10 เรื่องน่ารู้ ก่อนออกไปบู๊กับ JOHN WICK CHAPTER 2
การกลับมาอีกครั้งของมือสังหารที่เลือกจะลาวงการ แต่ต้องกลับมาสู่แวดวงกระสุนปืนอีกครั้ง เพียงเพราะว่าหมาของเขาโดนฆ่าตาย และจอห์น วิคก็ต้องออกล่ากลุ่มคนเหล่านั้นให้สาสม!
1.เรื่องราวบทใหม่น่าสนใจกว่าเดิม
หลังจากชำระแค้นให้สุนัขอันเป็นที่รักของตัวเองแล้ว จอห์น วิคก็ยังพยายามออกทวงคืนรถมัสแตงปี 1969 รถคันโปรดที่ถูกแก๊งรัสเซียขโมยไป ทำให้เขาต้องออกไล่ล่าแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน นำมาซึ่งฉากซิ่งรถกลางนิวยอร์ค และทวงเอารถสุดรักกลับมา แต่แล้วเมื่อจอห์นกลับมาถึงบ้าน ซานติโน่ ดิแอนโตนิโอ (ริคคาร์โด สกามาร์ซิโอ) แก๊งมาเฟียอิตาเลียนมาเยือนถึงหน้าบ้านเขา ยื่นเหรียญทองกล่อมให้เขายอมตอบแทนบุญคุณที่เคยมีต่อกันในอดีต ตามคำสั่งของ วินสตัน (เอียน แมคเชน) เจ้าพ่อที่คุมอำนาจอยู่เบื้องหลังโครงข่ายมือสังหารแห่งโรมแรมคอนติเนนตัล เพื่อให้เคารพกฏโบราณแห่งองค์กร จอห์น จำใจรับงาน เพื่อจัดการกับ จิอันน่า (คลอเดีย เจอรินี) เจ้าแม่แห่งวงการอาชญากรรมอิตาลี ผู้เป็นพี่สาวของซานติโน่
2.ขยายโลกใต้ดินของจอห์น วิค
เมื่อเริ่มเรื่องราวใหม่ต้องมีการขยายโลกใต้ดินให้กว้างกว่าเดิม ในภาคแรกเคยมีการอ้างอิงถึงสมาคมมือสังหารที่ชื่อ “เดอะ คอนติเนนตัล” ซึ่งในหนังภาคนี้มีการเพิ่มอีกหนึ่งองค์กรที่มีชื่อว่า “เดอะ ไฮ เทเบิ้ล” (สภาสูง) เข้าไปอีก ซึ่งเป็นการรวมตัวของขบวนการนอกกฎหมายทั่วโลกนั่นเอง
3.กฏเหล็กขององค์กรมือสังหาร
ในภาคนี้สิ่งที่ถูกอ้างอิงถึงบ่อยครั้งคือองค์กรลับที่มีชื่อว่า เดอะ คอนติเนนตัล ที่เป็นรังลับขององค์กรมือสังหารมาเป็นเวลากว่าศตวรรษ องค์กรปกครองด้วยกฏเหล็กที่ใครฝ่าฝืนต้องแลกมาด้วยชีวิต หนังภาคนี้จะมีการเล่าถึงคอนเซปของ “หนี้ที่ไม่อาจชำระได้” โดยใช้เหรียญทอง หรือ “มาร์คเกอร์” จอห์น วิค ใช้สิทธิ์ มาร์คเกอร์ เพื่อจะออกจากชีวิตนักฆ่า แต่เขาก็ถูกดึงตัวกลับมาอีกครั้งด้วยมาร์คเกอร์ของซานติโน่ ซึ่งเหตุผลที่หนังใช้เหรียญมาร์คเกอร์นั้นก็เพื่อสร้างความเข้าใจที่ง่ายขึ้นกับเรื่องราวของการล้างแค้นและหนี้ที่ต้องชำระ
4.จากโลกแคบๆของภาคแรก สู่โลกที่การฆ่ามีผลกระทบ!
ในหนังภาคแรกจอห์น วิคอาศัยอยู่ในโลกที่เหมือนกับว่าการฆ่าคนไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรให้เขาต้องรับผิดชอบ แต่ในหนังภาคนี้ “อดีต” ของเขาเองกำลังตามไล่ล่าคิดบัญชีกับตัวจอห์น เมื่อกฏของมาร์คเกอร์เป็นตัวชี้วัดอนาคต และประกอบกับการตัดสินใจอย่างหุนหันของเขาแล้ว ทำให้จอห์น วิคต้องรับมือกับสิ่งที่เขาก่อไว้อย่างแสนสาหัสด้วยเช่นกัน
5.การสำรวจจิตใจของชายที่ชื่อ “จอห์น วิค”
ในหนังภาคนี้จะมีการสำรวจจิตใจเบื้องลึกของ จอห์น วิค ซึ่งเป็นคนที่มีบุคลิกในการยึดมั่นในกฏเกณฑ์การทำงานมาโดยตลอดชีวิตของเขา สิ่งสิ่งที่น่าสนใจมากในตัวละครนี้คือเขาเป็นคนที่ยึดมั่นถือมั่นในกฏ แม้ว่าเขาจะอยู่ด้านตรงข้ามของกฏหมายก็ตาม และสิ่งที่เขาเชื่อเช่นนี้นี่เองที่ทำให้จอห์นนั้นยึดติดกับ “สิ่งของ” อย่างรถมัสแตง หรือกระทั่งสุนัขในหนังภาคแรก ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับอดีตของเขานั่นเอง
6.ตัวละครจากหนังภาคแรก
วินสตัน หัวเรือใหญ่แห่ง เดอะ คอนติเนนตัล รับบทโดย เอียน แมคเชน เขากลับมาอีกครั้งในฐานะผู้ถือสมุดและผู้ถือกฏแห่งวงการโลกใต้ดิน เดอะคอนติเนนตัลเปรียบเสมือนจุดหยุดยิงที่สร้างความสนุกให้กับหนังภาคนี้อย่างชาญฉลาด
ชารอน พนักงานต้อนรับผู้ไม่เคยสะทกสะท้านสิ่งใดของ เดอะ คอนติเนนตัล รับบทนี้โดยแลนซ์ เรดดิค ซึ่งมาดนิ่งๆของเขาในหนังภาคนี้ก็มาพร้อมกับอารมณ์ขันอันน่าประหลาด
ออเรลิโอ รับบทโดย จอห์น เลอกิซาโม่ ช่างซ่อมรถคู่ใจและเพื่อนซี้ จอห์น วิค
7.วายร้ายคนใหม่ของหนังภาคนี้
ซานติโน่ ดิอันโตนิโอ วายร้ายโรคจิตรับบทโดย ริคคาร์โด สกามาร์ซิโอ ตัวละครนี้ใช้สิทธิ์เพื่อต้องการก้าวข้ามหัวหน้าคนเก่า เพื่อตั้งตัวเองเป็นใหญ่ในแก๊งมาเฟียอิตาลีรวมไปถึงพื้นที่การปกครองในโซนนิวยอร์กด้วย
ส่วนบทของจิอันนา ได้นักแสดงหญิงชาวอิตาลีอย่าง คลอเดีย เจอรินี เธอปกครองเครือข่ายอาชญากรรม จากที่ทำการสุดหรูในโรม อันที่จริงจอห์นและจิอันน่ามีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่เมื่อกฏก็คือกฏ เธอรู้ดีว่าคงไม่อาจจะหนีพ้นเงื้อมือของเขาได้การตัดสินใจของจิอันนาจึงเรียกได้ว่าเด็ดขาดและเด็ดเดี่ยว
แอรีส สาวใบ้จอมโหดหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยของ ซานติโน่ รับบทโดยสาวหน้าดุอย่าง รูบี้ โรส ซึ่งมีผลงานที่ผ่านตาคอหนังแอ็คชั่นมาแล้วอาทิ Resident Evil: The Final Chapter, xXx: Return of Xander Cage และตอนนี้เธอกำลังถ่ายทำหนังภาคต่ออย่าง Pitch Perfect 3 อยู่ด้วย
8.การโคจรกลับมาเจอกันระหว่างคีอานู รีฟส์และลอเรนซ์ ฟิชเบิร์น
ถ้าเรายังจำกันได้ คีอานู รีฟส์และลอเรนซ์ ฟิชเบิร์น ทั้งสองเคยร่วมกันมาในหนังไตรภาค The Matrix ในบทนีโอและมอร์เฟียส ครั้งนี้ฟิชเบิร์นกลับมารับบทเป็น เดอะ บาวเวอรี่ คิง นักฆ่าลึกลับที่ปกครองเครือข่ายนักฆ่าไร้บ้านที่แฝงตัวอยู่ตามท้องถนนในนิวยอร์ค จอห์นรู้ว่าถ้าหากเขาจนตรอกจริงๆ เขาจะต้องหันหน้ามาพึ่งพาจาก บาวเวอรี่นั่นเอง
9.จำนวนคนตายในหนังต้องมากขึ้น!
ฉากแอ็คชั่นอันโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของ John Wick ภาคแรกนั้นปราศจากการใช้ลูกเล่น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเทคนิคเคลื่อนกล้องและคิวบู๊ทั้งสิ้น สำหรับภาคต่อนี้ แชด สตาเฮลสกี ผู้กำกับ เดวิด ลีทช์ ผู้อำนวยการสร้าง และ ทีมงานที่ 87Eleven Action Design รู้สึกกดดันเพราะการเดิมพันที่สูงขึ้น “ความรู้สึกมันประมาณว่าเราฆ่าคนไป 84 คนในหนังภาคแรก และภาคต่อนี้เราต้องฆ่าคนให้มากกว่า โดยภาคนี้ยอดคนตายในหนังจะทะลุไปถึง 141 ศพ กันเลยทีเดียว” ไม่เพียงเท่านั้นทีมงานยังต้องการให้คนดูเห็นว่า ฉากต่อสู้ที่เกิดขึ้นในหนังนั้นเป็นการ “เล่นเอง” ของคีอานู รีฟฟ์หรือ รูบี้ โรส ดังนั้นบรรดานักแสดงจึงต้องผ่านการเตรียมตัวอย่างมากในการฝึกซ้อมคิวการต่อสู้
10.การต่อสู้บู๊แหลกสไตล์กัน-ฟู
John Wick: Chapter 2 เป็นอีกครั้งที่ตัวละครของ รีฟส์ ต้องมาระเบิดแอ็คชั่นด้วยสไตล์ Gun-Fu ที่เป็นการขยายความศิลปะการต่อสู้ให้ไปกว่าเดิมด้วยการบวกการสาดกระสุนเข้าไป ฉากเด็ดของหนังที่เป็นคำจำกัดความของคำว่า กัน-ฟู เกิดขึ้นที่โรงอาบน้ำโบราณกลางกรุงโรม ที่ซึ่ง จอห์น วิค คร่าชีวิตมือสังหารไป 35 ศพ อีกทั้งหนังภาคนี้ ยังเป็นหนังเรื่องแรกที่ได้ถ่ายทำในศูนย์กลางขนส่งเวิลด์ เทรด เซนเตอร์ มูลค่ากว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำหน้าที่เป็นฉากหลังให้กับการดวลกันระหว่าง จอห์น วิค และ แคสเซียน ทั้งคู่ใช้ปืนเก็บเสียง สองมือปืนเลยต้องไล่ล่ากันในฉากสาดกระสุนที่เงียบที่สุดเป็นประวัติกาลผ่านทางเดินในสถานีรถไฟใต้ดิน
@PRETTYPLASALID
อัลบั้มภาพ 14 ภาพ