วิจารณ์หนัง Robocop 2014
เหตุการณ์ใน Robocop เวอร์ชั่นรีเมคนี้เกิดขึ้นในโลกอนาคตปี 2028 เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ทรงอำนาจอย่างออมนิคอร์ปกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีจำพวกหุ่นยนต์และวิทยาการณ์ต่างๆของโลก และแน่นอนว่าการใช้หุ่นโดรนเข้ามาเพื่อเข้าช่วยรบในสงครามนั้นจะเป็นหนทางที่จะช่วยให้อเมริกาสามารถกำชัยชนะในสงครามทั่วโลกได้ และเพื่อผลักดันเทคโนโลยีดังกล่าวให้สามารถดำเนินต่อไปได้นั้น จะต้องผ่านความเห็นจากมติในสภาเสียก่อน
ทว่าหลังจากเหตุการณ์ความสูญเสียในตะวันออกกลางที่มีผู้เสียชีวิตเป็นเด็กบริสุทธิ์ ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับเทคโนโลยีว่า ถึงเวลาแล้วจริงหรือในการใช้หุ่นยนต์เข้ามาเป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรมในเมื่อระบบการประมวลผลนั้นขาดความยั้งคิดและการใช้สติอย่างถี่ถ้วน รวมถึงการใช้เรื่องของหลักมนุษยธรรมเข้ามาเป็นตัวประกอบกับการลงมือ และด้วยเหตุผลนี้เองทำให้สภาลงมติไม่เห็นชอบกับเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ เรย์มอนด์ เซลลาร์ (ไมเคิล คีตัน) พยายามผลักดันโปรเจ็คในการให้เอาจักรกลกับมนุษย์รวมเข้าไว้ด้วยกันเพื่อแสดงให้แก่สาธารณชนเห็นว่ามันสามารถขับเคลื่อนเทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปพร้อมๆ กันได้
ขณะเดียวกันนายตำรวจ อเล็กซ์ เมอร์ฟีย์ (โจเอล คินนาแมน) ที่เพิ่งจะโดนหมายหัวจากอาชญากรทำให้เขาตกเป็นเป้าลอบทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสและโอกาสรอดแทบไม่มี ออมนิคอร์ปจึงยื่นข้อเสนอให้กับ คลาร่า (แอ๊บบี้ คอร์นิช) ภรรยาผู้เป็นที่รักของเขาเพื่อต่อชีวิตให้กับอเล็กซ์โดยการใช้เทคโนโลยีต่อวงจรของเครื่องจักรกลเข้าไปเป็นร่างกาย โดยใช้สมองสั่งการ เมื่ออเล็กซ์ฟื้นคืนสติมาพร้อมกับพละกำลังและร่างกายอันไม่คุ้นชินของตัวเองทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามว่าเขาจะทำอย่างไรต่อไปดี
ตัวหนังในเวอร์ชั่นนี้หยิบประเด็นเรื่องมนุษย์กับเครื่องจักรมาพูดได้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าเกิดวันหนึ่งเราเกิดสูญเสียร่างกายของเราไปจนหมดสิ้น เราจะยังเหลือความเป็นมนุษย์เป็นตัวเราอยู่หรือเปล่า ยิ่งไปกว่านั้นกระบวนการประมวลผลของสมองยังถูกต่อเชื่อมเข้ากับ “ระบบ” ที่ถูกคนอื่นควบคุมในการเปิด/ปิดตัวเองได้อีกหนึ่งทอด
ขณะเดียวกันประเด็นอื่นนอกเหนือจากการตั้งคำถามเรื่องมนุษย์ หนังยังตั้งคำถามถึงระบบสังคมที่เชื่อมโยงกันอย่างเรื่อง เทคโนโลยี-การสื่อสาร-การทหาร-การเมือง เข้ากันอย่างน่าสนใจ เมื่อองค์กรยักษ์ใหญ่พยายามผลักดันเทคโนโลยีเพื่อทำกำไรให้กับบริษัทโดยเอาฉากหน้าอย่างเรื่องกระบวนการยุติธรรมเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนาดังกล่าว เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่ามันโปร่งใสไร้คอรัปชั่น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อสื่อมวลชนยังทำหน้าที่ได้เป็นแค่เพียง “คนรายงานข่าว” แต่ไม่ได้เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนในสังคม ผู้คนจึงต่างได้แต่รับข้อมูลแต่เพียงด้านเดียวจากสื่อฯ ถึงกระนั้นหนังอาจจะไม่ได้นำเสนอประเด็นในเรื่องผลกระทบต่อวงกว้างอย่างชัดเจนนัก แต่เราก็จะได้เห็นจากข้อสรุปของสภาที่ยังคงกังขากับการใช้เทคโนโลยีผนวกกับกระบวนการยุติธรรม ว่ามันมี “สติสัมปชัญญะ” แน่จริงน่ะหรือ
ROBOCOP ในเวอร์ชั่นปี 2014 ไม่ได้เป็นแต่หนังแอ็คชั่น-ไซไฟที่ยิงกันโครมครามแล้วก็จบห้วนๆ กันไป เอาเข้าจริงๆ ในหนังเองก็มีฉากดวลปืนหรือสาดกระสุนกันน้อยมากจนนับได้ แต่ตัวหนังกลับอัดแน่นไปด้วยความระทึกว่าพระเอกจะเดินเกมอย่างไรต่อไปในร่างหุ่นยนต์นี้ เขาจะจัดการครอบครัว ตัวเอง และผู้กระทำผิดเช่นไร นี่คือความสนุกของหนังครับ ถ้าคุณคาดหวังว่าจะเป็นหนังตำรวจสาดกระสุนใส่คนก็คงผิดหวังไปตามๆ กัน
ยกให้ 4 คะแนนจาก 5 คะแนน
@พริตตี้ปลาสลิด