วิจารณ์ ละครเวที “แผ่นดินของเรา เดอะมิวสิคัล”

วิจารณ์ ละครเวที “แผ่นดินของเรา เดอะมิวสิคัล”

วิจารณ์ ละครเวที “แผ่นดินของเรา เดอะมิวสิคัล”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“แผ่นดินของเรา” เป็นนวนิยายของมาลัย ชูพินิจ ซึ่งเคยได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2519 กำกับโดยส.อาสนจินดาและแสนยากร มีนักแสดงนำอย่าง เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์, สมบัติ เมทะนี, นัยนา ชีวานันท์, ช่อเพชร ชัยเพนตร, นิรุตต์ศิริจรรยาและส.อาสนจินดา หลังจากนั้นอีก 20 ปีให้หลังในปี 2539 บทประพันธ์ชิ้นนี้จะได้รับการดัดแปลงอีกครั้งให้กลายเป็นละครทีวีโดย หม่อมน้อย มล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ซึ่งมีนำแสดงชั้นนำอย่าง ยุรนันท์ ภมรมนตรี, จอห์นนี่ แอนโฟเน่, ใหม่ เจริญปุระ, จารุณี สุขสวัสดิ์และภัสสร บุณยเกียรติ 

ในเวอร์ชั่นละครเวทีแผ่นดินของเราเล่าเรื่องราวของครอบครัวจิระเวสน์ที่มีพี่น้องสามคนอันประกอบไปด้วยอัจฉรา(ปนัดดา เรืองวุฒิ) ลูกสาวคนโตของบ้านที่เคารพในระบบระเบียบประเพณีไทย, สายสวรรค์(รัดเกล้า อมรดิษฐ์) ลูกสาวคนกลางที่พยายามประคับประคองความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และภัคคินี น้องสาวคนเล็กซึ่งเป็นลูกคนละแม่กับพี่สาว ด้วยการศึกษาที่เธอซึมซับมาจากคอนแวนต์ทำให้เธอมีแนวคิดเป็นผู้หญิงหัวสมัยใหม่ มีความมั่นใจในตัวเองสูง (และสูงจนเกินไปในบางที) 

จุดเปลี่ยนของเรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อภัคคินีตกหลุมรักธำรง (ศรัณยู วงศ์กระจ่าง)  ชายสูงวัยเจ้าของทุ่งวัวแล่น ชายผู้เคยผิดหวังในความรัก ทั้งสองได้แต่งงานกันแม้ว่าอายุของเขาจะห่างจากภัคคินีมากก็ตาม แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อภัคคินีไปตกหลุมรักกับนเรนทร์(ดอม เหตระกูล) หนุ่มหัวนอกจอมเจ้าชู้ที่หมั้นหมายกับอัจฉราไว้ เมื่อภัคคินีและนเรนทร์ลักลอบเป็นชู้กันและตัดสินใจหนีตามกันไปในคืนวันแต่งงานของนเรทร์กับอัจฉรา เพื่อไปสร้างสถานที่แห่งความสุขที่เรียกกันว่า “แผ่นดินของเรา” 

การนำเพลงอย่าง “จันทร์กระพ้อบาน” เอามาใช้แทนความสัมพันธ์ของตัวละครสามพี่น้องในเรื่องทำให้เราเห็นการ “เปรียบเปรย” การเติบโตของต้นไม้และการเติบโตของตัวละครที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านเรื่องราวไปตามกาลเวลา ในจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เราจะได้เห็นเหตุการณ์เหล่านั้นที่ฉากต้นจันทร์กระพ้อ 

องก์ 1 ของละครเวทีจะเล่าเรื่องราวตั้งแต่วัยเด็กจนถึงฉากที่ภัคคินีตัดสินใจหนีตามชายชู้ของเธอไป โดยเธอมองว่าการตัดสินใจของเธอนั้นเป็นการ “ทำด้วยหัวใจ” และฟังเสียงหัวใจของตัวเองก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ตัวละครนี้หลงลืมไปก็คือ สิ่งที่เธอทำนั้นมันจะสร้างผลกระทบให้กับคนอื่นอย่างไรบ้าง

เมื่อองก์ที่ 2 เริ่มต้นขึ้นเราจะได้เห็น “ผล” จากการกระทำของตัวละครภัคคินีซึ่งเห็นได้ชัดว่า เธอตัดสินใจผิดและความคิดแบบไร้การทบทวนไตร่ตรองของเธอนั้นนำมาซึ่งความทุกข์อย่างแสนสาหัส แต่เธอก็ต้องก้มหน้ายอมรับผลของการกระทำแม้ชีวิตของเธอนั้นจะตกต่ำลงไปแค่ไหนก็ตาม การยืนกรานที่จะเชื่อมั่นใน “หัวใจ” ของตัวเองนั้น กลายเป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้ชีวิตของภัคคินีกลายเป็นโศกนาฏกรรม

ละครเวทีเรื่องแผ่นดินของเราจะใช้การเลือกเพลงที่เคยมีอยู่แล้วเอามาใช้เล่าละครก็ตาม แต่ในขณะที่เพลงใหม่ที่ถูกแต่งขึ้นมาใช้ประกอบละครเรื่องนี้อย่างเพลงนินทาสโมสร ซึ่งขับร้องและเล่าเรื่องราวความขี้นินทาของมนุษย์ได้อย่างแสบสันต์ จิกกัดสังคมได้อย่างถึงแก่น และเป็นหนึ่งฉากที่เรียกได้ว่า “โดดเด่น” ที่สุดฉากหนึ่งของเรื่องเลยก็ว่าได้

แม้จะตัวของบทละครจะถูกเล่าแบบ “กระชับ” จนบางครั้งมิติของตัวละครในละครเวทีก็อาจจะดูไม่ “กลม” เท่าที่ควร แต่การแสดงของนักแสดงนำหลายคนก็เรียกได้ว่าสอบผ่าน (แม้บางคนจะร้องเพลงได้เข้าขั้นวิกฤตก็ตามที) อย่างไรก็ตามถ้ามองในเรื่องระบบความคิดของละครที่พยายามจะส่งสาสน์เรื่องความรักและการยับยั้งชั่งใจมาถึงคนดูนั้น เรียกได้ว่าละครเรื่องนี้นำเสนอได้น่าสนใจพอประมาณ 

“แผ่นดินของเรา เดอะมิวสิคัล” ทำการแสดง ณ โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีเพียง 10 รอบเท่านั้น ศุกร์ 19 , เสาร์ 20 , อาทิตย์ 21 และรอบศุกร์ 26 , เสาร์ 27 อาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน 2558 ซื้อบัตรได้ที่ไทยทิกเก็ต เมเจอร์ทุกสาขา

@พริตตี้ปลาสลิด

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ วิจารณ์ ละครเวที “แผ่นดินของเรา เดอะมิวสิคัล”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook