วิจารณ์หนัง JACKIE อีกด้านของชีวิตสุภาพสตรีหมายเลข 1
ตำแหน่ง “ภริยา” ของท่านผู้นำ หรือภรรยาของประธานาธิบดีนั้นอาจจะเป็น “สถานะในฝัน” ของผู้หญิงหลายคน ถ้าเทียบเท่ากับเรื่องราวในเทพนิยายแล้ว ตำแหน่งดังกล่าวก็ดูคล้ายคลึงกับตำแหน่งของ “เจ้าหญิง” ในประเทศที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยไม่มีกษัตริย์เป็นประมุข รูปโฉมภายนอกหรือเปลือก ทำให้ผู้คนในสังคมมองเห็นว่าตำแหน่งนี้ ผู้หญิงสามารถได้แต่งตัวสวย ได้เป็นที่นับหน้าถือตาของคนในสังคม แต่ช่วงเวลาแห่งความงดงามนี้ก็มีอายุของมันเช่นกัน เมื่อประธานาธิบดีลาตำแหน่ง พระราชวังในฝัน (ทำเนียบขาว) และยศที่ได้มาก็จะต้องถูกพรากและส่งต่ออำนาจให้ประธานาธิบดีและภรรยาคนต่อไป
น่าเสียดายที่ช่วงเวลาแห่งความสุขของ “แจ็คกี้” หรือ แจ็คเกอลีน เคเนดี้ สั้นกว่าความเป็นจริงอยู่มาก คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อของ JFK หรือประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ซึ่งเหตุการณ์ลอบสังหารช็อคโลกครั้งนั้น ทำให้ผู้หญิงคนใกล้ตัวอย่างแจ็คกี้ต้องเผชิญหน้ากับความช็อคครั้งใหญ่ในชีวิต เธอต้องรับมือกับความโศกเศร้า บาดแผลในใจที่ต้องรับการเยียวยา การกอบกู้ศรัทธาในตัวเอง และเธอยังต้องทำหน้าที่แม่ที่ต้องปลอบประโลมลูกๆถึงการจากไปของพ่อตัวเองอีกด้วย
แจ็คเกอลีน เคเนดี้ ถือเป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 ที่มีอายุน้อย ตอนที่สามีของเธอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยบุคลิกและรสนิยมในการแต่งตัวที่มีสไตล์ทำให้เธอได้รับการจับตามองจากสื่อและคนทั่วไป ส่งผลให้เธอเป็นไอคอนของผู้หญิงในอเมริกาในช่วงเวลานั้น
JACKIE เป็นหนังที่เลือกโฟกัสช่วงเวลา 7 วันหลังจากสูญเสียสามีของเธอ ความน่าสนใจของหนังอยู่ตรงที่ว่า มีหนังฮอลลีวูดมากมายที่เลือกสำรวจเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของ JFK ในมุมมองต่างๆ แต่ยังไม่มีเรื่องไหนที่โฟกัสไปในเรื่องความรู้สึกของแจ็คเกอลีน เคเนดี้เลย หนังเรื่องนี้จึงทำหน้าที่สำรวจว่าเธอรู้สึกและรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไรบ้างท่ามกลางสายตาของประชาคมโลกที่กำลังจับตามองเธออยู่ เธอจะเยียวยาตัวเองอย่างไรในสภาพจิตใจที่บอบช้ำ แตกสลาย
ยิ่งไปกว่านั้นหนังยังถ่ายทอดมุมมองผู้หญิงแกร่งในช่วงเวลาที่เศร้าโศกที่สุดในชีวิตด้วยการที่หนังเผยให้เราเห็นว่า แจ็คเกอลีน เคนเนดี้ รู้ดีกว่าใครๆ ว่าต้องมีใครสักคนลุกขึ้นมาบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสามีของเธอเอาไว้ และภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน เธอคือผู้ทำให้ JFK กลายเป็นบุคคลแห่งประวัติศาสตร์ เมื่อเธอสถาปนาตำนานของเขาขึ้นมากับมือ ผ่านพิธีศพอันยิ่งใหญ่และการสร้างเรื่องราวผ่าน “ผู้สื่อข่าว” ได้อย่างชาญฉลาด
นาตาลี พอร์ตแมน ถ่ายทอดช่วงเวลาแห่งความน่าเศร้าสลดออกมาได้อย่างหมดเปลือก ยังไม่รวมถึงการแสดง “เลียนแบบ” แต่ตีความในมุมมองของเธอเองได้อย่างยอดเยี่ยม ทรงพลัง ส่งความรู้สึกถึงคนดู ยิ่งไปกว่านั้นด้วยเทคนิคการถ่ายภาพแบบโคลสอัพและฟูลช็อต ทำให้ผู้ชมสัมผัสถึงความรู้สึกจากการแสดงของเธอได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งบอกได้เลยว่าความ “สมจริง” นี้เองทำให้คนดูรู้สึกหม่นเศร้าร่วมไปกับเธอไม่น้อยเลย
@PRETTYPLASALID
4.5 คะแนนจาก 5 คะแนน
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ