วิจารณ์หนัง The Railway Man
วิจารณ์ The Railway Man
ถึงแม้ว่าในบ้านเรากระบวนการประชาสัมพันธ์ชื่อหนังภาษาไทยของ The Railway Man ออกจะดูฮาร์ดเซลขายสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยซะเหลือเกินด้วยการตั้งชื่อว่า "แค้น สะพานข้ามแม่น้ำแคว" ทั้งที่เนื้อเรื่องของหนังจริงๆนั้นเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำแควไม่ได้ถูกชูเป็นประเด็นหลัก หากแต่ตัวหนังพยายามจะพูดถึงสภาพจิตใจที่ถูกกัดกร่อนจากภาวะสงครามจนกลายเป็นบาดแผลฝังลึกในจิตใจของตัวละครซะมากกว่า
The Railway Man สร้างจากเรื่องจริงของอดีตนายทหารชาวอังกฤษ ที่กลายหนังสือที่ขายดีไปทั่วโลกซึ่งถูกเขียนขึ้นโดยอีริค โลแมกซ์ ซึ่งในหนังสือนั้นเล่าเรื่องราวชีวิตของตัว อีริค โลแมกซ์ ทหารชาวสก็อตแลนด์ถูกจับตัวไปเป็นเชลยศึกสงครามเพื่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ โดยระยะเวลาที่เขาถูกจับตัวนั้นกินเวลาถึง 365 วัน
ตัวหนังเปิดเรื่องมาที่ยุคปัจจุบันที่ โลแมกซ์(โคลิน เฟิร์ธ) ได้ใช้ชีวิตหลังสงครามไปวันๆ ระหว่างที่โลแมกซ์กำลังเดินทางกลับที่พักโดยการโดยสารรถไฟอยู่นั้นเขาก็ได้มีโอกาสพบกับ แพตตี้(นิโคล คิดแมน) โดยบังเอิญ ทั้งสองจึงได้แลกเปลี่ยนความคิดกันพอหอมปากหอมคอ โลแมกซ์เพิ่งรู้ตัวเองว่าเขาตกหลุมรักแพตตี้ถึงขนาดเขาต้องมารอดักเจอเธอ และทั้งคู่ก็ได้คบหาดูใจกันจนกระทั่งทั้งสองตัดสินใจที่จะแต่งงานร่วมชีวิตกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ช่างโรแมนติกจับใจเสียเหลือเกิน
ทว่าหลังจากชีวิตอันหวานชื่นผ่านพ้นไป อดีตอันเลวร้ายของโลแมกซ์ก็เริ่มกลับมาคุกคามตัวเขาเองและชีวิตคู่ โลแมกซ์เริ่มฝันร้ายถึงเหตุการณ์ในอดีตและไม่สามารถควบคุมชีวิตตัวเองให้เป็นปกติได้ เหตุการณ์ยิ่งบานปลายหนักขึ้นจนแพตตี้ต้องไปขอคำปรึกษาจาก ฟินเลย์(สเตแลน สการ์การ์ด) เพื่อนสนิทของโลแมกซ์ว่าเหตุการณ์ในอดีตที่สามีตัวเองเก็บมาฝันร้ายนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร และเมื่อเธอได้ฟังเรื่องราวที่เหล่าวีรบุรุษสงครามต้องพานพบมา เธอจึงพยายามจะทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยสามีของตน
โลแมกซ์ตัดสินใจเดินทางกลับไปเผชิญหน้ากับอดีตของตัวเองด้วยการเดินทางกลับไปยังจังหวัด กาญจนบุรี ประเทศไทยเพื่อแก้แค้น นากาเซะ (ฮิโรยูกิ ซานาดะ) นายทหารญี่ปุ่นที่เคยเป็นผู้ทรมานเขา
ท่าทีของ THE RAILWAY MAN ไม่ได้พูดแต่ประเด็นซ้ำๆซากๆของตัวละครที่เคยผ่านภาวะสงครามซึ่งได้สร้างบาดแผลฉกรรจ์ในชีวิตของคนๆหนึ่งเอาไว้เท่านั้น แต่การไถ่บาปและการล้างแค้นในหนังเรื่องนี้ ซึ่งจุดสำคัญตรงนี้ได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตคู่ของโลแมกซ์อีกด้วย
อย่างไรก็ตามความน่าสนใจของตัวละครโลแมกซ์ในอดีตและปัจจุบันนั้นได้เผยให้ผู้ชมเห็นว่าในอดีต โลแมกซ์ ในวัยหนุ่ม(เจเรมี เออร์วีน) นั้นค่อนข้างเป็นทหารในกลุ่มเด็กเนิร์ด (เขาเป็นวิศวกรในการติดต่อสื่อสารประจำกองทัพ) หน้าที่ของเขาจึงไม่ใช่การใช้แรงหรือออกไปรบ แต่เป็นการใช้สติปัญญาเสียมากกว่า ซึ่งให้ความขัดแย้งกับสภาพปัจจุบันที่โลแมกซ์ดูจะภูมิใจกับสภาวะชายชาติทหารที่ตัวเองได้ก้าวผ่านมาซะเหลือเกิน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วตัวของเขาเองก็ไม่ได้เผชิญความเลวร้ายอันหนักหน่วงนักเมื่อเทียบกับเพื่อนทหารคนอื่นๆที่ถึงกับต้องตายเพราะโดนพาตัวไปสร้างทางรถไฟ (เนื่องจากความภูมิใจของชายชาติทหารส่วนมากก็คือการเดินทางออกไปรบ ยิงปืนต่อสู้กับข้าศึก มากกว่าจะมานั่งเป็นกองหลังคอยรับข้อมูลข่าวสาร)
จุดพลิกผันของเรื่องเกิดจากที่โลแมกซ์พยายามจะประกอบวิทยุขึ้นมาเพื่อฟังข่าวสารจากโลกภายนอกว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น แต่โชคร้ายที่ผู้คุมญี่ปุ่นจับได้เสียก่อนและโลแมกซ์ก็ถูกนำตัวไปทรมานเพื่อให้สารภาพว่าวิทยุที่เขานำมาใช้นั้นมีวัตถุประสงค์ในการติดต่อกับกลุ่มกบฏ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ววิทยุดังกล่าวนั้นทำได้แค่ฟัง "ฟัง" อย่างเดียวเท่านั้น และการที่โลแมกซ์ถูกนำตัวไปทรมานอย่างโหดร้ายก็ทำให้เขาถึงกับฝังใจไปกับการโดนทารุณเพื่อคาดคั้นคำตอบ
การแสดงของโคลิน เฟิร์ธนั้นคงอดปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขาทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเยี่ยมยอด ในการแสดงเป็นคนที่บอบช้ำแบบฝังลึกจากภาวะสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า แววตา ความรู้สึกที่เขาแสดงออกมาจากภายในที่อัดแน่นไปด้วยความรู้สึกปวดร้าว บอบช้ำ จนเหมือนจิตใจของเขากำลังจะแตกสลาย
THE RAILWAY MAN ได้ทิ้งท้ายให้ผู้ชมรู้สึกว่าแท้ที่จริงแล้วการเยียวยาสภาพจิตใจของตัวเองนั้นเกิดจากการปลดปล่อยความรู้สึกผิดของตนออกไป ด้วยการให้อภัยกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น และเมื่อผู้กระทำและผู้ถูกกระทำต่างฝ่ายต่างที่จะยอมเปิดใจและยอมรับผิดซึ่งกันและกัน สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทั้งสองฝ่ายจะได้รับอิสรภาพทางจิตใจอย่างแท้จริง
ยกให้ 4 คะแนนจาก 5 คะแนน
@พริตตี้ปลาสลิด