วิจารณ์ละครเวที โหมโรง เดอะมิวสิคัล

วิจารณ์ละครเวที โหมโรง เดอะมิวสิคัล

วิจารณ์ละครเวที โหมโรง เดอะมิวสิคัล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

ปี 2547 เป็นปีที่ภาพยนตร์ไทยเรื่อง โหมโรง ได้เข้าฉายในโรงหนัง ในสัปดาห์แรกที่เข้าฉาย หนังได้รับเสียงตอบรับที่น้อยจนน่าใจหายจนโรงภาพยนตร์เกือบจะถอดรอบทิ้ง แต่ด้วยกระแสชื่นชมและการบอกต่อแบบปากต่อปากในอินเตอร์เน็ตจนหนังได้รับกระแสความนิยมจนได้ทำเงินไปพอประมาณและยังคว้ารางวัลบนเวทีประกาศผลรางวัลในช่วงสิ้นปีมาอย่างท่วมท้น ยิ่งไปกว่านั้นหนังเรื่องนี้ยังสร้างปรากฏการณ์ให้เยาวชนรุ่นหลังหันกลับมาสนใจดนตรีไทยและการตีระนาดกันอีกครั้ง

พล็อตเรื่องของโหมโรงนั้นบอกเล่าเรื่องราวอัตชีวประวัติของบรมครูดนตรีไทยอย่าง หลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปะบรรเลง) ผ่านสองช่วงเวลาทั้งช่วงชีวิตในวัยหนุ่มและช่วงวัยชราโดยสองช่วงเวลาดังกล่าวศรก็ต้องแต่เผชิญหน้ากับจุดเปลี่ยนแปลงในชีวิตบางอย่างอาทิในวัยหนุ่มเขาต้องต่อสู้ประชันความสามารถกับขุนอินทร์กับระนาดเอกแห่งยุคสมัย หรือในยุคปัจจุบันที่การรุกรานของประเทศญี่ปุ่นทำให้ทางการเลือกจะสั่งห้ามการเล่นดนตรีไทย

อันที่จริงการดัดแปลงภาพยนตร์โหมโรงให้กลายเป็นละครเวทีนั้นจัดได้ว่าเป็นเรื่องที่ “ยากมาก” เนื่องจากตัวละครเอกของเรื่องอย่างศรนั้นถูกกำหนดให้ “ตัวละคร” นี้จำเป็นจะต้องตีระนาดและสามารถแสดงละครได้ แต่มันยิ่งทวีความยากหนักขึ้นไปอีกเมื่อละครเวทีเรื่องนี้ถูกกำหนดให้เป็น “มิวสิคัล” นั่นหมายความว่านักแสดงจะต้องร้องเพลงได้ด้วย และผลจากการแคสติ้งทั้งหมดทั้งมวลแล้วบทก็ตกมาเป็นของ อาร์ม KPN-กรกันต์ สุทธิโกเศศ ซึ่งในละครเขาทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มความสามารถจนเราต้องชื่นชมทักษะการแสดงบนเวทีของเขาจริงๆ

อย่างไรก็ตามความบกพร่องของละครเวทีเรื่องนี้น่าจะอยู่ตรงที่ความพยายามในการนำเสนอทุกอย่างในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ให้มาอยู่บนละครเวทีโดยปราศจากการตัดทอน เพิ่มลดในส่วนที่ไม่สำคัญออกไป ทำให้ละครดูขาดความเชื่อมโยงและในแต่ละฉากค่อนข้างแยกออกจากกันอย่างเป็นเอกเทศ โดยเฉพาะความพยายามในการตัดสลับเหตุการณ์บนเวทีแบบอดีต-ปัจจุบันจนคนดูที่อาจจะไม่เคยดูภาพยนตร์มาก่อน “จับความไม่ทัน” อย่างไรก็ตามมีอยู่หนึ่งฉากที่กลวิธีเชื่อมโยงสองชั่วเวลาเพื่อสื่อความหมายที่ใกล้เคียงกันอย่าง ฉากที่ศรหลอนกับเสียงระนาดของขุนอินทร์ ซึ่งตัดสลับกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่หมู่มวลใช้เพลง "เสียงอะไร" เป็นตัวเชื่อมกับเสียงหวอของสัญญาณเตือนภัยเครื่องบินรบ แสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวของเหตุการณ์ได้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายที่เทคนิคดังกล่าวถูกใช้เพียงครั้งเดียว และฉากอื่นๆก็ยังคงแยกจากกันโดยไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ 

โหมโรง ในเวอร์ชั่นละครเวทียังคงมีความพยายามใส่มุกตลกแบบสามช่า หรือมุกที่ตัวละครพยายามเล่นอะไรตลกๆโดยที่มันไม่มีความเกี่ยวข้องกับตัวเนื้อเรื่องของละครไม่ว่าจะเป็นการที่นักแสดงเด็กแสดงท่าทางการเต้นแบบในหนัง GTH เรื่องหนึ่ง, หรือความพยายามในการเล่นเปียโนเพื่อล้อเลียนเพลงเราจะทำตามสัญญา ฯลฯ ซึ่งถ้าใครเคยชมละครเวทีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์น่าจะคุ้นชินกับการดีไซน์ละครเวทีแบบนี้ ซึ่งตัวผู้กำกับอย่างธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดมก็ซึมซับวิธีการทำละครในขนบแบบนี้มา เพียงแต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่าละครเรื่องนี้ไม่ใช่ “ละครตลก” ที่จะเอาเหตุการณ์ “ข้ามยุคสมัย” เอามาใส่ในช่วงเวลาดังกล่าว หรือกล่าวง่ายๆก็คือมันผิดกาลเทศะนั่นเอง

ความผิดที่ผิดทางของละครยังทำร้ายองค์ประกอบในภาพรวมของโหมโรง เดอะมิวสิคัลไปเยอะ เมื่อบรรดานักแสดงยังคงถูกกำหนดบล้อกกิ้งในการเดินเข้า-ออกจากฉากในแบบแปลกๆ ไฟในโรงละครที่มืดไม่พอจนเราเห็นเบื้องหลังบางอย่างจนทำให้ “ความตื่นตาตื่นใจ” หรือการทำความเข้าใจต่อฉากนั้นๆผิดพลาดไป โดยเฉพาะฉากที่ศรในวัยชราต้องไปเยี่ยมเยียนบรรดาคณะลิเกที่ถูกจับเข้าคุก โดยเวทีเลือกใช้เทคนิคฉากไฟเพื่อให้ผู้ชมเห็นว่ากระจุกนักแสดงลิเกนั้นอยู่ในคุก แต่ “ผู้เยี่ยม” อย่างศรและแม่โชติภรรยาของเขากลับเดินเข้าไปในคุก ราวกับไม่มีเสาเหล็กใดๆกั้นเลย (จึงเกิดคำถามว่าเหตุใดถ้าหากนักแสดงจะเดินข้ามบล้อกกิ้งกันเช่นนี้ ก็ไม่ควรจะเลือกใช้เทคนิคนี้หรือเปล่า) 

สิ่งที่น่าเสียดายพอๆกันคือละครเรื่องนี้ค่อนข้าง “ขาดแคลน” เพลงในละครที่ไพเราะหรือติดหู โชคยังดีที่เพลงเด่นของเรื่องอย่างเพลง “เสียงนั้นเสียงหนึ่ง” ที่แต่งโดยประภาส ชลศรานนท์ ขับร้องโดยแนน สาธิดา ในบทแม่โชติ ยังทำให้เพลงนี้ยังก้องอยู่ในหัวของผู้ชมหลังจากละครจบลงได้บ้าง

มองในภาพรวมโหมโรง เดอะมิวสิคัลเป็นผลงานที่มีความทะเยอทะยาน เห็นความตั้งใจของผู้ทำ แต่ในขณะเดียวกันหลายอย่างในละครเรื่องนี้ก็ยังไม่พร้อมด้วยบทละคร, การเล่าเรื่องให้กระชับ หรือแม้กระทั่งการสร้างตัวละครให้เป็นที่รักของผู้ชม เสน่ห์ของหนังโหมโรง เรายังจับต้องมันไม่เจอในเวอร์ชั่นละครเวที 

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ วิจารณ์ละครเวที โหมโรง เดอะมิวสิคัล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook