ดูแล้วบอกต่อ วิจารณ์หนัง TRAIN TO BUSAN มองเกาหลีผ่านขบวนรถไฟ
แม้ว่าสิ่งที่ห่อหุ้มหนังเรื่อง TRAIN TO BUSAN เอาไว้ อาจะทำให้หนังเรื่องนี้เป็นแค่หนังซอมบี้และหนังที่ตัวละครต้องเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์คับขันก็ตามที แต่เอาเข้าจริงหนังเรื่องนี้ก็ย่อและจำลองสภาพของสังคมเกาหลีเอาไว้ให้ผู้ชมได้เห็นได้น่าสนใจมาก
หนังอาจจะไม่ได้เกริ่นถึงที่มาของซอมบี้ว่าพวกมันมาจากที่ไหนอย่างชัดเจนนัก (รายละเอียดส่วนนี้อาจจะต้องดูในเวอร์ชั่นแอนิเมชั่นเรื่อง Seoul Station ที่เข้าฉายในเกาหลีไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมาหลังจาก TRAIN TO BUSAN เข้าฉายไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม) แต่ความคลุมเครือและไม่กระจ่าง ทำให้เราเริ่มหันมาโฟกัสที่ตัวละครซอกวู(กง ยู) คุณพ่อลูกหนึ่งที่ทุ่มเทเวลาในการทำงานเป็นผู้จัดการกองทุน ที่มีเงินมากมาย แต่ไม่มีเวลาดูแลลูกจนของขวัญวันเกิด เขาก็ไม่เคยจำได้เลยด้วยซ้ำว่าเคยซื้ออะไรให้ มิติของความสัมพันธ์ระหว่างเขาและซูอาน(คิม ซูอาน) จึงเป็นไปอย่างไม่ค่อยดี จนกระทั่งซูอานขอร้องว่าวันเกิดนั้นเธอจะเดินทางไปหาแม่ที่ปูซาน การเดินทางระหว่างพ่อลูกจึงเริ่มต้นขึ้น
รุ่งเช้าของอีกวันซอกวูและซูอานจึงรีบมาขึ้นรถไฟให้ทันเวลา โดยหารู้ไม่ว่าหายนะกำลังคืบคลานเข้ามา เมื่อมีผู้โดยสารหญิงท่าทางประหลาดขึ้นมาบนโบกี้ และเมื่อเธอเริ่มคลั่งและกัดผู้โดยสารคนอื่น เมื่อนั้นเองเชื้อซอมบี้ก็ระบาดอย่างรวดเร็ว ผู้โดยสารต่างก็เริ่มเอาชีวิตรอด โดยหนังก็สร้างเงื่อนไขบางอย่างให้เราได้เห็นว่าพฤติกรรมของซอมบี้ในหนังเรื่องนี้เป็นอย่างไร ตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างไร และพวกมันโจมตีมนุษย์แบบไหนบ้าง
หลังจากที่เราได้เห็นเงื่อนไขเหล่านั้น หนังก็พาผู้ชมไปสู่ความระทึกทีละขั้น เมื่อรถไฟแวะจอดที่กลางทาง การแวะไปช่วยคนรู้สึกในโบกี้หลังที่ระหว่างโบกี้เองเต็มไปด้วยซอมบี้กระหายเลือด โดยเหตุการณ์ระหว่างนี้เองทำให้เรา “มองเห็น” สัญชาติญาณดิบของมนุษย์ว่าใครๆก็รักตัวกลัวตายทั้งนั้น โดยตัวละครที่เป็นด้านมืดที่สุดของมนุษย์ถูกจำแลงออกมาในร่างของยงซุก (คิม อุยซุง) ผู้บริหารบริษัท ผู้ที่สามารถทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองสามารถรอดชีวิต ไม่ว่าคนอื่นจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร เขาก็ต้องรอดเสมอ!
เอาเข้าจริงแล้วตัวละครของซอกอูเองก็ไม่ได้เป็นตัวละคร “ขาว” เสียทีเดียว เพราะจริงๆในตอนแรก เขาก็เลือกจะ “เห็นแก่ตัว” เพื่อปกป้องชีวิตของตัวเองและลูกสาวเช่นกัน เหล่านั้นสะท้อนให้เราเห็นว่าจริงๆแล้วสังคมเกาหลีนั้นก็เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความเป็นปัจเจก เห็นแก่ตัว และพยายามเอารัดเอาเปรียบกันเมื่อสบโอกาส (จริงๆพฤติกรรมเช่นนี้ก็มีในทุกๆสังคม) แต่ในสังคมที่ทุกอย่างคือ “การแข่งขัน” ไม่ว่าจะวงการธุรกิจหรือวงการบันเทิงเกาหลี ทุกอย่างมีแค่ “ผู้ชนะและผู้แพ้” TRAIN TO BUSAN จึงจำลองสภาพสังคมเกาหลีมาอยู่บนขบวนรถไฟ โดยมีซอมบี้เป็นตัวกระตุ้นสัญชาติญาณดิบของตัวละครให้เผยธาตุแท้ออกมานั่นเอง
TRAIN TO BUSAN เป็นหนังที่มอบทั้งความบันเทิงและประเด็นชวนขบคิดไปพร้อมๆกัน ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมนี่ถึงเป็นหนังที่คนดูที่คานส์จะชอบและยืนปรบมือให้นานกว่า 10 นาทีหลังหนังจบ!
4.5 คะแนนจาก 5 คะแนน
@พริตตี้ปลาสลิด
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ