วิจารณ์หนัง STEP UP 5 ALL IN
วิจารณ์หนัง STEP UP 5 ALL IN
เราค่อนข้างมั่นใจว่าผู้ชมกว่า 90% ที่เป็นแฟนหนัง Step Up คงไม่ได้คาดหวังพล็อตเรื่องที่แปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะเราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าหนังแนวเต้นนั้นสามารถเล่าเรื่องได้ไม่กี่อย่างและส่วนมากสูตรบังคับที่ต้องทำให้หนังคืบเรื่องต่อไปข้างหน้าได้ก็มาจากปมขัดแย้งของตัวละครเอกของเรื่องซึ่งมักจะมีเงื่อนไขอยู่ไม่กี่อย่างอาทิ 1.เอาชนะตัวเอง 2.ฝ่าฟันอุปสรรคที่รออยู่ 3.พิสูจน์ความสามารถของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์กับผู้คน และด้วยสูตรบังคับเหล่านี้ก็ถูกใช้มานับครั้งไม่ถ้วนในหนังตระกูลเต้น
หนังอย่าง STEP UP ใช้จุดเด่นของความ “ร่วมสมัย” ทุกอย่างมาเข้ามาหลอมรวมปรับใช้ในภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์แฟชั่นการแต่งตัวของคนยุคปัจจุบัน เพลงฮิตติดหู และสไตล์การเต้นที่กำลังได้รับความนิยม วิวัฒนาการของหนังชุดนี้เริ่มต้นขึ้นจากหนังโรแมนติก (STEP UP ภาคแรก) และเริ่มขยับตัวเองมาเป็นหนังแดนซ์เต็มรูปแบบในภาคที่ 2 (มีการโชว์ฉากเต้นสุดหวือหวา) และก้าวเข้าสู่การต่อสู้ (BATTLE) ระหว่างทีมเต้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในภาคที่ 3 ก่อนที่ฉีกแนวใช้ Flash Mob เพื่อเป็นวัตถุประสงค์ในการเล่าเรื่องของภาคที่ 4
ความโดดเด่นของหนังแต่ละภาคล้วนแล้วแต่สร้างคาแรกเตอร์ให้กับหนังแฟรนชายส์ชุดนี้เหมือนเป็นการสั่งสมบารมีให้มันกลายเป็นแฟรนชายส์หนังเต้นแห่งยุคสมัย ที่วัยรุ่นและนักเต้นส่วนมากหลงรักหนัง STEP UP แต่สิ่งที่ค่อนข้างน่าเสียดายก็เกิดขึ้นกับหนังในภาคที่ 5 STEP UP ALL IN ที่นอกจากจะไม่สามารถหาจุดเด่นที่สุดให้กับหนังภาคนี้ได้แล้ว องค์ประกอบหลายอย่างที่ควรจะสร้างให้หนังตื่นตาตื่นใจแบบที่ควรจะเป็นก็มลายหายไปกับสายลม
เหตุผลแรกที่ทำให้ STEP UP 5 กลายเป็นหนังที่ดูเลอะเทอะกว่าที่ควรจะเป็นคือหนังใช้การตัดต่อภาพที่ค่อนข้างไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร ถ้าเราสังเกตให้ดีว่ากระบวนการเล่าเรื่องของพระเอกฌอน (ไรอัน กุซแมน) นั้น ผู้กำกับไม่สามารถงัดเอาเสน่ห์ของเขาออกมาใช้ได้เลย มิหนำซ้ำตัวละครนี้ยังถูกทำร้ายด้วยการวางคาแรกเตอร์ให้เขาเป็นพวกหัวดื้อที่เหมือนเด็กไม่รู้จักโต ฌอนไล่ตามความฝันจนไม่สนใจคนอื่น ลงไม่เป็นและคิดว่าอนาคตที่สดใสยังรอเขาอยู่เสมอ (ทั้งที่ไม่จะกินก็ตาม), เอาแต่ใจตัวเอง (พยายามบังคับให้นางเอกเต้นท่ายากๆทั้งที่ไม่เคยซ้อมกันมาก่อน) จึงทำให้เขาดูน่าหมั่นไส้มากกว่าจะน่าหลงรัก
เหตุผลประการที่สองคือจุดเปลี่ยนในแต่ละช่วงของเรื่องดูเร่งรีบจนแห้งแล้งความตื่นเต้น (รวมไปถึงความสมเหตุสมผล) จริงอยู่ว่าหนังอาจจะมีความเว่อร์หรือเหลือเชื่อได้สำหรับผู้ชม แต่ในขณะเดียวกันหนังเรื่องนั้นก็สมควรจะมีตรรกะในจักรวาลของตัวมันเองด้วยเช่นกัน ฉากเต้นที่ดูเร่งรีบและดูไร้สติพอสมควรก็คือฉากที่ฌอนและมูสเดินทางไปตามหาแอนดี้(บริอันก้า เอวิแกน) ให้มาเข้าร่วมทีมกับเขา ลงเอยด้วยการท้าดวลเต้นในสถานที่ถ่ายแฟชั่น จนทำให้ข้าวของ พร็อพประกอบฉากพังพินาศจนทีมงานต้องเดินมาต่อว่า และแอนดี้ก็เชิดใส่แบบสวยๆว่า “ฉันลาออก” จริงอยู่มันอาจจะเป็นสิ่งที่พาฝันสำหรับคนที่อยากทำอะไรตามใจตัวเอง แต่สิ่งที่ตัวละครนี้ทำก็ดูไม่ต่างอะไรจากพฤติกรรมของเด็กอายุ 15 เลยแม้แต่น้อย
เมื่อเรายิ่งซึบซับความไม่รู้จักโตของตัวละครพวกนี้มากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งรู้สึกว่าพฤติกรรมของพวกเขายิ่งดูไม่อยากจะเอาใจช่วยหรือหลงรักพวกเขาในแบบที่เคยเป็นมาในภาคก่อนๆ พวกเขาดูก้าวร้าว เอาแต่ใจตัวเองเป็นที่ตั้งจน “ขาดเสน่ห์” ไปหมด
อันที่จริงแล้วตัวละครอย่าง มูส (อดัม จี เซวานี่) มาในภาคนี้เขากลายเป็นตัวละครที่มี “พัฒนาการ” มากที่สุดเมื่อเขาประกอบอาชีพอย่างวิศวกรเป็นเรื่องเป็นราว มี คามีเลีย(อลิสัน สโตนเนอร์) เป็นแฟนสาว เขาเติบโตขึ้นพร้อมๆกับความคิดที่ว่าสุดท้ายแล้วอาชีพนักเต้นนั้นก็ไม่สามารถใช้มันเพื่อหาเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง เขาจึงลังเลอยู่ไม่น้อยไม่ฌอนชักชวนให้เขาร่วมทีมเพื่อไปลงแข่งรายการเรียลลิตี้ วอลแทกซ์ซึ่งมีเงินรางวัลล่อใจในการทำโชว์ขนาดยาวในลาสเวกัส ที่นักเต้นจะได้มีโชว์เป็นของตัวเอง
เหตุผลประการที่สามการตัดต่อฉากเต้นของหนังภาคนี้อยู่ในระดับวิกฤต เมื่อความต่อเนื่อง (Continues) แทบจะเป็นปัญหาสำคัญกับฉากเต้น “โชว์ของ” ต่างๆอาทิ ฉากในห้องแล็บของมูสที่กลายเป็นว่าแทนที่ผู้ชมจะได้ดูฉากเต้นเจ๋งๆ ของบรรดาเหล่านักเต้นจากหนังทั้ง 4 ภาค กลายเป็นแค่ฉากตัวละครมาเต้นกะยึกกะยักจนเราเกิดความสงสัยว่าคลิปออดิชั่นนี้ “เบนซ์ พรชิต ให้ผ่านได้อย่างไรคะ” ไม่เพียงเท่านั้นฉากแดนซ์แบทเทิ้ลครั้งแรกในรายการวอลเท็กซ์ก็ดูเร่งรีบจนเกินไป เหมือนหนังจะรีบๆคัดทีมที่เรารู้ว่ายังไงก็ต้องตกรอบทิ้งๆไปจะได้ไม่เปลืองไฟค่าถ่ายภาพ จนเราไม่ได้ดูทีมเต้นอื่นๆโชว์ศักยภาพในการเต้นสักเท่าไหร่ (เพราะตัดฉึบๆฉับๆ) โผล่มาอีกทีทีมพระเอก(แอลลาเมนทริกซ์) ทีมคู่แข่ง(กริม ไนท์) ทีมเก่าพระเอก(เดอะม็อบ) และทีมหญิงล้วนก็เข้ารอบไปซะดื้อๆ และฉากที่ประสบปัญหานี้อย่างหนักหน่วงก็คือฉากไคลแมกซ์ที่ทีมพระเอกต้องวาดลวดลายในตอนท้าย ซึ่งเห็นได้ชัดเป็นอย่างยิ่งยวดถึงความต่อเนื่องและความสมเหตุสมผลของฉากดังกล่าว
ฉากเต้นสุดอลังการของเรื่องนั้น จริงอยู่ที่มันอาจจะน่าสนใจมากตื่นตาตื่นใจมากในแง่ของความเป็น "โชว์” แต่อย่าลืมว่าหนังเรื่องนี้สร้างตรรกะมารองรับตัวเองว่า “นี่เป็นรายการแข่งขันเต้น” คำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวของเราก็คือ ตัวละครไปบล้อกกิ้งเวที (Blocking) เวทีกันตอนไหนเพราะใช้พร็อพประกอบฉากเยอะมากขนาดนี้ ไม่มีทางที่พวกเขาจะเต้นได้หากไม่มีการมาร์คจุดกันมาก่อน มิหนำซ้ำหนังยังมีการใช้ “ทราย” ที่ตัวละครโผล่ขึ้นมาจากหลุมแท่นกลางเวที คำถามจึงงอกเพิ่มออกมาอีกว่าพวกเขาไปมุดอยู่ในนี้ตั้งแต่ตอนไหน และต่อจากฉากนี้เพียงวินาทีเดียวก็เป็นฉากโชว์คบเพลิง ซึ่งไม่มีทรายกระจายอยู่บนพื้นฟลอร์แม้แต่นิดเดียว (ทรายเป็นสสารระเหิดได้งั้นสินะ ?) เหล่านี้จึงกลายเป็นเหตุผลคร่าวๆที่หนังขาดความสมจริงสมจังในแง่ของความต่อเนื่องของฉาก
จะว่าไปแล้วก็ใช่ว่าหนังเรื่องนี้จะไร้จุดดี อันที่จริงหนังเปิดหัวเรื่องมาได้น่าสนใจมากกับฉากออดิชั่นเพื่อไปที่ทีมตัวเองจะได้เข้าไปเต้นให้กับงานโฆษณา ด้วยการใส่ประโยคที่ว่า “อาชีพแดนเซอร์นั้นเป็นอาชีพที่ใช้ทักษะในการทำโชว์สูง แต่เมื่อเทียบกับค่าตอบแทนอันต้อยต่ำแล้ว อะไรคือความยุติธรรมสำหรับพวกเขา” นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้แล้วก็ได้
2 คะแนนจาก 5 คะแนน
@พริตตี้ปลาสลิด