วิจารณ์หนัง MAD MAX: FURY ROAD โลกอนาคตที่ทุกอย่างยังคงเดิม
แม้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังอย่าง MAD MAX: FURY ROAD จะเล่าถึงอนาคตภายภาคหน้าที่สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติกลายสภาพไปเป็นทะเลทราย ผู้คนใช้ชีวิตกันอย่างป่าเถื่อน แทบจะไม่แตกต่างจากยุคสมัยที่มนุษย์ยังคงเป็นคนป่า ที่ล่าสัตว์เพื่อประทังชีวิต
หลายคนอาจจะยังเข้าใจสับสนว่าหนัง MAD MAX FURY ROAD นั้นเป็นภาคที่ 4 ของแฟรนชายส์หนังชุดนี้ แต่อันที่จริงแล้วคนที่ไม่เคยดูหนังภาค 1-3 มาก็เข้าใจเรื่องราวในหนังภาคนี้ได้ เรื่องราวของแม็กซ์ ร็อกคาแทนสกี (ทอม ฮาร์ดี้) มีความคล้ายคลึงกับสายลับ 007 อย่างเจมส์ บอนด์ นั่นคือเขาปรากกขึ้นในหนังแต่ละภาคเพื่อทำภารกิจบางอย่าง คนที่ไม่เคยรู้จักเขามาก่อนก็สามารถทำความเข้าใจและสนุกไปกับเรื่องราวของเขาได้
อันที่จริงโครงเรื่องหลักของหนังภาคนี้คือการพูดถึงตัวละครหญิงอย่างฟิวริโอซา(ชารีส เธรอน) หัวหน้าคนดูแลรถเชื้อเพลิง เมื่อเธอวางแผนการสำคัญในการพาหญิงสาวที่เป็นบรรดาสนมของอิมมอร์แทนโจ(ฮิวจ์ คีย์ เบิร์น) หนีออกจากการกดขี่และปฏิบัติเหมือนนกน้อยในกรงทอง แต่ดูเหมือนว่าหนทางในการหลบหนีจะสำเร็จไม่ได้ถ้าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากแม็กซ์เชลยที่ถูกจับตัวมาและกลายเป็นผู้ให้เลือดกับวอร์บอย(นิโคลัส โฮลต์)
ฉากแรกของหนังจะเปิดความระทึกด้วยฉากไล่ล่าทางรถยนต์ที่บ้าระห่ำ โชว์การไล่ล่าทางถนนอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ตลอดทั้งเรื่องหนังก็ไม่ได้ลดความระทึกลงเลยแม้แต่น้อย มันอัดแน่นไปด้วยฉากเช่นนี้ตลอดทั้งเรื่องจนเราอาจจะกล่าวได้ว่า MAD MAX FURY ROAD ยัดทะนานด้วยฉากไล่ล่าที่ยาวนานที่สุดอย่างน้อยก็ในรอบปีนี้
ด้วยความตั้งใจของตัวผู้กำกับอย่างจอร์จ มิลเลอร์ที่จะเล่าหนังทั้งเรื่องด้วยภาพมากกว่าจะใช้บทพูด ส่งผลให้ทุกฉากของหนังที่ปรากฏภาพต่างๆนั้น เรียกได้ว่าชวนให้ผู้ชมสังเกตและคอยเก็บรายละเอียด ถ้ามองให้ดีแล้วฉากที่เราเห็นบรรดา “หญิงงามทั้ง 5” เป็นครั้งแรกบนจอ พวกเธอกำลังล้างตัวและสาละวนอยู่กับการตัดเหล็กที่คล้ายเป็นกางเกงในตะปิ้งหนามที่ป้องกัน “การล่วงล้ำอวัยวะเพศ” นั่นหมายความว่า “ช่องคลอด” ของพวกเธอนั้นถูกสงวนไว้ให้ใครสักคนโดยที่พวกเธอไม่มีสิทธิ์เลือก หรือว่ากันง่ายๆพวกเธอไม่มีสิทธิในร่างกายของตัวเองอย่างเต็มร้อย ถ้าเก็บรายละเอียดให้ยิ่งไปกว่านั้นจะเห็นว่า “ผู้หญิง” ในหนังนั้นมีหน้าที่อีกประการคือการเป็น “แม่นม” คอยผลิตนน้ำนมเพื่อเป็นอาหารบำรุงสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้นบรรดาผู้ปกครองในเรื่องโดยเฉพาะพวกพ้องของอิมมอร์แทนโจยังได้บ่นประโยคหนึ่งออกมาเพื่อต่อว่าการไล่ล่าอันบ้าเลือดครั้งนี้ว่ามันเป็น “เรื่องสงครามของผัวเมีย” ที่เอาชีวิตคนอื่นมาร่วมวงความบรรลัยด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลเหตุการณ์ทั้งเรื่องของหนังเรื่องนี้ไม่ต่างอะไรจากศึกชิงนางในวรรณคดี การไล่ล่าอย่างเอาเป็นเอาตายเกิดจากการกดขี่ทางเพศ(หญิง) โดยที่สังคมผู้ชายเป็นใหญ่นั้นกี่ยุคกี่สมัย ผ่านไปนานแค่ไหนผู้หญิงก็ยังคงตกอยู่ในสถานะเบี้ยรองที่รอวัน “ปลดแอก” ตัวเองจากความอยุติธรรมทางเพศอยู่ร่ำไป การก้าวขึ้นมาเป็น “หญิงแกร่ง” ของตัวละครฟิวริโอซาไม่ได้แต่สะท้อนว่าการเกิดเป็นหญิงนั้น หากไม่เก่งก็ต้องแกร่ง มิเช่นนั้น “ความสวย” จะกลายเป็นโซ่ตรวนมากกว่าจะเป็น “กุญแจ” แห่งความสุข
@พริตตี้ปลาสลิด
5 คะแนนจาก 5 คะแนน
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ