วิจารณ์หนัง NO ESCAPE ทางนั้นไม่ใช่ทางออก
ความน่าสนใจประการหนึ่งที่ทำให้หนังอย่าง NO ESCAPE เป็นมากกว่าหนังเกรดบีแสนธรรมดาที่ว่าด้วยการกระเสือกกระสนเอาตัวรอดของฝรั่งตาน้ำข้าวที่เดินทางมายังประเทศโลกที่สามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสภาวะไร้ทางเลือก เพราะการเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องดูแลตัวเองและอีกสามชีวิตในบ้านผลักดันให้วิศวกรวางระบบประปาอย่าง แจ็ค ดไวเยอร์ (โอเว่น วิลสัน) ต้องย้ายตัวเองจากบ้านเกิดมาเพื่อทำงานในแดนต่างบ้านต่างเมือง แน่นอนเมื่อเครื่องบินลงจอดเขาก็พบกับสภาพความพิลึกพิลั่นของประเทศสมมติ (ซึ่งบริบทคาดเดาได้ว่านี่แหละไทยแลนด์)
แจ็คทอดสายตาไปเจอกับบรรดาโชเฟอร์รถแท็กซี่ที่ดูพยายามยื่นข้อเสนอการโดยสารรถ (แบบที่เราเห็นชินตากันตามสนามบิน) ก่อนที่ แฮมมอนด์(เพียร์ซ บรอสแนน) จะโผล่ขึ้นมาและแนะทางว่าพวกนี้ก็เหมือนมิฉาชีพดักนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพื่อหลอกเอาเงิน เขาจึงพาแจ็คไปขึ้นรถกระป้อที่ดูปุโรทั่งและมีคนขับชาวเมืองที่ดูท่าทางประหลาดๆ แต่เป็นมิตร หลังจากถึงโรงแรม แจ็คและครอบครัวก็พบกับความพิลึกประการต่อมาเมื่อโรงแรมไม่ได้เพียบพร้อมสมบูรณ์นัก และในคืนที่เขากำลังหลับอยู่บนเตียงนั้น เสียงดังบางอย่างก็ดังขึ้น โดยที่เขาไม่รู้เลยว่าวันพรุ่งนี้ครอบครัวของเขากำลังจะตกอยู่ในอันตราย
เช้าวันถัดมาเหตุการณ์ความรุนแรงก็ก่อตัวขึ้นเมื่อบรรดากลุ่มปฏิวัติลุกขึ้นมาไล่ล่าฆ่าฝรั่งในเมืองอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งเหตุการณ์ในหนังตอนนี้ก็เป็นช่วงเวลาขายความระทึกขวัญที่ตัวละครแจ็คจะต้องพยายามช่วยเหลือลูกเมียให้หนีรอดปลอดภัยจากการโอบล้อมของชาวเมืองที่ดูบ้าคลั่งจนเสียสติ
หนังได้เผยฉากที่แจ็คเดินดูบรรยากาศของเมืองๆนี้ด้วย “สายตา” ฉงนสงสัยในความเป็นอยู่ของผู้คน ตลาดสดที่ดูสกปรกจอแจ คนพื้นเมืองที่ดูจะไม่ค่อยเข้าใจในภาษาอังกฤษ ก่อนที่ความรุนแรงจะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มปฏิวัติโจมตีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ็คก็เหลือบไปเห็นแม่ลูกคนพื้นเมืองที่กำลังตกอยู่ในอันตราย แน่นอนว่าตัวละคร “พระเอก” จะต้องเข้าไปปกป้องสองแม่ลูก ซึ่งมองในอีกแง่หนึ่งก็คือมันเป็นวิธีการคิดแบบ “อเมริกันฮีโร่” คือการที่คนขาวเข้าไปยื่นมือช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่าหรือการช่วยเหลือประเทศโลกที่สามนั่นเอง
พฤติกรรมดังกล่าวสอดรับกับแนวคิดของหนังที่เป็นชนวนความขัดแย้งของเรื่องได้อย่างพอดิบพอดี เมื่อกลุ่มปฏิวัติลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลและทำรัฐประหารด้วยการใช้ความรุนแรงฆ่าชาวต่างชาติเพราะการลงนามให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานประปาในประเทศ ทำให้บรรดาคนพื้นเมืองรู้สึก “เสียผลประโยชน์” บางอย่างไป ในขณะที่ตัวละครอย่างแจ็คกลับมองในวิถีของคนขาวประเทศโลกที่ 1 ว่าพวกเขามาเพื่อพัฒนาและกระจายความเจริญให้ (เป็นวิธีการมองโลกแบบเดียวกับช่วงการล่าอาณานิคมและเผยแพร่ศาสนาคริสต์)
นอกจากการแทรกทัศนคติของตัวละครผ่านวิธีการเล่าเรื่องราวแล้ว หนังยังเล่นกับความคุ้นเคยของผู้ชมไม่ว่าจะเป็นฉากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งปกติแล้วในหนังฮอลลีวูดส่วนมากการปรากฏตัวของพาหนะดังกล่าวหมายถึง “การช่วยเหลือ” แต่ใน NO ESCAPE มันเหมือนสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่นเดียวกับความพยายามเดินทางไปยังสถานทูตพวกครอบครัวดไวเยอร์ก็พบว่านั่นก็ไม่ใช่ทางรอดอีกเช่นกัน
แม้ NO ESCAPE จะไม่ได้มีอะไรใหม่ทั้งวิธีการเล่า หรือการแสดงทัศนคติของคนขาวต่อประเทศโลกที่สาม แต่มันก็เป็นหนังที่ดูเพลินๆและมีอะไรให้ชวนเก็บมาคิดเยอะทีเดียว
@พริตตี้ปลาสลิด
3 คะแนนจาก 5 คะแนน