วิจารณ์หนัง COP CAR – อย่าแหยมกับรถตำรวจ

วิจารณ์หนัง COP CAR – อย่าแหยมกับรถตำรวจ

วิจารณ์หนัง COP CAR – อย่าแหยมกับรถตำรวจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์ในหนังเรื่อง COP CAR จัดได้ว่าเป็นเรื่องราวประเภทที่ตัวละครหลักของเรื่องไปอยู่ผิดที่ผิดทาง สืบเนื่องมาจากการที่ทราวิส (เจมส์ ฟรีดสัน จอห์นสัน) และ แฮร์ริสัน (เฮยส์ เวลล์ฟอร์ด) เด็กชายสองคนเดินเล่นกันเพียงลำพัง แต่ฉากเปิดเรื่องของหนังเราจะได้เห็นเด็กชายทั้งสองเดินข้ามผ่านทุ่งหญ้าเขียวขจีไปสู่ป่าที่มีสภาพทึบๆ โดยในระหว่างนั้นกิจกรรมที่เด็กทั้งสองทำก็คือการฝึกคำหยาบคาย และนั่นทำให้เราได้เห็นว่าเด็กทั้งสองกำลังจะข้ามวัยจากเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ กระนั้นทั้งคู่ก็ยังไม่ประสีประสาในหลายเรื่อง 

การที่เด็กทั้งสองเดินไปพบกับรถตำรวจที่ถูกจอดทิ้งเอาไว้ ตอนแรกทั้งสองก็ไม่กล้าไปยุ่ง จนกระทั่งเด็กน้อยเจอกุญแจรถ พวกเขาจึงนึกสนุกและตัดสินใจเอามันไปขับเล่นตามทุ่งและบนถนนที่ราวกับว่าโลกใบนี้เป็นของพวกเขา 

อีกด้านหนึ่งของเหตุการณ์เมื่อนายอำเภอ ตำรวจเจ้าของรถเครทเซอร์ (เควิน เบคอน) ซึ่งบนรถนั้นมีร่องรอยหลักฐานบางอย่าง ที่อาจสาวไปเจอต้นตอบางอย่างจนสั่นคลอนการงาน เขาจึงพยายามจะทวงคืนรถของตัวเอง แต่ระหว่างนั้นเองเครทเซอร์ก็พยายามปกปิดร่องรายของตัวเองไม่ว่าจะเป็นการอำพรางสถานการณ์ 

ระหว่างทางของหนัง COP CAR เราแทบจะมีความรู้สึก “เข้าข้าง” และเอาใจช่วยตัวละครทั้งสองฝ่ายไม่ว่าฝ่ายเด็ก ที่หลายครั้งหลายตอนหนังก็เล่นกับ “ความไม่รู้” ของเด็กน้อยไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็ว, การจับอาวุธ ที่คนดูก็ได้แต่รู้สึกเสียวสันหลังวาบทุกครั้งที่พวกเขาง้าวไกปืนแล้วหันปากกระบอกปืนใส่เพื่อนตัวเอง เพราะเราก็ไม่รู้อีกเช่นกันว่ามันจะเกิดลั่นขึ้นมาเมื่อไหร่, เสียงวอฯ ทวงคืนรถของเครทเซอร์ ที่เราก็ได้แต่ลุ้นว่าเด็กๆเหล่านี้จะโดนกระทำอันตรายอะไร 

ขณะที่ฝั่งตรงข้ามอย่างตัวเครทเซอร์เอง เราก็ได้แต่ลุ้นว่าความผิดที่เขาปกปิดไว้ จะนำภัยมาสู่ตัวเขาอย่างไรบ้าง และเขากระทำอะไรผิดมา จึงต้องเสียขวัญและพยายามอำพรางเรื่องราวขนาดนั้น แต่แน่นอนว่าตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็น “ไหวพริบ” ของตัวละครนี้ในการปกปิดหลักฐานในระดับชั้นเซียน จนเราคล้อยตามไปว่าบางทีเราก็อยากให้ตัวละครนี้สามารถเอาตัวรอดและกลบเกลื่อนความผิดของเขาได้ในตอนท้าย 

ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้สนุกไปกับการลุ้นตัวละครทั้งสองฝ่าย ทั้งที่ทั้งสองด้านไม่ได้เป็น “คู่ปรับ” ที่สมน้ำสมเนื้อกันแม้แต่น้อย แต่ในความไม่สมดุลกันของตัวละครยิ่งทำให้เรา “เทใจ” เอาใจช่วยอีกฝ่ายอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเดินทางมาถึง 

อาจจะกล่าวได้ว่า COP CAR เป็นหนังที่สถานการณ์ในหนังเกิดขึ้นและจบในวันเดียว อีกทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันในช่วงเวลาไม่นาน แต่กลับทำให้ผู้ชม “สนุก” และลุ้นตามไม่น้อยทีเดียว 

4 คะแนนจาก 5 คะแนน

@พริตตี้ปลาสลิด 

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง COP CAR – อย่าแหยมกับรถตำรวจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook