รับรางวัลออสการ์ทั้งนั้นเลยนะครับ? คุณ อภิรักษ์ : อ๋อ เหรอครับ (หัวเราะ) แต่ไม่ได้เลือกดูเพราะว่ามันได้รางวัลเลยนะ จะเห็นว่าที่ผมดูเพราะว่ามันมีเนื้อเรื่อง มี Story ที่ชอบน่ะ อาจจะเรียกว่าเป็นเหมือนรสนิยม ดูแล้วก็จะเห็นว่าแนวมันก็จะใกล้ๆ กัน ถ้าดูจะเห็นว่าไม่มีเลยนะ หนังที่กุ๊กกิ๊ก หวานแหวว ไม่ชอบเลย ผมเคยเป็นวัยรุ่นนะ ไม่ใช่ไม่เคย (หัวเราะ) แต่ไม่ชอบ ไม่ใช่ว่าไม่ดูนะ ปกติผมเป็นคนชอบดูหนังอยู่แล้ว หนังพวกนี้ได้ดูหมดแหละ แต่ไม่ค่อยชอบ พูดถึงวงการบ้านเราบ้าง รัฐบาลสมัยนี้มีนโยบายหรือท่าทีอย่างไรต่อวงการหนังไทยบ้างครับ? คุณ อภิรักษ์ : ผมคิดว่าจริงๆ เค้าได้ทำงานกันมาหนักพอสมควรนะครับ หนึ่ง ผมคิดว่าได้มีการผลักดันเรื่องการจัดตั้งสมาพันธ์การทำงานเชื่อมกับรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงวัฒนธรรมเองในฐานะหน่วยงานหลัก ก็พยายามที่จะยกระดับมาตรฐานการทำงาน ในเรื่องของมาตรการทางภาษี เพื่อที่จะส่งเสริมวงการภาพยนตร์ไทย ทั้งในส่วนที่ผลิตในประเทศ หรือแม้แต่เวลาเรามีทีมงานจากต่างประเทศมาใช้โลเคชั่นเนี่ย มันเป็นเรื่อง Skill เรื่อง Know How ต่างๆ ที่เราจะได้รับการถ่ายทอดด้วย ก็ต้องยอมรับว่าสมัยก่อนเนี่ย ส่วนใหญ่เราก็เรียนมาจากผู้กำกับต่างประเทศ อย่างบริษัทเอเจนซี่โฆษณาที่ผมเคยทำงานด้วย สมัยก่อนพวกครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ก็เป็นฝรั่งเยอะ คนไทยที่ทำงานใกล้ชิดก็ได้เรียนรู้ไอ้ Skill พวกนี้ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ และเนื่องจากว่าเราไม่ได้มองแค่เฉพาะเรื่องภาพยนตร์ แต่เรามองเรื่อง Creative Economy ทุกวันนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลกำลังทำงานร่วมกับคนที่อยู่ในวงการภาพยนตร์ ว่าเราจะส่งเสริมภาพยนตร์ ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมและในเรื่องของการที่จะทำให้คนทั่วโลก หรือแม้แต่คนไทยด้วยกันเอง Appreciate วัฒนธรรมไทย เพราะว่าภาพยนตร์แต่ละประเทศ มันก็จะสะท้อนความเป็นคนในประเทศนั้นๆ อีกประเด็นที่ทั้งฝ่ายผู้บริโภคอย่างคนดู และฝ่ายผู้ผลิตอย่างผู้สร้างหรือคนทำหนัง ค่อนข้างให้ความสนใจ คือประเด็นของการเซ็นเซอร์ หรือการจัดเรทภาพยนตร์ ตรงส่วนนี้มีความคืบหน้ายังไงบ้างครับ ผมว่าจริงๆ ยุคสมัยใหม่เราคงไม่ได้มองเรื่องเซ็นเซอร์เป็นหลัก ที่จะให้คณะกรรมการกลุ่มหนึ่งมานั่งตัดสินหนัง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่คนต่อต้านกันอยู่ แน่นอน รัฐบาลให้ความสำคัญในการจัดเรทติ้งหนัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะมีการทำอย่างเป็นระบบ และก็ได้ทำไปแล้ว แต่สังคมที่เจริญเนี่ย มันไม่ได้แค่อยู่ที่การมีเรทติ้งหนัง แต่มันจะอยู่ที่วิจารณญาณของคนดู มันไม่ใช่แค่หน้าที่ของคนทำหนังอย่างเดียว เป็นหน้าที่ของผู้บริโภค ของคนดูด้วย จริงๆ คนดูมีสิทธิ์ที่จะเลือกดูหรือไม่ดู เพราะหนังเนี่ย พูดง่ายๆ คือ มันดูแล้วเสียเงินน่ะ มันไม่เหมือนฟรีทีวี การที่เค้าจะควักเงินมาดูหนัง หรือจะพาลูกไปดูหนังเนี่ย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้อง Educate ตลาด แต่ถ้าถามโดยส่วนตัว ผมอยากให้มีกระบวนการกลั่นกรอง การเลือกดูหนัง มากกว่าระบบเซ็นเซอร์ที่เคยเป็นในอดีต คำถามสุดท้าย หนังให้อะไรกับท่านบ้างครับ? คุณ อภิรักษ์ : ผมคิดว่า อย่างแรกเลย สิ่งที่ได้แน่นอน ถ้าเป็นเรื่องพื้นฐานเลย คือเรื่องการพักผ่อน ความบันเทิง แต่ว่าที่ผมชอบมากกว่านั้น จะเห็นว่าหนังทุกเรื่องเนี่ย มันจะมีเรื่องของเนื้อหา บทเรียนอะไรที่สอนเรา เพราะอย่าลืมว่า คนเราใช้ชีวิต มันต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าเราจะผ่านไอ้กระบวนการเติบโตของตัวเองขึ้นมา ตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น วัยเริ่มทำงาน ประสบปัญหาในชีวิต ฝนตก แดดออก ชีวิตมีขึ้นมีลง อะไรอย่างงี้ แต่ว่าเราสามารถดูได้จากหนังเรื่องเดียวเลย นอกเหนือไปจากความบันเทิง อรรถรสที่ได้จากหนังเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ใน 10 เรื่องที่ผมพูดถึงเนี่ย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องที่อย่างน้อยผมคิดว่าเป็นประโยชน์กับส่วนตัว เพราะฉะนั้นก็จะเป็นโอกาสที่จะหยิบมาดูอยู่เรื่อยๆ บางทีเราดู เราก็ได้อะไรที่เป็นบทเรียนให้กับชีวิต ให้กับตัวเราเอง

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ 10 หนังโปรดในดวงใจของ หล่อเล็ก อภิรักษ์ โกษะโยธิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook