วิจารณ์หนัง The Purge: Anarchy
วิจารณ์ The Purge: Anarchy
ความสำเร็จอย่างงดงามบนตารางบ๊อกซ์ออฟฟิศของ วิจารณ์ The Purge ภาคแรกน่าจะตอบคำถามได้ว่ามนุษย์เรายังคงโหยหาการดูผู้อื่นฆ่าฟันและเอาชีวิตรอดกันอย่างบ้าคลั่ง
ตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์แล้ว คงไม่มีใครอยากจะตายก่อนวัยและเวลาอันควรเป็นแน่แท้ การที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา (เอ็นเอฟเอ) ได้ประกาศบังคับให้มีพิธีชำระล้างประจำปี 12 ชั่วโมงขึ้นเพื่อเป็นเครื่องรับประกันว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมในช่วงเวลาที่เหลือตลอดทั้งปีจะอยู่ในระดับต่ำกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์ การระงับความช่วยเหลือจากตำรวจและโรงพยาบาลทำให้มันเป็นค่ำคืนที่ชาวเมืองใช้กฎเกณฑ์ของตัวเอง โดยไม่ต้องคำนึงถึงบทลงโทษ หรือกลัวว่าจะถูกตัดสินความผิด หรือกล่าวได้ว่าเป็นการปลดปล่อยสัญชาติดิบของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่นั่นเอง
อันที่จริงเรื่องราวในภาคแรกนั้นก็จัดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวงจรอุบาทว์ในการเข่นฆ่ากันของประชาชน เพียงแต่เรื่องราวในภาคแรกนั้นเกิดขึ้นอยู่ภายในแค่บ้านหลังเดียวของชุมชนย่านชานเมืองเท่านั้น การนำเรื่องราวของพิธีชำระบาปเอามาขยายให้เราได้เห็นผู้คนทั้งเมืองใน The Purge Anarchy จึงกลายเป็นหนัง “หลายชีวิต” ในคืนอันบ้าคลั่งไปโดยปริยาย
แน่นอนว่าในคืนปลดปล่อยความบ้าคลั่งนั้น จะต้องมีคนที่อยากจะรักษาชีวิตตัวเองเอาไว้อย่างเงียบสงบ กับคนประเภทที่อยากจะปลดปล่อยความบ้าคลั่งในตัวเองออกมา ตัวหนังในภาคนี้ยังขยายบริบทของกลุ่มคนประเภทผู้ใช้แรงงาน ซึ่งถ่ายทอดออกมาผ่านตัวละครแม่ลูก อีวา (คาร์เมน อีโจโก)และคาลี (โซอี้ โซล) ซึ่งตัวละครอย่างอีวานั้นเป็นแค่สาวเสิร์ฟในร้านอาหารที่ดูจะไม่มั่นคงในเรื่องการเงิน ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังต้องพยายามเจียดรายได้เพื่อซื้อยาเอามารักษาโรคเรื้อรังให้กับพ่อของตัวเอง
ทว่าไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่พิธีชำระบาปจะเริ่มต้นขึ้น พ่อของอีวาก็หายตัวออกไปจากห้อง ทิ้งเอาไว้แต่จดหมายที่เขียนเอาไว้ว่า เขายอมขายชีวิตตัวเองให้กับบรรดาเศรษฐีที่อยากจะทำการล้างบาปในบ้านของพวกเขา ประกอบกับร่างกายอันทรุดโทรมการแลกชีวิตเพื่อเอาเงินไว้ให้กับสองแม่ลูกได้ใช้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว สองแม่ลูกทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าร้องไห้และปลอบใจตัวเองว่าพ่อของเขาได้จากไปแล้ว
ในขณะที่อีกด้านของเมือง เชน (แซ็ค กิลฟอร์ด)และลิซ (คีล ซานเชซ) สองหนุ่มสาวที่ดูกำลังจะประสบปัญหาในการใช้ชีวิตคู่ ทั้งสองทะเลาะกันอย่างดุเดือด ทว่าไม่กี่นาทีก่อนที่พิธีชำระบาปจะเริ่มต้นขึ้นรถของพวกเขาก็เกิดมีปัญหากลางสะพาน และการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นก็ดูไม่เป็นผล ทำให้ทั้งคู่ต้องวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนเพื่อหลบหนีการตามล่าของกลุ่มวัยรุ่นแกงค์ซิ่งมอเตอร์ไซด์
เหตุการณ์มาขมวดปมที่ลีโอ (แฟรงค์ กริงโล) นายตำรวจที่เตรียมพร้อมจะล้างแค้นให้กับลูกชายของเขา ที่โดนคนเมาแล้วขับ ขับรถชนและด้วยช่องว่างของกฎหมายทำให้ผู้ต้องหาลอยนวลไปได้ เขาจึงตั้งใจที่จะใช้ค่ำคืนดังกล่าวปลิดชีพคนที่ฆ่าลูกชายของเขา
ทว่าในคืนแห่งความบ้าคลั่งก็มีคนบุกเข้าไปจับตัวอีวาและคาลีออกมา ด้วยความสงสารลีโอจึงยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ประจวบเหมาะกับเชนและลิซก็ปรากฏตัวขึ้นมาพอดี ทั้งห้าชีวิตจึงต้องพยายามเอาชีวิตให้รอดพ้นคืนที่ทุกคนพร้อมจะจับอาวุธแล้วสาดกระสุนใส่กันทุกนาที
ช่วงเวลาบนท้องถนนนั้นเรียกได้ว่า เราก็ได้แต่เอาใจช่วยให้พวกเขารอดพ้นเงื้อมือจากคนที่หมายจะเอาชีวิตพวกเขา แต่แอบน่าเสียดายที่ตัวละครอย่างลีโอนั้น เป็นตัวเอกที่ดูจะคอยจัดการศัตรูในเรื่องอย่างทะมัดทะแมงในแทบทุกฉาก จนเราแทบจะไม่ต้องเอาใจช่วยตัวละครตัวอื่นๆเลย
ช่วงเวลาที่น่าจดจำอีกช่วงของหนังก็คือฉากที่ทั้งห้าคนถูกจับเข้าไปอยู่ในพิธีประมูลชีวิตเพื่อให้เหล่าเศรษฐีเล่นเกมล่าเหยื่อในหอประชุมที่จัดเอาไว้เหมือนสนามประลอง ฉากดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความป่วยไข้ของผู้คนที่ดูสนุกไปกับ “เทศกาล” ล้างบาป โดยการใช้เงินฟาดหัวของคนอื่นเพื่อสนองตัณหาของตัวเอง
เงินตราจึงกลายเป็นแก่นในการขับเคลื่อนวงจรอุบาทว์ที่เรียกว่าพิธีล้างบาปอย่างไม่อาจจะปฏิเสธ เพราะแน่นอว่าคนที่มีเงินทองมากกว่า ก็สามารถจัดหาระบบความปลอดภัยให้กับตัวเองได้ดีกว่าคนจน สามารถใช้เงินซื้อชีวิตใครมาสำเร็จความปรารถนาของตัวเองได้ตามต้องการ แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือการที่ภาครัฐเลือกจะส่งทีมพิฆาตออกมาเพื่อสังหารบรรดาคนจนทิ้งไปเพื่อ “ลดจำนวนประชากร” ในการใช้ทรัพยากร
ทั้งหมดทั้งมวลหนังอย่าง The Purge และ The Purge Anarchy ได้บอกกับคนดูโต้งๆเลยว่า “บุคคลที่แข็งแกร่งกว่าคือผู้ชนะ” (ไม่ว่าจะแข็งแกร่งกว่าเพราะเงิน หรือเพราะสติปัญญา หรือว่าการเอาตัวรอดก็ตามที)
@พริตตี้ปลาสลิด
ให้ 3 คะแนนจาก 5 คะแนน