วิจารณ์หนัง Transformers: Age of Extinction
วิจารณ์หนัง Transformers: Age of Extinction
ความน่าผิดหวังที่สำคัญของหนังอย่าง Transformers Age of Extinction ก็คือตัวผู้กำกับอย่าง ไมเคิล เบย์ ได้ลั่นออกมาว่าเรื่องราวในภาคนี้คือการ "ยกเครื่อง" เล่าทรานส์ฟอร์มเมอร์ในมุมมองใหม่ๆ ทว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังภาคนี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในอ่างไม่ไปไหน เล่าเรื่องครอบครัวที่มีปัญหาด้านการเงิน หุ่นยนต์ที่ทะเลาะกันไม่เลิก และเรื่องสมองกลวงของรัฐบาลที่มองว่าทรานส์ฟอร์มเมอร์เป็นภัยคุกคามระดับชาติโดยตั้งหน่วยออกไล่ล่าทรานส์ฟอร์มเมอร์อย่างไร้เหตุผลเชิงตรรกะ
จริงอยู่ว่าอาจจะมีคนที่มีความเห็นว่า "ก็หนังแอ็คชั่นจะไปเอาอะไรกับมันมากมาย" จริงครับว่าหนังแอ็คชั่นอย่าไปเอาอะไรกับเรื่องราวมันมากมาย แต่อย่างน้อยสิ่งที่ทำให้หนังที่มี "คุณภาพ" ก็คือการเล่าเรื่องอย่างมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนเรื่องราวไปข้างหน้า แต่สิ่งที่ทรานส์ฟอร์มเมอร์ภาคนี้กำลังทำอยู่ก็คือการ "ยัดฉาก" วินาศสันตะโรต่างๆเข้ามาเพียงเพื่อจะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมอย่างเดียว จนหลงลืมไปว่าในพาร์ทดราม่านั้น บทภาพยนตร์ที่มีน้ำหนักและการแสดงของมนุษย์ก็มีความสลักสำคัญไม่แพ้กัน
เหตุการณ์ในภาคที่ 4 โฟกัสไปที่ครอบครัวของ เค้ด เยเกอร์(มาร์ค วอลเบิร์ก) นักประดิษฐ์และเจ้าของอู่ซ่อมรถที่ประสบปัญหาด้านการเงินจนอาจจะทำให้ลูกสาวของตนอย่าง เทสซ่า(นิโคล่า เพลสซ์) อาจจะไม่มีปัญญาเรียนต่อ แต่แล้วเค้ดก็ไปพบกับรถบรรทุกเก่าคันใหญ่ที่ชำรุดเสียหาย เมื่อนำมาซ่อมแซมแล้วก็พบว่ารถคันนี้แท้ที่จริงคือทรานส์ฟอร์มเมอร์อย่างเจ้าออพติมัส ไพรม์ ด้วยความตื่นตกใจหลังจากที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายว่าหุ่นทรานส์ฟอร์มเมอร์นั้นเป็นภัยคุกคาม เมื่อพบเห็นให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทางการทันที เพราะหลังจากเหตุการณ์ในหนังภาคที่ 3 การต่อสู้ในเมืองชิคาโก้นั้นได้ทำให้มนุษย์ล้มตายและบ้านเมืองเสียหายอย่างมากนั่นเอง
เอาเข้าจริงๆแล้วไม่ว่าจะตัวละครหุ่น หรือคนก็ตาม สติปัญญาและระดับวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ) ของพวกเขาน่าจะค่อนข้างต่ำเตี้ย ดังเช่นการแสดงพฤติกรรมไร้สติของเค้ด อาทิ การโวยวายทำตัวเหมือนเด็กวัยรุ่น ทะเลาะกับแฟนของลูกสาวประหนึ่งว่าตัวเองกำลังจะต่อยกับเขาเพื่อปกป้องลูกตัวเอง!, ฉากที่ลูกสาวโดนล็อคดาวน์จับตัวไป แล้วเขาก็ระบายอารมณ์ด้วยการทุบกำปั้นลงถนน! แทนที่จะกระโดดขึ้นรถแล้วขับตามไป ขณะที่บรรดาหุ่นทรานส์ฟอร์มเมอร์ก็ทำตัวไร้สติไม่แพ้กัน อาทิ ฉากที่บัมเบิ้ล บีต้องแฝงตัวเข้าไปในสำนักงานที่มนุษย์ใช้สร้างหุ่นทรานส์ฟอร์มเมอร์ แต่มันกลับเลือกจะระบายอารมณ์ผ่านเจ้าหุ่นยนต์ที่มนุษย์อ้างว่า ลอกแบบมาจากตัวบัมเบิ้ลบี้ แต่พัฒนาให้มีประสิทธิภาพกว่า พอได้ยินเช่นนั้นแล้วบัมเบิ้ลบีเลยอาละวาดพังทุกอย่างในห้องโชว์รูมนั้นพังพินาศไปหมด หรือกระทั่งหุ่นยนต์ทรานส์ฟอร์มเมอร์ตัวอื่นทะเล่าะต่อยตีกันก่อนจะฉุกคิดได้ เป็นต้น
ขณะเดียวกันลักษณะของตัวละคร "ผู้หญิง" ในหนังเรื่องนี้เมื่อวิเคราะห์กันจริงๆแล้วจะพบว่าบทของเทสซ่า เยเกอร์ เปรียบเสมือนวัตถุแห่งการจ้องมองของเพศชายอย่างสมบูรณ์แบบ เธอมักจะนุ่งเสื้อผ้าที่เผยให้เห็นสัดส่วนโค้งเว้าอย่างชัดเจน ถึงแม้จะกางเกงยีนส์ขายาวก็ตาม แต่เป็นกางเกงเข้ารูป ซึ่งสนองความต้องการทางสายตาให้กับเพศผู้ได้มาก และยิ่งไปกว่านั้นตัวละครตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มตัวละครที่ "ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้" หรือเรียกว่า Helpless Character ซึ่งจะต้องรอคอยผู้ชายมาช่วยเหลือ ปลดปล่อยให้เธอรอดพ้นจากการจองจำอยู่หลายครั้ง ซึ่งจะว่าไปแล้วตลอด 1 ชั่วโมงแรกของเรื่องตัวละครเทสซ่าถือได้ว่าชวนหงุดหงิดน่ารำคาญพอสมควร
ว่ากันตามตรงส่วนตัวแล้วในช่วงเวลาที่หนังพยายามปูพื้นเรื่องด้วยดราม่าครอบครัวตลอด 1 ชั่วโมงแรกนั้น ถือได้ว่าเป็นความน่าเบื่อซ้ำซาก ประกอบกับการแสดงที่ค่อนข้างแข็งทื่อพอๆกับซีจีของหุ่นทรานส์ฟอร์มเมอร์จึงทำให้เราไม่เชื่อหรืออยากจะเอาใจช่วยตัวละครมนุษย์ในภาคนี้สักเท่าไหร่จริงๆ แต่หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ที่เทสซ่าถูกจับขึ้นยานของล็อคดาวน์แล้วเค้ดกับ เชน(แจ็ค เรย์นอร์) ตามขึ้นไปช่วยเธอบนยาน หนังก็เริ่มพาผู้ชมไปเห็นสิ่งอันน่าตื่นตาตื่นใจและน่าจะเป็นสิ่งที่ช่วย "ขยาย" จักรวาลของทรานส์ฟอร์มเมอร์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เมื่อเราได้พบเห็นสิ่งมีชีวิตจากต่างดาว, ความลับของหุ่นทรานส์ฟอร์มเมอร์บางอย่าง ฯลฯ
และสิ่งที่น่าเสียดายกว่าก็คือการเปิดตัวหุ่นยนต์กลุ่มใหม่อย่างพวกไดโนบอทส์ ซึ่งใช้ประโยชน์จากพวกมันไม่ค่อยคุ้มค่า ปรากฏตัวอยู่ในจอค่อนข้างน้อยและดู "ไร้ความสำคัญ" กับเรื่องราวจนแทบจะกล่าวได้ว่าถ้าจะใส่เข้ามาเพื่อเป็นให้แค่พาหนะให้ออพติมัสขี่ไปรบ ก็ดูทุเรศทุรังไม่สมศักดิ์ศรีตามประวัติความเป็นมาของเจ้าหุ่นพวกนี้เลยจริงๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ทำความรู้จัก ไดโนบอทส์จาก TRANSFORMERS 4)
อย่างไรก็ตามผู้กำกับอย่างไมเคิล เบย์ก็นับได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับหนังแอ็คชั่นที่มีลายเซ็นในการทำหนังที่ชัดเจนมาก นั่นคือฉากแอ็คชั่นจะวินาศสันตะโร ฉิบหาย ย่อยยับเพียงใดก็ตาม แต่ฉากเหล่านี้ก็ดูสนุกเป็นบ้า แต่เมื่อเข้าฉากดราม่าเคร่งเครียดเมื่อไหร่ ตัวหนังจะดูง่อยเปลี้ยขาดความน่าเชื่อถือไปในทันที และที่สำคัญคือหนังของไมเคิลนั้นมักจะมีความยาวยืดยาดซึ่งถ้าย้อนไปดูผลงานเก่าๆของเขาอาทิ Pearl Harbor (2001), Bad Boys II (2003), The Island (2005), Pain & Gain (2013) ไม่มีเรื่องไหนเลยที่ความยาวต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งชี้ให้เห็นได้ว่าเขาเป็นคนที่ไม่ยอม “ตัดหนัง” ส่วนที่ไมสำคัญทิ้งไปสักเท่าไหร่
และถึงแม้ว่าจะมีคน “ไม่ปลื้ม” หนังภาคนี้แบบผมสักกี่คน แต่แน่นอนว่าตัวหนังก็ยังคงเดินหน้าทำเงินดูดเงินจากกระเป๋าผู้ชมเช่นนี้ต่อไป เพราะถึงจะมีคนไม่ชอบและรู้สึกว่าหนังแย่แค่ไหน ทางสตูดิโอก็ยังมองว่าหนังยังสามารถทำกำไรได้ต่อไปเพราะท้ายที่สุดแล้วถึงหนังเรื่องนี้จะได้เข้าชิงรางวัลราซซี่ อวอร์ดในสาขาภาคต่อยอดแย่ก็ตาม แต่ภาคที่ 5 ของแฟรนชายส์ชุดนี้ก็ถูกวางเอาไว้ในปี 2016 แล้วเรียบร้อย
สู้เค้าออพติมัส ไพร์ม (เบือนหน้าหนีและเบะปาก 1 ที)
ให้ 2 คะแนนจาก 5 คะแนน
@พริตตี้ปลาสลิด