ละคร รายากูนิง
แนวละคร อิงประวัติศาสตร์
บทประพันธ์ ทมยันตี
บทโทรทัศน์ ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์, นราพร สังข์ชัย, ภควดี แสงเพชร
ฟารีดา จิราพันธุ์, สุเกมส์ กาญจนตันติกุล
ออกอากาศทุกวัน จันทร์ - ศุกร์ เวลา 18.30 น. ทางช่อง ไทยทีพีบีเอส
เรื่องย่อ
สุลต่านบะหดูร หนีการทำร้ายของ รายาบีมา ที่ลักลอบเข้าสู่พระราชวังเพื่อปลงพระชนม์พระองค์ สุลต่านจึงเร่งรับสั่งให้ เจ้าหญิงฮิเยา พระธิดาองค์โต พาน้อง ๆ หนีที่ภัยจะมาถึงตัว เจ้าหญิงบีรู (พระธิดาองค์กลาง) จึงพา เจ้าหญิงอูงู(พระธิดาองค์เล็ก) เข้าไปหลบในห้องพระบรรทมของสุลต่าน
รายาบีมาไล่ตามสุลต่านบะหดูรมาทันถึงราชฐานชั้นใน สุลต่านเอาตัวเองขวางประตูเพื่อป้องกันพระธิดา แต่ถูกรายาบีมาจ้วงแทงด้วยพระแสงกริชจนสิ้นพระชนม์ เป็นจังหวะเดียวกับที่เจ้าหญิงฮิเยาที่ประทับหลบอยู่ด้านหลังพระบิดา ก็ได้ทรงคว้าพระแสงกริชแทงสวนออกมาต้องพระวรกายของรายาบีมาสิ้นพระชนม์ทันทีเช่นกัน เจ้าหญิงอูงู (ในวัยเด็ก) ซึ่งขณะนั้นอยู่ในอ้อมกอดของเจ้าหญิงบีรูทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด จึงร้องไห้จ้าด้วยความหวาดกลัว
เจ้าหญิงอูงู ตกใจผวาตื่นขึ้นมากลางที่บรรทมในเวลาเช้ามืด ถึงได้รู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝันร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าของพระองค์ เจ้าหญิงกูนิง พระธิดาวัย 12 ชันษาตกใจตื่นด้วยเสียงร้องของพระมารดาและเข้ามาทูลถาม แต่เจ้าหญิงอูงูก็ทรงไม่ยอมเล่าอะไรให้พระธิดาฟัง
รุ่งอรุณ ภาพนครปัตตานีปรากฏขึ้นแก่สายตาของเจ้าหญิงอูงูและพระธิดาในขณะเรือพระที่นั่งแล่นเข้าปากน้ำปัตตานี เจ้าหญิงกูนิงตื่นเต้นกับภาพเมืองที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ทั้งอ่าวปัตตานีที่งดงาม กำแพงบีรูที่ยิ่งใหญ่ เมื่อถึงที่เมืองปัตตานี เจ้าหญิงกูนิงได้พบกับ ซาเดีย สาวสวยเชื้อชาติสยาม-ปัตตานีจากบ้านปาเระที่มาคอยรอรับเสด็จอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาซาเดียจึงได้เป็นสหายคนสนิท และเป็นล่ามประจำพระองค์
เจ้าหญิงอูงู และ เจ้าหญิงกูนิง ได้เข้าเฝ้า รายาบีรู กษัตริยาแห่งปัตตานีผู้เป็นพระขนิษฐาของเจ้าหญิงอูงู รายาบีรูทอดพระเนตรเห็นเจ้าหญิงกูนิงพระนัดดามีพระสิริโฉมงดงามยิ่ง จึงมีความคิดจะยกเจ้าหญิงกูนิงให้แก่ มุสตอฟาหรือ ออกญาเดโชมุสตอฟา บุตรชายของ สุลต่านสุลัยมาน ชาฮ์ แห่งเมืองลิกอร์ หรือนครศรีธรรมราชในสมัยนั้น ทำให้เจ้าหญิงอูงูไม่พอพระทัย แต่ก็ไม่สามารถขัดพระประสงค์ของรายาบีรูได้ ด้วยเหตุที่รายาบีรูจะยกพระธิดาของตนให้อภิเษกกับออกญาเดโชมุสตอฟานั้น เป็นเพราะประสงค์จะสานสัมพันธไมตรีกับทางกรุงศรีอยุธยา เจ้าหญิงอูงูพลันนึกถึงเหตุการณ์ที่พระองค์ถูกยกให้อภิเษกสมรสกับ เจ้าชายเมืองปะหัง ด้วยเหตุผลเดียวกัน
การมาพำนักในพระราชฐานของเจ้าหญิงอูงูและพระธิดา ทำให้ราชสำนักซึ่งเวลานั้นอยู่ภายใต้ปกครองโดยเสนาบดี ฮาซัน รู้สึกหวั่นต่ออำนาจในอนาคตของตน จึงพยายามส่ง ดาโอ๊ะ ลูกชายของตนให้มาตีสนิทกับเจ้าหญิงกูนิงเพื่อหวังจะครอบครองบัลลังก์และราชสมบัติทั้งหมดของราชรัฐปัตตานี แต่รายาบีรูผู้มีปรีชาญาณล่วงรู้ทัน จึงได้แต่งตั้ง อีสมาอีล บุตรชายของ นาโกดา สันดัง นายเรือคนสนิทผู้แล่นสำเภาระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองท่ามะละกา ซึ่งเป็นหลานชายของโต๊ะครู ซูเบส ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของรายาบีรู ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิปักษ์กับฮาซัน ให้เป็นผู้ดูแลอารักขาเจ้าหญิงอูงูและพระธิดา ซึ่งเป็นการถ่วงดุลย์อำนาจในราชสำนัก สร้างความไม่พอใจให้แก่ฮาซันเป็นอันมาก
ปี พ.ศ. 2157 เมื่อถึงกำหนดพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงกูนิง ออกญาเดโชมุสตอฟาได้ออกเดินทางจากลิกอร์มายังนครปัตตานี โดยครั้งนี้มี อุสมาน ชายหนุ่มเชื้อสายแขกเปอร์เซียซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ล่ามประจำราชสำนักแห่งกรุงศรีอยุธยาเดินทางมาด้วย การมาครั้งนี้อุสมานตั้งใจจะมาเรียนภาษามลายูกับโต๊ะครูที่นครปัตตานี ทำให้เขาได้พบและรู้จักกับซาเดียซึ่งเป็นล่ามประจำพระองค์ของเจ้าหญิงกูนิง และทั้งสองก็ได้กลายเป็นมิตรที่ดีต่อกันในเวลาต่อมา
ในงานอภิเษกสมรสที่ยิ่งใหญ่ระหว่างเจ้าหญิงกูนิงกับออกญาเดโชมุสตอฟานั้น ทางหัวเมืองต่าง ๆ ได้ส่งตัวแทนของแต่ละรัฐมาร่วมงานด้วย ซึ่งในที่นี้ ยังดีเปิรตูวันมูดอวันมูดอร์ เจ้าชายจากเมืองยะโฮร์ และเจ้าชาย มูฌาดิสร์ พระอนุชาพร้อมพระมารดา ก็ได้เสด็จมาร่วมงานอภิเษกสมรสนี้ด้วย เจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดอรู้สึกประทับใจในสิริโฉมของเจ้าหญิงกูนิงเป็นอันมาก
ปี พ.ศ. 2167 รายาบีรูสมเด็จป้าของเจ้าหญิงกูนิงสิ้นพระชนม์ หลังราชพิธีศพ เจ้าหญิงอูงูพระมารดาของเจ้าหญิงกูนิง (ซึ่งตอนนั้นเจ้าหญิงกูนิงมีพระชนมายุ 22 ชันษา) ขึ้นครองราชย์แทน รายาอูงูปกครองประเทศโดยมีฮาซันเป็นเสนาบดีคนสำคัญ ส่วนเจ้าหญิงกูนิงและออกญาเดโชมุสตอฟาก็ช่วยราชการเมืองด้วยการดูแลด้านการค้าขาย ทำให้เจ้าหญิงทรงได้เรียนรู้การติดต่อพาณิชย์กับชาวต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการค้าทางเรือสำเภากับฮอลันดา โดยมีนาโกดา สันดังคอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือดูแลจัดการธุรกิจส่วนพระองค์
ฮาซันถือโอกาสในฐานะเป็นเสนาบดีคนสนิทของรายาอูงู ทำการยุยงพระนางให้เห็นถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของนครปัตตานี จนในที่สุด รายาอูงูจึงทรงสบโอกาสที่แผ่นดินสยามเปลี่ยนกษัตริย์ใหม่เป็นพระเจ้าปราสาททอง ตัดสินใจไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการไปที่กรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งรับสั่งให้สร้างกำแพง 10 ชั้น เพื่อป้องกันเมืองให้เข้มแข็งจากศัตรู
จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2172) ซึ่งตอนนั้นปกครองโดยพระเจ้าปราสาททองทราบเรื่องนี้ จึงได้ส่ง ออกญาเสนาภิมุข หรือ ยามาดะ เจ้าเมืองลิกอร์ ให้นำกำลังทหารมาปราบปรามนครปัตตานีผล
การสู้รบปรากฏว่ากองทัพกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถเอาชนะนครปัตตานีได้ ออกญาเสนาภิมุขได้รับบาดเจ็บที่ขา และได้เสียชีวิตที่เมืองลิกอร์ในเวลาต่อมา หลังเหตุการณ์สงบ ออกญาเดโชมุสตอฟาพาเจ้าหญิงกูนิงหลบความวุ่นวายในราชสำนักด้วยการเดินทางไปเมืองลิกอร์ พร้อมด้วยซาเดียและอุสมานล่ามประจำพระองค์ ทันทีที่มาถึงออกญาเดโชมุสตอฟา
ก็ได้รับหมายเรียกจากกรุงศรีอยุธยาให้เข้านครหลวงเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าปราสาททอง ออกญาเดโชมุสตอฟาเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยทิ้งเจ้าหญิงกูนิงกับล่ามทั้งสองให้อยู่ที่เมืองลิกอร์ แต่ทันทีที่ออกญาเดโชมุสตอฟาคล้อยหลังออกจากเมือง รายาอูงูได้ปรากฏตัวขึ้นและตรัสให้เจ้าหญิงกูนิงทรงทราบว่า ตอนนี้พระนางได้แต่งทัพมาจากนครปัตตานีและยกทัพเข้ายึดเมืองลิกอร์ไว้หมดแล้วนอกจากนั้นยังได้เข้าตีเมืองพัทลุงด้วย ก่อนจะเชิญตัวเจ้าหญิงกูนิงกลับสู่นครปัตตานีเพื่อดำเนินการตามแผนขั้นต่อไป
พ.ศ.2175 ในขณะกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาเคลื่อนมา ทางฝ่ายนครปัตตานี มีข่าวลือแพร่สะพัดมาว่าออกญาเดโชมุสตอฟาได้เสียชีวิตแล้วในระหว่างการเดินทาง ทำให้เจ้าหญิงกูนิงโศกเศร้าเป็นอันมาก รายาอูงูบังคับให้เจ้าหญิงกูนิงวัย 30 อภิเษกสมรสใหม่กับ ยังดีเปมูดอ เจ้าชายแห่งเมืองยะโฮร์ ซึ่งได้ส่งทูตมาทูลขอเจ้าหญิง ทั้งนี้เพื่อสานสัมพันธ์กับรัฐยะโฮร์ซึ่งเป็นรัฐใหญ่และคานอำนาจกับกรุงศรีอยุธยา สร้างความทุกข์พระทัยให้แก่รายากูนิงเป็นอันมาก แต่เจ้าหญิงก็ไม่สามารถขัดพระประสงค์ของพระมารดาได้ หากแต่ก่อนถึงวันพิธีอภิเษก ทัพของออกญาเดโชมุสตอฟาเดินทางมาถึงพอดี รายาอูงูและเจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดอจึงได้งดงานอภิเษกเอาไว้ก่อน รวมทั้งกำชับให้ทุกคนในราชสำนักปกปิดมิให้เจ้าหญิงกูนิงล่วงรู้ว่าใครเป็นแม่ทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยา
ในที่สุด พิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงกูนิง (ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 30 ชันษา) กับเจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดอก็เกิดขึ้นจนได้ มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการแสดงดนตรีและระบำรำฟ้อนจากเหล่านักร้องและนางระบำราชสำนักซึ่งอยู่ในพระอุปถัมภ์ของรายาอูงู และในงานนี้เองที่ทำให้เจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดอได้ทรงพบกับ นางดัง หนึ่งในเหล่านักร้องและนางระบำ 12 คนซึ่งมาขับกล่อมเพลงถวายด้วย เจ้าชายถึงกับหลงรักนางในทันที และไม่ยอมเสด็จร่วมพระราชฐานกับเจ้าหญิงกูนิงนับตั้งแต่เสร็จสิ้นวันอภิเษกสมรสนั้นเป็นต้นมา
พ.ศ. 2178 หลังจากศึกกับกรุงศรีอยุธยาแล้วประมาณ 18 เดือน รายาอูงูประชวร โดยเจ้าหญิงกูนิงวัย 35 ชันษา ได้ทรงดูแลพระมารดาอย่างใกล้ชิด หลังพิธีศพของรายาอูงูแล้ว เจ้าหญิงกูนิงก็ขึ้นครองราชย์เป็น รายากูนิง โดยขณะที่พระนางกำลังวุ่นวายอยู่กับราชการงานเมืองนั้น พระนางยังต้องทรงรับภาระด้านธุรกิจการค้าทางเรือสำเภาซึ่งเป็นกิจการส่วนพระองค์อีกด้วย กิจการก้าวหน้าเป็นอันมาก เป็นเหตุให้พระประยูรญาติในราชสำนักและข้าราชบริพารบางฝ่ายอย่างเช่น คาลี เกิดจิตริษยา จึงสมคบกันเป็นกบฏหมายยึดครองตำแหน่งรายาแห่งนครปัตตานี แต่ก็ถูกอิสมาอีลผู้จงรักภักดีจับได้และนำไปประหารชีวิตหมด ยกเว้นแต่เสนาบดีฮาซันและดาโอ๊ะเท่านั้น ที่ยังสามารถลอยนวลอยู่ในราชสำนักต่อไปได้
จากความดีความชอบในการปราบกบฏ ทำให้รายากูนิงแต่งตั้งอิสมาอีลให้เป็นเสนาบดี อิสมาอีลได้จัดการระเบียบราชสำนักเสียใหม่ แต่ถึงกระนั้นเจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดอพระสวามีก็มิได้สนใจพระนาง ตรงข้าม เจ้าชายกลับคิดที่จะเชิดชูนางดังอย่างออกนอกหน้า นางดังใช้การที่เจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดอหลงใหลในตัวนาง วางอุบายร่วมกับดาโอ๊ะและฮาซันคิดการใหญ่ ด้วยการขอให้เจ้าชายยกตนเป็นชายา และแยกตัวไปตั้งนครใหม่ อิสมาอีลและเหล่าเสนาบดีจึงเข้าเฝ้ารายากูนิงเพื่อขอให้พระนางมีพระราช
วินิจฉัย แต่รายากูนิงกลับมอบหมายให้เป็นภารกิจของเสนาบดีในการตัดสินใจ พระนางไม่ตรัสอะไรเลยนอกจากรับสั่งให้ไว้ชีวิตเจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดอเพราะถึงอย่างไรพระองค์ก็เป็นพระสวามี แต่เจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดอไม่รู้แผนการของคณะเสนาบดีโดยมีอิสมาอีนเป็นผู้นำ เจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดอจึงเรียกคณะเสนาบดีแห่งนครปัตตานีเข้าเฝ้า และรับสั่งให้ตามเสด็จยังคฤหาสน์ของบิดานางดัง ณ ตัมบังงัน เพื่อร่วมพิธีอภิเษกกับนางดังและสถาปนานางเป็นชายา โดยที่เจ้าชายเสด็จล่วงหน้าไปก่อนพร้อมกับพระมารดาและนางดัง
รวมทั้งมหาดเล็กชาวอาเจะห์พร้อมไพร่พลทหารจากนครยะโฮร์ด้วย ในขณะที่เจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดอพระสวามีทรงประทับรอที่นั่น คณะเสนาบดีแห่งราชสำนักปัตตานีที่ไม่ปรากฏกาย จวบจนราตรีผ่านพ้น เจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดอทราบข่าวร้ายว่า เมื่อคล้อยหลังขบวนเสด็จของพระองค์ ราชสำนักปัตตานีสั่งปิดประตูเมืองและติดตั้งปืนใหญ่รอบป้อมนคร เจ้าชายจึงรู้ว่าพระองค์ถูกหักหลังแล้ว จึงสั่งงดพิธีอภิเษกกับนางดังแล้วออกเดินทางหนีไปยังยะโฮร์ทันที
แต่แล้ว ทันทีที่เจ้าชายมูฌาดิสร์ได้ข่าวว่าเจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดอเสด็จออกจากที่นั่น ทางราชสำนักแห่งนครปัตตานีเจ้าชายมูฌาดิสร์ก็เผยธาตุแท้ของตนทันที พระองค์ได้วางแผนร่วมกับเสนาบดีฮาซันและดาโอ๊ะเพื่อยึดราชอำนาจ แต่เคราะห์ดีที่มีผู้ล่วงรู้ความลับนี้เสียก่อน จึงรีบออกจากนครปัตตานีไปเพื่อแจ้งเรื่องนี้ให้แก่อิสมาอีลซึ่งกำลังตามตัวเจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดออยู่นอกเมืองให้รับทราบ อิสมาอีล และกองกำลังบุกย้อนกลับเข้านครปัตตานีเข้ามาช่วยรายากูนิงทันเวลาพอดี ก่อนที่รายากูนิงจะถูกเจ้าชายมูฌาดิสร์ข่มเหง เกิดการต่อสู้กัน เจ้าชายมูฌาดิสร์ได้รับบาดเจ็บ เห็นท่าไม่ดี จึงรีบเสด็จหนีออกจากนครไปพร้อมฮาซันและดาโอ๊ะ
เจ้าชายยังดีเปิรตูวันมูดอพานางดังและพร้อมพระมารดาหนีขึ้นหลังช้างไป โดยมุ่งหน้าสู่ปาซีร บันดา ราฌา และในช่วงแห่งการหลบหนีนั่นเองที่ ช้องหมูป่า ของนางดังบังเอิญถูกคบไม้เกี่ยวหล่น ทำให้มนต์เสน่ห์ที่นางทำไว้จางหายไป เจ้าชายจึงได้ทอดพระเนตรเห็นความจริง ประกอบกับกำลังถูกกองกำลังจากนครปัตตานีไล่ล่า เจ้าชายจึงคิดว่าที่ตนประสบความเดือดร้อนเช่นนี้เป็นเพราะนางดัง เจ้าชายจึงได้ฆ่านางเพื่อหวังเอาตัวรอด และฝังศพไว้ที่เชิงเขาตาแบะฮ์ ก่อนจะหนีต่อไปพร้อมพระมารดา
รายากูนิงทราบข่าวว่าเจ้าชายพระสวามีกำลังหาทางหนีกลับยะโฮร์ จึงมีพระบัญชาไปยังเจ้าเมืองสายให้จัดเตรียมเรือพร้อมเสบียงอาหารไว้ให้เจ้าชายพร้อมพระมารดาและประยูรญาติ เจ้าชายจึงเร่งเดินทางกลับเมืองยะโฮร์ แต่เรือพาหนะที่เจ้าเมืองสายจัดเตรียมให้นั้น ได้บรรทุกสมบัติของเจ้าชายจนเต็มลำ เมื่อเจอพายุฝนอย่างแรงจึงอับปางลงกลางทะเล และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเจ้าชายอีกเลย
หลังจากเหตุการณ์สงบ พระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยาได้ทรงทราบเรื่องราวทั้งหมด พระองค์จึงส่งคณะทูตมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ แต่รายากูนิงตัดสินใจไม่รับไมตรีจากกรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้ พระนางได้กล่าว สัมพันธไมตรี เราสิ้นไปแล้ว ด้วยขาดจะต่อใหม่ก็เป็นปมอยู่เรื่อยไป ถ้าจะมีสัมพันธไมตรี เราจะไปฟื้นฟูสันติภาพกับสยามเอง ระหว่างกษัตริย์ต่อกษัตริย์ มิใช่แค่กษัตริย์กับทูต
หลังจากที่คณะราชฑูตกลับไปกรุงศรีอยุธยา รายากูนิงจึงได้ทรงใคร่ครวญเรื่องการทำสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรสยามอีกครั้ง พระนางได้ทรงตัดสินใจแต่งตั้งให้อิสมาอีสมาอิลเสนาบดีของพระองค์ เป็นตัวแทนนำบุหงามาศไปถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี ตั้งแต่บัดนั้น ทั้งพระเจ้าปราสาททองและรายากูนิงก็มีราชสาส์นถึงกันอยู่เสมอ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการปรึกษากันเรื่องงานบ้านงานเมือง โดยเฉพาะเรื่องการค้าขายและเศรษฐกิจในสมัยนั้น
จนกระทั่ง พ.ศ.2184 เมื่อรายากูนิงอายุ 39 ชันษา
พระนางได้รับพระราชสาสน์จากพระเจ้าปราสาททองเกี่ยวกับการจัดการค้าของกรุงศรีอยุธยา ที่ว่าด้วยเรื่องการค้าขายแบบเงินสดงดเงินเชื่อ พระนางจึงตัดสินใจเดินทางเสด็จเยือนกรุงศรีอยุธยาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี รวมทั้งยุติความขัดแย้งทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยของพระองค์ รายากูนิงเดินทางเข้าสู่พระราชวังพระเจ้าปราสาททอง เพื่อมอบเครื่องราชบรรณาการ (บุหงามาศ) โดยมีเสนาบดีผู้ใหญ่อยู่ในพิธีนั้นด้วย พระเจ้าปราสาททองรับสั่งยากูนิงอย่างสมพระเกียรติยศในฐานะ พระขนิษฐาต่างเมือง ซึ่งในการรับเสด็จในครั้งนี้ อัครมเหสีของพระเจ้าปราสาททองทั้งสี่พระองค์ พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ต่างก็ทรงต้อนรับรายากูนิงอย่างใกล้ชิดด้วย
พระเจ้าปราสาททองทรงโปรดที่จะสนทนาเรื่องการเมืองการปกครองกับรายากูนิง โดยเฉพาะในขณะนั้นซึ่งกำลังมีศึกกับพม่า แต่รายากูนิงแสดงทีท่าอย่างชัดเจนว่าพระนางจะไม่ก้าวก่ายกับกิจการนี้ พระเจ้าปราสาททองจึงทรงเปลี่ยนมาเจรจาเกี่ยวกับการค้าขายนครปัตตานีที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองท่าสำคัญเมืองหนึ่งแทน และเมื่อเห็นพระปรีชาสามารถของรายากูนิงก็ยิ่งทำให้พระองค์ประทับใจในตัวพระนางมากเพิ่มทวีคูณ
ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรุงศรีอยุธยาและนครปัตตานีในครั้งนี้ ทำให้ผู้ที่เกรงว่าจะเสียผลประโยชน์ในเรื่องการค้าอย่างเช่น นายยาน (Jan) พ่อค้าชาวฮอลันดา และ พระยามหานาวาสวัสดิ กับพรรคพวก เริ่มคิดหาวิธีทางที่จะกลั่นแกล้งรายากูนิง แต่อิสมาอิลและออกญาเดโชมุสตอฟาก็มักจะมาช่วยพระนางได้ทันการณ์อยู่เสมอ ใช่แล้ว รายากูนิงได้พบกับออกญาเดโชมุสตอฟาอดีตพระสวามีผู้ซึ่งพระนางคิดว่าได้ตายจากไปนานแล้วอีกครั้ง
รายากูนิงดีพระทัยเป็นอันมาก แต่ก็ทรงตัดสินใจไม่หวนกลับไปใช้ชีวิตกับเขาอีกแล้ว ด้วยว่าพระนางทรงสำนึกเสมอว่า หลังจากที่ออกญาเดโชมุสตอฟาจากไปแล้ว พระนางได้อภิเษกใหม่กับเจ้าชายแห่งยะโฮร์ตามรับสั่งของรายาอูงูพระมารดา ถึงแม้จะไม่มีอะไรกันดังเช่นสามีภรรยา แต่เป็นการมิสมควรที่จะทรงมีพระสวามีอีกต่อไป อีกทั้งภาระที่พระนางทรงมีต่อแผ่นดินในตอนนี้ อยู่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ออกญาเดโชมุสตอฟายอมรับในการตัดสินพระทัยของรายากูนิง พร้อมทั้งสัญญาว่าจะเป็นเพื่อนที่ดีตลอดไปจนกว่าลมหายใจจะหาไม่
รายากูนิงกราบทูลพระเจ้าปราสาททองเรื่องจะเสด็จกลับ โดยพระนางบอกเหตุผลเพียงว่าเพื่อกลับไปราชการงานแผ่นดิน ในวันที่รายากูนิงเสด็จกลับ พระเจ้าปราสาททองติดว่าราชการเรื่องไทยรบกับพม่า จึงไม่สามารถจะไปส่งพระนางด้วยตัวเอง จึงได้แต่ฝาก ผ้าทอง ไปกับออกญาเดโชมุสตอฟา ซึ่งไปไม่ทันขบวนเสด็จของพระนางที่ได้เคลื่อนขบวนออกไปแล้ว ออกญาเดโชมุสตอฟาจึงควบม้าไปดักที่คุ้งน้ำข้างหน้าเพื่อถวายผ้าทองให้แด่รายากูนิง กลันตันเกิดความขัดแย้งกลางเมืองขึ้น ซึ่งกลันตันนั้นเป็นสหพันธรัฐร่วมของนครปัตตานีตั้งแต่สมัยรายาบีรู รายากูนิงจึงเข้าไปช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งเพื่อหวังให้ยุติความขัดแย้ง ระหว่างนี้พระเจ้า
ปราสาททองได้ทรงให้คำปรึกษาและอาสาช่วยเหลือด้วยการจะส่งกองกำลังไปช่วยรบ แต่รายากูนิงปฎิเสธ ด้วยพระนางคิดว่า เป็นเรื่องภายใน ต้องจัดการด้วยตัวเอง สงครามระหว่างกลันตันกับนครปัตตานีในครั้งนี้ ราชาซักตีที่ 1 เจ้าเมืองกลันตันบัญชาการรบและเข้าโจมตีนครปัตตานีจนได้รับชัยชนะ รายากูนิงถูกบีบบังคับทรงสละราชบัลลังก์ และอิสมาอิลเสนาบดีผู้จงรักภักดีได้นำเสด็จรายากูนิงเสด็จหนีไปทางเมืองยะโฮร์
โดยหวังว่าพระนางจะไปพำนักลี้ภัยที่เมืองยะโฮร์ ระหว่างทางอีสมาอิลต้องทำการอารักขารายากูนิงไปตลอดทางที่เต็มไปด้วยอันตราย จนในที่สุด อีสมาอีลก็ถูกทหารกองโจรของกลันตันสังหารในขณะเข้าป้องกันรายากูนิง แต่รายากูนิงทรงหนีรอดไปได้พร้อมกับซาเดียล่ามส่วนพระองค์
รายากูนิงทรงเศร้าโศกเสียพระราชหฤทัยที่ไม่สามารถรักษานครไว้ได้ แม้จะทำการป้องกันอย่างเต็มกำลัง อีกทั้งยังสูญเสียอีสมาอินเสนาบดีคนสนิทผู้จงรักภักดีของพระนางไปอีก จนทำให้พระนางทรงพระประชวร และต้องหยุดพักที่เมืองปังกาลันดาตู เพราะทรงเดินทางต่อไปไม่ไหว
พระเจ้าประสาททองทรงได้รับข่าวว่า นครปัตตานีแตกแล้ว แต่รายากูนิงทรงหนีออกจากเมืองไปได้ ไม่มีใครพบเห็นพระนางว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ นำความเศร้าโศกมาสู่พระองค์เป็นอันมาก อาการประชวรของรายากูนิงทรุดหนักมาก และในที่สุดพระนางก็สิ้นพระชนม์ ณ เมืองแห่งนี้ในขณะดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้นที่ขอบฟ้าริมทะเล
ก่อนสิ้นพระชนม์ พระนางทรงขอร้องให้ซาเดียหันพระพักตร์ของพระนางไปทางกรุงศรีอยุธยา พระนางตรัสถึงพระเจ้าปราสาททอง ก่อนจะหันพระพักตร์ไปทางนครเมกกะ และตรัสถึงอัลลอฮจนกระทั่งสิ้นลมปราณ พระศพของพระนางถูกฝังไว้ที่ ณ หมู่บ้านปันจอร์ที่กลายเป็นที่ ประทับชั่วนิรันดร์ก่อนสิ้นพระชนม์
บทส่งท้าย
พระเจ้าปราสาททองทรงได้รับข่าวการสิ้นพระชนม์ของรายากูนิงจากซาเดีย ซึ่งได้เดินทางกลับมาเข้าเฝ้าที่กรุงศรีอยุธยา ทรงกำบุหงาไว้เต็มพระหัตถ์ ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังต้นบุหงามาศ ที่รายากูนิงได้นำมาถวายจากปัตตานี แล้วทรงโปรยดอกไม้ที่ทรงกำไว้ลงสู่ต้นบุหงามาศ โดยมีซาเดียกล่าวกราบทูลพระองค์ว่า บุหงาปัตตานีโรยลาแล้ว ร่างของรายากูนิงผู้มีไฟแห่งการสมานฉันท์โชติช่วงอยู่ในจิตใจ ได้ฝังรากลึกลงใต้แผ่นพื้นดิน และ กลับคืนสู่พระเจ้าอย่างสันติสุข
- จบ -
รายชื่อนักแสดง
นิกัลยา ดุลยา
สรวงสุดา ลาวัลย์ประเสริฐ
จิระวดี อิศรางกูร
มาริออน อัลโฟล์เลอร์
ชาติชาย งามสรรพ์
ทัศนวลัย องอาจสิทธิชัย
ชุมพร เทพพิทักษ์
เวนซ์ ฟอลโคเนอร์
ธรรมลักษณ์ ตระกูลโชคดี
ชัย ขุนศรีรักษา
วรวุฒิ นิยมทรัพย์
รัตนบัลลังก์ โตสวัสดิ์
พัฒนะ พันธ์เทวะ
เคน สทรุทเคอร์
สรนันท์ ร เอกวัฒน์
ณพสิทธิ์ เที่ยงธรรม
ชาลิสา บุญครองทรัพย์
ศิริพิชญ์ วิมลโนช
จารุวรรณ สุนันท์
ณัฐชา วิทยากาศ
อุเทน คชน่วม
กนิษฐ์ นรคง
กรองทอง รัชตะวรรณ