มีสติและพิจารณา "ประชาธิป′ไทย"
ความขัดแย้งที่เห็นเด่นชัด เป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองในประเทศเราทุกวันนี้ ทำให้ "การเมือง" เป็นเรื่องคุยกันยาก และยิ่งยากมากขึ้น เมื่อมาอยู่ในสื่อที่เป็นรูปแบบของความบันเทิง ด้วย "สายตา" จะยิ่งจับจ้องว่า งานจะออกมาเลือกข้างหรือไม่ แล้วจะผ่านคณะกรรมการเซ็นเซอร์หรือเปล่า
แต่สุดท้ายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "ประชาธิป′ไทย" ที่ผู้กำกับฝีมือดี เป็นเอก รัตนเรือง กับ ภาสกร ประมูลวงศ์ เสนอเรื่องราวอันว่าด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยก็ผ่านการเซ็นเซอร์มาด้วย "เรต ท." แลกกับการยอมให้ดูดเสียงออกไป 5 จุด
"ประชาธิป′ไทย" เป็นสารคดีที่จับเรื่องตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 แล้วก็ไล่เรียงมา
โดยมีนักวิชาการหลายคนทั้ง ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล, รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร, ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ศรัญญู เทพสงเคราะห์, รศ.ดร.วรเจตน์ เพชรเลิศอนันต์, ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, สมบัติ บุญงามอนงค์, รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ และ ศ.พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา พูดและเล่าเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ตัดสลับกับภาพนิ่งและฟุตเทจภาพเคลื่อนไหว เพื่อขยายความเรื่องที่กล่าวถึง
ซึ่งล้วนแล้วแต่ทั้งตั้งคำถามและตอบคำถามเรื่องราวการเมืองไทยได้อย่างน่าสนใจชวนติดตามเรียงลำดับเหตุการณ์และลำดับเรื่องราวได้เข้าใจง่ายสำหรับคนที่เรียนรู้การเมืองเพียงแต่จากหนังสือเรียนและไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเท่าใดนักทั้งยังพลิกภาพกลับให้เห็นข้างหลังของภาพที่ฝุ่นเกาะหนาไม่น่าดูให้ได้มองเห็นและพิจารณากันอีกด้วย
ในขณะที่คนที่มีพื้นฐานความรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นอย่างดีอาจมองว่าบางเรื่องดูจะถูกกล่าวถึงเพียงผ่านๆทั้งๆ ที่น่าจะมีการอธิบายเพิ่มเติมหรือลงลึก อย่างเรื่องเหตุการณ์ในช่วง 6 ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ
สำหรับส่วนที่ถูกบอกให้ "ตัดออก" นั้น เป็นเอกและภาสกรใช้วิธีดูดเสียงและใช้แถบดำคาดซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะสะใจเย้ยหยันจากคนดูได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ก็ให้เห็นกันชัดๆ เลยว่านี่ล่ะระบบการเซ็นเซอร์หนังของประเทศไทย และถ้าอยากรู้ว่าส่วนที่ถูกดูดเสียงไปพูดว่ายังไงก็อ่านปากนักวิชาการให้ทันก็แล้วกัน
ในฐานะที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนส่งเข้าเซ็นเซอร์ถ้าถามว่าเสียงที่ถูกดูดไปนั้นทำให้สาระหลักของเนื้อหาภาพยนตร์หายไปหรือไม่ ก็ไม่ แต่หากกลับทำให้สมดุลการให้น้ำหนักของทั้งสองฝ่ายดูจะเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากไปสักหน่อย
จากที่นิยามว่าเป็น"หนังสีส้ม" ที่ดูกลางๆ พอดีๆ ในคราวนั้น ในตอนนี้จึงพูดได้ไม่เต็มปากว่ายังเป็นเช่นนั้นอยู่
แต่จะโทษคนทำหนังคงไม่ได้
หากทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าสารคดีเรื่องนี้จะเลือกข้างอย่างชัดเจนเพราะตัวหนังจริงๆ แล้วได้เคาะเกราะความเชื่อ และขยับขอบความคิดของผู้ชมให้กว้างขึ้นในหลายด้าน
ดังนั้น ไม่ว่าใครจะยึดถืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหนอย่างไร สวมเสื้อสีไหน ใส่หน้ากากหรือไม่ ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะไปชม
ละวางอคติ เปิดดวงตามองให้กว้าง เปิดหูพร้อมรับฟัง เปิดใจยอมรับความแตกต่าง และมีสติกับทุกสิ่งที่ได้รับรู้ เมื่อเห็นเมื่อฟังแล้วก็อย่าเชื่อ แต่พิจารณาแต่ละอย่างตามสภาพความเป็นจริง เรื่องราว หลักฐานต่างๆ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็น่าจะทำให้เรามองเห็นที่มาที่ไปของ "ประชาธิปไตย" แบบ "ไทยๆ" ได้ชัดเจนมากขึ้น
และน่าจะทำให้เราขัดแย้งทางการเมืองกันอย่างมีสติมากขึ้นกว่าทุกวันนี้
ตอนต่อไป
ในตอนจบของหนังซึ่งเข้าฉายเฉพาะที่เอสพลานาดรัชดาและพารากอน ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน วันละ 2 รอบ 14.00 น. และ 20.00 น. มีข้อความขึ้นว่า "โปรดติดตามตอนต่อไป"
ด้วยทั้งคู่เตรียมทำภาคต่อของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยจะเน้นไปยังเรื่องที่ยังแตะได้ไม่ถึงและลึกนักใน "ประชาธิป′ไทย" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ 6 ตุลาฯ หรือแม้แต่เรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วย
จะเริ่มกระบวนการสร้างทั้งหมดหลังจาก "ประชาธิป′ไทย" หมดโปรแกรมฉาย
รอติดตาม