ปวดตับ... เราเรียนรู้อะไรจากการที่ “อาบัติ” โดนแบน

ปวดตับ... เราเรียนรู้อะไรจากการที่ “อาบัติ” โดนแบน

ปวดตับ... เราเรียนรู้อะไรจากการที่ “อาบัติ” โดนแบน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาบัติ ไม่ใช่หนังไทยเรื่องแรกที่โดน “แบน” ในประเทศไทย อันที่จริงมันเป็นหนังไทยอีกเรื่อง ในรอบไม่กี่ปี ที่โดนสั่งห้ามไม่ให้ฉายอีกแล้ว เพราะก่อนหน้านี้หนังอย่าง Insects in the Backyard ของผู้กำกับธัญญ์วาริน สุขพิสิธ ที่เป็นหนังชายรักชายที่มีความรุนแรงทางด้านเนื้อหาที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ให้เหตุผลในการแบนว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดีต่อประชาชน และบางฉากมีการนำเสนอภาพขององคชาต, การร่วมเพศ และการค้าประเวณี

 

ไม่เพียงเช่นนั้นก่อนหน้านี้เช็คสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) หนังที่ดัดแปลงมาจากบทละครโศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ ของเชคสเปียร์ก็ถูกแบนเพราะว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ให้เหตุผลในการแบนว่า มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ เพราะมีการพาดพิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์ไม่สงบเดือนเมษายน 2552

 

ยังไม่รวมถึงหนังที่ไปกวาดคำชมในต่างประเทศมาอย่างกว้างขวางอย่างแสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) ที่ผู้กำกับอย่างอภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล ตัดสินใจ “แบน” หนังตัวเองเพราะคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ยินยอมให้ฉายก็ต่อเมื่อตัดฉาก 1) ฉากพระเล่นกีตาร์ 2) ฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะปฏิบัติหน้าที่ 3) ฉากหมอชายจูบแสดงความรักกับแฟนสาวที่แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล และเกิดอารมณ์ทางเพศจนเห็นความผิดปกติของเป้ากางเกง และ 4) ฉากพระเล่นเครื่องร่อน

บรรดาฉากจากเรื่องแสงศตวรรษที่เป็นประเด็นนั้นสะท้อนให้เราเห็นว่า “คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์” มองประเด็นเรื่องความอ่อนไหวของ “อาชีพ” ทั้งหมอ และ ความอ่อนไหวด้าน “ศาสนา” ที่หลงลืมความเป็นมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเรามัวแต่มองบรรดาอาชีพเหล่านี้ในแง่ของคุณธรรมหรือคุณงามความดีราวกับบรรดาอาชีพหมอนั้นต้องเป็น ROLE MODEL หรือตัวอย่างทางสังคมจนหลงลืมไปว่าคนเป็นหมอหรือพระนั้นต่างก็เป็น “มนุษย์” เช่นเดียวกัน และแน่นอนว่าในแง่ของความเป็นมนุษย์นั้น ทุกคนล้วนสามารถทำในสิ่งที่ดีหรือเลวหรือเป็นเรื่องที่ไม่ได้เป็นไปตามครรลองของศีลธรรม ค่านิยม หรือกระทั่งขนบธรรมเนียมประเพณีได้ทั้งนั้น 

 

เช่นเดียวกันกับการหยิบกรอบแนวคิดดังกล่าวมามองการแบนหนังอย่าง “อาบัติ” ที่บรรดาคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์แบนหนังด้วย 4 เหตุผลดังต่อไปนี้ 

1.ปรากฏภาพสามแณรเสพย์ของมึนเมา

2.มีภาพสามเณรใช้ความรุนแรง 

3.พูดความสัมพันธ์และใช้คำพูดเชิงชู้สาวที่ไม่เหมาะสม 

4.มีการแสดงความไม่เคารพต่อพระพุทธรูป

เหตุผลทั้งสี่ข้อจึงทำให้คณะกรรมการไม่ยินยอมให้หนังได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งเหตุการณ์ในทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับหนังเรื่อง “นาคปรก” ออกฉายเมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553 ได้รับการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ประเภท น 18+ ซึ่งมีเรื่องราวของโจรที่ใช้ผ้าเหลืองเอามาเป็นเกราะกำบังความจริง และแน่นอนมันเกิดกระแสฮือฮามากจนสมาคมพุทธศาสน์สัมพันธ์พร้อมกับองค์กรอาสาสมัครเพื่อสันติภาพโลก ได้ยื่นหนังสือต่อทางกระทรวงวัฒนธรรมให้ห้ามการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากอ้างว่าทำให้ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์เสื่อมเสีย แต่ท้ายที่สุดหนังก็ได้เข้าฉายและแน่นอนว่าตัวหนังได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวก รวมไปถึงบรรดานักแสดงที่เข้าถึงบทบาทจนได้รับรางวัลตามเวทีต่างๆมากมาย 

อย่างไรก็ตามหนังที่เกี่ยวข้องกับ “พระ” ที่ได้เข้าฉายอย่างปกติในประเทศไทยนั้น ส่วนมากมักจะเป็น “ด้านบวก” หรือ “ด้านดี” ของผ้าเหลืองทั้งสิ้นอาทิเช่น โอเค เบตง, 15 ค่ำเดือน 11, มากับพระ, หลวงพี่เท่ง, หลวงผีกับผีขนุน หรือแม้กระทั่งขรัวโต อมตะเถระกรุงรัตนโกสินทร์ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีหนังที่เกี่ยวข้องกับพระมากมายแต่มักจะถูกนำเสนอแต่ในแง่บวกเท่านั้น 

 

แน่นอนว่าข่าวในชีวิตจริงที่ออกมาในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้งเราก็ยังคงเห็นพระทำละเมิดศีล หรือแม้กระทั่งทำผิดกฎหมายก็ตาม เราคงไม่สามารถก้มหน้าก้มตาแล้วบอกว่าการที่หนังเรื่องอาบัติถูกสร้างออกมาแล้วจะทำให้ศาสนาพุทธเสื่อมเสียหรือเป็นการ “ประจาน” ศาสนาพุทธ ดังเช่นที่ คุณขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ ประธานคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จากคลิปรายการไทยบันเทิงจากช่อง THAIPBS https://youtu.be/blnOIqsmmPg  ได้กล่าวไว้ว่า “เราก็ไม่ได้มองว่าผู้สร้างมีเจตนาดูหมิ่นเหยียดหยามหรอกนะ แต่การที่เอาภาพเชิงลบของพระมาเนี่ย มันแสดงถึงลักษณะของการประจาน” เพราะเจตนาของผู้สร้างไม่ได้ทำหนังเรื่องนี้เพื่อทำลายศาสนา อันที่จริงมันน่าจะทำให้บรรดาคนปกติในสังคมเข้าไปชมแล้ว “คิดตาม” และแยกผิดชอบชั่วดีได้ด้วยตนเอง

เหตุใดเราจึงต้องให้คนเพียงไม่กี่คน “คิดแทน” และเหตุใดเหตุการณ์แบบนี้ถึงเกิดขึ้นทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี “ระบบเรตติ้ง” ซึ่งเป็นตัวคัดกรอง แยกแยะและกำหนดอายุผู้ชมอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ปมปริศนาเรื่องการแบนหนังของประเทศไทยยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นเลยว่าเรายังอยู่ในประเทศที่คนเพียงหยิบมือยังมองว่าหนังเพียงเรื่องเดียวจะสร้างความสั่นสะเทือนให้กับระบบระบอบศีลธรรมอันดีของประเทศ หรือแม้กระทั่งเชื่อว่าคนในประเทศยังไม่สามารถจะแยกแยะได้ว่า “ความบันเทิง” หรือเรื่องสมมติในภาพยนตร์นั้นจะเป็นสิ่งที่ตราหน้าองค์กรใดองค์กรหนึ่งได้จริง

อย่างไรก็ตามการ “แบน” อะไรก็ตามก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นทั้งสิ้นกับสังคมที่อยู่ในระบบประชาธิปไตย เพราะระบอบการปกครองเช่นนี้คือการที่เราเชื่อมั่นในความคิดของมนุษย์และเหตุผล หาใช่การคิดแทนประชาชนแล้วชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ คนในสังคมควรมีโอกาส “ตัดสิน” ภาพและเสียงที่เห็นด้วยวิจารณญาณของพวกเขาเอง 

@พริตตี้ปลาสลิด 

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ ปวดตับ... เราเรียนรู้อะไรจากการที่ “อาบัติ” โดนแบน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook