วิจารณ์หนัง 300 Rise of an Empire

วิจารณ์หนัง 300 Rise of an Empire

วิจารณ์หนัง 300 Rise of an Empire
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


วิจารณ์หนัง 300: Rise of an Empire

เรื่องราวใน 300 ภาคนี้จะกล่าวไปแล้วก็ไม่ใช่ภาคต่อเสียทีเดียว หากแต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นเส้นเรื่องคู่ขนานกันกับเหตุการณ์ในหนังภาคแรก ซึ่งจะว่าไปแล้วถ้าหากจะมองความเป็นไปได้ในการสร้างภาคต่อนั้นในตอนแรกแทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลยเนื่องจากเหตุการณ์ในภาคแรกนั้นทหารทั้ง 300 นายก็กลายเป็นสภาพนอนตายแหงแก๋เป็นศพกองกันไปหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามไอเดียของแฟรงค์ มิลเลอร์ ในการแต่งเรื่องให้กับธีมิสโทคลีสกลายเป็นพระเอกคนใหม่ก็ทำให้เหตุการณ์ในหนังภาคที่ 2 ถูกจุดประกายขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน Rise of an Empire จึงเล่าเรื่องราวของแม่ทัพจากเอเธนส์เมืองแห่งต้นกำเนิดประชาธิปไตยอย่าง ธีมิสโทคลีส(ซัลลิแวน สเตปเปอร์ตัน) ที่ต้องนำทัพเรือไปสกัดกั้นการรุกรานของ อาร์ทีมีเซีย(เอวา กรีน) แม่ทัพเรือของเปอร์เซียที่ได้รับบัญชาจาก เซอร์เซส(โรดริโก ซานโตโร) ให้มาต้านทัพของแม่ทัพผู้นี้เอาไว้รวมไปถึงกำจัดเสี้ยนหนามที่คิดเป็นปรปักษ์กับคนเปอร์เซียไปให้หมด 

 

นอกจากความน่าสนใจที่บรรดาแฟนคลับจากหนัง 300 ภาคแรกมองหาอย่างเช่นในเรื่องฉากแอ็คชั่นสุดตื่นตาตื่นใจ และมัดกล้ามท้องที่ชวนตะลึงประหนึ่งดูมหากาพย์ซิกแพคทะลุจอ มาในภาคนี้ปริมาณที่เพิ่มขึ้นของเหล่าชายชาติทหาร(มากกว่า 300 นาย)ก็เดินคาดเตี่ยวให้บรรดาผู้ชมใจหายใจคว่ำกันอยู่ตลอดเวลา 

เหนืออื่นใดคือการให้บทบาทเด่นของเรื่องตกไปอยู่กับอาร์ทีมีเซียแม่ทัพหญิงผู้เหี้ยมโหด เมื่อเจาะลึกลงไปถึงต้นกำเนิดของตัวละครนี้แล้ว เราจะพบว่าเธอมีปมและปูมหลังที่น่าสงสารและน่าเห็นใจ จนขับเน้นให้เธอต้องเคียดแค้นชิงชังแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนอย่างกรีก แล้วยอมสวามิภัคดิ์ให้กับชาวเปอร์เซีย ก็เพราะมีคนน้ำใจงามช่วยเหลือและชุบเลี้ยงเธอให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เธอจึงทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับกษัตริย์เปอร์เซีย การปูพื้นฐานความเป็นมาของตัวละครนี้ ประกอบกับการแสดงอันโดดเด่นของเอวา กรีนที่รูปร่างและบุคลิกอันน่าเกรงขาม มีอากัปกริยาของตัวละคร “หญิงร้าย” ที่มีความแข็งแกร่งดุดันแบบผู้ชายผสมหลอมรวมอยู่ในตัวละครนี้ มันจึงช่วยผลักดันให้ผู้ชมรู้ว่า “หลงใหล” ไปกับการแสดงออกของเธอ 

 

 

ความน่าสนใจที่เรามอง 300: Rise of an Empire เปรียบเทียบกับ 300 ในภาคก่อน เราจะเห็นได้เลยว่า ความแตกต่างระหว่างการปกครองของรัฐนั้นก็ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนเช่นเดียวกัน เหตุการณ์ใน 300 กษัตริย์อย่างลีโอไนดัส(เจอราดด์ บัดเลอร์) ตัดสินใจนำทหาร 300 ร้อยคนออกไปรบ แนวคิดนั้นเหมือนกับภารกิจทำลายล้างตัวเองที่ยังไงผลแพ้ชนะก็เห็นมากันตั้งแต่ยังไม่เริ่มออกศึก แต่ในขณะที่ธีมิสโทคลีสนั้น ตัวละครนี้ไม่ใช่กษัตริย์และชาวเอเธนส์ก็มีระบบความคิดที่จะเลือกเป็นเสรีชน การเข้าร่วมรบในสงครามจึงเป็นเรื่องของความสมัครใจ การจะพาไพร่พลออกมารบได้แม่ทัพจึงต้องมีวาทศิลป์และมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าพวกเขากำลังจะออกไปรบเพื่ออะไร 

 

 

อย่างไรก็ตามระบบแนวคิดของธีมิสโทคลิสนั้นก็ยังแฝงเรื่องชาตินิยมที่กล่าวกับคนดูว่า “พวกเขายอมตายเสียดีกว่าเป็นทาสของชาวเปอร์เซีย” มันช่วยสะท้อนแนวคิดของความเป็นไทในยุคของดาบและเลือดยังคงเป็นสงครามที่มนุษย์ต้องห้ำหั่นกันเอง ผิดกับยุคปัจจุบันที่สงครามของมนุษย์กลับย้ายมาอยู่ในเรื่องการคุกคามกันทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยี..... 

 

***** ในเวอร์ชั่นเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ฉากธีมิสโทคลีสที่กำลังมีบทอัศจรรย์กับอาร์ทีมีเซียถูกตัดออกไป ถ้าใครไปชมแล้วอาจจะพบความ “สะดุด” ในฉากนี้ครับ ****** 

 

ยกให้ 3 คะแนนจาก 5 คะแนน  

@พริตตี้ปลาสลิด 



ตัวอย่าง300 Rise of an Empire

 

 

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง 300 Rise of an Empire

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook