11 เรื่องน่ารู้จากเจ้าของเรื่อง"สุดแค้นแสนรัก"

11 เรื่องน่ารู้จากเจ้าของเรื่อง"สุดแค้นแสนรัก"

11 เรื่องน่ารู้จากเจ้าของเรื่อง"สุดแค้นแสนรัก"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้หลายคนคงกำลังอินกับละคร"สุดแค้นแสนรัก" โดยเฉพาะความหมั่นไส้ นางแย้ม ที่พุ่งทุกครั้งที่ออกจอ ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นนิยายเรื่องนี้  ณพนธ์ นครสวรรค์ เจ้าของบทประพันธ์ถึงเขียนถึงแรงบันดาลใจไว้ว่า 

มีคนถามถึงแรงบันดาลใจ ที่ทำให้เขียน นิยายเรื่องสุดแค้นแสนรัก ออกมา...

1. ปี 2552 หลังจากที่ละคร ชิงชัง ออนแอร์ทางช่อง 5 ผลิตโดย บ. Exact ผู้ใหญ่ทางช่อง 3 ก็โทรมาหา บอกว่าอยากได้ นิยายแนวเดียวกับชิงชัง สักเรื่อง....

2. ตอนนั้นเหมือนประตูบานใหญ่เปิดรอรับเราเข้าไป... แต่ปัญหาคือ แนวเดียวกับชิงชัง ซึ่ง ในความเหมือน คล้าย จะต้องแตกต่าง มีประเด็นใหม่มาให้เล่น... ตอนนั้น เราก็หวนกลับไปมองบทละคร ชิงชัง โดย คุณ ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ ว่า เขาทำอย่างไร ...คือ เขาเอานิยายของเรา ไปเรียงลำดับเรื่องราว อย่างไร และเน้นไปที่ใคร?... ชิงชัง ภาคละคร นั้น เน้นไปที่ พ่อ (ผู้ใหญ่แก้ว กับลูกสาว)...และความรักอลวนวุ่นวายของลูก ๆ...ตอนนั้นผมเห็นว่า ผู้ใหญ่แก้วเด่นมาก...


3. พอมาทำเรื่องสุดแค้นแสนรัก ผมต้องหาคนตรงกันข้ามกับผู้ใหญ่แก้ว... นั่นก็คือ เพศ แม่... แม่ แบบไหนล่ะ ถึงจะไม่ซ้ำกับความเด่นของผู้ใหญ่แก้ว และยังต้องเด่นพอ ๆ กัน จนกระทั่ง ได้เพศแม่อย่าง นางแย้ม ย่าแย้ม ออกมา

4. ตอนชิงชังออนแอร์ มีลูกทัวร์ เคย พูดกับผมว่า "พี่ไม่ดูชิงชังหรอกนะ ละครอะไรก็ไม่รู้ พี่น้องไม่รักกัน" พอมาทำสุดแค้นฯ จึงต้องให้พี่น้องรักกันมากกกกกกกกกกก
กกกกก......มากขนาดตายแทนกันได้....

5. ฉาก /ตอนชิงชัง ต. ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี เป็นบ้านเกิดของพ่อ พอมาสุดแค้นแสนรัก จึงตั้งใจที่จะเอาตัวละคร ลงที่ ต.หนองนมวัว อ.ลาดยาว บ้านเกิดแม่....เพื่อ ๆ ๆ จะได้ไม่ลำเอียง 55555+

6. แรงบันดาลใจ เกิดจากอารมณ์สะเทือนใจกับเรื่องของ ญาติผู้พี่ กับคำถามที่ว่า ไม่รู้ว่า ใครผิดใครถูก และเรื่องจริงคืออะไรกันแน่... ต่างคนต่างก็พูดกรอกหูว่า ฝ่ายของตนดี และอีกฝ่ายเป็นคนผิด...และเด็กก็เกิดความสับสนงุนงง...กระทั่งกลายเป็นความอิหลักอิเหลื่อใจ... จึงต้องสร้างตัวละคร คน กลาง อย่างยงยุทธขึ้นมา

7. ที่ใช้ ปี 2515 เปิดเรื่อง เพราะ ถามข้อมูลจากแม่หรือป้า กับคนรอบ ๆ ตัวเอาได้ ซึ่งเรื่องมันก็ไม่ได้ลึกซึ้งมากนัก เพียงแต่ ต้องการฉายภาพวิถีชีวิตของคนในชนบทยุคพ่อแม่เป็นหนุ่มเป็นสาวออกมาเท่านั้น

8. ที่ต้องมี ภาค แสนรัก ตัวละคร เด็กมัธยม คั่นระหว่าง ภาคผู้ใหญ่ กับภาคจบ เพราะความรู้สึก "ขัดใจ" ที่ได้อ่านนิยายเรื่องหนึ่งที่ให้เด็กวัยมัธยมชิงรักหักสวาทกันกระทั่งทำร้ายกันฆ่ากัน...ประกอบกับตนเองชอบอ่านวรรณกรรมวัยรุ่น อย่าง ไม้อ่อน /ไม้ดัด/ สุดแต่ใจจะไขว่คว้า /เวลาในขวดแก้ว ฯลฯ อะไรแบบนี้ด้วย... ก็เลยหยิบ ๆ มาเป็นตัวเชื่อม ทำให้เรื่องไม่แรงจนหายใจไม่ออกไปตลอดทั้งเรื่อง และอยากส่งสารออกไปว่าเด็กมัธยม(ส่วนใหญ่)เขาทำอะไรกันได้แค่ไหน!

9. เวลาเขียน สนุก ที่ให้ตัวละคร ชิงไหวชิงพริบ กัน และยังอยู่ใน เส้นเรื่อง ที่เรียกว่า ดราม่า หรือชีวิตจริงของคนพึงจะเป็นไปได้...

10. พี่ ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ สอนเรื่อง จังหวะในบทละคร ชิงชัง ได้ดีมาก ผมดูอยู่หลายรอบ...จึงเข้าใจคำว่า "จังหวะ" และเมื่อเคาะจังหวะเอง โดยเฉพาะ จังหวะร็อค นั้นก็ต้องเคาะให้เป็นจังหวะเดียวกันทั้งเรื่อง

11. ทั้งชิงชัง และ สุดแค้นแสนรัก ก็ยังเล่นอยู่กับคำถาม...คือ อยากให้คนอ่าน คนดูละคร ถามตัวเองว่า ถ้า เราต้องเป็น พวกเขา เป็นใครสักคนในนิยายในละครเรื่องนั้น เราจะทำอย่างไร กับปัญหาชีวิตตรงหน้า? ซึ่งทางออกของแต่ละคนนั้นย่อมไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน...แต่ผมก็มั่นใจว่า ทางออกที่ผมให้ไปนั้นแม้ว่าจะไม่ได้ดีที่สุด แต่มันก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไปนัก...และหวังใจอย่างคนที่เรียนจบนักธรรมเอก บวชมา5ปี และเป็นครูสอนหนังสือเด็กตากลม ๆ หลายสิบชีวิต...ว่า นิยาย/ละคร เรื่องนี้จะให้อะไร(คติสอนใจ)กับคนเสพบ้าง
เอวัง...

ที่มา FB : ณพนธ์ นครสวรรค์ (เจ้าของบทประพันธ์)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook