วิจารณ์หนัง ฉลาดเกมส์โกง เพราะต้นทุนชีวิตคนเราไม่เท่ากัน

วิจารณ์หนัง ฉลาดเกมส์โกง เพราะต้นทุนชีวิตคนเราไม่เท่ากัน

วิจารณ์หนัง ฉลาดเกมส์โกง เพราะต้นทุนชีวิตคนเราไม่เท่ากัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

จากการที่ได้อ่านที่มาที่ไปของฉลาดเกมส์โกง ว่าตัวหนังมีจุดเริ่มต้นมาจากการวางธีมเพื่อเป็นโครงเรื่องให้กับตัวละครหลักสามารถยึดโยงกันด้วยแนวคิดที่ว่า เพราะมนุษย์เราเติบโตมาด้วยต้นทุนชีวิตที่ไม่เท่ากัน จากแนวคิดดังกล่าวถูกนำมาดีไซน์เป็นตัวละครหลักในการเดินเรื่องทั้ง 4 ที่เรียกได้ว่าน่าสนใจ มีมิติและแบคกราวน์ ประกอบกับการแสดงที่เข้าถึงบทบาทของนักแสดงทุกคน ยิ่งทำให้ฉลาดเกมส์โกง กลายเป็นหนังที่เข้มข้นตลอดต้นจนจบ

พล็อตเรื่องของหนังว่าด้วย ลิน (ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) นักเรียนทุนเกรดเฉลี่ย 4.0 ทุกเทอม สมองไว หลังจากการที่เธอตัดสินใจให้ เกรซ (อิษยา ฮอสุวรรณ) เด็กกิจกรรมตัวยงแต่ผลการเรียนย่ำแย่ ลอกข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ หลังจากนั้นเอง พัฒน์ (ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) แฟนหนุ่มของเกรซจึงยื่นข้อตกลงในการขอลอกข้อสอบเพื่อแลกกับเงิน 3000 บาทต่อ 1 วิชา จากการให้ลอกข้อสอบเริ่มกลายเป็นธุรกิจการลอก เมื่อพัฒน์ยื่นข้อเสนอที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมด้วยการชักชวนเพื่อนสนิทสมองไม่ดี ให้มาลอกข้อสอบจากลิน ในจำนวนที่มากขึ้น ก่อนนำไปสู่เรื่องราวสุดระทึกใจในเวลาต่อมา

เมื่อตัวหนังพูดถึงระบบการศึกษาแล้ว ฉลาดเกมส์โกง ไม่ได้พยายามพูดแต่วิธีการโกงข้อสอบ แต่มันยังพาเราไปสำรวจความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย อาทิ เรื่องการจ่ายเงินใต้โต๊ะ หรือที่เรารู้จักว่า “เงินค่าบำรุงการศึกษา” ซึ่งเป็นตัวเลขหลายหลัก เพื่อแลกกับการเข้าเรียนในโรงเรียนชื่อดัง ระบบการเรียนรู้ที่สอนให้นักเรียนไปเรียนพิเศษเพียงเพราะต้องการคะแนนดีๆในการสอบ (กวดวิชาเลขกับอาจารย์โสภณ) ข้อสอบแบบปรนัยที่ไม่สามารถวัดความรู้ของผู้สอบได้จริงๆ 100% ว่าคนทำข้อสอบเรียนรู้เรื่องหรือเพราะเดาตัวเลือกถูก การที่พ่อแม่ชนชั้นกลางยื่นข้อเสนอว่าหากได้ผลการเรียนที่ดีสามารถนำมาแลกกับรถราคาแพง หรือของขวัญนานาชนิดให้กับเด็กๆ

อย่างไรก็ตามการที่หนังใส่ตัวละครอย่าง “แบงค์” (ชานน สันตินธรกุล) อีกหนึ่งนักเรียนหัวดีที่ความจำเป็นเลิศ เข้ามาในหนังก็เพื่อแสดงให้คนดูเห็นว่า ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าการศึกษาคือใบเบิกทางที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ หนังพาเราไปสำรวจชีวิตของตัวละครนี้ว่า ทำไมเขาถึงเกลียดการโกง และทำไมเขาถึงต้องมุ่งมั่นในการเรียนเพื่อสอบชิงทุนไปเรียนต่อเมืองนอกให้ได้ แต่เมื่อทุกอย่างพลิกผันกลับตารปัตรเพียงแค่ชั่วข้ามคืน เหตุผลประการเดียวที่เขายอมเข้ามาร่วมขบวนการโกงข้อสอบ STIC กับลิน เกรซและพัฒน์ เพียงเพราะเป้าประสงค์เดียวคือจำนวนเงินก้อนโต ที่จะช่วยซื้อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง

อันที่จริงความโดดเด่นประการสูงสุดของฉลาดเกมส์โกง คือการ “ตัดต่อ” ภาพยนตร์ให้เร้าใจคนดู จะมีใครปฏิเสธได้ลงว่าในทุกฉากที่ตัวละครต้องทำการลอกข้อสอบหรือพยายามหลีกหนีจากการโดนจับพิรุธได้ หนังทำให้เราหัวใจเต้นแรงแค่ไหน เทคนิคการตัดต่อแบบฉับไว ดนตรีประกอบที่เร้าอารมณ์ คือส่วนสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้สนุก แต่มันจะไม่สนุกขนาดนี้ถ้าหากหนังปราศจากบทภาพยนตร์ที่ดีและการแสดงที่เฉียบคม และถึงแม้ว่าหนังจะมีอาการหลุดเป็นระยะหรือมีฉากชวนเหวอ อาทิ สตีฟ พัฒน์ หรือ ป้ายรถเมล์ที่เบรกอารมณ์คนดูแบบตั้งตัวไม่ทัน คนดูก็พร้อมใจที่จะมองข้ามสิ่งเหล่านั้นและเอาใจช่วยตัวละครไปถึงนาทีสุดท้ายของหนัง ว่าก่อนเอนด์เครดิตจะขึ้นมา ทั้ง 4 คนจะได้รับบทสรุปอย่างไรบ้าง

 

4.8 คะแนนจาก 5 คะแนน

@PRETTYPLASALID

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง ฉลาดเกมส์โกง เพราะต้นทุนชีวิตคนเราไม่เท่ากัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook