Okja ทำไมหมูตัวยักษ์..ต้องอยู่บนโลกที่เข้าใจยากใบนี้

Okja ทำไมหมูตัวยักษ์..ต้องอยู่บนโลกที่เข้าใจยากใบนี้

Okja ทำไมหมูตัวยักษ์..ต้องอยู่บนโลกที่เข้าใจยากใบนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไอเดียหนึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางคำถามที่ย้อนแย้งในสังคม “การบริโภค” เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษยชาติ แต่บางครั้งเราก็หลงลืมหรือไม่อยากรับรู้ถึงกระบวนการต่างๆ กว่าจะกลายมาเป็นอาหารสมบูรณ์แบบ เอร็ดอร่อยในแต่ละมื้อ เราทนไม่ได้ที่เห็นสัตว์ประเภทหนึ่งถูกมนุษย์ทารุณ แต่เราก็ยังต้องทานเนื้อสัตว์อีกชนิดหนึ่ง ทั้งที่มันถูกกระทำอย่างเหี้ยมโหดมากกว่า เพื่อนำมาปรุงเสิร์ฟเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการใช้ชีวิตประจำวัน ของเรา…

“Okja” เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงที่ชื่อว่า "มิจา" ยอมทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้อง "อ๊อกจา" หมูเลี้ยงสุดรักของเธอ ที่มีตัวขนาดใหญ่มหึมา ชีวิตแสนเรียบง่ายในแถบชนทบบนเทือกเขาสงบต้องเปลี่ยนไป เมื่อภูมิหลังของเจ้าหมูตัวนี้นั้น แท้ที่จริงเป็นสัตว์ที่ผ่านการคัดแต่งทางพันธุกรรม กระจายให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงและส่งกลับมาแปรรูป

หนังมีโทนและกลิ่นอายเป็นหนังผจญภัยระหว่างเด็กกับสัตว์ที่ดูได้ง่ายๆ แต่ในแง่ประเด็นก็ไม่เหมาะสำหรับเป็นหนังของเด็กๆ มากนัก เพราะหนังเต็มไปด้วยประเด็นเสียดสีสังคมปัจจุบันมากมาย โดยเฉพาะในแง่การคุ้มครองสิทธิสัตว์และยังตบหน้าได้ฉาดเบาๆ ไล่ตั้งแต่กลุ่มผู้ผลิตอาหารแปรรูป จนกระทั่งถึงปากผู้บริโภคเอง

สำหรับตัวหนังนั้นเริ่มต้นด้วยการจิกกัดและเสียดสีวงการสื่อและอาหารเบาๆ ก่อนจะหันมาให้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างเด็กสาวตัวน้อยกับเจ้าหมูตัวยักษ์ ทั้งคู่ที่รู้ใจและเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก เมื่อเริ่มเข้าไปสู่ประเด็นก็สัมผัสได้ถึงโทนหม่นหมองสีเทาๆ ออกมาได้เด่นชัด

อีกหนึ่งผลงานของผู้กำกับชาวเกาหลี "บงจุนโฮ" ที่มีสไตล์ความเป็นลูกครึ่งระหว่างเกาหลีกับฮอลลิวู้ด แต่ภาพรวมจากหนังเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นหนังเกาหลีที่มีดาราฮอลลิวู้ดมาร่วมแสดงมากกว่า การเล่าเรื่องทำได้ดี หนังดูเข้าใจง่าย แต่ก็ไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ ขณะที่โดยรวมของบทภาพยนตร์ที่เขาร่วมเขียนด้วยนั้น ค่อนข้างจะธรรมดาแต่มีน่าสนใจด้วยประเด็น

บองจุนโฮ ยังได้กลับมาร่วมงานกับ "ทิลด้า สเวนตัน" อีกครั้ง ในส่วนของการแสดงของสเวนตัน ก็ทำได้ดีในระดับมาตรฐานของเธอ บทค่อนข้างส่งให้เธอกลายเป็นตัวร้าย แต่โดดเด่นด้วยภาวะสับสนทางอารมณ์ของตัวละคร ความขัดแย้งของอำนาจและความอ่อนโยนทางความคิดในเวลาเดียวกัน ถือว่าตีโจทย์ทางการแสดงออกมาได้อย่างน่าสนใจ

เจค จิลเลนฮาล กับบทของด็อกเตอร์คล้ายๆ กับสติเฟื่อง มีหมกหมุ่นอยู่กับความลับในห้องแลป ถือเป็นการฉีกบทบาทของเขาอีกครั้งหนึ่ง เพราะแทบจะไม่เคยได้เห็นเขาเคยแสดงเช่นนี้มาก่อน แต่น่าเสียดายที่ตัวละครนี้ยังไม่ค่อยน่าสนใจ ทำให้บางครั้งกลายเป็นโอเวอร์แอคติ้งและไม่ทำให้คนดูเชื่อ

แต่คนที่โดดเด่นอย่างคาดไม่ถึงกลับเป็น "พอล ดาโน" ในบทชายในชุดสูท เหมือนพระเอกในหมู่มวลสัตว์ เขาเป็นหัวหน้าแกนนำกลุ่มลับใต้ดินเพื่อปกป้องสิทธิสัตว์ (Animal Liberation Front) แม้จะไม่ใช่บทบาทที่ต้องตีความยาก แต่การถ่ายทอดทั้งการแสดงและทางอารมณ์ เขาทำให้คนดูรู้สึกไม่ไหวใจว่าคนนี้จะเป็นดี

ส่วนการแสดงของเด็กสาวน้อย "อันโซฮยอน" ก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ การแสดงเป็นไปตามมาตรฐานของอดีตดาราเด็กเกาหลีผู้นี้ แต่ตัวขโมยซีนของเรื่องกลายเป็นบรรดากลุ่มแก๊ง ALF ปกป้องสิทธิสัตว์ ที่ดูเหมือนจะนำไปต่อยอดอะไรต่างๆ ได้อีกมาก เพียงแค่ "ลิลลี่ คอลลินส์" ที่อยู่ในแก๊งนี้ มีการแสดงที่ไม่ค่อยคุ้มค่ากับการปรากฏตัวสักเท่าไหร่

มาถึงสเปเชียลเอ็กเฟคหลักของหนัง "อ๊อกจา" หมูตัวยักษ์ที่มีการถกเถียงกันอยู่ว่า จะเป็นหมู หรือ จะเป็นฮิปโปโปเตมัส แต่ด้วยเหตุที่มันเป็นสัตว์ที่ผ่านการดัดแปลงทางพันธุธรรม รูปร่าง..อะไรก็เกิดขึ้นได้ งานสร้างตัวหมูค่อนข้างละเอียด โดยเฉพาะรายละเอียดระยะใกล้ แต่ก็ยังมีจุดบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะฉากที่ต้องแสดงกับคน น่าจะทำได้ดีกว่านี้อีก

โดยภาพรวมแล้ว "Okja" เป็นหนังที่เด็กดูได้แต่ผู้ปกครองก็ควรให้คำแนะนำ มีประเด็นเสียดสีสังคมอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เมื่อดูหนังจบแล้วเกิดประมวลทางความคิดมากมาย ถึงขั้นไม่อยากบริโภคเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูปไป บางครั้งโลกใบนี้ก็ซับซ้อนและยากเกินไปที่จะเข้าใจ มนุษย์ยังต้องบริโภคเพื่อความอยู่รอด แต่ถ้ามองมุมกลับก็ดูโหดร้ายต่อสัตว์ เห็นหรือไม่ว่า..มันช่างเข้าใจยากเหลือเกิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook