ดูแล้วบอกต่อ วิจารณ์หนัง SEOUL STATION กรรมของคนข้างล่าง

ดูแล้วบอกต่อ วิจารณ์หนัง SEOUL STATION กรรมของคนข้างล่าง

ดูแล้วบอกต่อ วิจารณ์หนัง SEOUL STATION กรรมของคนข้างล่าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าหากหนังอย่าง Train to Busan จะครองใจคนดูไปทั่วบ้านทั่วเมือง (จนล่าสุดหนังจะมีโครงการภาคต่อในเร็ววันแล้ว) ด้วยกระแสที่กำลังฮิตติดลมบน การมาถึงของ SEOUL STATION (ซึ่งเป็นแอนิเมชั่นอันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ในหนัง Train to Busan) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของเฮซอน ที่หนีออกจากบ้านและมาทำอาชีพเป็นผู้หญิงขายบริการอยู่แถวใจกลางกรุงโซล เธอใช้ชีวิตอยู่กับแฟนหนุ่มที่จะว่าไปแล้วเขาก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน หรือกล่าวง่ายๆว่า เขาเป็นแมงดาเกาะเฮซอนกินไปวันๆ 

ขณะเดียวกันชายแก่จรจัดที่บาดเจ็บเหมือนโดนอะไรบางอย่างกัดที่คอมานั้น ก็ไร้คนสนใจจนเขาเดินไร้เรี่ยวแรงไปนอนอยู่แถวบริเวณปากทางลงสถานีรถไฟกรุงโซล เวลาผ่านไปสักระยะตะวันใกล้ตกดิน น้องชายของชายแก่มาพบเข้าและพยายามหาทางช่วยเหลือพี่ชายของตนเองที่อาการน่าเป็นห่วงขึ้นไปทุกที แต่เหมือนสถานะ “คนจรจัด” จะไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร หากแต่พวกเขาดูเหมือนจะเป็น “ปัญหาเรื้อรัง” ของสังคมที่คนทั่วไปมองอย่างเดียดฉันท์ 

เมื่อตะวันตกดินความบ้าคลั่งก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อชายแก่กลายร่างเป็นซอมบี้และออกกัดคนไปทั่ว จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง บัดนี้เชื้อได้ระบาดไปทั่วเมืองผู้คนเริ่มกลายร่างเป็นซอมบี้ไล่กัดกินกันเอง บรรดาผู้รอดชีวิตอย่างเฮซอน ชายจรจัด และซุกคิวผู้เป็นพ่อของเฮซอน ต่างก็ต้องเอาชีวิตรอด 

SEOUL STATION เป็นแอนิเมชั่นก็จริง แต่ประเด็นที่หนังนำเสนอนั้นกลับเข้มข้นและมืดดำกว่าในเวอร์ชั่นของ Train to Busan เนื่องจากหนังพยายามจะโฟกัสไปที่บรรดาตัวละครชนชั้นล่างของสังคมไม่ว่าการที่นางเอกของเรื่องประกอบอาชีพโสเภณี มีแฟนหนุ่มเป็นแมงดา มีคนจรจัดที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้า ซึ่งบรรดาตัวละครเหล่านี้ดูไม่น่าจะมาเป็นตัวเดินเรื่องได้ด้วยซ้ำ 

ยิ่งไปกว่านั้นหนังก็ไม่พยายามเอาอกใจเอาใจดูด้วยการทำให้ตัวละครเหล่านี้เป็นที่รักแบบตัวละครใน Train to Busan เลยสักนิด พวกเขาไม่ได้ทำตัวฉลาด (อันที่จริงตัวละครเหล่านี้ใกล้เคียงกับเส้นแบ่งของความน่ารำคาญ แต่โชคดีที่หนังไม่ได้ถึงกับข้ามเส้นนั้นไป) พวกเขามีพฤติกรรมในแบบที่ “คนไร้ทางออกของชีวิต” จะคิดได้ หนึ่งฉากที่ผู้เขียนคิดว่ามันสะท้อนความน่าโศกเศร้าของพวกเขาออกมาได้ดีที่สุด ก็คือฉากที่เฮซอนเดินไปตามรางรถไฟใต้ดินกับชายจรจัดและพูดถึง “บ้าน” ทั้งสองต่างก็ร่ำไห้ออกมาว่า ถ้าหากมันมีสถานที่นั้นให้พวกเขากลับไปก็คงจะดี (นั่นหมายความพวกเขานิยามคำว่าบ้านคือสถานที่ที่มีคนในครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นสถานที่แห่งความสุขที่พวกเขาโหยหา) ฉากนี้สะท้อนความจนตรอกไร้หนทางของตัวละครได้เป็นอย่างดี 

เหนืออื่นใดคนที่คาดหวังความระทึกแบบนันสตอปแบบ Train to Busan คงจะผิดหวัง เพราะสำหรับ SEOUL STATION แล้วไม่ได้อัดแน่นด้วยฉากไล่ล่า ตื่นเต้นตกใจ หากแต่เป็นฉากคนธรรมดาที่พยายามจะเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์ที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตพวกเขาต่างหาก 

@พริตตี้ปลาสลิด 

4 คะแนนจาก 5 คะแนน 

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ ดูแล้วบอกต่อ วิจารณ์หนัง SEOUL STATION กรรมของคนข้างล่าง

SEOUL STATION
SEOUL STATION
SEOUL STATION
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook