วิจารณ์หนัง The Fault in our Stars
วิจารณ์ The Fault in our Stars
The Fault in our Stars อาจจะเป็นแค่หนังรักวัยรุ่นที่มีพล็อตบีบน้ำตาสุดแสนธรรมดาสามัญเนื่องจากหนังมีองค์ประกอบอันประกอบไปด้วยตัวละครที่ป่วยไข้จวนเจียนจะตายเพราะป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว TFIOS ซึ่งดัดแปลงมาจากนวนิยายต้นฉบับของผู้เขียน “จอห์น กรีน” นั้นมีอะไรกว่าแค่ความรักน้ำเน่าของหนุ่มสาว
จริงอยู่ที่ว่าพล็อตเรื่องมันไม่ได้มีอะไรหวือหวาหรือเหนือความคาดเดา ทว่าการผสมผสานอารมณ์ซึ่งใส่ความละเมียดละไมของผู้เขียน ในการเร้าอารมณ์ผู้อ่านให้เริ่มหลงรักและทำความเข้าใจไปกับตัวละครจนพวกเขาเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของคนอ่าน และพร้อมจะบีบต่อมน้ำตาให้คุณน้ำตาไหลพรากยามที่พวกเขาจะเผชิญกับมรสุมชีวิต ผู้กำกับอย่าง จอช บูนนั้น เลือกจะหยิบงานต้นฉบับมาถ่ายทอดอย่างซื่อตรง และพึ่งพาทักษะทางการแสดงของเหล่าซุปตาร์ดาวรุ่นหน้าใหม่อย่างไชลีน วู๊ดลีย์และแอนเซล เอลกอร์ทแทน
เรื่องราวใน TFIOS บอกเล่าเรื่องราวของเด็กสาววัยรุ่นอย่าง ฮาเซล แลนคาสเตอร์ (ไชลีน วู๊ดลีย์) เธอป่วยเป็นโรคมะเร็งเฉียบพลันตั้งแต่เด็กและเธอหวุดหวิดเกือบเสียชีวิตไปแล้วครั้งหนึ่งตอนอายุ 13 ปี จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเธอกลับรอดตายมาอย่างปาฏิหาริย์และมีชีวิตอยู่มาถึงอายุ 16 ปี ฮาเซลมีแม่ที่ชื่อแฟรนนี่(ลอร่า เดิร์น์) ซึ่งดูแลเธออย่างเยี่ยมยอด และมีพ่อผู้แสนอ่อนไหวอย่างไมเคิล(แซม แทรมเมลล์)
หลังจากที่ฮาเซลรอดชีวิตมา เธอยังใช้ชีวิตแบบชาญฉลาด เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน แต่ด้วยความป่วยไข้ที่เธอเป็นโรคมะเร็งนั้นทำให้เธอไม่สามารถออกไปมีเพื่อนในสังคมใหม่ๆ ชีวิตเธอมักจะวนเวียนอยู่แค่กลุ่มช่วยเหลือและให้คำปรึกษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ประกอบกับอุปกรณ์ช่วยหายใจที่ถูกเสียบคาจมูกของเธอไว้ตลอดเวลาทำให้เธอไม่สะดวกที่จะทำอะไรโลดโผนมาก เพราะมันมีหน้าที่ช่วยให้ปอดของเธอทำงานอย่างปกติ
วันหนึ่งระหว่างที่ฮาเซลกำลังนั่งเซ็งซังกะตายกับการบำบัดในศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อนผู้ป่วยโรคมะเร็งอยู่นั้น เธอก็ได้พบกับ กัส วอเตอร์ส(แอนเซล เอลกอร์ท) หนุ่มหล่อวัย 18 ปีที่เขาสูญเสียขาไปเพราะโรคมะเร็งซึ่งกำลังพักฟื้นร่างกายจนถึงทุกวันนี้ ความฝันอันสูงสุดของกัสก็คือการทำให้ตัวเองเป็นคยที่พิเศษและหวังว่าจะออกไปทำอะไรใหม่ๆในโลกกว่าง เมื่อฮาเซลและกัสได้ทำความรู้จักกัน ทั้งสองกลับถูกเชื่อมโยงด้วยหนังสือที่เฮเซลชอบอ่านอย่าง An Imperial Affliction ซึ่งเล่าเรื่องราวของผู้ป่วยโรคมะเร็ง เขียนโดย ปีเตอร์ ฟาน ฮูเต็น(วิลเลียม เดโฟ)
เมื่อฮาเซลได้เขียนอีเมล์โต้ตอบไปหาปีเตอร์ และกัสก็ช่วยสานฝันให้เธอด้วยการเขียนอีเมล์แจ้งความจำนงค์ไปว่าฮาเซลนั้นอยากจะไปพบตัวจริงของปีเตอร์เพื่อพูดคุย และฮาเซลก็ได้รับจดหมายตอบกลับมาเพื่อเชื้อเชิญให้เธอเดินทางไปยังอัมสเตอร์ดัม ทริปท่องเที่ยวที่ทำให้ฮาเซลได้เดินทางไปพบกับนักเขียนในดวงใจพร้อมกับหลายเรื่องเซอร์ไพรส์ที่ชีวิตเธอก็คาดไม่ถึงมาก่อน
TFIOS ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์นั้นสามารถทำให้ตัวละครสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของคนดูได้เพราะนักแสดงมีเสน่ห์มากและเคมีระหว่างฮาเซลและกัสก็ลงตัวกันตั้งแต่ฉากแรกพบ ประกอบกับทักษะทางการแสดงที่เข้าถึงของตัวละคร ฮาเซลเป็นเด็กสาวที่เข้าใจในชีวิต เธอไม่ได้เป็นเด็กสาววัยรุ่นที่มัวแต่เศร้าโศกกับเรื่องความตายที่อาจจะถามหาเธอได้ทุกครู่ทุกยาม แต่เธอพยายามจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างคุ้มค่าและมีความสุขที่สุดตามสภาพ
แก่นสารของ TFIOS นั้นหยิบเรื่อง “ความตาย” เอามาเป็นแกนหลักของหนังได้อย่างคมคาย ลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นฉากงานศพของตัวละคร ที่นางเอกได้พูดว่า “งานศพนั้นไม่ได้จัดขึ้นเพื่อคนที่จากเราไปแล้ว หากแต่จัดขึ้นเพื่อคนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปต่างหาก” ซึ่งมันสะท้อนให้เราเห็นว่าการคร่ำครวญกับความสูญเสียนั้นไม่ควรจะเอามาเป็นอุปสรรคให้กับชีวิต ความตายล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นวนเวียนอยู่รอบๆตัวเรา ความตายของคนรอบข้างนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับตัวเราเช่นกันไม่วันใดก็วันหนึ่ง
สภาพการระลึกรู้ถึงความตายของฮาเซลนั้น สะท้อนให้ผู้ชม “ใช้ชีวิตที่มีอยู่ในทุกวัน” ให้คุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ สิ่งที่ทำเราน้ำตาริน (และไม่ใช่แค่ฉากเดียวของหนังเรื่องนี้) ก็คือฉากที่นางเอกของเรื่องพยายามจะเดินขึ้นไปดูบ้านของแอน แฟรงค์ซึ่งไม่มีลิฟต์ มีแต่บันไดชันๆ ซึ่งการไต่ขึ้นที่สูงมากๆทำให้เธอเหนื่อยจับ แต่เธอก็ยังคงยืนกรานที่จะเดินขึ้นไปพร้อมกับหอบถังออกซิเจนไปพร้อมๆกับเธอ มันเป็นฉากที่เราเอาใจช่วยและรู้สึกถึงชัยชนะเล็กๆของมนุษย์ที่ “เอาชนะ” หัวใจของตัวเองได้อย่างงดงาม
อีกฉากหนึ่งที่สะเทือนอารมณ์ไม่แพ้กันก็คือฉากปะทะอารมณ์ระหว่างแม่ลูก เมื่อฮาเซลบอกแม่ของเธอว่าสิ่งที่ทำให้เธอโกรธก็คือภาพฝังใจที่เธอได้ยินแม่ของเธอพูดว่า หลังจากที่เธอตายไป(ตอนอายุ 13) เธอกลัวว่าจะไม่ได้เป็นแม่ลูกกับฮาเซลอีก คำพูดเบาๆอันนั้นทำให้เธอฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้ และเราเชื่อว่าคนที่เป็นคน “รักแม่” มากๆ จะบ่อน้ำตาแตกไปกับการแสดงของลอร่า เดิร์นในบทคุณแม่ที่ดูแลลูกอย่างชิดใกล้อย่างแน่นอน
TFIOS คือความงดงามในการเล่าเรื่องของ “ความตาย” ให้เราเข้าใจและเข้าถึงไปกับมัน เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าใครจะเดินทาง “จาก” เราไปก่อนกันสิ่งที่เกาะกุมหัวใจเรานั้นก็คือเรื่องดีๆที่มนุษย์มีให้กันและกันตราบวันสิ้นลมให้ใจ และจะอยู่ในความทรงจำของคนคนหนึ่งตลอดไป
ให้ 5 คะแนนจาก 5 คะแนน
@พริตตี้ปลาสลิด