วิจารณ์หนัง BIG HERO 6 : กำเนิดใหม่หุ่นยนต์ไอคอน

วิจารณ์หนัง BIG HERO 6 : กำเนิดใหม่หุ่นยนต์ไอคอน

วิจารณ์หนัง BIG HERO 6 : กำเนิดใหม่หุ่นยนต์ไอคอน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิจารณ์ BIG HERO 6 : กำเนิดใหม่หุ่นยนต์ไอคอน

 

 

ถึงแม้ว่ารากเหง้าดั้งเดิมของ Big Hero 6 จะเริ่มต้นมาจากหนังสือการ์ตูนของค่ายมาร์เวลที่เขียนขึ้นมาเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายเด็กๆ ก็ตาม แต่เมื่อการควบรวมบริษัท Marvel Entertainment เข้ามาอยู่กับดิสนีย์ในปี 2009 การต่อยอดในหลายโปรเจ็คจึงเริ่มต้นขึ้น 

 

ต้นกำเนิดของ Big Hero 6 นั้นมาจากสตีเว่น ที ซีเกิ้ล และ ดันแคน รอโล ซึ่งจัดได้ว่าตัวงานต้นฉบับเองก็มีความพิเศษแปลกกว่าคนอื่นตรงที่มีการผสมผสานนวัตกรรมของญี่ปุ่นเข้ามาในงานด้วย แต่จะว่าไปแล้วหากเทียบเคียงงานคอมมิกส์กับเวอร์ชั่นดิสนีย์แล้วก็แทบจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะตัวหนังสือการ์ตูนมีความโตเป็นผู้ใหญ่กว่า แถมเนื้อเรื่องก็บอกเล่าถึงกลุ่มรัฐบาลญี่ปุ่นที่จัดตั้งทีม Big Hero 6 ซึ่งมีหน่วยและสมาชิกในทีมที่มีพลังและความสามารถพิเศษแตกต่างกันออกไป

 

 

ในขณะที่ Big Hero 6 ของดิสนีย์นั้นบอกเล่าเรื่องราวของหนุ่มน้อยนักประดิษฐ์ ฮิโระ ฮามาดะ ที่กำลังเรียนรู้ถึงอัจฉริยภาพที่เขามี  เขาต้องขอบคุณทาดาชิ พี่ชายที่ปราบเปรื่องของเขา รวมถึงเพื่อนๆอย่าง โก โก ทามาโกะ จอมไฮเปอร์, วาซาบิ โนะ-จินเจอร์ เจ้าระเบียบ, ฮันนี่ เลม่อน แม่มดเคมี, และแฟนบอย เฟรด เมื่อหายนะกำลังคืบคลานเข้ามาและดึงพวกเขาเข้าไปสู่เรื่องราวสุดอันตรายที่เกิดขึ้นใน ซาน ฟรานโซเกียว ฮิโระ จึงต้องพึ่งหุ่นยนต์เพื่อนซี้ของเขาที่ชื่อ เบย์แมกซ์ และเปลี่ยนเพื่อนๆของเขาให้กลายเป็นกลุ่มของฮีโร่สุดไฮเทคเพื่อคลี่คลายเรื่องราวที่เกิดขึ้น

 

เชื่อว่าความสำเร็จอย่างถล่มทลายนั่นปัจจัยหนึ่งมาจากรูปลักษณ์ของเจ้าเบย์แมกซ์ที่น่ารัก น่ากอด พร้อมกับบุคลิกดูใสซื่อน่าเอ็นดู และความรู้สึกดังกล่าวก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อคุณได้ยลโฉม พฤติกรรมสุดทึ่มของเจ้าหุ่นยนต์ยางไวนิลเป่าลมตัวนี้มากยิ่งขึ้น

 

อันที่จริงพื้นเพที่ขับดันเรื่องราวทั้งหมดในหนังนั้นเริ่มต้นขึ้นมาจากความเชื่อมั่นของทาดาชิ พี่ชายของฮิโระ ที่พยายามและใส่ความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมในการพัฒนาและต่อยอดการประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการเยียวยารักษาความเจ็บป่วย ไม่เพียงเท่านั้นมันยังถูกป้อนโปรแกรมให้เป็นมิตรและให้กำลังใจผู้คนด้วยการ “กอด” รวมถึงยังสามารถให้ผู้ทีได้รับการรักษาสามารถประเมินผลความพึงพอใจก่อนที่มันจะปิดทำการตัวเอง 

 

 

อันที่จริงผู้กำกับดอน ฮอลล์และคริส วิลเลียมส์ ดูเหมือนพวกเขาจะกำกับช่วงครึ่งแรกของหนังในพาร์ทตลกโปกฮาและสร้างความตลกขบขันให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสร้างความโกลาหลเพราะความใสซื่อของเจ้าเบย์แมกซ์, ช่วงเวลาที่เบย์แมกซ์พลังงานใกล้หมดแล้วมีท่าทางเหมือนคนเมาเหล้า, การแปลงโฉมเจ้าเบย์แมกซ์ที่เป็นไปอย่างทุลักทุเล ซึ่งผิดกับช่วงหลังของหนังที่เมื่อเข้าโหมดซีเรียสจริงจังเหมือนหนังแอ็คชั่นหนังกลับค่อนข้างจืดชืด โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ที่ผ่านตากับหนังแอ็คชั่นมาแล้วหลายเรื่องอาจจะไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรไปกับฉากวินาศสันตะโรในตอนท้ายเรื่องนัก 

 

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือดิสนีย์พยายามจะโยนสถาการณ์ “ความไม่แน่นอน” ของชีวิตเข้ามาให้แอนิเมชั่นยุคปัจจุบันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น การสูญเสียพี่ชายของฮิโระ, ความโกรธที่ฮิโระจะเปลี่ยนเบย์แมกซ์เป็นเครื่องจักรสังหาร, หรือแม้กระทั่งการยอมสละสิ่งล้ำค่าเพื่อช่วยอีกชีวิตหนึ่งก็ตาม เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าดิสนีย์พยายามทำให้เด็กๆเติบโตไปพร้อมๆกับความจริงของชีวิตที่ไม่ได้ฟุ้งฝันเฝ้ารอปาฏิหาริย์แบบแอนิเมชั่นยุคเริ่มแรกอีกต่อไป แต่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นต้องมาจากการเพียรพยายามของตนเองต่างหาก  

 

มอบให้ 4.5 คะแนนจาก 5 คะแนน

@พริตตี้ปลาสลิด 

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง BIG HERO 6 : กำเนิดใหม่หุ่นยนต์ไอคอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook