งัดตู้ ย้อนตำนาน 38 ปี Alien (1979)
นับถึงวันนี้เป็นเวลา 38 ปีแล้ว ที่ตัวเอเลี่ยนได้ถูกแนะนำสู่โลกภาพยนตร์ กลายเป็นหนังมาแล้วถึง 8 เรื่องถ้านับรวมถึง Alien Vs Prdator อีก 2 ภาคด้วย Alien ภาคแรกในปี 1979 นั้นได้สร้างปรากฎการณ์ต่าง ๆ ไว้มากมาย และถูกยกย่องจากหลาย ๆ สถาบัน ถูกบรรจุไว้ในหลาย ๆ รายชื่อหนังที่ควรดู หนังถูกกล่าวขานมากในฐานะหนังที่เต็มไปด้วยฉากน่ากลัวมากมาย แต่ถ้าเอากลับมาดูในวันนี้ เราแทบจะไม่รู้สึกว่าหนังมีความน่ากลัวแต่อย่างใดเลย ด้วยพัฒนาการของฮอลลีวู้ดใน 38 ปีต่อมา ทั้งในเรื่องของงานซีจีที่สมจริงจนแยกไม่ออก และภาพความรุนแรงบนจอที่หลุดไปไหนต่อไหนแล้ว แต่ต้องทำความเข้าใจว่าวันที่หนังออกฉาย กับหนังที่มีฉากเอเลี่ยนเกาะหน้า เอเลี่ยนทะลุอก ฉากฟาดกันหัวหลุด รวมถึงการให้แคแรคเตอร์นำเป็นผู้หญิง นั้นล้วนเป็นความแปลกใหม่และริดลีย์ สก๊อตต์ ยกระดับความรุนแรงของภาพไปในจุดที่ไม่เคยมีใครกล้าทำออกมา และเป็นใบเบิกทางให้หนังไซไฟสยองขวัญได้ถูกสร้างตามกันออกมาอีกหลายเรื่อง The Thing , The Fly , Critter
ลูกเรือทั้ง 7 บนยาน นอสโตรโม
แม้เอเลี่ยน จะเป็นผลงานจากมันสมองของ แดน โอแบนนอน และเพื่อนสนิท โรนัลด์ ชูเซ็ตต์ แต่ถ้าได้อ่านรายละเอียดเบื้องหลังงานสร้างนี้แล้วจะเห็นเลยว่าคนที่ทุ่มเทและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังสัตว์ประหลาดนอกโลกตัวนี้คือ ริดลีย์ สก๊อตต์ นั่นเองเขาเป็นเจ้าของไอเดียที่ทำให้หลาย ๆ ฉากกลายเป็นภาพจดจำบนโลกภาพยนตร์ ถึงแม้ริดลีย์ จะไม่ได้เป็นผู้สานต่อตำนานนี้เอง แต่ผู้กำกับที่มารับช่วงต่อก็ถือว่าเป็นผู้กำกับที่ต่อมาก็เป็นระดับแนวหน้าของฮอลลีวู้ดทั้งนั้น นับตั้งแต่ เจมส์ คาเมรอน ที่เพิ่งดังจาก The Terminator (1984) มาสานต่อใน Aliens (1986) และเป็นภาคเดียวที่ทำเงินสูงกว่าภาคต้นฉบับ , เดวิด ฟินเชอร์ ที่ดังมาจากวงการมิวสิควีดีโอ มากำกับAlien 3 (1992) ผลก็คือถูกด่าเละเทะว่าห่วย ก่อนจะมากู้ชื่อให้ตัวเองได้สำเร็จใน Sev7n(1995) และ Alien ก็ถูกปิดตำนานไปยาวนานด้วยฝีมือของ ฌอง ปิแอร์ จูเนต์ ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส Alien: Resurrection (1997) ของเขาล้มเหลวทั้งเสียงวิจารณ์และรายได้เป็นภาคที่ทำเงินได้น้อยสุด แต่แล้ว ฌอง ก็กู้ชื่อกลับมาได้หลังจากกลับไปทำหนังฝรั่งเศสอารมณ์ดี Amelie (2001) กลับมาเป็นผู้กำกับที่มีเครดิตน่าเชื่อถือไปได้
ริดลีย์ สก๊อตต์ ในวัย 42 ปี ตอนกำกับ Alien (1979)
ส่วนผู้กำกับริดลีย์ นั้นยอมรับผลงานภาคต่อเพียงแค่Aliens ของ เจมส์ คาเมรอน เท่านั้น เขารู้สึกผิดหวังกับภาค 3 , ภาค 4 เมื่อได้กลับมาพูดคุยกับฟอกซ์ถึงการทำภาคต่อใน 30 ปีต่อมา ริดลีย์ ไม่อยากสานเรื่องราวต่อจากภาค 4 แต่ขอย้อนกลับไปเล่าที่มาของบรรดาไอเดียที่เขาหยอดทิ้งไว้ในภาคแรกทั้งซากของผู้สร้างและยานรูปครัวซอง แล้วใน Prometheus (2012) ริดลีย์ก็พาบรรยากาศและเรื่องราวให้ลึกลับน่าค้นหาได้มากขึ้น ริดลีย์หยอดปริศนาให้กับที่มาของเหล่าผู้สร้าง โยงเข้ากับไบเบิ้ล และวกมาขยายเรื่องราวของ เวย์แลนด์-ยูทานิ บริษัทเจ้าของธุรกิจยานอวกาศ และขยายบทบาทของแอนดรอยด์ที่เป็นแคแรคเตอร์ประจำในทุกภาคให้มีความสำคัญมากขึ้น ริดลีย์ แสดงให้เห็นว่าแม้ผ่านไป 30 ปีจะมีหนังเอเลี่ยนออกมากี่ภาค เขาก็พิสูจน์ตัวเองในฐานะผู้ให้กำเนิด ว่าเขาเหมาะสมที่สุดแล้วที่มาทำหน้าที่สานต่อตำนานเอเลี่ยนให้จบ
บางฉากภายในยานอวกาศ ที่กลับมาดูในวันนี้จะรู้สึกค่อนข้างเชย
ถ้าใครได้ดู Alien : Covenant และ Alien (1979) แล้วจะรู้สึกได้ว่าพลอตของทั้ง 2 เรื่องนี้มีความละม้ายกันมาก ที่เหล่าบรรดาลูกเรือมีเป้าหมายเดิมแต่ได้ยินสัญญาณแปลกปลอมจากดาวใกล้เคียงจึงเบนทิศทางไปสำรวจหาที่มาของเสียง และเป็นเหตุให้ได้เจอกับเอเลี่่ยน และพาไปสู่การไล่ล่านองเลือด ด้วยเหตุที่เป็นแฟรนไชส์ที่ลากยาวมากว่า 30 ปี พอกลับไปดูภาคแรก ก็สังเกตเห็นถึงวิสัยทัศน์ของการออกแบบงานสร้างที่ดูทันสมัยในยุคนั้น แต่กลับดูเชยเมื่อมาดูอีกครั้งในวันนี้ ที่เห็นได้ชัดก็คือการออกแบบแผงควบคุมต่าง ๆ ในยาน หน้าปัดหน้าจอคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่ยังขึ้นเป็นตัวหนังสือเขียว ๆ เหมือนคอมพิวเตอร์ในยุคแรก ๆ แต่ภาพลักษณ์การออกแบบภายนอกยานกลับดูไม่เชยนัก ภาพยานดูมีรายละเอียดยิบย่อยมากและสมจริง ก็ต้องขอบคุณทีมงานจาก Star Wars (1977) ที่เป็นผลงานของฟอกซ์เช่นกันและได้ทีมงานที่มีประสบการณ์มาช่วยสร้างฉากต่าง ๆ ส่วนฉากคลาสสิกทั้งหลายไม่ว่า “ฉากฉีกอก” และ “ฉากตีหัวแอชหลุด” ก็ต้องจินตนาการถึงความรู้สึกได้ดูครั้งแรกว่าน่ากลัวเพียงใด พอมาดูในวันนี้กลับเห็นถึงความไม่เนียนชัดเจนมากมาย แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือความพยายามและความตั้งใจของทีมงานในวันนั้นที่โดนจำกัดทั้งงบทุนและข้อจำกัดทางเทคโนโลยีซีจี แต่ก็สร้างภาพออกมาให้คนดูต่างอึ้ง ทึ่ง กับความน่ากลัวที่ได้เห็นบนจอในวันนั้น ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด
ฉากเปิดตัว ไอ้ตัวเกาะหน้า ที่เป็นที่กล่าวขวัญ
และความกล้าบ้าบิ่น ก็ลงเอยด้วยความสำเร็จ หนังออกฉายในวันที่ 25 พ.ค. 1979 ขึ้นอันดับ 1 ด้วยรายได้ 3.1 ล้านเหรียญ สมัยนั้นเยอะแล้วล่ะครับ อย่ามาเทียบกับรายได้ยุคนี้ที่เปิดตัวสัปดาห์แรกกันเป็น 100 ล้านเหรียญ และในยุคนั้นค่าตั๋วถูกกว่านี้มาก และที่น่าทึ่งหนังเปิดตัวด้วยโรงฉายเพียงแค่ 91 โรงเท่านั้น แต่ด้วยกระแสปากต่อปาก และหลายคนเข้าไปดูซ้ำทำให้ และส่วนใหญ่จับกลุ่มกันไปดู พอถึงกรกฎาคม Alien ก็ได้โรงฉายมากขึ้นถึง 757 โรง เป็นหลังที่ยืนโรงได้นานหลายเดือน หนังลาโรงไปด้วยตัวเลขถึง 78 ล้านเหรียญในสหรัฐ ถ้าปรับอัตราค่าเงินเทียบเท่ากับยุคนี้ก็เป็นมูลค่าถึง 272 ล้านเหรียญ รายได้จากต่างประเทศอีก 24 ล้านเหรียญจากทุนสร้างเพียง 14 ล้านเหรียญเท่านั้น
“แอช” แอนดรอยด์ตัวแรกของหนัง Alien รับบทโดย เอียน โฮล์ม เป็นที่รู้จักกันอีกครั้งจากบทลุงบิลโบ ใน The Lord Of The Rings
หนังไม่ได้ประสบความสำเร็จแค่เพียงรายได้ แต่ยังไปได้ออสการ์ “สเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม” แต่พลาดรางวัล “กำกับศิลป์” ไป สุดท้ายหนังก็ถูกจดจำในฐานะหนังที่น่ากลัวที่สุดในยุคนั้น ปี2004 ช่องบราโวทีวี ทำรายการ “100 ฉากจากหนังที่น่ากลัวที่สุดตลอดกาล” จัดให้ฉากตัวอ่อนฉีกอก อยู่ในอันดับที่ 2 , นิตยสาร Entertainment Weekly” โหวตให้ “Alien”อยู่ในอันดับที่ 3 ในรายชื่อ “หนังที่น่ากลัวที่สุดตลอดกาล” , ปี2008 สถาบันอเมริกันฟิล์ม จัดให้ “Alien” อยู่ในอันดับ 7 ของรายชื่อ”10หนังไซไฟยอดเยี่ยมตลอดกาล”
ยานของผู้สร้างทรงครัวซอง ปรากกฎตัวครั้งแรกใน Alien 1979
หลังจากที่ริดลีย์ สก๊อตต์ กลับมาทำ Prometheus และ Covenant ทำให้เรื่องราวของ Alien (1979) ในฐานะภาคถือกำเนิดกลับมาได้รับความสนใจมาก ผู้ชมรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันก็ต้องไปหามาดู ในฐานะหนังต้นกำเนิดที่ถูกจดจำในเรื่องความน่ากลัวมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ทำให้หลาย ๆ เว็บไซต์บันเทิงได้บันทึกเกร็ดต่าง ๆ นานา มาเล่าต่อรวม ๆ แล้วเป็นร้อย ๆ เรื่องราว ในบทความนี้ก็คัดเฉพาะที่น่าสนใจและเป็นความรู้มาให้อ่านกัน แล้วจะทึ่งกับการทำงานของทีมงานในวันนั้น ที่เจอทั้งปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่สุดท้ายก็ต่อสู้กันจนได้หนังที่เป็นที่จดจำเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด
ที่มาของเรื่องราวของ Alien ถือกำเนิดจาก แดน โอแบนนอน เขาเป็นทั้งดาราและนักเขียนบท ผลงานของเขาคือ “Dark Star (1974)” เป็นผลงานกำกับของ จอห์น คาร์เพนเตอร์ สมัยที่ยังไม่ดัง ซึ่งแดน ก็ไม่รู้สึกกับแฮปปี้กับหนังที่ออกมา เขาเลยมีความมุ่งมั่นว่าหนังเรื่องต่อไปของเขาจะต้องดีมากกว่านี้ แดน กลับไปเขียนบทเรื่องใหม่เป็นหนังสยองขวัญที่เขาตั้งชื่อว่า”Memory” เรื่องราวของยานอวกาศที่ลูกเรือได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือจากดวงดาวรกร้าง ในบทร่างของเขาเขียนไว้ด้วยว่ามีฉากที่ลูกเรือโดนเอเลี่ยนเกาะหน้า แต่แล้วแดนก็ตันอยู่แค่นั้น เขียนต่อไม่ถูก เลยไปปรึกษาเพื่อนสนิท รอน ชูเซ็ตต์ ให้ช่วยสานเรื่องราวต่อ แล้วทั้งคู่ก็ลงเอยด้วยการเอาบทเก่า ๆ เรื่องหนึ่งที่เล่าเรื่องนักบินทิ้งระเบิดต้องต่อสู้กับสัตว์ประหลาดบนเครื่องเอามาดัดแปลงแก้ไขให้เป็นตอนจบของเรื่องนี้แทน แล้วตั้งชื่อเรื่องว่า ‘StarBeast” ต่อมาทั้งคู่รู้สึกว่าชื่อนี้มันดูตรง ๆ โง่ ๆ เกินไปนะ ก็เลยเปลี่ยนเป็น ‘Alien”ในเวลาต่อมา
ยานนอสโตรโม ในเวอร์ชั่นแรก ที่ออกแบบให้เป็นสีเหลือง
ในช่วงเริ่มต้นหานายทุนนั้นเป็นไปได้ยาก ทุกสตูดิโออ่านสคริปต์แล้วก็ปฎิเสธกันหมด เหตุเพราะสยดสยองเลือดมากเกินไป แม้กระทั่งค่ายฟอกซ์เอง จนกระทั่ง วอลเตอร์ ฮิลล์(Streets of Fire , 48 Hrs. เข้ามารับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้าง จากเดิมทีเขาได้รับข้อเสนอให้เป็นผู้กำกับเอง แต่วอลเตอร์ เลือกให้ริดลีย์ สก๊อตต์ มาเป็นผู้กำกับเพราะประทับใจผลงานของริดลีย์ จาก The Duellist (1977) และวอลเตอร์ก็เจรจากับฟอกซ์เป็นผลสำเร็จ โดยมีข้อแม้ว่าต้องลดความสยดสยองลงบ้าง แต่สุดท้ายแล้วเลือดก็มากไปอยู่ดี ผลการตัดต่อครั้งแรกไม่ผ่านการพิจารณา
สตอรีบอร์ด ฝีมือ ริดลีย์ สก๊อตต์ เขียนสวยนะ
ริดลีย์ สก๊อตต์ ใช้เวลาระหว่างที่รอให้ฟอกซ์อนุมัติงบนั้นเขียนสตอรีบอร์ดหนังทั้งเรื่องออกมา แล้วเขาก็ส่งไปให้ฟอกซ์ดู กลายเป็นว่าฟอกซ์ชอบผลงานของ ริดลีย์ มาก แล้วก็อนุมัติงบให้มากขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม
แดน โอแนนนอน ผู้ให้กำเนิดเอเลี่ยนตัวจริง
แดน โอแบนนอน เจ้าของเรื่องและถือได้ว่าเป็นผู้ให้กำเนิด Alien เขาซีเรียสมากถ้าใครมาเปลี่ยนแปลงบทของเขา แรกเริ่มเดิมที แดน ก็ได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีจากริดลีย์ สก๊อตต์ เวลาที่เขามาดูงานถ่ายทำ จนกระทั่ง แดน สติแตกโวยวายด่าทอริดลีย์ ต่อหน้ากองถ่ายทั้งหมดที่ไปปรับแก้บทของเขา ตั้งแต่นั้น แดน ก็ถูกกันไม่ให้เข้าใกล้กองถ่ายอีก
“Alien” เป็นหนังที่สร้างชื่อให้กับ ซิกรูนีย์ วีเวอร์ จากนักแสดงโนเนมให้กลายดาราอมตะของฮอลลีวู้ด เธอถ่ายทอดบทริปลีย์ สาวห้าวผู้จัดการเอเลี่ยนได้อย่างน่าจดจำและทุกคนต่างเห็นพ้องว่าเธอเหมาะสมกับบท ริปลีย์ ที่สุดแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าเธอมาพร้อมโชคจริง ๆ เพราะที่จริงแล้วทางผู้สร้างตั้งใจเลือก เมอรีล สตรีพ ที่เพิ่งดังจากหนัง The Deer Hunter และ Manhattan ให้มารับบทเป็น ริปลีย์ แต่ก็เกิดเหตุน่าเศร้าเมื่อ จอห์น คาเซล แฟนของ เมอรีล สตรีพ เพิ่งเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ทีมงานเลยคิดว่าเวลานี้ไม่ค่อยเหมาะสมเสียแล้วล่ะ ถ้าต้องให้เธอมาเล่นหนังที่มีแต่ตัวละครตายอย่างสยดสยองเต็มไปหมดแบบนี้ ตัวเลือกที่สองอย่าง ซิกรูนีย์ วีเวอร์ ก็เลยได้บทริปลีย์ไป
ทอม สเกอริต
อีกคนคือ ทอม สเกอริต นักแสดงแถวหน้ายุค 80s อีกคน ที่ได้บทกัปตันดัลลัสมาเพราะโชคช่วย เหตุจากทีมงานต้องการตัวแฮริสัน ฟอร์ด ที่เพิ่งดังจาก Star Wars มารับบท แต่แฮริสัน ปฎิเสธเหตุเพราะเขาเพิ่งเล่นหนังไซไฟขับยานอวกาศใน สตาร์วอร์ส ไป อยากจะเปลี่ยนแนวบ้าง บทเลยตกเป็นของ ทอม สเกอริต แต่แค่ 3 ปีจากนั้น แฮริสัน ก็ไปเล่น Blade Runner หนังไซไฟอีกเช่นกัน
เดิมที่ ทอม สเกอริต ได้รับการเสนอบทกัปตันดัลลัส นั้น ทอม อ่านแล้วไม่ชอบบทและเห็นว่าเป็นหนังทุนต่ำ ทอม จึงปฎิเสธไป ภายหลังบทได้รับการแก้ไขและไอ้รับอนุมัติทุนสร้างที่สูงขึ้น ทอมจึงตกลงรับเล่น และเมื่อหนังถ่ายทำไปได้ครึ่งทางทอมเห็นวี่แววว่าหนังน่าจะไปได้สวย เขาเข้าเจรจากับผู้อำนวยการสร้างขอเสนอลดค่าตัวลงครึ่งหนึ่งแลกกับเปอร์เซ็นต์จากกำไรของหนัง
ซิกรูนีย์ วีเวอร์ ในวัย 30 ปี ยังสาวสวยตอนที่รับบทเป็นริปลีย์ ครั้งแรก
บทของริปลีย์ ในต้นฉบับนั้นเป็นผู้ชาย แต่เมื่อบทมาถึงมือผู้อำนวยการสร้าง วอลเตอร์ ฮิลล์ และ เดวิด ไกเลอร์ ทั้งคู่อยากให้ตัวละครดูเป็นคนธรรมดาใกล้ ๆ ตัวคนเรามากขึ้น ทั้งคู่จึงดึง อลัน แลดด์ เข้ามาเกลาบท อลัน เสนอว่าพลอตที่ นางเอกตกอยู่ในอันตรายต้องหนีสัตว์ประหลาดแล้วพระเอกก็โผล่มาช่วยเธอ พลอตแบบนี้มันจำเจเกินไปแล้ว อลัน ก็เลยแก้ไขบทให้ริปลีย์ เป็นผู้หญิงแกร่งซะ
ช่วงที่นักแสดงเตรียมตัวก่อนมารับบทนั้น ริดลีย์ สก๊อตต์ เขียนบทให้แต่ละคนเพิ่มมาหลายหน้า ร่ายยาวถึงที่ไปที่มาของแต่ละคน และความสัมพันธ์ของแต่ละตัวละคร เพื่อความเข้าใจบทของตัวเองได้ดีขึ้น ริดลีย์ ได้สังเกตปฎิกิริยาตอบโต้และความเป็นธรรมชาติในตอนซ้อมบท ซึ่งการทำแบบนี้จะมีผลต่อซิกรูนีย์ วีเวอร์เป็นอย่างมาก เพราะเธอเป็นดาราหน้าใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์งานแสดงมาก่อน
อีกผลงานดังของ ไกเกอร์ จากหนัง Species
ส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ Alien ประสบความสำเร็จก็คือภาพลักษณ์ของตัวเอเลี่ยน ที่โดดเด่นและดูแตกต่างจากสัตว์ประหลาดที่เคยปรากฎบนจอภาพยนตร์ ต้องยกความดีความชอบให้กับ เอช.อาร์. ไกเกอร์ ศิลปินชาวสวิส ผู้มีสไตล์งานออกแบบที่เรียกว่า”ชีวจักรกล” ผสมผสานร่างกายมนุษย์เข้ากับส่วนประกอบของเครื่องจักรและแฝงนัยยะเกี่ยวกับอวัยวะเพศไว้ ตัวเอเลี่ยนที่ ไกเกอร์ ออกแบบให้นั้นมีชื่อว่า “ซีโนมอร์ฟ” เป็นร่างที่โตเต็มวัยของเอเลี่ยน การที่ได้ เอช.อาร์. ไกเกอร์ มาร่วมงานก็ดูเหมือนโชคเข้าข้างทีมงานเอเลี่ยนเช่นกัน เหตุเพราะทีมสร้าง “Dune” ได้จ้าง ไกเกอร์ ไปก่อนหน้านั้นแล้ว แต่โครงการหนังเกิดประสบปัญหาทางการเงินก็เลยถูกหยุดพัก ไกเกอร์ ก็เลยว่างแล้วตกปากรับคำมาร่วมงานกับเอเลี่ยน ส่วน “Dune” ก็ถูกเลื่อนสร้างไปและได้ออกฉายในปี 1984 ส่วน ไกเกอร์ ก็มีผลงานเป็นที่รู้จักอีกครั้งจากงานออกแบบใน “Species” (1995)
ซีโนมอร์ฟ ในฉากแรกที่ปรากฏตัว
“ซีโนมอร์ฟ” จากผลงานออกแบบของ เอช.อาร์. ไกเกอร์ ถูกใช้ต่อมาในภาค 2,3,4 และในหนัง “Alien Vs Predator” แม้จะถูกประยุกต์ภาพลักษณ์ไปในภาคต่อ ๆ มา แต่ เอช.อาร์. ไกเกอร์ ก็ได้รับเครดิตในฐานะต้นแบบ แต่ใน Alien:Resurrection (1997) นั้น ฟอกซ์ กลับไม่ให้เครดิต เอช.อาร์. ไกเกอร์ ผลคือ ไกเกอร์ ฟ้องร้องฟอกซ์ และเป็นผู้ชนะ
งานสเก็ตช์ฝีมือ เอช.อาร์. ไกเกอร์
ตอนที่ เอช.อาร์. ไกเกอร์ บินมาลอสแอนเจลิสนั้น เขาก็หอบหิ้วร่างสเก็ตช์ตัวซีโนมอร์ฟมาด้วย เต็มไปด้วยภาพตัวประหลาดน่ากลัว เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเลยกักภาพเหล่านั้นไว้ โอแบนนอนเลยต้องรีบไปหาเจ้าหน้าที่อธิบายว่านั่นเป็นงานที่ออกแบบมาเพื่อหนังสยองขวัญ
ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นตัว “ซีโนมอร์ฟ” ของไกเกอร์นั้นไม่ได้รับการเห็นชอบจากทางฟอกซ์ ให้ความเห็นว่า “น่ากลัว” เกินไป ผู้ชมจะไม่กล้าเข้ามาดู (นี่เป็นความเห็นของคนฮอลลีวู้ดในยุคนั้นนะครับ สมัยนี้ธรรมดามาก) แต่ริดลีย์ สก๊อตต์ และุเหล่าผู้อำนวยการสร้างก็ต่อสู้หัวชนฝาว่าจะเอา ทางฟอกซ์ก็เคารพการตัดสินใจของทีมงานและยินยอม การบ้านต่อไปคือจะทำอย่างไรให้ ซีโนมอร์ฟ ดูเป็นสิ่งมีชีวิต ทีมงานก็เลยลองทำให้ผิวหนังของซีโนมอร์ฟดูใสและพรางตัวไปกับสภาพแวดล้อมได้ ผลออกมาไม่ถูกใจริดลีย์ สก๊อตต์ เขาเปลี่ยนใหม่ให้ผิวซีโนมอร์ฟดำสนิท จะได้แฝงตัวไปกับเงามืดได้แลดูน่ากลัวขึ้น ไกเกอร์เข้ามาแก้ไขอีกรอบ เพราะซีโนมอร์ฟดั้งเดิมของเขามีลูกตา ไกเกอร์บอกเอาลูกตาออกดีกว่า มันจะดูไร้ความรู้สึกเย็นชามากขึ้น แล้วก็ด้วยไอเดียบรรเจิดของแต่ละคนที่ผสมผสานกันออกมาก็ได้ผลลัพธ์เป็นสัตว์อวกาศที่กลายเป็นแคแรคเตอร์อมตะตัวหนึ่ง ส่วนไอเดียการพรางตัวนั้นถูกนำไปใช้กับ Predator (1987)
ฉากหนึ่งที่กลายเป็นที่จดจำจาก Alien ก็คือฉากเปิดตัว “ไอ้ตัวเกาะหน้า” ที่พุ่งออกมาจากไข่แล้วเกาะหน้าเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ในฉากนี้ “เคน” เหยื่อรายแรกเห็นลานที่มีไข่เอเลี่ยนวางอยู่เต็มไปหมด เขาเดินเข้าชะโงกดูใบหนึ่งใกล้ ๆ ว่าอะไรอยู่ข้างในแล้วไอ้ตัวเกาะหน้าก็พลันพุ่งพรวดออกมาจากไข่ตรงเข้าเกาะหน้าเขา ในวันที่หนังออกฉายฉากนี้ทำให้ผู้ชมสะดุ้งกันได้สุดตัว ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของผู้กำกับริดลีย์ สก๊อตต์ ที่เป็นเจ้าของไอเดียและอยู่เบื้องหลังฉากนี้ทั้งหมด เพื่อให้ได้อารมณ์สุด ๆ ฉากนี้สก๊อตต์ให้เอากล้องถ่ายหนังวางหงายท้อง แล้วเอาไข่ติดกับผนังด้านบน พอไข่คว่ำลงเมือกที่ห่อหุ้มตัวอ่อนเอเลี่ยนก็หยดติ๋งลงมา แต่ในหนังจะดูเหมือนมันปุด ๆ ขึ้นมาเสริมความสยดสยองขึ้นไปอีก ส่วนตัวเกาะหน้าที่พุ่งออกมานั้นคือมือของผู้กำกับริดลีย์เองที่ใส่ถุงมืออยู่ด้านหลังดันตัวเกาะหน้าให้พุ่งทะลุเมือกออกมา
ฉากฉีกอกที่โด่งดัง
อีกฉากจดจำจาก “Alien” คือฉากที่ตัวอ่อนทะลุผ่านอก”เคน”เหยื่อรายแรก ฉากนี้ผู้กำกับริดลีย์ต้องการปฎิกิริยาจากตัวแสดงที่สมจริง เขาจึงไม่มีการซักซ้อมมาก่อน เหล่านักแสดงรู้เพียงว่าจะมีตัวอะไรโผล่ออกมาจากอกของเคนเท่านั้น ทีมงานเข็นร่างเคนเข้ามาในฉากพร้อมกับถุงเลือดปลอมมากมาย พอตัวอ่อนเอเลี่ยนพุ่งพรวดออกมาจากอกพร้อมกับเลือดปลอมกระจายไปทั่ว ริดลีย์ ก็เลยได้ภาพตัวแสดงที่ตกใจกันจริง ๆ บันทึกด้วยกล้อง 4 ตัว โดยเฉพาะเวโรนิกา คาร์ตไรต์ ผู้รับบทแลมเบิร์ตนั้นเธอโดนเลือดปลอมกระเซ็นใส่เต็ม ๆ จนเผลอจิกเล็บไปบนหน้าตัวเอง
ไอเดียการวางไข่และฉีกอกออกมานั้น แดน โอแบนนอน ได้แรงบันดาลใจมากจากตัวต่อแมงมุม ที่ตัวต่อจะวางไข่บนท้องแมงมุม จนไข่เริ่มใหญ่ขึ้นและทำให้แมงมุมกลายเป็นอัมพาต จนไข่ฟักออกมาเป็นตัวหนอนใหญ่และเริ่มกินแมงมุมเป็นอาหาร
ไอเดียง่าย ๆ แต่ฉลาดถูกนำมาใช้ในฉาก “ผู้สร้าง” เพื่อให้ภาพของซากผู้สร้างดูเป็นมนุษย์ยักษ์ ตามบทบรรยายไว้ว่าสูงถึง 26 ฟุต แต่ด้วยงบการสร้างที่จำกัดแล้วต้องให้ผู้สร้างดูใหญ่กว่ามนุษย์มาก ริดลีย์ เลยเอาลูกของเขาที่ยังเป็นเด็กน้อยขณะนั้น ใส่ชุดนักบินอวกาศไปยืนข้างหุ่นผู้สร้าง พอถ่ายภาพในระยะไกลเลยได้ภาพผู้สร้างที่แลดูตัวใหญ่มาก
ลูกของริดลีย์ สก๊อตต์ ในชุดนักบินอวกาศ
มีเรื่องเล่าขำ ๆ จากกองถ่ายว่าชื่อบริษัทเจ้าของยานในหนัง ‘Weylan-Yutani” นั้นมาจากชื่อของอดีตเพื่อนบ้านของริดลีย์ สก๊อตต์ ซึ่งสก๊อตต์เกลียดครอบครัวนี้ เลยเอาชื่อของพวกเขามาตั้งชื่อเป็นบริษัทนรกนี้
แสงสีฟ้า ที่ยืมจากวง The Who
ด้วยปัญหางบสร้างที่จำกัดเช่นกัน อะไรยืมได้ต้องยืม ขณะถ่ายทำนั้นวง The Who มาใช้โรงถ่ายอยู่ข้าง ๆ กันพวกเขามีไฟสีน้ำเงินที่ใช้ตกแต่งบนเวทีคอนเสิร์ต ทีมงานก็ไปยืมไอ้ไฟน้ำเงินนี้มาประกอบในฉากลานวางไข่เอเลี่ยน
โบลาจิ บาเดโจ ในชุด ซีโนมอร์ฟ
ด้วยความจำกัดของเทคโนโลยีในยุคนั้น จำเป็นต้องให้มีคนใส่ชุด “ซีโนมอร์ฟ” ในการแสดง ซึ่งริดลีย์ ก็กังวลในเรื่องนี้มาก เขากลัวว่าภาพที่ออกมาจะดูออกชัดว่าเป็นคนใส่ชุดยาง แลดูไม่สมจริงเหมือนหนังก๊อดซิลล่ายุคแรก ๆ ทีมงานจึงต้องระมัดระวังมากในฉากปรากฎตัวของซีโนมอร์ฟทุกครั้ง ใช้แสงและเงามาช่วยสร้างความสมจริงให้กับตัวซีโนมอร์ฟ ส่วนผู้ที่มาสวมชุดนั้นคือ “โบลาจิ บาเดโจ” ชาวเคนยา ที่มาเรียนกราฟิกดีไซน์อยู่ในลอนดอน ฝ่ายจัดหานักแสดงบังเอิญไปเจอเขาในบาร์ โบลาจิ นั้นสูงถึง 205 ซม. เลยสะดุดตาทีมงาน พอได้พูดคุยก็พบว่าเขาพื้นฐานเคยเรียนละครใบ้ และไทชิ ทำให้โบลาจิ เคลื่อนไหวในชุดซีโนมอร์ฟ ได้ดูเป็นธรรมชาติ โบลาจิ เลยได้สวมบทเอเลี่ยน แทน ปีเตอร์ เมย์ฮิว ผู้เคยรับบท ชิวเบคก้าตัวเลือกแรกแล้ว”Alien”ก็เป็นผลงานการแสดงของเขาเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น เพราโบลาจิเสียชีวิตด้วยโลหิตจางในปี 1992
ขณะที่โบลาจิ สวมชุดซีโนมอร์ฟ ชุดนั้นมีหางยาวและแข็งทำให้โบลาจิไม่สามารถนั่งได้ ทีมงานเลยต้องทำที่นั่งพิเศษให้โบลาจิ ด้วยการใช้สลิงหย่อนลงมาเหมือนเปลให้โบลาจิได้นั่งพัก และตลอดเวลา 4 เดือนที่ โบลาจิ อยู่ในกองถ่ายเวลาที่เขาอยู่ในชุดซีโนมอร์ฟจะถูกแยกจากทีมนักแสดงอื่นเพราะสก๊อตต์ ต้องการให้ปฎิกิริยาเวลานักแสดงเห็นเอเลี่ยนในตอนถ่ายทำสมจริงเสมอ
ริปลีย์ กับ โจนส์
วันแรกในการถ่ายทำ ซิกรูนีย์ เข้าฉากกับ “โจนส์” แมวของริปลีย์ที่เธอเอาขึ้นไปบนยานนอสโตรโมด้วย ริปลีย์ เกิดอาการผื่นขึ้นตามผิวหนัง สันนิษฐานได้ว่าเธอแพ้แมว ทีมงานลองเอาแมวมาเปลี่ยนใหม่ถึง 4 ตัวเพื่อดูปฎิกิริยา แต่ผลสุดท้ายกลายเป็นว่าเธอแพ้สเปรย์ที่ฉีดใส่เธอให้ดูเหมือนเหงื่อออก น้ำลายที่ยืด ๆ จากปากเอเลี่ยนนั้นคือ K-Y Jelly
แม้หนังจะถูกกล่าวขวัญถึงความน่ากลัวของตัวเอเลี่ยน แต่รวม ๆ แล้ว เอเลี่ยนปรากฎตัวบนจอเพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้น และกว่าจะออกมา หนังก็ดำเนินไปกว่า 1 ชั่วโมงแล้ว
ในบทถ่ายทำนั้น เอเลี่ยน โดนระเบิดไปพร้อมกับยานนอสโตรโม แล้วริปลีย์ขับยานกู้ชีพหนีออกมาได้ทัน ริดลีย์ มองว่าจบแบบนี้มันธรรมดาเกินไป เขาต้องการตอนจบที่มืดหม่นกว่านี้ สุดท้ายริดลีย์ โทรไปเจรจากับฟอกซ์ ขอเงินเพิ่มมาอีก 500,000 เหรียญ และเวลาถ่ายทำเพิ่มอีก 1 สัปดาห์ เขาเล่าตอนจบใหม่ให้ผู้บริหารฟอกซ์ฟังทางโทรศัพท์ เอเลี่ยนแอบมาอยู่บนยานกู้ชีพด้วย ริปลีย์พยายามกำจัดเอเลียนให้หลุดออกจากยาน พุ่งฉมวกใส่มัน แต่ก็ไม่เป็นผล เอเลี่ยนพุ่งเข้าหาริปลีย์ ทุบไปบนหมวกกันน็อคเธอแล้วก็ดึงหัวเธอออกจากร่าง หลังเล่าจบไม่มีเสียงตอบรับจากทางฟอกซ์เป็นเวลานาน ผ่านไป 14 ชั่วโมง ผู้บริหารฟอกซ์มาถึงกองถ่ายเอง และประกาศจะไล่ริดลีย์ ออกจากตำแหน่งผู้กำกับทันที ถ้ายังจะยืนยันให้หนังจบแบบนี้ เอเลี่ยนจะต้องตายตอนจบเท่านั้น ยังดีที่ ริดลีย์ ยอมให้ เราเลยได้เห็นตอนจบที่แฮปปี้มากขึ้น
คนดูในยุคนั้นรับไม่ได้กับภาพรุนแรงบนจอ เพราะยุคนั้นหนังไซ-ไฟ มีแต่ความขบขัน สวยงามทั้ง “Star Wars , Star Trek” ที่เหลือกก็เป็นหนังไซ-ไฟ ทุนต่ำ ในรอบที่ทดลองฉาย คนดูเริ่มวิ่งออกจากโรงตั้งแต่ฉาก “ไอ้ตัวเกาะหน้า” โผล่ออกมา บางรายปีนข้ามเก้าอี้เพื่อหนีให้ห่างจากจอ (เวอร์มาก) เสียงกรีดร้อง เสียงถอนหายใจ ดังไปทั่วทั้งโรง หลายรายวิ่งไปอาเจียนในห้องน้ำ พนักงานโรงหนังรายนึงเป็นลมตอนที่เห็นฉากแอชโดนฟาดจนหัวหลุด คนดูรายหนึ่งเป็นลมขณะวิ่งออกจากโรงล้มลงจนแขนหัก แต่ริดลีย์ และทีมผู้อำนวยการสร้างยิ้่มพึงพอใจว่าหนังเขาต้องฮิตแน่ ๆ
คำบรรยายใต้ชื่อหนัง “in space, no one can hear you scream.” นั้นทีมงานจ้าง บาบารา กริป ก๊อปปี้ไรเตอร์อาชีพมาเป็นคนคิด
ส่วนใหญ่ของงานถ่ายทำ Alien เป็นการถ่ายด้วยกล้องแฮนด์เฮลด์ และกว่า 80% เป็นฝีมือของผู้กำกับริดลีย์ สก๊อตต์เอง
เจอร์รี่ โกลด์สมิธ
มีข้อพิพาทเกิดขึ้นในขั้นตอนงานสร้าง ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบแถวหน้าของวงการ เจอร์รี โกลด์สมิธ มีผลงานยอมรับกันมาแล้วจาก Star Trek , The Omen , Chinatown เมื่อเจอร์รี ส่งมอบผลงานดนตรีประกอบให้ แต่ริดลีย์ สก๊อตต์ ไม่ชอบ ให้เหตุผลว่ามันฟังดูเดิม ๆ เกินไป ตั้งใจเขย่าขวัญคนดูเกินไป สก๊อตต์ ดึงตัว เทอร์รี รอว์ลิ่ง มาแก้ไขดนตรีของ เจอร์รี , เทอร์รี ก็แก้ไขด้วยการไปดึงเอาเพลงจาก Freudd หนังเรื่องก่อนหน้าของ เจอร์รี เช่นกันมาแทรกไปในงานเรื่องนี้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นความบาดหมางของยอดนักประพันธ์ กับผู้กำกับริดลีย์ แต่ยังไม่พอ เมื่อริดลีย์เอาผลงานของนักประพันธ์คนอื่นมาใส่ในฉากเอนด์เครดิต ซึ่งเจอรีให้ความสำคัญกับฉากนี้มากเพราะจะเป็นฉากที่คนดูได้ยินและจดจำขณะก้าวออกจากโรง เจอรีรู้สึกว่าริดลีย์ไม่เคารพผลงานของเขา และไม่เคยให้อภัยริดลีย์ และ เจอร์รี จนวันที่เขาตายไปในปี 2004
ตัวหนังสือ A L I E N ที่ขึ้นตอนต้นเรื่องเป็นผลงานการออกแบบของ ซอล แบสส์ ศิลปินชื่อดัง แต่ ซอล กลับไม่ได้เครดิตในหนัง