10 เลขสำคัญแห่งรางวัลออสการ์
สำหรับคอหนังคงไม่พลาดรางวัลยิ่งใหญ่ที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี งานประกาศผลรางวัลออสการ์ 2017 ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 89 โดยวันประกาศผลรางวัลจริงๆ จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 (ซึ่งตรงกับช่วงเช้าของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ในบ้านเรา)
จากผลประกาศรางวัลออสการ์ที่ผ่านมา สร้างเรื่องราวและประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ให้กับวงการภาพยนตร์ไม่น้อย แต่จะมีเรื่องอะไรบ้างนั้น Sanook! Movie สรุปเป็น 10 ตัวเลขสำคัญๆ มาเล่าเรื่องกันแบบง่ายๆ เชื่อไหมว่ารางวัลออสการ์สำหรับบางคนก็เป็นอาถรรพ์
มีนักแสดงชาย 2 คนได้รับรางวัลออสการ์หลังจากที่พวกเขาเสียชีวิตไปแล้ว คนแรกในประวัติศาสตร์คือ ปีเตอร์ ฟิช ซึ่งเขาได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Network ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 49 ในปี 1977 ส่วนคนที่ 2 คือฮีธ เลดเจอร์ ซึ่งได้รับรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ The Dark Knight ในบทวายร้ายโรคจิตอย่างโจ๊กเกอร์
ในรางวัลออสการ์นั้นสาขาที่ “ใหญ่” ที่สุดประกอบไปด้วยสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งหนัง 3 เรื่องที่สามารถคว้ารางวัลทั้ง 5 สาขานี้มาได้พร้อมกันประกอบไปด้วย It Happened One Night" (1934), “One Flew Over the Cuckoo’s Nest” (1975) and “The Silence of the Lambs" (1991) และปีนี้ที่น่าจับตามองที่สุดก็คือภาพยนตร์เพลงอย่าง La La Land ซึ่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาหลักๆและสาขาเทคนิคสูงสุดถึง 14 รางวัล และมีโอกาสมากในการคว้าทุกรางวัลใหญ่ทั้ง 5 สาขา
ดาราชาย 7 ทหารเสือ ชิงสาขาหนังและนักแสดงจากเรื่องเดียวกัน
จากรายชื่อนักแสดงชายอันดับท็อปทั้ง 7 คน เขาคือผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนั้นๆ ทั้งในฐานะผู้อำนวยการสร้าง (โปรดิวเซอร์) และนักแสดงนำชาย
Denzel Washington จาก Fences (2016)
Bradley Cooper จาก American Sniper (2015)
Leonardo DiCaprio จาก The Wolf of Wall Street (2014)
Brad Pitt จาก Moneyball (2013)
Clint Eastwood จาก Million Dollar Baby (2005)
Kevin Costner จาก Dances with Wolves (1991)
Warren Beatty จาก Heaven can Wait (1979)
ซึ่งจากผลรางวัลออสการ์ที่ผ่านมามีเพียงภาพยนตร์เรื่อง Million Dollar Baby และ Dances with Wolves เท่านั้นที่สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ในปีนั้นๆ
เมื่อ 8 ปี ก่อน Kathryn Bigelow เป็นผู้กำกับหญิงที่ได้เข้าชิงและชนะรางวัลออสการ์จาก The Hurt Locker และหลังจากนั้นก็ยังไม่มีผู้กำกับหญิงคนไหนได้เข้าชิงในสาขานี้อีกเลย
มีผู้เขียนบท 9 คน ที่ได้เข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ขณะที่เจ้าตัวนั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว คือ Gerald Duffy จาก The Private Life of Helen of Troy (1928) Sidney Howard จาก Gone with the Wind (ชนะ 1939) Tess Slesinger จาก A Tree Grows in Brooklyn (1945) Lamar Trotti จาก There's No Business Like Show Business (1954) Robert Alan Aurthur จาก All That Jazz (1979) Carol Sobieski จาก Fried Green Tomatoes (1991) Massimo Troisi จาก Il Postino (1995) Bridget O'Connor จาก Tinker Tailor Soldier Spy (2010) ส่วนปีนี้คือ August Wilson เข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก Fences
ทาทั่ม โอ นีล คือนักแสดงที่อายุน้อยที่สุดที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์มาครอบครองตอนที่เธอมีอายุ 10 ขวบ ในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Paper Moon ในปี 1973
The Lord of the Rings: The Return of the King (2003)
ภาคสุดท้ายของมหากาพย์แหวนครองพิภพ ความสำเร็จของหนังภาคนี้นอกจากจะเป็นการรวบยอดเรื่องราวแฟนตาซีของดินแดนมิดเดิ้ลเอิร์ธแล้ว มันยังเป็นความสำเร็จแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องรายได้และคำวิจารณ์ ตัวหนังกวาดรางวัลในสาขาใหญ่ไปทั้งสิ้น 11 รางวัล เกือบครบครัน (เว้นสาขานักแสดง) อาทิในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม (ปีเตอร์ แจ็คสัน), บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และบรรดาสาขาเทคนิค
แม่ก็คือแม่ น่าจะเหมาะเอามานิยามการแสดงของเมอร์รีล สตรีฟได้ดีที่สุด เธอคือประวัติศาสตร์ เธอคือตำนานที่ยังมีลมหายใจ การแสดงอันน่าตื่นตาตื่นใจของเมอร์รีล สตรีฟคือสิ่งที่น่าจดจำในหนังทุกเรื่องที่เธอปรากฏตัว จากการเข้าชิงรางวัล 20 ครั้ง เมอร์รีล สามารถคว้ารางวัลออสการ์มาแล้ว 3 รางวัลด้วยกันจากภาพยนตร์เรื่อง Kramer vs. Kramer (1979), Sophie's Choice (1982) และ The Iron Lady (2011)
ภาพยนตร์ในยุคแรกเป็นยุคหนังเงียบ มีลักษณะเป็นขาวดำ แต่หลังจากที่โลกและเทคโนโลยีมีการพัฒนาจากหนังขาวดำก็กลายเป็นภาพสี และ Gone With the Wind คือหนังที่มีภาพสีเรื่องแรกที่คว้ารางวัลออสการ์ไปครองในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ตัวหนังพูดถึงความรักในยุคสงครามที่โรแมนติกและคลาสสิคจนถึงทุกวันนี้
สำหรับในออสการ์ปีนี้ มีคณะกรรมการทั้งหมด 6,687 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวนกรรมการ 6,261 คน (ปี 2014 มี 6,124 คน ปี 2013 มี 5,856 คน) ซึ่งในการคิดคะแนนผู้เข้าชิงนั้น จะยึดตามเกณฑ์การคำนวณ คือ จำนวนกรรมการ หารด้วย จำนวนรายชื่อที่สามารถเข้าชิงได้+1 เช่น สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สามารถมีรายชื่อผู้เข้าชิงสูงสุด 10 ที่นั่ง ก็จะใช้สูตร 6,687/10+1 เท่ากับ 608 โหวต ถ้านักแสดงคนไหนได้รับการโหวตเกินตัวเลขนี้ก็จะได้เข้าชิงออสการ์ โดยตัวเลขโหวตขั้นต่ำนี้ เรารู้จักกันในชื่อ Magic Number นั่นเอง