ฝันของคนชั้นกลาง ความสำเร็จหนัง "จีทีเอช"
นับแต่ก่อตั้ง หลังจาก "จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์, ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์" และ "หับโห้หิ้น ฟิล์ม" ร่วมกันสร้าง "แฟนฉัน" จนประสบความสำเร็จอย่างสูงในปี 2546 "จีทีเอช" ก็ดูจะเป็นค่ายหนังมาแรงอันดับต้นๆ ของบ้านเรา เพราะแค่ในรอบ 10 ปี มีผลงานติดอันดับ "20 ภาพยนตร์ไทยทำรายได้สูงสุดตลอดกาล" มากถึง 7 เรื่อง
ไม่ว่าจะ "แฟนฉัน", "ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ", "รถไฟฟ้ามาหานะเธอ", "กวนมึนโฮ", "ลัดดาแลนด์", "ATM เออรัก..เออเร่อ" และ "พี่มากพระโขนง"
นั่นจึงนำไปสู่งานวิจัยเรื่อง "อัตลักษณ์ของภาพยนตร์ไทยที่ผลิตโดยจีทีเอช" ที่ "ประกายกาวิล ศรีจินดา" ศึกษาหนังจีทีเอชระหว่างเดือนมกราคม 2546-ธันวาคม 2556 จำนวน 37 เรื่อง เพื่อไขความสำเร็จของค่ายหนังฟีลกู๊ด
และผลการศึกษาพบว่าหนังจีทีเอช แบ่งเป็นตระกูลหรือแนวได้ 4 แนว คือ แนวผีสยองขวัญ, แนวตลก, แนวโรแมนติก และแนวปลีกย่อย
โดย "แนวผีสยองขวัญ" จะมีลักษณะเดียวกัน คือ ลำดับเรื่องไม่เป็นเวลา เน้นหนังผีแนวสืบสวนแต่ท้ายที่สุดจะกลับมาสู้ขนบความเป็นไทยอย่าง "ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว" แถม "ผี" ยังเป็นผู้หญิงที่ตายด้วยความรัก และคนฆ่ามักเป็นคนใกล้ตัวสะท้อนสำนวนที่ว่า "คนที่ไว้ใจ ร้ายที่สุด"
"แนวตลก" ซึ่งมีมากกว่าแนวใดๆ ตัวละครหลักจะเป็นเด็ก-วัยรุ่น เรื่องราวสะท้อนวิธีคิดแบบสังคมสมัยใหม่ เน้นความรัก ความผูกพันของเพื่อน-ครอบครัวเป็นหลัก และไม่เล่าเรื่องเป็นเส้นตรง
"แนวโรแมนติก" จะไม่ได้ให้คุณค่ากับความรักโรแมนติกแบบในอดีต มีการสะท้อนปัญหาสังคม ตัวละครก็จะดูแปลกแยกจากวิธีคิดและระบบทุนนิยม เช่น พระเอกเรื่อง "กอด" มี 3 แขน หรือตัวละครหลักของ "หนีตามกาลิเลโอ" ที่ทำผิดโดยปลอมลายเซ็นอาจารย์
ขณะที่ "แนวปลีกย่อย" มักต่อต้านทุนนิยมผ่านสัญลักษณ์ของหนัง เช่น สะท้อนระบบมหาวิทยาลัยในเรื่อง "มหาลัยเหมืองแร่", "ไฟนอลสกอร์" และ "วัยรุ่นพันล้าน" โดยทำสิ่งเสมือนให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องจริง นอกจากนี้ตัวละครยังเป็น "สีเทา" มีความเป็นมนุษย์ปุถุชน รัก โลภ โกรธ หลง
โดยทั้ง 4 แนว เรื่องราวมักจะเกิดในเมือง ไม่ว่าจะเมืองหลวง หัวเมืองใหญ่หรือต่างประเทศ
"ดังนั้น ประกายกาวิลจึงสรุปอัตลักษณ์หนังของจีทีเอชได้ว่า โครงเรื่องต้องสมัยใหม่ ไม่เล่าเรื่องเป็นเส้นตรง มีการผสมผสานแนวต่างๆ จบลงด้วยความสุข
ตัวละครมีจิตใจดี ทัศนคติเป็นบวก แต่การเล่าเรื่องจะเล่าผ่านมุมมองของตัวละครชาย มีการศึกษา และเป็นชนชั้นกลาง
ส่วนฉากหลังจะเน้นพื้นที่ของคนเมืองสะท้อนความทันสมัย
รวมๆ จะเห็นได้ว่าหนังจีทีเอชจะแย้งกับลักษณะหนังไทยในแบบเดิมๆ คือ ไม่ได้มีการต่อสู้ ไม่มีการเมือง มีการแสดงบทรักแบบมีชั้นเชิงไม่โจ่งแจ้ง ใช้บทสนทนาในชีวิตประจำวัน ไม่ได้หยาบคายรุนแรง และสร้างความตลกตามสถานการณ์ ไม่จำเป็นต้องตลกจากแค่ตัวตลกเท่านั้น
ที่น่าสนใจ คือ "รื้อถอนความเป็นผู้หญิงดั้งเดิมแบบดั้งเดิม" ที่นางเอกต้องเป็นกุลสตรี เรียบร้อย ไร้มลทิน เพราะนางเอกค่ายนี้ หลายเรื่องมักไม่ใช่สาวบริสุทธิ์ บ้างเคยโดนข่มขืน บ้างเคยแต่งงานมาแล้ว บ้างเป็นเมียน้อย หรือพูดเรื่องเซ็กซ์อย่างโจ๋งครึ่ม"
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะหนังมีตัวแปร 4 อย่างกำหนดอยู่ นั่นคือ 1.ทุนทั้งในแง่ตัวเงิน และตัวบทซึ่งทางค่ายให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มาก 2.ผู้กำกับ 3.กระบวนการคัดกรองที่ทุกเรื่องต้องผ่านบอร์ด 4.ผู้ชม
แต่ตัวแปรสำคัญสุดกลับเป็น "ระบบโครงสร้างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย" ที่กำหนดไว้ให้ผู้สร้างมีรายได้จาก 2 ส่วน
ส่วนแรกจาก "บ็อกซ์ออฟฟิศ" โดยจะได้รับ 50% จากรายได้ทั้งหมดของหนังที่ฉายในกรุงเทพฯและปริมณฑล
อีกส่วนจาก "สายหนัง" ที่ผู้สร้างได้ส่วนแบ่งเพียงแค่ 8%
"นั่นหมายความว่าทำหนังที่ระดับแมสทั่วไปดู โดยไม่มีระบบสายหนัง รายได้ทั่วไปก็จะได้ 50% เต็มๆ เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้รายได้หลักอยู่ที่บ็อกซ์ออฟฟิศ แนวหรือตระกูลภาพยนตร์ก็ต้องตอบสนองรสนิยมคนที่อยู่ในเมืองเป็นหลักนั่นเอง" ประกายกาวิลว่า
ทั้งยังบอกหากใช้แนวคิดของ "ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu)" พิจารณาจะพบว่าจีทีเอชใช้ทุน 3 ส่วนในการผลิตหนัง คือ ทุนเครือข่าย ทุนสัญลักษณ์และทุนทางเศรษฐกิจ
"แม้บางเรื่องไม่ทำรายได้อย่างกอด หรือมหาลัยเหมืองแร่ แต่ยังเป็นทุนสัญลักษณ์ให้กับจีทีเอชเพราะได้รางวัลเยอะมาก คนชื่นชม"
โดย "ทุนสัญลักษณ์มาจากการที่ได้ทุนเครือข่ายที่แข็งแกร่ง เช่น ได้แกรมมี่ที่มีเพลงเก่าๆ ดีๆ รวมถึงมีคุณ "วิสูตร พูลวรลักษณ์" เชี่ยวชาญทางด้านหนัง รวมถึงหับโห้หิ้นที่เป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์คุณภาพ
"แม้บางเรื่องจะไม่ได้เงินแต่เป็นสัญลักษณ์ว่าเขาทำงานคุณภาพได้ บางเรื่องถูกมองว่าไร้สาระได้เงินได้ยังไง มันมีผลพวงมาจากเขามีทุนสัญลักษณ์ที่ดีและคนเชื่อมั่นในแบรนด์ของเขานั่นเอง"
ถึงอย่างนั้นต้องยอมรับว่า หลังจากลองทำมาทุกแนวจนจับทางได้ทำให้ตั้งแต่ "รถไฟฟ้ามาหานะเธอ" เป็นต้นมา จีทีเอชมักสร้างหนังผีและหนังตลกซะส่วนใหญ่เพราะค่อนข้างปลอดภัยไม่ขาดทุน
สุดท้ายประกายกาวิลจึงว่า "จากทั้งหมดถ้าถูกบังคับแบบนี้ อัตลักษณ์หรือความเป็นหนังที่สะท้อนออกมาเป็นที่มาของภาพยนตร์สะท้อนวิถีชีวิตของคนชั้นกลางที่ต้องการหลุดพ้น หรืออยากเป็นแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพ การศึกษา รายได้"
"ความเป็นจีทีเอช คือ ภาพยนตร์ที่เป็นอุดมคติของคนชั้นกลาง"
"ที่คนส่วนใหญ่ล้วนอยากได้ อยากเป็น"