วิจารณ์หนัง อาปัติ เมื่อผ้าเหลืองไม่ได้ช่วยอะไร
หากว่าสัปดาห์ก่อนเป็นช่วงเวลาที่หนังอย่างอาบัติเป็นข่าวดังระดับประเทศเพราะหนังโดนแบนและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู แน่นอนกองพิจารณาภาพยนตร์กลายเป็นเป้าโจมตีหลักของเหล่านักสื่อสารมวลชน รวมไปถึงคนในสังคมว่าการ “ไม่ยอมให้หนังเรื่องนี้ได้ฉายนั้น” เป็นทางออกที่ถูกควรแล้วหรือ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหนังจะไม่ได้ฉายเลยเสียทีเดียวถ้าผู้สร้างหรือสตูดิโออย่างสหมงคลฟิล์มจะนำหนังกลับไป “ตัดต่อใหม่” และนำกลับมาให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง และผลลัพธ์ท้ายที่สุดคือหนังในเวอร์ชั่นที่ผ่านการตัดทอนแล้วเรียบร้อยก็สามารถได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมกับชื่อหนังใหม่ที่เปลี่ยนเป็น “อาปัติ”
เอาเข้าจริงตัวหนังก็ไม่ได้ “สะเทือนหรือเป็นการประจานด้านลบของวงการผ้าเหลืองเท่าไหร่” เพราะเอาเข้าจริงๆ (รวมถึงอนุมานไปถึงหนังในเวอร์ชั่นที่ไม่ได้ตัดทอน) ประเด็นของหนังแทบไม่ลงลึกถึงความเป็น “พระ” สักเท่าไหร่เลยด้วยซ้ำไป เพราะอันที่จริงแล้วมันพูดถึงความ “ไม่พร้อม” ของบรรดาผู้คนในสังคมที่กระโจนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แบบที่ตัวเองก็หาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ว่าพวกเขา “บวช” เพื่ออะไร
ตัวละครหลักของเรื่องอย่างซัน(ชาลี ปอทเจส) ถูกจับโกนหัวนุ่งผ้าเหลืองด้วยความไม่พร้อม ช่วงแรกของหนังเราจะได้เห็นเลยว่าตัวละครนี้ไม่สามารถละเรื่องทางโลกได้เลย ตั้งแต่การติดต่อกับแฟน ปลีกวิเวกออกมาเพื่อสูบบุหรี่ หรือแม้กระทั่งไม่สามารถตัดกิเลสข้อกามเมได้เลย อย่างไรก็ตามการที่ซันตัดสินใจจะเลือกไปอยู่กุฏิร้างที่แทบจะไม่มีใครเข้ามาพัก เขาให้เณรซันได้พบกับพระทิน (กิก-ดนัย จารุจินดา) ที่กลายมาเป็นพระพี่เลี้ยงให้กับซัน และด้วยคำพูดที่เป็นนัยยะให้เณรซันระวังตัวเองด้วยการเตือนว่าอย่า “ถอดผ้าเหลืองออก” ยิ่งทำให้ซันเริ่มหวาดกลัวอะไรบางอย่างจนกระทั่งเขาเริ่มมองเห็น “บรรดาสัมภเวสี” ในละแวกนั้น
เอาเข้าจริงตัวหนังแทบไม่ได้มีอะไรใหม่ในฐานะที่มันเป็น “หนังผี” เลยด้วยซ้ำไป ตัวหนังเลือกจะจู่โจมคนดูด้วยการสาดเสียงประโคมแก้วหูแทบดับเพียงเพราะต้องการให้คนดูสะดุ้งตกใจ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วถ้าหนังไม่ได้ตะบี้ตะบันเร่งเสียงดังเช่นนี้และไปให้เวลากับความอ้อยอิ่งของความสัมพันธ์ตัวละคร (ซึ่งก็ไม่แน่ใจอีกเช่นกันว่าในเวอร์ชั่นสมบูรณ์นั้น หนังได้เชื่อมโยงรายละเอียดในเรื่องดีกว่าที่เป็นอยู่หรือเปล่า)
ความน่าเสียดายของหนัง “อาปัติ” ก็คือหนังไม่ได้เล่นท่ายากในการสะท้อนเรื่องกฎแห่งกรรม ซึ่งหนังเลือกวิธีการนำเสนอแบบเรียบง่ายที่สุดนั่นคือการสะท้อนตัว “กรรมชั่ว” การละเมิดศีลให้กลายเป็นด้านมืดหรือมีสมการเท่ากับการตายไปแล้วเป็นสัมภเวสี ซึ่งตัวละครในเรื่องที่ทำกรรมชั่วก็ต้องได้รับผลของการกระทำ ซึ่งมันเป็นการให้ข้อคิดกับคนดูแบบง่ายๆไม่ต้องคิดหลายตลบซึ่งเอาเข้าจริงบทของหนังเรื่องนี้ก็มีความใกล้เคียงกับละครทางฟรีทีวีอย่างบันทึกกรรม หรือ ฟ้ามีตา ที่เป้าประสงค์ของมันก็คือเตือนสติคนดู
อย่างไรก็ตามถ้ากองพิจารณาภาพยนตร์มองเห็นว่าหนังเรื่องนี้เป็นภัยคุกคามวงการผ้าเหลือง เราสามารถพูดได้อย่างเต็มคำว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังนั้นแทบไม่ได้มีความเข้มข้นเท่าที่เราได้อ่านในข่าวบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หรือกระทั่งตามโซเชียลมีเดียเลยแม้แต่น้อย
@พริตตี้ปลาสลิด
3 คะแนนจาก 5 คะแนน
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ