วิจารณ์หนัง INSIDE OUT แค่อารมณ์ในสมองเรา
จะว่าไปแล้วแอนิเมชั่นอย่าง Inside Out ถือได้ว่าเป็นการ์ตูนที่มีความสร้างสรรค์และชาญฉลาดเรื่องหนึ่งในรอบหลายๆปีเลยก็ว่าได้ เพราะจะว่าไปแล้วเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังนั้นเป็นการนำเสนอแง่มุมทางจิตวิทยาของมนุษย์ซึ่งผ่านการคิดในการดัดแปลง “อารมณ์” ให้กลายมาเป็นตัวการ์ตูนทั้งห้าอันประกอบไปด้วยจอยตัวแทนแห่งความสุขเป็นสีเหลืองอ่อน (พากย์เสียงโดยเอมี่ โพห์เลอร์), แซดเนส ตัวแทนแห่งความเศร้าถูกแทนด้วยสีฟ้า (พากย์เสียงโดยฟิลลิส สมิธ), เฟียร์ ความกลัวแทนด้วยสีม่วง, แองเกอร์ตัวแทนความโกรธ แทนด้วยสีแดง (ทั้งสองตัวนี้ให้เสียงพากย์โดยเลวิส แบล็ค) และดิสกัส ตัวแทนความขยะแขยงแทนด้วยสีเขียว (ให้เสียงพากย์โดยมินดี้ คาร์ลิง)
จอยมีหน้าที่สำคัญเป็นทั้งผู้เล่าเรื่องของหนัง อีกทั้งเธอยังเป็นหัวหน้าทีมอารมณ์ที่ต้องคอยดูแลสี่อารมณ์ที่เหลือพร้อมทั้งเป็นคนออกแบบความรู้สึกให้กับตัวไรลีย์ด้วย หนังใช้วิธีเปิดเรื่องมาด้วยการอธิบายฟังก์ชั่นการทำงานของอารมณ์แต่ละตัว หน้าตาที่การตอบสนองของพวกเขากับปฏิกิริยาในการแสดงออกทางพฤติกรรมของไรลีย์ไม่ว่าจะเป็นการหัวเราะ ระวังภัย ร้องไห้ ขยะแขยง หรือโมโหเวลาเธอไม่ได้ดั่งใจ โดยความทรงจำในแต่ละวันของเธอนั้นจะถูกจัดเก็บอยู่ในลูกแก้วทรงกลมเรืองแสงได้และจะมีสีตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นในสภาวะตอนนั้น ก่อนที่บรรดาลูกแก้วเหล่านี้จะได้รับการจัดการไปเก็บอยู่ในพื้นที่กว้างใหญ่อันเรียกว่าเป็นคลังความทรงจำซึ่งอยู่ไกลออกไปจากศูนย์บัญชาการแห่งนี้
แต่แล้วเหตุการณ์ก็เริ่มแปรปรวนเมื่อไรลีย์ย้ายบ้านจากมินิโซต้าไปยังซานฟรานซิสโกส่งผลให้อารมณ์ของเธอแปรปรวนอย่างหนัก สอดคล้องกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสมองของไรลีย์ด้วย เมื่อจอยและแซดเนสโดนดูดเข้าไปในท่อส่งความทรงจำไปยังสถานที่เก็บความทรงจำ
อย่างไรก็ตามหนังได้อธิบาย “ฟังก์ชั่นการทำงาน” พิเศษของสมองนั่นก็คือบุคลิกของไรลีย์ที่แบ่งออกเป็นเกาะต่างๆ อันประกอบไปด้วยเกาะครอบครัว, เกาะความซื่อสัตย์, เกาะฮอคกี้, เกาะมิตรภาพและเกาะแห่งความตลกขี้เล่น เมื่อฟังก์ชั่นของอารมณ์เกิดการแปรปรวนทำให้บุคลิกภายนอกของไรลีย์เปลี่ยนไป เกาะที่เคยทำงานก็เริ่มผิดปกติและ “พังทลาย” ไปทีละเกาะ สิ่งที่จอยและแซดเนสต้องทำให้ไวที่สุดคือพวกเขาต้องหาทางกลับไปยังศูนย์บัญชาการให้ทันเวลา
ระหว่างทางในการผจญภัยนอกศูนย์บัญชาการนี่เองทำให้จอย, แซดเนส และผู้ชมได้พบเจอการทำงานของสมองและพื้นที่ที่เราไม่เคยรู้ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะจับใจผู้ชมมากที่สุด (และอาจจะทำให้คนดูเสียน้ำตามากที่สุด) ก็คือเรื่องราวของตัวละครเพื่อนในจินตนาการยามเด็กอย่าง บิงบอง ซึ่งคนดูผู้ใหญ่ทุกคนที่เคยผ่านชีวิตในวัยเด็กคงมีเพื่อนในจินตนาการกันทุกคน แต่พวกเขาก็จะหายไปจากความทรงจำของพวกเรายามที่เราเติบโตขึ้น และตัวละครนี้ก็ยังคงอยู่ในก้นบึ้งของความทรงจำ “ที่เราไม่อาจจะหวนนึกถึงพวกเขาได้อีก” ซึ่งสอดรับกับเหตุการณ์ในหนังที่ “น่าสะเทือนใจ” ในการช่วยเหลือ “จอย” ให้กลับไปศูนย์บัญชาการได้นั่นเอง
ไม่เพียงเท่านั้นทีมผู้สร้างยังเหนือชั้นกว่าด้วยการ “ตีความ” บรรดาสิ่งที่อยู่ในหัวของเราให้กลายเป็นรูปธรรมจับต้องและคิดตามได้ไม่ว่าจะเป็น “ดรีม โปรดักชั่น” อันเป็นสถานที่สร้างความฝัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหนังตั้งใจทำให้ออกมาเป็นเหมือนโรงถ่ายหนังในฮอลลีวูด, ถ้ำมืดอันเป็นสถานที่กักเก็บความน่ากลัวอันเป็นสิ่งที่มนุษย์เรียกกันว่าเป็น “จิตสำนึก” หรือแม้กระทั่งดินแดนแห่งจินตนาการที่มนุษย์เราจะเก็บจินตนาการที่เราสร้างขึ้นเอาไว้ และผลิตสิ่งที่เราอยากจะได้เห็น ได้ยิน หรือกระทั่งสัมผัสในสักวันหนึ่งก็ตาม
หนังอย่าง Inside Out รูปโฉมของมันอาจจะเป็นแค่หนังแอนิเมชั่นแต่เนื้อแท้ของมันคือหนังจิตวิทยาที่เข้าใจมนุษย์ได้อย่างละเอียดอ่อน ลึกซึ้งและงดงาม มันเป็นหนังที่บรรดาเด็กๆจะสนุก ผู้ใหญ่ดูแล้วจะเข้าใจชีวิต มันเป็นหนังที่มนุษย์ทุกคนจะ “เข้าถึง” ได้ไม่ยาก และมันจะเป็นที่รักของใครอีกหลายคนไปอีกหลายสิบปี
ยกให้ 5 เต็ม 5 คะแนน
@พริตตี้ปลาสลิด