"ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้" เรื่องราวของ "เจ้าหญิง" และ "ช่างซ่อมรองเท้า"

"ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้" เรื่องราวของ "เจ้าหญิง" และ "ช่างซ่อมรองเท้า"

"ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้" เรื่องราวของ "เจ้าหญิง" และ "ช่างซ่อมรองเท้า"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ไม่ใช่หนังฟอร์มยักษ์ที่ทุกคนรอคอย แต่ไม่แปลกใจเลยที่ผลงานล่าสุดของค่ายหนังอารมณ์ดี จีทีเอช จะกวาดรายได้ในวันแรกไปถึง 29.17 ล้านบาท ทำสถิติสูงกว่าหนังไทยเรื่องไหนๆ ในวันเปิดตัว เพราะ "ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้" ค่อนข้างลงตัวในความเป็น "โรแมนติกคอมเมดี้"

 

 

เรื่องราวว่าถึงความพยายามเพิ่มพูนทักษะด้านภาษาของ "ยิม" (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) หลังโดน "คายะ" (โซระ อาโออิ) แฟนสาวชาวญี่ปุ่นทิ้งไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา แถมเธอยังใช้ "เพลง" (ไอซ์-ปรีชญา พงษ์ธนานิกร) ติวเตอร์ภาษาอังกฤษมาบอกเลิกแทน เพราะกลัวความต่างภาษาจะพาให้คุยไม่รู้เรื่อง

แต่แผนดันพลิกเพราะคนอกหักกลับมีความหวังว่าจะไปตามง้อแฟนที่เมืองนอก เมื่อเห็นว่าติวเตอร์คนนี้ทำให้ภาษาอังกฤษของคายะแข็งแรง แล้วไยคนอ่อนด้อยเช่นเขาจะเก่งขึ้นไม่ได้ ดังนั้นเพลงจึงได้ลูกศิษย์เพิ่มมาอีกคน เป็นช่างซ่อมบำรุงสุดกวน ดิบ เถื่อน

ขณะเดียวกับที่อีกลูกศิษย์ ซึ่งเป็นหนุ่มหล่อ ฐานะชาติตระกูลดีในคอร์สภาษาอังกฤษเพื่อธุรกิจอย่าง พฤกษ์ (ตู่-ภพธร สุนทรญาณกิจ) ก็ขอขยับฐานะขึ้นมาเป็นคนรัก แถมเธอให้การอนุมัติซะด้วย

ทว่าพออยู่ๆ ไป "เจ้าหญิงติวเตอร์" ชักหวั่นไหวกับความสัมพันธ์ที่มีต่อ "เจ้าชายรูปงาม" และ "ช่างซ่อมรองเท้า" ที่รายหลังแสนธรรมดา แถมยังไม่ลืมรักเก่าอีกต่างหาก เรื่องราวจึงวุ่นวายเป็นอย่างยิ่ง


โดยไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้ แบ่งสัดส่วนชัดเจนระหว่าง "โรแมนติก" กับ "คอมเมดี้" ในแบบครึ่งๆ ซึ่งในส่วนของความตลก หลายมุขถือว่าเวิร์ก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษนี่ต้องยกนิ้วให้ผ่าน เช่น มุขออกเสียงตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ดูจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนสำเนียงไทยแท้ หรือมุขพูดไทยแอคเซนต์ฝรั่งที่เล่นกี่ครั้งก็ยังขำเว่อร์ ต่างจากมุขชวนอี๋ที่มีทั้งเล่นกับความสกปรก อวัยวะเบื้องต่ำ ถึงจะขำแต่ออกแนวตลกไร้รสนิยมไปเสียหน่อย

 

ทว่าสำหรับความโรแมนติกคงต้องชมคนต้นคิดอย่าง เก้ง-จิระ มะลิกุล ที่แค่เห็นติวเตอร์สาวสอนภาษาอังกฤษให้หนุ่มช่างฟิตขณะนั่งในร้านกาแฟก็จับมาเป็นไอเดียได้ แถมผู้กำกับ เมษ ธราธร ยังถ่ายทอดออกมาในประเด็นที่น่าสนใจ มิหนำซ้ำหยิบบุคลิกของคนในอาชีพนั้นมาเป็นแนวทางในการเล่าเรื่องอีกต่างหาก

 

อย่างความเชื่อของยิมที่ว่า "ผมเป็นช่างซ่อมบำรุง ไม่มีอะไรที่ผมซ่อมไม่ได้ หรือต่อให้ยากขนาดไหนผมก็จะพยายามหาวิธีให้มันกลับมาใช้ได้อีกครั้ง" จึงทำให้เขามุ่งมั่นฝึกภาษาอังกฤษในเวลาจำกัด เพื่อสอบให้ผ่านทั้งที่ความหวังแทบเป็นศูนย์

 

ส่วนเพลงนั้นเหมือนเป็นตัวแทนของหญิงไทยในยุคนี้ ที่แม้จะสวย เก่ง ใช้ชีวิตลำพังได้ หากขณะเดียวกันก็เฝ้ารอการเดินทางมาของเจ้าชายรูปงามเพื่อเคียงคู่และครองรักกันอย่างมีความสุขชั่วนิรันดร์เช่นเดียวกับในเทพนิยาย 

 

โดยลืมไปว่าชีวิตจริงไม่มีใครสมบูรณ์แบบแม้จะเป็นเจ้าชายที่ดีพร้อม ขณะที่ช่างซ่อมรองเท้าสุดเกรียนก็อาจมีมุมน่ารักๆ ซ่อนอยู่รวมทั้ง "รองเท้าแก้ว" ที่สาวๆ ล้วนอยากครอบครองอาจถูกสร้างมาสำหรับแค่บางคน ไม่ใช่ทุกคนจะสวมได้พอดี ใส่แล้วเดินสบาย และคงน่าเสียดายหากชีวิตจะมัวรออยู่กับเจ้าชายที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่หรือมีอยู่จริงไหม โดยมองข้ามคนธรรมดาข้างๆ กายไป 

 

ดังนั้น ไม่เพียง "ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้" จะชวนฉุกคิดว่าภาษาอังกฤษสำคัญไฉน โดยเฉพาะในช่วงที่ใกล้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนเช่นนี้ ยังชวนให้ใช้ความรู้สึกในการตัดสินสิ่งต่างๆ นอกเหนือจากทัศนคติ ความเชื่อเดิมๆ ซึ่งอาจได้เห็นโลกในมุมต่าง

 

เช่นเดียวกับที่ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ว่า "ในหนังไอฟายฯ นอกจากมุขตลกและเสียงหัวเราะที่ผู้ชมได้รับไปอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว กลับยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาอย่างคาดไม่ถึง นั่นก็คือ ความซาบซึ้งประทับใจ" 

 

ในเรื่องราวของ "เจ้าหญิง" และ "ช่างซ่อมรองเท้า"



อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้" เรื่องราวของ "เจ้าหญิง" และ "ช่างซ่อมรองเท้า"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook