สัมภาษณ์ ปรัชญา ปิ่นแก้ว

สัมภาษณ์ ปรัชญา ปิ่นแก้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จาก องค์บาก ถึงต้มยำกุ้ง สู่ย่างก้าวที่ 3 ของวิถีแอ็คชั่นไทยระดับโลก ถึงเวลาลิ้มรสความหวานมันส์สุดเข้มข้นของ ช็อคโกแลต ปรากฏการณ์หนังแอ็คชั่นผู้หญิงอย่างเต็มรูปแบบเรื่องแรกของเมืองไทย คั้นจากมันสมองและสองมือกำกับของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว Q. หลังจากความสำเร็จขององค์บาก และต้มยำกุ้ง หลายคนเฝ้าจับตามองถึงผลงานเรื่องต่อไปในฐานะผู้กำกับของปรัชญา ปิ่นแก้ว ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ? A.ก็ได้มีการพูดคุยกับพันนามาตลอด ว่าหลังจากทำงานกับจา พนมแล้ว เราก็น่าจะมีผู้หญิงที่เป็นนักสู้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังแอ็คชั่นที่เป็นผู้หญิง คือต้องบอกว่าตอนที่เราทำงานกับจา พนม มันเปิดทางให้ภาพยนตร์แอ็คชั่นของไทยเราไปได้ไกลมาก ขณะเดียวกันต่างชาติเองให้การยอมรับเป็นอย่างดี พูดได้ว่าประสบความสำเร็จในหลายประเทศทั่วโลก ก็เลยคิดว่าน่าจะมีผู้หญิงที่เก่งและมีความสามารถทางด้าน MARTIAL ART โดยแรกๆเราพยายามหาเหมือนกัน หาด้วยตัวเราเอง แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะว่าคนที่จะมีความสามารถตรงนี้ได้ต้องมีคุณสมบัติทั้งเรื่องการแสดง รูปร่างหน้าตาก็ต้องมีเสน่ห์ ในความเป็นผู้หญิงด้วยผสมกัน แต่ก็ยังหาไม่ได้

จนกระทั่งวันหนึ่งเหมือนกับว่าฟ้าประทานเขามาให้เรา ก็คือวันที่เรากำลังแคสต์หนังเรื่องเกิดมาลุยของพันนา น้องจีจ้าญาณินมาแคสต์หนังเรื่องนี้ พันนาก็เห็นความสามารถ บุคลิกรูปร่างหน้าตา นี่แหละคือคนที่เราหามานานแล้ว ก็เลยมาคุยกับผมแล้วก็ เอาวิดีโอมาดูกันให้เขาลองโชว์ความสามารถ พอเห็น ก็รู้สึกว่าใช่ คนนี้น่าจะได้ ก็เลยให้เขามาฝึกอยู่กับเรา ตอนฝึกก็ยังไม่รู้หรอกว่าเราจะทำหนังเรื่องอะไรกัน รู้แต่ว่าตอนนี้เขาเป็นอะไรมาบ้าง อย่างตอนที่เจอครั้งแรก จีจ้าเขามีพื้นฐาน เป็นครูสอนเทควันโด้ และยิมนาสติกบ้างนิดหน่อย เลยคิดว่าพันนาต้องไปเติมพื้นฐานให้เขาว่าจะเติมทักษะทางด้านอะไรเข้าไปอีก ก็ไม่ว่าจะเป็นมวยไทยหรือว่าทักษะของงานสตั้นท์แมนที่ต้องแสดง ทักษะของยิมนาสติก เรื่องการแสดงหนัง แล้วจีจ้าก็ฝึกตรงนั้นมาเรื่อยๆ พูดได้ว่าเราเริ่มต้นทำงานกันในส่วนของการฝึกซ้อมตั้งแต่วันแรกโดยที่ยังไม่มีไอเดียหรือรู้เลยว่าหนังเรื่องแรกที่เราจะทำคือเรื่องอะไร จนหมดไป2ปีถึงได้เริ่มเปิดกล้องถ่ายทำ ซึ่ง2ปีนั้นก็ฝึกซ้อมมาโดยตลอด พอถ่ายทำก็หมดไปอีก 2 ปี แต่ในระหว่าง 2ปีที่ถ่ายทำก็ยังต้องฝึกต่อไปด้วยคือไม่มีการหยุดเลย ซึ่งทั้งหมดนี้ผมว่าเป็นการทำงาน 4 ปีกับหนัง 1 เรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถือว่าเป็นการทำงานที่หนัก แล้วก็บางคนอาจจะมองว่าเป็นการลงทุนที่มากเกินไปรึเปล่า แต่สำหรับผมคิดว่ามันไม่ใช่แค่หนัง1เรื่อง ถูกต้องหลายคนอาจจะผูกผันกับความรู้สึกที่ว่าเป็นแค่หนังอีก1เรื่อง แต่สำหรับจีจ้าแล้วมันคือชีวิตเขาทั้งชีวิต อนาคตทางการแสดงของเขามันอยู่กับหนังเรื่องนี้เลย เพราะถ้าหนังเรื่องนี้สร้างความประทับใจให้คนได้ จีจ้าก็สามารถเดินงานต่อจากนี้ไปได้อย่างสบาย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่หยุดที่จะเพิ่มหรือฝึกซ้อมใส่ความสามารถให้สูงขึ้น แข่งขันกับโลกภาพยนตร์ที่คนดูมีความต้องการที่สูงขึ้นทุกวันๆ Q.ไม่คิดว่านานไปเหรอสำหรับหนังแอ็คชั่นเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช็อคโกแลตที่ต้องใช้เวลานานถึง 4ปี? A.คือการจะทำหนังแอ็คชั่นสักเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เราจะต้องทำงานร่วมกับนักแสดงแอ็คชั่นสักคน มันไม่ต่างอะไรกับการทำเทป ไม่ว่าจะเป็นหนังแอ็คชั่นที่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง คือในขั้นต้นเราต้องหานักแสดงที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมมีความสามารถในการที่จะเล่นแอ็คชั่นให้ได้ก่อน ซึ่งการจะทำอย่างนี้ได้มันต้องให้เวลากับขั้นตอนตรงนี้ที่จะบ่มเพาะ แล้วต้องไม่รีบร้อนด้วย คล้ายๆว่ามันต้องมีของจริงมาก่อน แล้วของจริงมันจะเป็นของดีเมื่อมาอยู่กับเรา เมื่อเราทำงานกับมัน เพราะฉะนั้น...ในระหว่างที่เราตั้งเป้าที่จะหานักแสดงแอ็คชั่นที่เป็นผู้หญิง ในระหว่างที่คิดเราก็ต้องดูว่าตอนนี้ในโลก มีใครที่อยู่ตำแหน่งนี้บ้าง ตอนแรกเราไล่มาตั้งแต่ มิเชลล์ โหย่ว จนถึง จาง ซิ ยี่ จาง ซี ยี่รู้สึกว่าเป็นรุ่นใหม่ โดยเรื่องทักษะทางด้านการต่อสู้ผมคิดว่า จาง ซี ยี่นี่เขาก็มีประมาณหนึ่ง น่าสนใจแล้ว แต่ว่าถ้าเราจะมีจะต้องมีให้ครบถ้วนมากกว่าจาง ซี ยี่ มี ซึ่งจริงๆ แล้วคิดว่ายากนะที่เราจะเฟ้นหาหรือทำได้ในระดับนั้น พอเราได้น้องจีจ้ามา คุณสมบัติเขามาระดับที่เรียกว่าใช้ได้ คือตัวน้องได้มาตรฐานของเทควันโด้ แต่อาจจะยังไม่ถึงที่สุด

แต่เราคิดว่าได้เท่านี้ถือว่าโชคดีมากแล้ว ทั้งบุคลิก รูปร่าง หน้าตา อัธยาศัย นิสัยเขาก็เป็นคนน่ารัก เป็นคนแบบนิสัยดี ใครๆเห็นก็จะสามารถเกิดความรู้สึกสนใจจีจ้าได้ง่ายๆ แล้วบวกกับว่าความสามารถของตัวจีจ้าเอง และที่สำคัญสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นของจีจ้าเลยก็คือ ดูเหมือนเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ ตัวเล็กๆ เหมือนไม่น่าจะเชื่อว่าเขาจะมาแอ็คชั่น มาบู๊กับผู้ชายได้ แต่ถ้าเกิดได้เห็นเขาแสดงความสามารถแล้วมันจะตรงข้ามกับบุคลิกที่เห็นเลย คือตรงนี้ผมว่ามันเป็นสิ่งที่มันได้มาตั้งแต่แรกโดยที่เรานั่งรอมัน โดยที่เราใจเย็นในการที่จะรอมัน แล้วพอได้มาแล้ว ตรงนี้ก็คือการบ้านของพันนา การบ้านของผม เราจะสร้างอะไรบ้าง ผมหรือพันนาฝันว่ามันควรมีภาพอะไรมาบ้าง และมันจะต้องไม่ซ้ำกับหนังเรื่องไหนหรือทั้งโลกเคยมีใครทำอะไรไปแล้วบ้าง เราก็จะทำในสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำ ตรงนี้มันเลยทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างสิ่งที่เราคิดเป็นการบ้านกับตัวจริงของจีจ้า แล้วนำมาทำงานร่วมกัน จนเกิดเป็นโปรเจ็คต์ภาพยนตร์เรื่องช็อคโกแลตที่เราตั้งใจจะให้คนดูได้เห็นภาพเหล่านั้นที่เราได้คิดกันเอาไว้ Q. ฟังๆดูแล้วดูเหมือนการเกิดโปรเจ็คต์ ช็อคโกแลต จะแตกต่างจากภาพยนตร์ทั่วๆไปที่เริ่มจากมีโปรเจ็คต์ก่อนแล้วค่อยหานักแสดง แต่นี่คือได้ตัวนักแสดงอย่างจีจ้ามาแล้ว ถึงค่อยมาพัฒนาต่อ จริงๆแล้วโจทย์ของช็อคโกแลตที่ปรัชญา ปิ่นแก้วตั้งใจวางไว้คืออะไร ? A.คือที่จริงแล้ว เราเริ่มต้นจากโจทย์ที่ว่าจะต้องหาผู้หญิงแอ็คชั่นของไทยให้ได้ แต่โจทย์ข้อที่ 2 ที่ 3 ยังไม่ได้กำหนด คือคิดว่าหาให้เจอก่อน แต่พอเจอแล้ว ผมจะยึดจากเอาตัวตนของเขามาตั้งโจทย์ต่อจากนั้น ซึ่งสมมุติว่าผม พันนา และเสี่ยเจียงไม่ได้เจอน้องจีจ้า ไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งที่อาจจะมีรูปร่างแบบใหญ่โต มีกล้ามเนื้อเป็นมัด หน้าตาเก๋ๆ เราก็ต้องคิดหนังอีกแบบหนึ่งเป็นหนังลุยๆ เป็นหนังอีกคาแรคเตอร์หนึ่ง แต่พอเราได้เจอน้องจีจ้า ดูแล้วใส ดูแล้วแบบเหมือนนักร้องวัยรุ่นมากกว่าที่เป็นนักบู๊ด้วยซ้ำ ก็เลยต้องคิดให้ตรงกับบุคลิกของเขา แล้วโจทย์ที่ตามๆ มามันจะเป็นเรื่องของพล็อตเรื่องที่น่าจะเอื้อต่อบุคลิก น่าจะเอื้อต่อ อะไรละ ความสามารถของเขา มันก็เลยเป็นที่มาของพล็อตเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ ส่วนไอ้เรื่องของศิลปะการต่อสู้ที่เป็นภาพชัดของเราคือมวยไทย แรกสุดเลยเราคิดว่าเราจะหาผู้หญิงที่ต่อยมวย ที่ชกมวยไทยได้ พอถึงวันที่เราได้น้องจีจ้ามาแล้ว ก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นแล้ว มาถึงวันนี้เรารู้สึกว่ามวยไทยก็เป็นศิลปะการต่อสู้ที่โลกรู้จักอยู่แล้ว และตอนนี้เทรนด์ของงานศิลปะการต่อสู้ของทั้งโลกมันไหลเวียนมารวมกัน มันเป็นแบบว่าแทบไม่ต้องมานั่งแยกแยะเลยว่าอันนี้ศิลปะของใคร หรือใครดีกว่ากัน ใครเด่นกว่ากัน เราคิดว่ามันหมดยุคแล้ว ยุคนี้มันคือยุคของอะไรก็ได้คือไม่ว่าจะเป็นท่าเต้นหรือยิมนาสติกหรือการต่อสู้มันสามารถมิกซ์รวมกันได้ เพราะฉะนั้นของจีจ้า เราเลยคิดว่า เราไม่ซีเรียสความเป็นมวยไทย แต่ความเป็นคนไทย โอเคแน่นอนว่า อันนี้เราคิดว่าต้องรักษา มันเป็นวิญญาณของเราอยู่แล้ว เรารักษาวิญญาณตรงนี้เอาไว้ การต่อสู้ในหนังเรื่องนี้จะมีครบรส ครบ ทุกแขนง มีหลายๆ แขนงมารวมๆ กัน

Q. ช็อคโกแลต ที่กำลังพูดถึงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร? A.ช็อคโกแลตเป็นหนังแอ็คชั่นที่เน้นทางด้านศิลปะการต่อสู้โดยถ่ายทอดเป็นหนังแอ็คชั่นผู้หญิง ทางประเทศไทยเรา หรือหนังไทยเรามันไม่มีหนังแบบนี้มานานแล้ว และนี่จะเป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นหนังแอ็คชั่นเต็มรูปแบบที่เห็นผู้หญิงเล่นและก็มีความสามารถจริงๆตัวเรื่องราวของช็อคโกแลตเป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความรักต่อแม่ และมีความต้องการที่จะช่วยแม่ แต่ด้วยความพร้อมของเขา เขาดันเป็นคนผิดปกติ เป็นเด็กออทิสติกที่เรียกว่าเด็กพิเศษ เขาก็เลยนำความพิเศษที่มีอยู่ในตัวเขาออกมาช่วยแม่เท่าที่เขาจะช่วยได้ แต่ในโลกของความเป็นจริง สิ่งที่เรามองเห็น จากสิ่งที่เขากำลังกระทำ มันอาจจะเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าที่มนุษย์ทั่วๆไปจะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาคือเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง Q.ถ้างั้นอะไรคือความโดดเด่นของหนังแอ็คชั่นผู้หญิงอย่าง ช็อคโกแลต? A.คือตอนที่เราได้น้องจีจ้ามา เชื่อไม่ว่าเรายังไม่ได้มีการกำหนดเลยว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการที่จะต้องหาบทหาเรื่องมาทำงาน หลายครั้งที่ไอเดียที่ได้ มันยังไม่น่าสนใจ มันยังไม่ดีพอ เราคิดว่าเราจะยังคงหาพล็อตเรื่องที่ดีที่สุดต่อไปจนกว่าจะถูกใจ บวกกับความรู้สึกส่วนตัวของผมที่เวลาดูหนังแอ็คชั่นผู้หญิงแล้วจะไม่ค่อยเชื่อว่าผู้หญิงจะสู้ผู้ชายได้ แล้วยิ่งในยุคนี้ที่ผมเชื่อว่ามุมมองของคนดูหนังไปไกลแล้ว ประสบการณ์คนดูเคยเห็นแบบจา พนมมาแล้ว ซึ่งยุคนี้มันเป็นเรียลลิตี้ อะไรก็ต้องดูจริงจัง น่าเชื่อถือ ต้องสมจริงสมจัง เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่สู้ผู้ชายได้ มันก็ต้องทำให้เชื่อให้ได้ อย่างจีจ้าตัวเล็กๆแขนเล็กๆ ขาเล็กๆจะต้องทำยังไง ถึงจะทำให้คนดูเชื่อได้ ก็เลยรู้สึกว่าต้องหาอะไรที่ต้องมาประกอบมาห่อหุ้มให้เกิดความเชื่อตรงนี้ให้ได้ มันก็เลยเกี่ยวโยงกับพล็อตเรื่อง ว่าพล็อตมันจะเป็นแนวไหน บางทีถ้าพล็อตเรื่องมันมีอะไรที่มาบวกกับตัวละครตัวนี้ ทำให้เราเชื่อได้ว่าเขามีความสามารถ มีพลังพิเศษหรือมีอะไรต่างๆ นาๆ ที่ต่อสู้กับผู้ชายได้มันก็จะดีกว่า สุดท้ายก็เลยมาสะดุดตรง..เด็กพิเศษ ที่หมายถึงออทิสติก ที่เขาจะมีความอัจริยะในแต่ละด้าน เราก็ไปรีเสิร์ทดูว่า เขามีความสามารถทางด้านการต่อสู้บ้างมั้ย ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญแล้ว ก็เป็นไปได้ เพราะว่าเด็กอัจฉริยะเหล่านี้ บางคนอาจจะอัจฉริยะทางด้านความจำ การคำนวณ การลอกเลียนแบบ หรือพฤติกรรมต่างๆซึ่งมันเกิดขึ้นได้หมด มีเด็กบางคนห้อยหัวตัวเองอยู่บนต้นไม้ได้ทั้งวัน เราก็เลยคิดว่าเป็นไปได้ที่เขาจะมีการลอกเลียนแบบการต่อสู้ของนักต่อสู้ที่เคยเห็นมาแล้วก็รวมเอามาอยู่ในตัวเขา ซึ่งพอมาถึงตรง นี้ผมก็คิดว่ามันใช่เลยสอดคล้องกับความคิดและไอเดียที่เรามองหาอยู่ คือถ้าเกิดเห็นผู้หญิงคนหนึ่งสู้ผู้ชายได้เป็นสิบๆคน ต้องเหลือเชื่อแน่ๆ ว่าเขาทำได้ยังไง แต่ถ้าเขาเป็นเด็กพิเศษละ ซึ่งในความเป็นตรรกของภาพยนตร์ มันก็ต้องมีความน่าเชื่อถือของตรงนี้ใส่เข้าไปด้วย ทั้งหมดถูกนำมาขัดเกลาออกมาเป็นบทที่คนดูต้องเชื่อให้ได้ ซึ่งตัวบทหนังเราก็เขียนกันมาหลายร่าง สุดท้ายก็ได้มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุลมาช่วย มาช่วยเกลา มาช่วยดูในร่างสุดท้ายก็คิดว่าหนังเรื่องนี้น่าจะถูกใจคนดู ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหรือว่าในส่วนของฉากแอ็คชั่นที่เราพยายามให้ทั้งสองส่วนลงตัว

Q.ก่อนถ่ายทำได้มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ ออทิสติค มากน้อยแค่ไหน อย่างตัวน้องจีจ้าเองต้องเตรียมตัวทางด้านการแสดงที่จะถ่ายทอดลักษณะของความเป็นเด็กพิเศษอย่างไร? A.ในส่วนของเด็กพิเศษเรามีการศึกษาค้นคว้าจากหนังสือ มีการพูดคุยกับกรมสุขภาพจิต กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กออทิสติกของประเทศไทย คือในส่วนของบทก็เอาข้อมูลเหล่านั้นมาใส่ไปในบท ในส่วนของจีจ้าเองก็ต้องมีการเรียนรู้ข้อมูลก่อนว่าเด็กออทิสติกเป็นยังไง มีการแสดงออกแบบไหนบ้าง สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเขาจะต้องมีปฎิกิริยาโต้ตอบกลับอย่างไรบ้าง ซึ่งจีจ้าเองก็ถูกส่งไปศึกษาด้านการแสดง ไปคลุกคลีอยู่กับเด็กที่เป็นออทิสติกจริงๆ ขณะเดียวกันเราเองก็ลองให้เด็กออทิสติกดูหนังเรื่ององค์บาก ต้มยำกุ้ง แล้วเขาก็ลองแอ็คชั่นให้ดู เขาก็ทำท่าองค์บาก ท่าต้มยำกุ้งให้ดู ดูแล้วก็เหมือนเด็กปกติ แต่ว่ามีเซ้นส์อะไรบางอย่างที่รู้สึกว่าคนเหล่านี้เป็นคนพิเศษจริงๆ ไม่ใช่เป็นคนธรรมดา ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ถูก in put เข้าไปในตัวจีจ้า ในการทำงานของผมกับจีจ้า มีบ้างครั้งที่ผมต้องให้จีจ้าเขาแสดงออกมาเอง เพราะผมรู้สึกว่าจีจ้าเขาเชื่อว่าตัวเขาเป็นยังงั้นไปแล้ว หรืออย่างบางทีผมก็จะถามจีจ้าว่า ถ้าสถานการณ์เป็นยังนี้จะต้องเล่นอย่างไร แล้วปล่อยให้จีจ้าลองเล่นออกมา ซึ่งเขาก็ทำได้ดี จนผมเชื่อว่าจ้าเขาอินกับตัวละครตัวนี้ไปแล้ว บวกกับเรามีระยะเวลาในการทำงานตรงนี้นานมากๆ ให้เวลากับการฝึกซ้อมทั้งในส่วนของการแสดงเองและแอ็คชั่นของตัวละครตัวนี้ให้ทุกรายละเอียดทั้งหมดมาอยู่ที่ตัวจีจ้าให้มากที่สุด ในระหว่างที่ไม่มีถ่าย มันก็คือเวลาของการฝึกซ้อมของจีจ้าที่จะต้องทำให้ตัวเองเป็นเด็กออทิสติกให้ได้ กับในส่วนของทักษะทางด้านการต่อสู้ ซึ่งฉากการต่อสู้ที่ถูกออกแบบมาในแต่ละฉาก จะต้องมีการถูกฝึกซ้อมตามลำดับ ตามกำหนดที่เราวางเอาไว้ Q.ความแตกต่างระหว่าง องค์บาก ต้มยำกุ้ง และ ช็อคโกแลต ในมุมมองของปรัชญา ปิ่นแก้ว? A.คือเราอาจจะเคยดูหนังที่พูดถึงคนที่เป็นออทิสติกมาหลายชาติ หลายประเทศ หลายเรื่องมาแล้ว แต่ว่าผมเชื่อว่าทุกคนไม่เคยเห็นแน่นอนว่าออทิสติกกับแอ็คชั่นมาถูกรวมกันแล้วเป็นยังไง เราทำงานกันตรงนี้มาจนเราเจอคำๆ หนึ่งที่เรา บัญญัติกันขึ้นมา ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปท์ของภาพยนตร์เรื่องช็อคโกแลตนั่นคือ ออทิสติกอัจฉริยะศิลปะการต่อสู้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความแปลกตาที่นำมาผสมผสานกับความเป็นหนังแอ็คชั่นที่มีตัวเอกเป็นผู้หญิง เพราะต้องยอมรับว่า ณ ปัจจุบัน การทำหนังแต่ละเรื่อง ไม่ว่าคุณจะเริ่มต้นด้วยอะไรก็ตาม ถ้าเป็นหนังแอ็คชั่นแล้ว สิ่งที่มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเราจะพูดถึงความสวยงามของศิลปะการต่อสู้มันต้องมีความแปลกใหม่ นี่คือสิ่งเรากำลังทำในช็อคโกแลต แต่ถ้าจะพูดถึงความแตกต่างกันของหนังแอ็คชั่นทั้ง 3 เรื่องที่ผมทำมาตั้งแต่องค์บาก ต้มยำกุ้งมาจนถึงช็อคโกแลต ไล่จากองค์บาก สำหรับผมองค์บากเป็นตัวบุกเบิกในการที่จะพูดว่าคนไทยก็ทำหนังแอ็คชั่นเป็น คนไทยก็มีความสามารถเป็น บวกกับศิลปะการต่อสู้มวยไทย

เมื่ออยู่ในภาพยนตร์แล้วมันจะเป็นยังไง องค์บากตอบตรงนั้นไว้แล้ว ส่วนต้มยำกุ้งมันคล้ายๆ กับเป็นรอยต่อขององค์บากที่คนทั้งโลกให้ความสนใจองค์บากไปแล้ว เพราะฉะนั้นต้มยำกุ้งคือการทำสิ่งที่คนทั้งโลกอยากจะเห็น อยากจะได้เจอ เหมือนเอาคนทั้งโลกมาทักทายกัน แล้วเอาศิลปะการป้องกันตัวแขนงอื่นๆ เข้ามารวมผสมอยู่ในเรื่องต้มยำกุ้ง พอมาถึงช็อคโกแลต ผมคิดว่าเราไม่ต้องมานั่งพูดเกี่ยวกับมวยไทยแล้ว ไม่ต้องมานั่งบอกว่าคนไทยก็ทำได้ เราไม่ต้องพูดประโยคนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น เหลืออย่างเดียวคือ เราน่าจะมีอะไรใหม่ๆ ใส่เข้าไป ซึ่งตรงนี้มันเลยเป็นโอกาสของการที่เราจะต้องทำหนังที่มีคอนเซ็ปไอเดียที่ชัดเจนแล้วก็มีคอนเซ็ปท์ไอเดียที่แปลกแต่น่าสนใจ เราเลยคิดว่าเด็กออทิสติกที่เลียนแบบพฤติกรรมการต่อสู้และมาต่อสู้ในเหตุการณ์ที่เขาจะต้องทำเพื่ออะไรซักอย่าง มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ คือตอนแรกพล็อตมาเราก็รู้สึกว่าสนุกแล้ว เหลืออย่างเดียวคือเขียนบทยังไงให้มันสนุกแล้วก็ตอบสนองต้นไอเดียตรงนี้ให้มันดีให้ได้ ในขณะที่ด้วยความเป็นหนังแอ็คชั่น เพราะฉะนั้นฉากการต่อสู้ที่จะถูกนำเข้ามาใส่ในหนังเรื่องช็อคโกแลต จะถูกเน้นไปที่การสร้างความแปลกใหม่และความสนุกที่คนดูจะต้องสัมผัสได้ ซึ่งพูดได้ว่ามีฉากแอ็คชั่นหลายๆฉากที่พวกเราภูมิใจมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากไคลแม็กซ์ท้ายเรื่องที่ตัวจีจ้าจะต้องเล่นคิวบู๊แอ็คชั่นบนพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัดในขณะเดียวกันก็มีทั้งความยากและเสี่ยงต่ออันตรายมากๆ ซึ่งปกติฉากแบบนี้เราจะไม่มีโอกาสได้เห็นตัวแสดงที่เป็นผู้หญิงเล่น ไม่ว่าจะด้วยตัวเรื่องราวหรือข้อจำกัดทางด้านการถ่ายทำนั่นหมายถึงความสามารถของนักแสดง เพราะนอกจากจะเป็นจุดที่ทำให้ตัวละครผู้หญิงต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นรองแล้ว แต่ยังเป็นฉากที่ยากและอันตรายมากถ้าไม่ได้มีการคำนวณหรือวางแผนในการถ่ายทำที่ดี ซึ่งเราจะไม่ค่อยได้เห็นในหนังแอ็คชั่นที่มีผู้หญิงเป็นตัวเอก แต่จีจ้าต้องไปอยู่ ณ จุดตรงนั้น เพื่อเล่นฉากนี้ออกมาให้ได้ เป็นฉากที่พวกเราภูมิใจมากและอยากให้ทุกคนได้ดู ไม่เพียงใช้พละกำลังทั้งหมด เวลา และความอดทน จนถึงกับเกือบจะถอดใจไปในหลายๆครั้ง โดยเฉพาะตัวผมเองที่อยู่ในฐานะผู้กำกับซึ่งนั่งอยู่ตรงนั้น โอเคนี่คือสิ่งที่เราออกแบบไว้ที่ผมต้องการ แต่ ณ เวลาถ่ายทำจริงมันอันตรายกว่าที่เราคิด ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักว่า เราจะเลิกมันไปหรือว่าจะเปลี่ยนใหม่ไปใช้วิธีถ่ายทำที่ปลอดภัยกว่า ใช้เทคนิคพิเศษเข้ามาช่วย แต่สุดท้ายสิ่งที่ผมต้องการคือความสมจริงอยู่ดี ผมต้องการให้เล่นจริงๆให้ได้ เพียงแต่ว่าอาจจะแก้ปัญหาบางส่วน ยอมลดทอนอะไรบางอย่างลงมา แต่พอได้พูดคุยกับนักแสดงแล้วทุกคนพร้อมที่จะลุย พร้อมที่จะพิสูจน์การทำงานกับตรงนี้ให้ได้ จนในที่สุดก็เกิดเป็นภาพที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ที่เราอยากได้

Q.นอกเหนือจากภาพความเป็นหนังแอ็คชั่นผู้หญิงที่เราจะได้เห็นการกระทำจริงๆ การเจ็บจริง เล่นจริงของน้องจีจ้าแล้ว ความแปลกตาของรูปแบบแอ็คชั่นดีไซน์ที่จะปรากฎขึ้นในภาพยนตร์เรื่องช็อคโกแลตจะออกมาเป็นอย่างไร? A.สำหรับฉากต่อสู้ในเรื่องนี้ก็จะมีหลายๆฉากที่เราจะได้เห็นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นฉากการต่อสู้ในสถานที่ที่เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นตากัน อย่างเช่นว่าการสู้ในโรงงานผลิตน้ำแข็งซึ่งมันต้องมีน้ำแข็งที่เป็นอุปสรรคในการสู้หรือว่าบางทีน้ำแข็งอาจจะกลายเป็นอาวุธ อาจจะกลายเป็นตัวทำลายเรา หรือว่าแม้กระทั่งอุปกรณ์ในโรงน้ำแข็งไม่ว่าจะเป็น พวกเลื่อย พวกตัวจับน้ำแข็ง หรือว่าเครื่องปั่น เครื่องบดน้ำแข็ง ทุกอย่างมันถูกเอามาใช้ในการต่อสู้ หรืออย่างฉากตลาดสดอันนี้มันอาจจะเกิดจากความคุ้นเคยตอนสมัยผมเด็กๆแล้วต้องไปเดินตลาดตอนเช้ามืดกับแม่ ทุกครั้งที่เราเดินผ่านเขียงหมู จะรู้สึกว่ามันน่ากลัว โห...มันมีเนื้อหมูที่ถูกแล่ถูกวางเรียงกัน แล้วถ้าเกิดว่าเราไปเดินตลาดที่มีพื้นที่ใหญ่ๆ แล้วรอบข้างทั้ง 2 ฝั่งเรามันเป็นเขียงหมูทั้งหมด แล้วบวกกับคนแล่หมูต้องมีมีดใหญ่ๆ ผมรู้สึกว่ามันน่ากลัวดี เราก็เอาจีจ้าไปสู้กับเขาที่ฉากตรงนี้ แต่ก็ลดดีกรีความน่ากลัวลงให้มันเป็นความสนุก คือฉากนี้ผมตั้งโจทย์ว่ามันต้องสนุก แล้วต้องขำ ต้องเรียกเสียงหัวเราะ แต่ว่าในรอยยิ้มในเสียงหัวเราะมันก็มีความจริงจัง คือความจริงจังเราจะทิ้งไม่ได้ แต่ว่าจริงจังแล้วบวกเสียงหัวเราะมันจะเป็นยังไง อันนี้ก็น่าดูต้องลองไปดูกันนะ หรือเมื่อเราทำภาพยนตร์ที่เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้แล้ว เราก็ต้องมีการคารวะรุ่นพี่หรือคารวะครูบาอาจารย์ หรือแรงบันดาลใจที่ให้เรามาทำงานตรงนี้ อย่างหนังเรื่องช็อคโกแลต ส่วนที่เราศรัทธาแล้วเอามาใส่ในงาน เป็นการคารวะก็มี บรู๊ซ ลี มี เฉินหลง มีจา พนม เอง แล้วก็นอกจากที่เราจะคารวะ 3 คนนี้แล้วฉากที่สู้กันในโรงน้ำแข็ง ตัวจีจ้าจะต้อง เลียนแบบบรู๊ซ ลี คือ เขาจะจำท่าบรู๊ซ ลี ในทีวีมา แล้วองค์ประกอบหลายอย่างตอนนั้นมันทำให้เขานึกถึงบรู๊ซ ลี ขึ้นมา มันผุดในหัวเขาแล้วก็ใช้การต่อสู้แบบบรู๊ซ ลี ออกมาใช้ บรู๊ซ ลี เนี่ย เมื่อหลาย 10 ปีก่อนเคยมาถ่ายหนังในประเทศไทย แล้วฉากที่ถ่ายในประเทศไทยคือฉากโรงน้ำแข็ง คือถ่ายที่อำเภอปากช่องที่โคราชแล้วในฉากนี้เป็นภาพจำของคนที่ดูหนังบรู๊ซ ลี ถ้าเกิดใครที่ดูหนังบรู๊ซ ลี แล้วมาดูฉากนี้จะนึกถึงแน่นอนเพียงแต่การสู้ในโรงน้ำแข็ง ณตอนนั้นกับตอนนี้อาจจะต่างกันรวมไปถึงหลากหลายองค์ประกอบของเรื่องที่ทำให้มันน่าสนุกขึ้น หรืออย่างฉากคาราวะเฉินหลง นี่ก็เป็นความรู้สึกของแอ็คชั่นสนุก สังเกตว่าคิวบู๊ของเฉินหลงจะเน้นความลื่นไหลกลมกลืนไปกับอุปกรณ์หรือสิ่งของรอบตัวไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ หรืออะไรก็ตาม เขาสามารถนำมาทำเป็นอาวุธหรือดัดแปลงประยุกต์เข้ากับคิวบู๊ได้อย่างชาญฉลาด เราก็เลยให้จีจ้ามีการเลียนแบบเฉินหลง เหมือนกัน ซึ่งออกมาก็สนุกดี ตัวจีจ้าเองก็ทำตรงนั้นได้ดี

Q.ฟังๆดูแล้วน่าจะหนักและสาหัสไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับหนังเรื่องแรกในชีวิตของน้องจีจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนังที่มีสเกลและองค์ประกอบของความเป็นหนังฟอร์มยักษ์อย่างช็อคโกแลต? A.จากทั้งหมดแล้วเราจะเห็นว่าจีจ้าผ่านการทำงานที่หนักมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเพิ่มทักษะ ทางศิลปะการต่อสู้แขนงต่างๆ แล้วก็การจะต้องถ่ายทอดความเป็นเด็กออทิสติก แล้วก็ฉากต่อสู้ที่มีหลายฉาก โดยแต่ละฉากจะมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน รวมทั้งฉากที่อันตรายที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้ว ทั้งหมดเนี่ยะมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีความตั้งใจจริงๆ พูดได้ว่าเวลาที่มีให้ทั้งหมด ตัวจีจ้าเองเขาใช้เวลาตรงนั้นอย่างเต็มที่ทั้งในการที่จะฝึกฝนตัวเองให้มาทำงานตรงนี้ให้ได้ ให้ดีที่สุด มีหลายๆครั้งในการถ่ายทำที่ผมเห็นและผมผ่าน แต่จีจ้าบอกขออีกเทคหรือขอลองใหม่ซึ่งก็ได้ดังใจ หรือมีบ่อยๆครั้งที่เราเห็นว่าจีจ้าไม่ไหวแล้ว แต่ใจเขายังสู้อยู่ เขาจะขอพิสูจน์อีกๆ คือบางทีผมต้องคุยกับทางผู้ช่วยผู้กำกับว่าเลิกกองเถอะ ไม่ไหวแล้ว วันนั้นอาจจะเลิกกองเร็วหน่อย เพราะว่าจีจ้าไม่ไหว แต่จีจ้าเขารู้สึกว่ากองถ่ายจะต้องหยุดลงเพราะเขา เขาเลยไม่ได้ ต้องสู้ต้องทำให้ได้ คือเราเห็นเหตุการณ์อย่างนี้บ่อยๆในตอนทำงาน ก็ยอมรับว่าจีจ้าเป็นคนที่ตัวเล็กๆ แต่ว่ามีความตั้งใจ มีความอดทน มีความมุ่งมั่นที่อยากทำงานตรงนี้ให้ได้ ผมคิดว่าถ้าใครที่ได้ดูหนังเรื่องนี้นะ คุณจะเห็นเด็กผู้หญิงตัวๆเล็กๆที่เขาสู้ ผมว่ามันเป็นตัวอย่างที่ดี มองแค่ในแง่ของการทำงาน คุณได้เห็นเขาเป็นแบบอย่าง ผมกล้าการันตีว่านี่คือตัวอย่างที่ดีต่อคนรุ่นใหม่ ต่อเด็กๆที่จะเป็นตัวอย่างในการที่จะทำอะไรก็ตามให้สำเร็จให้ได้ มันต้องผ่านความมานะอดทนและก็มุ่งมั่นกับมันจริงจังและก็รักสิ่งที่ทำจริงๆจาก ประสบการณ์ที่ผมทำงานแอ็คชั่นมา 3 เรื่อง มันก็ทำให้ผมเรียนรู้ว่า การทำงานลักษณะอย่างนี้มันต้องมีความเข้าใจ ถึงแม้ว่าตัวผู้กำกับจะไม่ได้มีความสามารถในการต่อสู้ ไม่ได้เป็นmartial art แต่การที่จะกำกับหนังแอ็คชั่น กำกับนักแสดงแอ็คชั่นอย่างแรกที่สุดต้องมีคือความเข้าใจ เพราะเราต้องศึกษา อย่างตอนที่ผมทำงานกับจา พนม 2 เรื่อง ผมก็ได้เรียนรู้ว่า ก่อนที่จะถ่ายฉากแอ็คชั่น นักแสดงต้องมีการวอร์มอัพ ก็เหมือนนักกีฬาทั่วๆไป ที่ก่อนลงสนามต้องมีการวอร์มก่อน อย่างนักฟุตบอล วอร์มอัพเสร็จลงสนาม อาจใช้เวลา1- 2 ชั่วโมงก็หมด นักมวยสู้กัน 5 ยก 6 ยกก็เสร็จใช่มั๊ยฮะ แต่ว่าของเราถ่ายหนังทั้งวันมันกี่ชั่วโมง ลองคิดดูว่าต้องใช้พลังมากกว่าตรงนั้นมาก แล้วในระหว่างถ่ายทำ ปกติเวลาเราถ่ายช็อตหนึ่งเสร็จ แล้วจะเปลี่ยนช็อต หรือเปลี่ยนคัทก็ตาม เราต้องปรับแสงใหม่ จัดมุมกล้องใหม่ ตรงนี้บางทีต้องใช้เวลา

แต่ถ้าทำหนังแอ็คชั่นบางทีใช้เวลานานไม่ได้ เพราะว่าการที่เขาเตรียมร่างกายมาเพื่อต่อสู้ มันต้องวอร์มอัพให้ร่างกายให้กล้ามเนื้อมันคลายแล้วก็ให้เส้นเอ็นมันยืดเพื่อจะได้ยืดหยุ่นได้ แต่พอช่วงที่เราจัดไฟหรือจัดอะไรนานๆ บางทีเส้นมันตึงมันยึด ทำให้บางทีอาจเป็นอันตรายต่อการถ่ายทำ ถึงขนาดว่าเอ็นฉีกหรือว่ากล้ามเนื้อฉีก ซึ่งเราต้องเข้าใจองค์ประกอบตรงนี้ด้วย บวกกับว่าพอเรามาทำงานกับผู้หญิงซึ่งมีความแตกต่างทั้งในเรื่องของสภาพร่างกายธรรมชาติหรือสรีระของผู้หญิงที่แตกต่างจากผู้ชาย ก็ต้องมีความเข้าใจตรงนี้มากขึ้นเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นบางทีเราอาจจะต้องการงาน เราอาจจะต้องการแข่งกับเวลาในเรื่องของเงินที่ลงไป บางทีแต่ละวันแต่ละนาทีคำนวณเป็นเงินมันสูง แต่ว่ายังไงก็ตามเราจะให้ความสำคัญตรงนั้นเกินกว่าชีวิตหรือความพร้อมของนักแสดงไม่ได้ โดยเฉพาะเป็นผู้หญิงด้วยแล้ว ยิ่งต้องใจเย็น ต้องพร้อมที่จะหยุด พร้อมที่จะเลิกได้ทันทีเลย หรือว่าภาพที่เราต้องการมันอาจจะได้ไม่ถึงใจเรา เราอาจจะยังไม่พอใจกับเพดานงานที่เราขีดเอาไว้แต่บางทีก็ต้องยอมแลก หรือต้องตั้งสติดีๆว่าจะหยุดแล้วเอาใหม่วันหลัง หรือว่าเอาแค่นี้พอ

มันมีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของการทำงานที่เกี่ยวกับแอ็คชั่นคือในการถ่ายทำที่เราเห็นในหนังที่สู้ต่อเนื่องกันยาวๆแน่นอนทุกคนต้องเข้าใจว่าเราต้องถ่ายทีละสั้นๆ ใช่มั๊ยฮะ ทีนี้การที่ต้องถ่ายทีละสั้นๆ มันดูเหมือนจะง่าย ดูเหมือนจะสะดวกแต่ว่าถ้าทำออกมาแล้วมันดูไม่สวย หรือว่าจังหวะมันไม่ได้เราก็ต้องมีการเทค เพราะฉะนั้นในแต่ละช็อตที่เราเห็นเกิดจากหลายเทคที่เกิดขึ้น บางทีเป็น 10ๆ เทค ถึงเราจะมี 2 กล้องก็ตาม แต่ว่าบางทีกล้องนี้ได้กล้องนี้ไม่ได้ หรือว่าตัวแสดงได้แต่ว่าตัวสตั๊นท์ไม่ได้หรือคู่ต่อสู้คนนี้ไม่ได้ จังหวะต่างๆนาๆมันต้องลงตัวสอดคล้องกันทั้งหมด เทคที่มากที่สุดที่ผมทำงานกับจีจ้ามาคือ 49 เทค ซึ่งฟังดูอาจจะเหมือนไม่ แปลกในหนังทั่วไปๆ ที่ถ่ายกัน 49 เทค แต่ว่าถ้าเป็นหนังแอ็คชั่นเนี่ยมันเหนื่อย บางทีระหว่างเทคที่ 21 ต่อไปเทคที่ 22 เนี่ย ถ่ายต่อเลยมั๊ย หรือว่าเบรกซักครึ่งชั่วโมงมั๊ยแล้วค่อยถ่าย บางทีต้องคิดกันอย่างนี้เลย มันจะไม่เหมือนการถ่ายหนังปกติ เพราะฉะนั้นกว่าจะเสร็จสำเร็จออกมาร้อยต่อกันเป็นนาที ต้องผ่านการทำงานที่ต้องอาศัย ความเข้าใจ ความอดทนให้ได้ในหนังเรื่องช็อคโกแลต จีจ้าต้องรับบทเป็นเด็กพิเศษ เป็นเด็กที่ขาดพ่อ ในชีวิตเขาจะมีแต่แม่และเพื่อนสนิทที่ชื่อว่าแมงมุมและตุ๊กตาตัวเล็กๆที่เขาสมมติว่าเป็นพ่อ นอกเหนือจากพาร์ทแอ็คชั่นที่จีจ้าต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างชำนาญแล้ว สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลยคือในพาร์ทของการแสดงที่ต้องอาศัยความเป็นดราม่าและเมื่อนำทั้งสองสิ่งมาผสมผสานกัน ทำให้จ้าเป็นนักแสดงอีกคนหนึ่งที่มีความสามารถที่น่าจับตา ทั้งๆนี่คือหนังเรื่องแรกของเขา

Q. นอกจากจีจ้าแล้วในช็อคโกแลตยังมีนักแสดงระดับฝีมืออีกมากมายที่มาร่วมสร้างสีสันให้เข้มข้นขึ้นไปอีก? A. ครับนอกจากพาร์ทหลักในส่วนของแอ็คชั่นและตัวน้องจีจ้าแล้ว พูดได้ว่าในพาร์ทของเรื่องราวก็มีความเข้มข้นไม่แพ้กัน ซึ่งในช็อคโกแลตผมได้มีโอกาสร่วมงานกับนักแสดงระดับยอดฝีมือหลายคนทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาช่วยเพิ่มเสน่ห์และความเข้มข้นให้กับภาพยนตร์ เริ่มตั้งแต่ อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ นี่คือครั้งแรกที่ผมทำงานกับพงษ์พัฒน์ในฐานะผู้กำกับกับนักแสดง โดยวันที่เราได้ร่วมงานกันเป็นวันที่คุณพงษ์พัฒน์เขากลายเป็นผู้กำกับไปแล้ว เพราะฉะนั้นยิ่งทำให้การทำงานของเราสองคนยิ่งสบายเลย เพราะเขาจะรู้และเข้าใจในมุมมองความคิดและสิ่งที่เราต้องการ แต่เขาก็ยืนยันว่าเขาเป็นนักแสดง เพราะฉะนั้นถ้าผมต้องการอะไรก็บอกได้เลย สำหรับคาแรคเตอร์No.8 ที่ผมต้องการจากเขาก็คือ มาเฟีย ที่เป็นตัวร้ายสุดๆ ไว้ผมยาว ความร้ายที่แสดงออกมาจากด้านลึกมากกว่าการกระทำ แต่เมื่อถ่ายทอดออกมาแล้วมีพลังของความเป็นหัวหน้ามาเฟียที่เลือดเย็น แต่มีรังสีของความร้ายซ้อนอยู่ข้างในและพร้อมที่จะแผ่ออกมา อาจไม่ต้องเล่นเยอะแต่รู้สึกได้ คิดดูละ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ สัมภาษณ์ ปรัชญา ปิ่นแก้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook