วิจารณ์หนัง ฝากไว้ในกายเธอ
วิจารณ์ ฝากไว้ในกายเธอ
ส่วนตัวแล้วกลับมองว่าหนังอย่างฝากไว้ในกายเธอนั้น มีวัตถุดิบอย่างนักแสดงนำที่เป็นกระแสที่พอจะเป็นตัวชูโรงเรียกแขกให้มาตีตั๋วดูหนังได้ประมาณหนึ่ง เนื่องด้วยกระแส “ฮอร์โมน เดอะซีรีย์” ที่กำลังฟีเวอร์อยู่หมู่วัยรุ่นนั้นยิ่งทำให้กระแสของ “ฝากไว้ในกายเธอ” มีความน่าสนใจอย่างเพิ่มเท่าตัว แต่อย่างไรก็ตามด้วยพล็อตหลักของตัวหนังที่เล่าถึงความสัมพันธ์เชิงชิงรักหักสวาทและเกี่ยวพันกับความตายนั้นกลับถูกเล่าออกมาด้วยท่าทีแบบเดิมๆ ซึ่งคนที่ดูหนังมาเยอะประมาณหนึ่ง คงจะพบว่าในหนังไม่มีอะไรที่อยู่เหนือความคาดหมาย มิหนำซ้ำหลายองค์ประกอบในเรื่องก็ค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์น่าผิดหวัง (สิ่งที่น่ารำคาญที่สุดในเรื่องก็คือการใช้เสียงตุ้งแช่ที่เกินความจำเป็น)
ถ้าหากจะให้ลองเปรียบเทียบกับผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ จิม โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ อย่าง ลัดดาแลนด์ และ โปรแกรมหน้าวิญญาณอาฆาต แล้ว ฝากไว้ในกายเธอ คุณภาพของหนังค่อนข้างมีความใกล้เคียงกับเรื่องหลังซะมากกว่า นั้นคือค่อนข้างโฉ่งฉ่าง ตีหัวเข้าบ้านและไม่มีอะไรในกอไผ่
เมื่อลองวิเคราะห์ให้ดีแล้วหนังอย่างลัดดาแลนด์ที่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์นั้นปัจจัยสำคัญที่แท้จริงของมันที่ทำให้หนังมีอะไรที่ติดค้างในความทรงจำนั้น สืบเนื่องมาจากองค์ประกอบหลายๆอย่างในเรื่องได้เกื้อหนุนกัน ไม่ว่าจะเป็นบทภาพยนตร์ที่เป็นมากกว่าหนังผี แต่ผีในเรื่องยังสะท้อนถึงความไม่มั่นคงของชนชั้นกลางได้อย่างล้ำลึก ในขณะที่นักแสดงนำของเรื่องก็ยังใช้ทักษะทางการแสดงที่ขับเน้นความเป็น “ดราม่า” ของหนังออกมาได้สะเทือนใจ และความลงตัวของงานโปรดักชั่นที่ทำให้บรรยากาศหลอกหลอนในเรื่องทรงพลัง น่าหวาดผวาอยู่ตลอดเวลา และแน่นอนว่างานการกำกับของจิม ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ช่วยให้ลัดดาแลนด์ เป็นมากกว่าหนังผีดาษดื่นทั่วไปในท้องตลาด
ทว่า ฝากไว้ในกายเธอ เมื่อลองบริบทขององค์ประกอบแล้ว บทหนังค่อนข้างจะเล่าเรื่องราวแบบรวบรัดตัดตอน และนำเสนอเรื่องราว “ความตายของ ไอซ์” (เก้า สุภัสสรา ธนชาต) ในตอนที่เธอเป็นผี ได้ค่อนข้างธรรมดา ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วหนังเรื่องนี้มาพร้อมวัตถุดิบชั้นดีหลายอย่างที่จะทำให้ตัวหนังก้าวไปไกลกว่าการเป็นแค่หนังผีที่ผีตามทวงความยุติธรรมคืนมา แต่มันสามารถเป็นหนังทริลเลอร์ที่ผู้ชมอยากจะเอาใจช่วยผู้ร้ายของเรื่องอย่าง เพิร์ท (มาร์ช จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล) ให้อำพรางความผิดของเขาให้มิดชิดจนกระทั่งหนังจบ
แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ ทั้งบทภาพยนตร์และวิธีการนำเสนอตัวละครออกมากลับไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึก “แคร์” หรืออยากจะทำให้เราเอาใจช่วยเพิร์ทให้เอาตัวรอดสักเท่าไหร่ ผู้ชมก็ได้แต่นั่งสังเกตการณ์ว่าเพิร์ทจะหาทางออกให้กับตัวเองอย่างไร ในสถานการณ์บีบบังคับเหล่านั้น ซึ่งการแสดงของมาร์ชเองก็ไม่ได้แม่นยำเพียงพอ และเห็นได้ชัดว่าตัวละครนี้ควรจะเก็บงำ “พิรุธ” ให้เนียนกว่านี้ เพราะแค่ฉากแรกที่ แทน (ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร) แฟนหนุ่มของไอซ์พยายามจะ “ลองใจ” เพิร์ท ความจริงทุกอย่างก็เกือบจะแดงออกมาเพราะความเลิกลั่กของเพิร์ทเอง ซึ่งไม่แน่ใจว่านี่เป็นความบกพร่องของบทหรือการกำกับนักแสดงกันแน่
สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายมากเข้าไปใหญ่ก็คือ ในเมื่อตัวหนังทำให้พระเอกของเรื่องอย่างเพิร์ทเป็นตัวละครที่กระทำความผิดบางอย่างไว้ การปรากฏตัวของ “ผี” อย่างไอซ์จึงเป็นเสมือน “ความผิด” ที่ตามหลอกหลอนเพิร์ทโดยที่หนังสามารถหยิบประเด็นทางจิตวิทยาเอามาเล่นกับสภาวะจิตใจที่สั่นคลอนของตัวละครนี้ก็ได้ แต่สุดท้ายหนังก็เลือกจะให้ “ผีไอซ์” นั้นมีตัวตนอยู่จริงและแสดงอิทธิการหลอกหลอนผ่านฉากขย่มเตียง ผีหน้าเละที่ขอบแท่นกระโดดน้ำ ฯลฯ
ในส่วนเรื่องของความสมจริงสมจังในแง่ของกระบวนการทางการแพทย์ที่ใส่เข้ามาในเรื่องที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นั้น ในแง่ของความบกพร่องดังกล่าวก็ไม่ได้ทำลายตรรกะของตัวหนังเท่าไหร่นัก (แต่สำหรับคนที่มีความรู้ด้านนี้มาพอสมควรอาจจะรู้สึกว่ามันคือช่องโหว่ประการใหญ่) ซึ่งเอาเข้าจริงๆแล้วเหตุเภทภัยประหลาดที่เกิดขึ้นกับตัวเพิร์ทหนัง ผู้สร้างเองก็คงตั้งใจจะให้หนังมอบบทเรียนสั่งสอนความผิดพลาดของตัวละครด้วยการลงโทษให้เพิร์ทได้รับกรรมจากสิ่งที่เขาทำเอาไว้
จะว่ากันไปแล้วในส่วนของฉากจบของเรื่องที่ตัวเอกของเรื่องไม่ได้รับผลกรรมที่เขาได้กระทำไว้อย่างเป็นรูปธรรมก็ตาม (ไม่มีใครจับได้ว่าเขากระทำความผิด) แต่สิ่งที่ทรงพลังกว่าก็คือการที่ตัวละครนี้ต้อง “รู้สึกผิด” ไปกับการกระทำของตัวเองอยู่คนเดียว ประหนึ่งการตามหลอกหลอนไปชั่วชีวิตของผีไอซ์ ซึ่งไม่ว่าเพิร์ทจะมีชีวิตดีหรือร้ายเช่นไรก็ตามสิ่งที่เขาได้เคย “กระทำเอาไว้” มันก็จะติดตัวเขาไปตลอดกาล
เฉกเช่นชื่อเรื่องของหนังที่ว่า “ฝากไว้ในกายเธอ”
ยกให้ 2 คะแนนจาก 5 คะแนน
@พริตตี้ปลาสลิด