ความจริงเบื้องหลังหนังลูกโลกทองคำ "อาร์โก้"
อาร์โก้ : ความจริงเบื้องหลังหนังลูกโลกทองคำของ "เบน แอฟเฟล็ก"
ภาพยนตร์เรื่อง "Argo" ของ เบน แอฟเฟล็ก เล่าถึงเรื่องราวเมื่อกว่า 32 ปีก่อน ที่เจ้าหน้าที่ซีไอเอ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากแคนาดา ในการนำตัวกลุ่มชาวอเมริกันกลับประเทศ หลังจากพวกเขาหนีออกจากสถานทูตได้ทัน ก่อนที่ผู้ประท้วงจะบุกยึดสถานทูตและจับตัวประกันไว้
"Argo" เจ้าของ 2 รางวัลลูกโลกทองคำปีล่าสุด ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์ดราม่ายอดเยี่ยม และถูกเสนอชื่อเช้าชิง 7 รางวัลออสการ์ ซึ่งกล่าวไว้ชัดเจนว่า "สร้างจากเรื่องจริง" เสนอภาพที่เป็นจริงมากแค่ไหน?
เมื่อ มาร์ค ลิเจ็ค ได้งานทำครั้งแรกในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตสหรัฐประจำกรุงเตหะราน เขารู้ดีว่างานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เขากล่าวว่า เขาถูกร้องขอให้อาสาไปทำงานที่นั่นเมื่อเดือนตุลาคม 1978 แม้จะทราบดีว่าสถานการณ์ที่นั่นไม่สู้ดีนัก เกิดการประท้วงทั่วไปตามท้องถนนในกรุงเตหะราน และยังไม่แน่ชัดว่า พระเจ้าชาห์ โมฮัมเหม็ด เรซา ปาห์เลวี ยังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่ ต่อมาในเดือนมกราคมพระองค์จึงประกาศสละราชบัลลังก์ และหนีออกนอกประเทศ
เขาเข้าคอร์สเรียนภาษาฟาร์ซีนาน 6 เดือน ก่อนเดินทางไปอิหร่านในช่วงกลางปี 1979 เพื่อตาม โครา ลิเจ็ค ภรรยาของเขา ซึ่งแต่เดิมไม่ได้ทำงานกับสถานทูต แต่ได้รับการติดต่อเนื่องจากสถานทูตต้องการคนพูดภาษาฟาร์ซีได้
สถานทูตสหรัฐฯในกรุงเตหะรานมีพื้นที่ราว 26 เอเคอร์ ล้อมรอบด้วยกำแพงสูงยาว 1 กม.เศษ และมีเพียงนาวิกโยธินคุ้มกันเพียง 13 นาย เท่านั้น ก่อนหน้าที่เขาเดินทางมาถึงไม่นาน การประท้วงโดยกลุ่มต่อต้านอเมริกันเพิ่งยุติได้ไม่นาน และเมื่อผู้ชุมนุมที่โกรธแค้นได้บุกเข้ามายังสถานทูตในช่วงเช้าของวันที่ 4 พ.น. 1979 เขาคิดว่าอีกเดี๋ยวผู้ประท้วงก็จะเลิกรา
มาร์ค กล่าวว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นเพราะไม่พอใจที่สหรัฐฯไม่ยอมส่งกลับพระเจ้าชาห์ที่รักษาโรคมะเร็งอยู่ที่นั่น โดยอ้างว่าพระองค์กำลังรักษาตัว อาคารสถานทูตซึ่งเขาและภรรยาทำงานอยู่ใช้เวลาเดินจากอาคารหลักราว 5 นาที และมีประตูเล็กที่เชื่อมกับถนนด้านนอก ซึ่งเขาเชื่อว่าผู้ที่บุกเข้ามาอาจไม่รู้ หรืออาจไม่สนใจ
มาร์ค ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการกล่าวว่า เขารู้สึกประทับใจต่อการดำเนินเรื่องในฉากการบุกสถานทูตของแอฟเฟล็ก ในหนังเรื่อง Argo ที่ใช้สถานที่ถ่ายทำส่วนหนึ่งในเมืองอิสตันบูลของตุรกี และรัฐแคลิฟอร์เนีย และเป็นครั้งแรกที่เขานึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างจริงๆ จัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำใจยากที่ต้องนั่งชม
ตามท้องเรื่องในภาพยนตร์ เจ้าหน้าที่ 6 รายที่หนีออกมาได้ประกอบด้วย มาร์ค และ โครา ลิเจ็ค, บ็อบ แอนเดอร์ส, ลี ชัตซ์ และ โจ และแคธี สแตฟฟอร์ด ได้ขอเข้าไปพำนักที่บ้านพักของนายเคน เทย์เลอร์ ทูตแคนาดาประจำอิหร่าน แต่ในความเป็นจริง หลังจากพักอยู่ที่นั่นหลายวัน ซึ่งรวมถึงหนึ่งคืนในบ้านพักทูตอังกฤษ ทั้งหมดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกอยู่ที่บ้านพักของนายเทย์เลอร์ และอีกรายอยู่ที่บ้านของนายจอห์น เชียร์ดาวน์ เจ้าหน้าที่ชาวแคนาดา
มาร์ค กล่าวว่า เขาเข้าใจว่าทำไมหนังจึงเลือกให้ทั้งหมดอยู่รวมกันตลอดเวลา เนื่องจากการที่คนอยู่รวมกันมากๆ จะสร้างพลังและแรงกดดันได้มากกว่า และก่อให้เกิดช่วงที่ตึงเครียด เมื่อเกิดการไม่เห็นพ้องร่วมกัน อย่างไรก็ดี ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียวที่พวกเขาถูกสั่งห้ามออกนอกบ้านพัก เนื่องจากบ้านของเชียร์ดาวน์ มีสนามหญ้ากว้างและสวน ที่สามารถออกไปเดินเล่นได้อย่างสบายๆ แต่ก็จริงที่ว่าพวกเขาไม่มีอะไรทำมากนัก นอกเหนือจากการอ่านหนังสือและเล่นสแครบเบิล รวมถึงดื่มเหล้าในบางครั้งด้วย
แก่นเรื่องของหนังอาจดูเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นเรื่องจริง ซีไอเอต่างร่วมคิดแผนการที่จะนำชาวอเมริกันกลับบ้าน ผ่านสนามบินเมห์ราบัดในกรุงเตหะราน โดยปลอมเป็นกองถ่ายหนังไซ-ไฟ ที่ไม่มีอยู่จริง
มาร์ค กล่าวว่า ทั้งกลุ่มรู้สึกกระตือรือร้น แต่ก็คิดว่าคงไม่มีคนทำหนังคนไหนบ้าพอที่จะเดินทางมาที่นี่ขณะที่สถานการณ์การปฏิวัติยังคงคุกรุ่น แต่อย่างไรเขาก็ไม่มีปัญหาในการเสแสร้งแสดงเป็นคนอื่น
ความจริงก็คือ หนังปลอมเรื่อง Argo ไม่เคยผ่านการทดลองจริงแม้แต่ครั้งเดียว ว่าจะช่วยให้ทั้งหมดหลบหนีไปได้ และฉากที่ทั้งหมดต้องออกไปเดินสำรวจสภาพตลาดตามท้องเรื่องนั้น มาร์คกล่าวว่า ล้วนเกิดจากการแต่งขึ้นทั้งสิ้น และไม่เคยเกิดขึ้น เนื่องจากทูตแคนาดาเคยเตือนไว้ว่า อย่าออกไปเดินสุ่มสี่สุ่มห้า เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่นาไว้ใจ
มาร์คคิดว่า เรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่ ก็เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้ที่ต้องการหลบหนี เพื่อให้รู้สึกมั่นใจขึ้นเมื่อต้องเดินผ่านด่านตรวจที่สนามบิน
หากใครได้ชมจะทราบว่า ในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายนั้น อยู่ในระดับที่ทำให้นั่งไม่ติดเก้าอี้ โดยเป็นฉากที่ทั้ง 6 คน และเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ต้องผ่านด่านตรวจถึง 3 ชั้น โดยใช้พาสสปอร์ตและเอกสารปลอม และจุดไคลแม็กซ์สำคัญอยู่ที่ฉากที่สมาชิกกองทัพปฏิวัติจับได้ว่ามีชาวอเมริกันกำลังหนีออกนอกประเทศ และเร่งไล่ล่าเพื่อให้ทันเครื่องบินออก
มาร์ค กล่าวว่า เหตุการณ์ระทึกเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้น แม้จะมีปัญหากับเอกสารบางตัว ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่มีความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายสูงมาก แต่เจ้าหน้าที่ซีไอเอก็ทำการบ้านมาดี และเขาทราบว่าเจ้าหน้าตรวจเอกสารไม่ยอมให้ผ่านเอกสารอะไรง่ายๆ แต่โชคดีที่ขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่กองกำลังปฏิวัติทำงานอยู่ไม่กี่คนที่รู้เรื่อง ทำให้สามารถขึ้นเครื่องได้ตอนตี 5 ครึ่ง
มาร์ค กล่าวว่า ความจริงก็คือ เจ้าหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองแทบจะไม่สนใจพวกเขา และขั้นตอนต่างๆ ก็เป็นไปตามปกติ ก่อนที่เครื่องบินจะมุ่งหน้าไปยังเมืองซูริคในสวิตเซอร์แลนด์ และพักที่บ้านพักทูตในกรุงเบิร์น แต่เดิมทั้งหมดต้องอาศัยที่รัฐฟลอริดาเป็นการชั่วคราว ภายใต้ชื่อปลอม จนกระทั่งตัวประกัน 52 คนได้รับการปล่อยตัว เมื่อเดือนมกราคม 1981 แต่ต้องยกเลิกกะทันหัน เมื่อมีรายงานการหลบหนีรั่วไปยังหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
ในปีเดียวกันนั้น ได้มีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Escape from Iran โดยช่องเสนอว่าซีไอเอมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการครั้งนี้ แต่ถูกปฏิเสธ กระทั่งซีไอเอออกมายอมรับเมื่อปี 1997
มาร์ค กล่าวว่า เขารู้สึกโล่งใจที่สามารถพูดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นได้อย่างเปิดอก เขาเป็นแฟนตัวยงของหนัง Argo และมักกล่าวถึงอย่างขบขันแกมเหน็บแนม ว่าหนังสามารถดัดแปลงความจริงให้กลายเป็นหนังดราม่าที่น่าตื่นเต้นได้ เพราะเมื่อย้อนไปเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ชีวิตเขาก็คือหนังดราม่าเรื่องหนึ่ง
นายแอนโตนิโอ แมนเดซ เจ้าหน้าที่ซีไอเอตัวจริง ที่นำชาวอเมริกันทั้ง 6 กลับประเทศ