วิจารณ์หนัง THE VOICES ฉันอยู่คนเดียว?
The Voice อาจจะเป็นหนึ่งบทพิสูจน์สำคัญที่ทำให้ ไรอัน เรย์โนลด์ หลุดพ้นจากข้อครหาว่าเขาเป็นนักแสดงที่มีดีมากกว่านักแสดงที่ใช้ใบหน้าอันหล่อเหลาเป็นอาวุธได้เสียที เพราะหนังเรื่องนี้ทำให้ไรอันได้ใช้ทักษะด้านการแสดงอย่างเต็มที่ บทของหนังทำให้เขาต้องสำรวจตรวจตรา “ความไม่ปกติ” ของตัวละครที่เขาสวมบทบาท
เจอร์รี่ ฮิคฟาง (ไรอัน เรย์โนลด์) ทำงานที่บริษัทผลิตอ่างอาบน้ำและพยายามเป็นคนดี ทั้งๆที่สุนัขและแมวพยายามล่อลวงเขา จนเมื่อเขาตัดสินใจฆ่าหญิงสาวสุดแซ่บฝ่ายบัญชี (เจมม่า อาร์เทอร์ตัน) เขาจึงรีบปกปิดร่องรอย เจอร์รี่อยู่เหนือเกินการเข้าใจของจิตแพทย์ ดร.วอร์เรน (แจ็คกี้ วีเวอร์) และ ลิซ่า (แอนนา เคนดริค) ซึ่งเป็นผู้หญิงคนเดียวที่รักเขาอย่างจริงจัง เจอร์รี่ได้หลุดเข้าไปสู่โลกอาชญากรรมและคนเดียวที่จะช่วยเขาได้มีแต่ตัวของเขาเอง
แม้ทางค่ายหนังบ้านเราจะพยายามโปรโมตให้หน้าหนังดูเป็นหนังตลกโปกฮา เจือความสยองแบบหนังฆาตกรโรคจิต แต่ด้วยตัวเนื้อหนังแท้ๆแล้วมันเป็นมากกว่านั้นเยอะ เนื่องจาก THE VOICES คือหนังระทึกขวัญเชิงจิตวิทยาที่อาจจะกล่าวได้ว่ามันเป็นหนังที่ “สำรวจ” ตัวละครอย่างแท้จริง
ตามปกติแล้วฆาตกรต่อเนื่องในหนังสยองขวัญมักจะมาปรากฏตัวในรูปแบบของตัวละครลึกลับตามเงามืดและฆ่าเหยื่อด้วยวิธีการสุดลุ้นระทึก กลับกันใน The Voice ตัวหนังไม่ได้ให้ฉากที่นักแสดงต้อง “ฆ่า” เป็นฉากที่ระทึก แต่มันเป็นฉากที่ให้ความรู้สึกสิ้นหวัง หม่นเศร้าทั้งตัวเหยื่อเองและตัวฆาตกร
ความชัดเจนที่หนังได้วางเหตุผลรองรับเรื่องราวของ “เสียงในหัว” ที่เจอร์รี่ได้ยินบรรดาสัตว์เลี้ยงของเขาพูดคุยด้วยนั้นมาจากการที่เขาไม่ยอมกินยาที่จิตแพทย์ของเขาสั่ง ซึ่งอันที่จริงแล้วเสียงที่เขาได้ยินนั้นไม่ได้เป็นเสียงของใครอื่น แต่มันเป็น “จิตใต้สำนึก” ของตัวเจอร์รี่เอง
สิ่งที่สามารถอธิบายการที่เจอร์รี่นั้นเลือกจะไม่กินยานั้น ก็เพราะเราจะได้เห็นฉากที่เขาถูกลิซ่าสั่งให้เขากินยา ทันทีที่เจอร์รี่กินยาและตื่นขึ้นมา “ในโลกแห่งความเป็นจริง” ที่หมาและแมวของเขาพูดไม่ได้ แถมบ้านของเขาก็รกและเกรอะกรังไปด้วยคราบเลือด เจอร์รี่จึงค้นพบความจริงที่ว่าโลกความจริงนั้นมันไม่ได้สวยแบบในจินตนาการของเขาเลยสักนิด
อันที่จริงหนังพาผู้ชมค่อยๆไปรู้จักกับตัวละครนี้ และในช่วงกลางเรื่องเราจะได้พบกับสาเหตุสำคัญว่าอะไรที่ทำให้เจอร์รี่กลายเป็นคนที่ “เปลี่ยวเหงา” ได้ขนาดนั้น แม้เขาพยายามจะสร้างมิตรภาพกับใครก็ตามแต่ดูเหมือนกับ “บุคลิก” ส่วนตัวของเจอร์รี่ที่เหมือนจะการเป็นปราการด่านสำคัญที่ผลักเพื่อนๆคนอื่นออกไปจากชีวิต และด้วยสภาพแวดล้อมที่เขาไม่สามารถปรับตัวให้กลมกลืนได้ ยิ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัวละครนี้กลายเป็น “คนชายขอบ” โดยสมบูรณ์
มาร์เจเน่ สตราพี่คือผู้กำกับที่สามารถเล่าเรื่องของฆาตกรที่เจ็บป่วยภายในจิตใจออกมาได้น่าสงสาร แกมน่าสมเพชในเวลาเดียวกัน แต่แทนที่เราจะเกลียดชังและสาปส่งให้ตัวละครเจอร์รี่ถูกจับโดยตำรวจ เรากลับเห็นอกเห็นใจเขา และอดรู้สึกเศร้าสร้อยไปกับสิ่งที่เขาทำลงไปไม่ได้ ยิ่งไหว่านั้นการที่หนัง “หาทางออก” ให้กับตัวละครนี้ก็น่าเศร้าและเปลี่ยวเหงาจนคนดูไม่อาจจะยิ้มออกได้ แม้ว่าฉากถัดมาจะกลายเป็นฉากพาฝันแค่ไหนก็ตาม
@พริตตี้ปลาสลิด
4 คะแนนจาก 5 คะแนน