สัมภาษณ์ ชาคริต กับบทบาทใน A Moment in June
บทบาท-คาแร็คเตอร์
ชาคริต : เรื่องนี้ผมรับบทเป็น ปกรณ์ เป็นผู้กำกับละครเวที เป็นคนที่ค่อนข้างมาจากครอบครัวที่ไม่ได้มีเงินมากมาย เป็นคนที่อารมณ์ค่อนข้างอาร์ติสมาก ทุกอย่างเขาทำมาด้วยตัวของเขาเองในความรู้สึกของตัวเอง เป็นคนที่สันโดษ แต่ก็ตามหาความรัก ตามหาสิ่งที่ใช่อยู่ แต่ด้วยความที่เขาเป็นศิลปินมากเกินไป มันก็ค่อนข้างไม่ลงกับจังหวะชีวิตของตัวเองซักเท่าไหร่ครับ
คาแร็คเตอร์ในเรื่องนี้มีความยากง่ายอย่างไรบ้าง หนักใจหรือเปล่า
ชาคริต : ผมคิดว่า มันเป็นการบ้านของนักแสดงที่ต้องทำความเข้าใจของตัวละคร ต้องศึกษาตัวละครเพื่อทำความเข้าใจกับตัวละครตัวนั้นให้มากที่สุด แล้วต้องมาคุยมาปรึกษากันกันหน้าเซ็ตกับผู้กำกับ แล้วก็มาสรุปกันที่ตรงกลางเราคิดว่าน่าจะเข้าใจกันได้ เพราะเราคิดว่าถ้าเราเป็นเขาคงไม่น่าจะเข้าใจอะไรยากมากนัก เพราะเราเล่นเป็นตัวเขาไม่ได้เป็นชีวิตจริงของเรา แต่ถ้าสมาธิเราแตกแว่บเดียวแล้วเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาใช้ก็แย่เลย ทำงานกับทีมงานนี้เหมือนทำงานกับเพื่อน มีอะไรก็ปรึกษากันเป็นทีมเวิร์คที่ดีด้วยครับ
มีส่วนที่เหมือนหรือส่วนที่ต่างกับตัวเองอย่างไรบ้าง
ชาคริต : ผมว่า ทุกคนก็ต้องมีส่วนที่ตัวเองเหงาทุกคนก็ต้องอยากมีคนที่ใช่ แต่ว่ามันอยู่ที่ว่าโอกาสนั้นจะมาเมื่อไหร่ เราคิดว่าเราควรต้องมีประสบการณ์เกี่ยวกับความรักที่เราต้องเรียนรู้ในการดำเนินชีวิตต่อไปให้ได้นะครับ
การเปลี่ยนบทบาทครั้งนี้แตกต่างกับงานที่ผ่านมาอย่างไร
ชาคริต : ผมคิดว่าทุกเรื่องที่เราได้เล่น บทบาทมันก็ต้องแตกต่างกันอยู่แล้วนะครับ มันต้องตามคาแร็คเตอร์ มันต้องมีคาแร็คเตอร์โน้นคาแร็คเตอร์นี้ มันก็แตกต่างกันสิ้นเชิง อย่างตัวละครตัวนี้ก็ได้มาเป็นผู้กำกับละครเวที ได้กำกับพี่น้อยวงพรู ได้เล่นกับนุ่น สินิทรา, พี่กิ๊ก มยุริญ ได้กำกับหลาย ๆ คนแต่มันก็น้อย แต่มันเป็นเรื่องของสไตลิสต์ของตัวละครมากกว่า ปกรณ์จะเป็นคนที่เหมือนจะมั่นใจในตัวเองมาก แต่ก็เหมือนจะไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองเท่าไหร่ด้วยเหมือนกัน เป็นคนที่ค่อนข้างจะ Sensitive อ่อนไหวเอามาก ๆ แล้วก็ตัดสินใจอะไรพลาด ๆ เยอะในชีวิต เป็นคนที่ Suffer กับสิ่งที่ตัวเองได้มาเมื่อมารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด กว่าจะรู้ก็สายเกินไป เหมือนสิ่งที่คนไทยว่ากัน ตัวของปกรณ์ก็จะเป็นแบบนั้นครับ
โดยส่วนตัวแล้ว บทนี้เป็นบทที่ท้าทายมากน้อยแค่ไหน
ชาคริต : ท้าทายครับ เพราะมันมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราอยากจะเล่าให้ฟังซึ่งผู้กำกับบอกให้ทำได้ เราก็ทำ คือจริง ๆ แล้วในเรื่องเราเล่นเป็นผู้กำกับละครเวที ซึ่งก็เป็นบทที่ไม่เคยได้เล่นมาก่อน มันน่าสนใจทั้งในส่วนของคาแร็คเตอร์เอง อารมณ์ความรู้สึกในแง่ดราม่า แล้วก็เรื่องราวความรักและการดำเนินชีวิตของทุกตัวละครที่จะเชื่อมโยงกันในทางใดทางหนึ่งด้วยครับ
เคยร่วมงานกันทีมงานนี้มาก่อนแล้ว นี่เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่มาร่วมงานกันอีกครั้งในหนังเรื่องนี้ด้วยหรือเปล่า
ชาคริต : ครับ ก็เคยพูดคุยและสัญญากับผู้กำกับไว้แล้วส่วนหนึ่งว่าเขาจะส่งบทเรื่องใหม่นี้ให้เราอ่านจริง ๆ แล้วต้องมีการโทรคุยโทรติดต่อกันอยู่เรื่อย ๆ นั่นแหละครับ ก็เลยยินดีเล่น ชอบอยู่แล้วครับ บ้า ๆ บอ ๆ เพี้ยน ๆ แบบนั้น มันสนุกดีนะครับ เพราะชอบการแสดงแล้วก็ชอบการทำงานผู้กำกับด้วย ก็เลยแสดงเรื่องนี้ออกมาอย่างเต็มที่ครับ
การทำงานในเรื่องนี้กับหนังสั้น Bicycle & Radios แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
ชาคริต : แทบจะไม่ต่างกันเลยในระยะเวลาของการถ่ายทำนะครับก็เกือบจะเท่า ๆ กัน แต่ว่าในส่วนของเรื่องราว Bicycle & Radios ก็จะเป็นเรื่องของคนสองคนมากกว่า ตอนนั้นได้เล่นกับพี่อุ้ม (สิริยากร พุกกะเวส) ด้วย คือคิวถ่ายของทั้งกองของเรื่อง A Moment in June นี้ มันน่าจะยาวกว่า Bicycle & Radios อยู่แล้ว แต่ระยะเวลาก็ใกล้ ๆ กันเวลาประมาณ 9 วันแทบจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ ส่วนสเกลของกองก็อาจจะมีทีมงานบุคลากรเพิ่มขึ้นมานิดนึง แต่โดยรวมแล้วก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่นะครับถ้าพูดกันถึงความตั้งใจและคุณภาพของหนังที่ออกมาก็เหมือนกันครับ
นิยามความรักโดยส่วนตัวเป็นอย่างไร
ชาคริต : คนเราดีใส่กันเราก็ชอบ แต่ถ้าเขางี่เง่าที่สุดก็รับได้ คือเราต้องรับแง่ลบของเขาให้มากที่สุดที่อยู่ในขอบเขตกติกานะ อย่างอื่นที่เกินขอบเขตอันนั้นก็อยู่แต่ละบุคคลว่า อันนั้นจะให้อภัยกันได้หรือเปล่า แต่อย่างน้อยเราก็ต้องยอมรับในข้อเสียของเขาให้ได้ก่อน แล้วถึงค่อยมาชื่นชอบกันได้นะครับ
การร่วมงานกับผู้กำกับเป็นอย่างไรบ้าง
ชาคริต : ก็เหมือนเดิม พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง (หัวเราะ) พูดสั้น ๆ แต่เป็นเพราะเราเข้าใจกันพูดแค่นั้นก็พอแล้ว แต่เขาจะอธิบายให้กับคนอื่นมากกว่า แต่ด้วยความที่ว่าผมอยากจะรู้จักกับหนังเรื่องนี้มากกว่าคนอื่น ๆ ก็เคยคุยกันมาอยู่แล้วก็เข้าใจกันมากขึ้น โชคดีตรงที่ว่าเราได้เคยคุยกันมาก่อนแล้ว สำหรับตัวผมเองก็ทำงานได้สบายขึ้น ทำงานออกมาได้เร็วขึ้น กับตัวผู้กำกับเองก็ไม่ต้องมาเหนื่อยกับผมมาก ก็ไปเหนื่อยกันคนอื่น ๆ ทุกอย่างดีครับ เขาเป็นผู้กำกับที่เก่งมากนะครับ
ทีมนักแสดงที่มาร่วมงานกันในเรื่องนี้เป็นอย่างไร
ชาคริต : อาสุเชาว์จะเจอกันบ่อยตามงานละครในช่วง 4 ปีที่แล้วเจอกันทุกวัน มีหนังอยู่สองเรื่องที่เล่นด้วยกันนานถึงกับว่าเปลี่ยนนามสกุลเลยดีกว่า ส่วนพี่ตั๊กเป็นทั้งพี่ก็เป็นแล้ว เป็นเพื่อนก็เป็นแล้ว เป็นศัตรูก็เป็นแล้ว ส่วนเรื่องนี้เล่นเป็นอะไรต้องไปดูกัน ส่วนพี่น้อยก็เจอตามงานคุยกันถูกคอ ส่วนนุ่นเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว เวลาเจอเธอก็แมน ๆ ได้เล่นกับเพื่อนก็สบายมากครับ คุณกิ๊กมยุริญก็คือกัลยาณมิตรของผมแทบจะเหมือนแม่จริง ๆ เลย ดวงเขาคงต้องเป็นแม่ผม คอยรับผิดชอบผมตั้งแต่นี้เป็นต้นไป (หัวเราะ)
มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องการแสดงมากน้อยแค่ไหน
ชาคริต : ผมว่าทุกอย่างต้อง 50-50 นะ อย่างหน้าที่ของผมต้องเล่นแอ็คติ้งไปตามธรรมชาติของผู้กำกับทั่วไปที่จะรู้ว่าตัวละครมันแค่ไหน มากไปหรือน้อยไป แต่เขาจะรู้คาแร็คเตอร์ดีเท่าเราก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเขาจะต้องรู้คาแร็คเตอร์ตัวละครทุกตัว แต่เราก็จะอยู่กับคาแร็คเตอร์ตัวเดียวตัวนี้ตลอด 24 ชั่วโมงตั้งแต่เปิดกล้องถึงปิดกล้อง มันเป็นเรื่องที่เราต้องทำ ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องคอยมาบอกเราหรือเล่นให้เราดู มันก็เป็นศาสตร์ของการถ่ายทำ ของแอ็คติ้งครับ
บรรยากาศในการทำงานกองถ่ายเป็นอย่างไรบ้าง
ชาคริต : ก็สนุกดีครับ ก็ไม่มีปัญหาอะไร เราก็ทำหน้าที่ไปออกกองแต่เช้าแล้วก็ทำโน่นทำนี่ไปตามหน้าที่ตัวเอง บางฉากก็อาจจะมีลุ้น ๆ มากนิดหน่อย คงบอกไม่ได้ต้องไปดูกันเอาเองครับ
อุปสรรคในการทำงานมีสิ่งไหนที่หนักใจที่สุด
ชาคริต : จะเป็นเรื่องคิวครับ ตอนนั้นเพราะว่า คิวผมรกที่สุดแล้ว จนถึงป่านนี้เขายังปวดหัวกับคิวของผมอยู่เลย มีทั้งหนังที่ถ่ายยังไม่เสร็จแล้วก็ตรงมาที่เรื่องนี้มาเปิดกล้องถ่ายเลย คือปิดตอนกลางคืนมาแล้วเรื่องหนึ่งก็ต้องมาเข้าเซ็ตครั้งแรกเรื่องนี้เลย ทุกคนก็มีลุ้นว่าเราจะโผล่มาหรือเปล่า เราจะไหวไหมเพราะช่วงนั้นเล่นอยู่ประมาณ 5 คาแร็คเตอร์ได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่ารอดมาได้อย่างไร (หัวเราะ) ถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีมาก ๆ ครับ
คาดหวังกับภาพยนตร์เรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
ชาคริต : มากถึงมากที่สุดครับ มันเป็นความฝันของเด็กกลุ่มหนึ่งที่อยากจะทำงานร่วมกัน ก็เหมือนทุกคน ก็เห็นด้วย มันก็เลยเป็นทีมที่เหนื่อยด้วย สนุกด้วย ร้อนด้วยกัน แล้วถ้าจะเป็นการร้องไห้ ก็ขอให้เป็นการร้องไห้ด้วยความสำเร็จดีกว่าอย่าร้องด้วยความเศร้าเลยครับ
คนดูจะได้อะไรจากหนังเรื่องนี้บ้าง
ชาคริต : เยอะครับ ก็อย่างที่บอกชีวิตผมจะหนีคำนี้ไม่ได้ Be You Believe ไม่รู้ทำไม แต่ตอนนี้เป็น Second Change คนเราทุกคนความหวังและความฝันเป็นคำพูดที่ผมพูดอยู่ตลอดเวลา ทำอะไรก็ต้องมี Hope and Dream ชีวิตก็ต้องเดินหน้ากันต่อไป
ก็ไปดูกันเถอะครับ ไปดูหลาย ๆ รอบด้วยนะครับ หนังคนไทยทำเองฝรั่งยังชม ไม่ดูไม่ได้นะ ไปดูกันเถอะครับ