วิจารณ์หนัง The Maze Runner

วิจารณ์หนัง The Maze Runner

วิจารณ์หนัง The Maze Runner
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิจารณ์ The Maze Runner 

 

สิ่งที่น่าประหลาดใจพอสมควรคือการที่ผู้กำกับหน้าใหม่มากอย่าง เวส บอล ได้รับความไว้วางใจจากสตูดิโอยักษ์ใหญ่อย่างฟอกซ์ ในการรับมอบหมายกำกับหนังฟอร์มค่อนข้างใหญ่ที่ใช้ทุนสร้างถึง 30 ล้านเหรียญเป็นครั้งแรก ทั้งที่ผลงานก่อนหน้านี้ เวส บอลทำแต่หนังสั้นและงานแอนิเมชั่นกราฟฟิคเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามผลงานหนังแอนิเมชั่น CGI เรื่อง Ruin ในปี 2011 กลายเป็นที่ประทับใจบนโลกออนไลน์อย่างมาก น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นประการสำคัญที่ทำให้สตูดิโอเห็นประกายไฟในการทำงาน

THE MAZE RUNNER เป็นนวนิยายขายดีของเจมส์ แดชเนอร์ขึ้นชาร์ตหนังสือขายดีบนนิวยอร์กไทม์ บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้เอาชีวิตรอดของเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่ถูกจับเอาเข้ามาอยู่รวมกันในเขาวงกตลึกลับ ตัวหนังเริ่มต้นขึ้นมาเมื่อโธมัส (ดีแลน โอ’เบรียน) ตื่นขึ้นบนลิฟต์ที่มีสภาพเหมือนกรงส่งของ เมื่อทุกอย่างหยุดนิ่งและประตูลิฟต์ถูกเปิดออก เขาก็พบว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางทุ่งกว้างที่โอบล้อมไปด้วยกำแพงคอนกรีตขนาดใหญ่ ทว่าในหัวของโธมัสปราศจากความทรงจำใดๆ เขาไม่รู้กระทั่งชื่อของตัวเอง พ่อแม่เป็นใคร อดีตของตัวเองเป็นอย่างไร และจำไม่ได้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน

โธมัสและคนอื่นๆในทุ่งหญ้าไม่เคยรู้เหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงต้องมาอยู่ที่นี่ พวกเขารู้แค่เพียงว่าทุกๆเช้าประตูขาวงกตจะถูกเปิดออกและปิดลงในทุกๆเย็น และในทุก 30 วันจะมีเด็กชายหน้าใหม่ปรากฏตัวขึ้นมาในลิฟต์ ด้วยความที่โธมัสเป็นคนที่ขี้สงสัยและดื้อรั้น เขาอยากรู้ว่าในวงกตนั้นมีอะไร จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อมินโฮ(ไค ฮอง ลี) ผู้พยายามจะช่วยเหลือเพื่อนของเขาที่บาดเจ็บจากการโดนพิษของสัตว์ร้ายอย่าง “กรีฟเวอร์” โจมตี ไม่สามารถออกจากประตูวงกตได้ทันเวลา โธมัสกระโจนเข้าไปในเขาวงกต และใช้เวลาในคืนนั้นกับมินโฮในการเอาชีวิตรอดจากทางอันแสนคดเคี้ยว

รุ่งเช้าวันถัดมาโธมัสและมินโฮสามารถออกจากวงกตได้อย่างปลอดภัยพร้อมทั้งช่วยชีวิตเพื่อนของเขาออกมาได้ด้วย แต่แล้วเหตุการณ์ประหลาดก็เกิดขึ้นเมื่อ เทเรซ่า(คาย่า สโคดลาริโอ) ผู้หญิงคนแรกที่มาพร้อมกับลิฟต์ขนของปรากฏตัวขึ้น โดยปราศจากเสบียงและอาหาร พวกเขาเริ่มตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น อันตรายหลายอย่างเริ่มเข้าจู่โจมชาวทุ่ง และหนทางเดียวที่พวกเขาจะมีชีวิตรอดต่อไปก็คือการค้นหาทางออกให้เจอ แม้จะมีบางคนไม่เห็นด้วยกับวิธีการของโธมัสก็ตาม

ตัวละครอย่างโธมัสนั้น จัดได้ว่าภูมิหลังของเขาเป็นคนที่ไม่ได้เป็นพระเอกอย่างเต็มตัว เนื่องจากตัวตนที่แท้จริงของเขาก็จัดได้ว่าเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการทดลองของกลุ่มคนที่พยายามจะศึกษาปรากฏการณ์บางอย่างของมนุษย์ แน่นอนว่าความระทึกในหนังเรื่อง The Maze Runner นั้นเกิดขึ้นเพราะผู้เขียนนิยายและผู้เขียนบทภาพยนตร์เล่นกับ “ความอยากรู้” ของผู้ชมว่า มันกำลังเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร ปริศนาที่คาดเดาอะไรไม่ได้ ล้วนแล้วแต่เป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้ผู้ชมอยากจะตามติดไปกับตัวละครเหล่านี้

อันที่จริงนอกจากปริศนาที่ถูกทิ้งไว้ในเรื่องแล้ว “ชาวทุ่ง” เองก็มีการเมืองอยู่ในการบริหารจัดการชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ปกติสุข ดังเช่นที่พวกเขาจะแบ่งหน้าที่ของตัวเองว่าใครเหมาะกับหน้าที่อะไร รันเนอร์, เกษตรกร, นักรบ, แพทย์ ตามความถนัด เพื่อที่ว่าแต่ละคนจะได้ใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันวิธีป้องกันตัวเองจากอันตรายในจุดวิกฤตที่สุดก็คือการขับไล่เพื่อนของตัวเองที่ “ป่วย” เกินจะเยียวยาแล้วให้เข้าไปอยู่ในเขาวงกตยามค่ำคืน (ซึ่งพวกเขารู้กันดีว่า ไม่เคยมีใครเอาชีวิตรอดได้จากเขาวงกตยามค่ำคืน) นั่นมีความหมายว่ามันคือการส่งเพื่อนตัวเองไปตายเลยก็ว่าได้

อันที่จริงตัวละครอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจมากอย่างแกลลี่(วิล โพลเตอร์) ตัวละครนี้จัดได้ว่าเป็นตัวละครที่สร้างจุดพลิกผันของเรื่องได้ตลอดเวลา ซึ่งบทบาทหน้าที่ของแกลลี่นั้น เขาคือคนที่ยึดถือกับกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด จนเรียกได้ว่าเป็นคนรักษากฎประจำทุ่งเลยก็ได้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย การที่โธมัสมาพร้อมแนวคิด “แหกคอก” แน่นอนว่าแกลลี่จึงไม่ชอบขี้หน้า และคิดว่าการใช้ชีวิตอยู่ในวงกตตามเดิมนั้นคือ “ทางรอด” ที่ดีที่สุด เมื่อทุกอย่างถึงจุดบานปลายจนเกินควบคุมแกลลี่ก็โบ้ยความผิดทุกอย่างให้กับโธมัส แต่สิ่งที่เขาถูกตอกกลับมาก็คือ “เพราะความคิดที่จะไม่เสี่ยงอะไรเลย ทำให้นายติดแหงกอยู่ในนี้ยังไงล่ะ” โธมัสกล่าว 

ไม่น่าแปลกใจที่สังคมของเราจะมีทั้งคนที่เลือกใช้ชีวิตแบบเพลย์เซฟ ไม่กล้าเสี่ยงอะไรกับสิ่งใหม่(หรืออันตราย) แต่การปรากฏตัวของคนที่ “แหกคอก” มักจะจุดประกายให้ชีวิตมีหนทางใหม่ๆเสมอ ทว่าการที่ตัวละครกลุ่มหนึ่งกำลังเดินทางไปยัง “ทางออก” ของเขาวงกตนั้น เขาจะแน่ใจได้อย่างไรว่านั่นคือ “ทางสว่าง” ของชีวิตอย่างแท้จริง ? 

ไม่มีใครตอบได้จนกว่าจะได้เดินไป...................

 

ให้ 4 คะแนนจาก 5 คะแนน 

@พริตตี้ปลาสลิด

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง The Maze Runner

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook