5 เหตุผลที่ TRANSFORMERS: THE LAST KNIGHT คือภาคที่แย่ที่สุด

5 เหตุผลที่ TRANSFORMERS: THE LAST KNIGHT คือภาคที่แย่ที่สุด

5 เหตุผลที่ TRANSFORMERS: THE LAST KNIGHT คือภาคที่แย่ที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

@PRETTYPLASALID

 

          ถึงแม้ว่าทุกภาคของหนัง TRANSFORMERS จะไม่เคยได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่บวกจากบรรดานักวิจารณ์เลยก็ตาม แต่ใครสน! เพราะคนดูก็ยังตอบรับแฟรนชายส์หุ่นยนต์ตีกันอย่างดิบดีเสมอมา โดยภาคที่ 4 อย่าง Transformers:Age of Extinction ทำรายรับรวมทั่วโลกสูงถึง 1100 ล้านเหรียญฯสหรัฐ แต่ก็ไม่แน่ว่า TRANSFORMERS: THE LAST KNIGHT จะประสบความสำเร็จอีก เมื่อบรรดาผู้ชมต่างก็เริ่มรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันว่าหนังภาคล่าสุดนี้ก็ “ไม่ได้เรื่อง” เช่นกัน

 

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง เพื่ออรรถรสหากต้องการชมภาพยนตร์ควรอ่านหลังจากชมภาพยนตร์แล้ว

 

 

1.ทวิตเตอร์เชื่อถือไม่ได้ เว็บบอร์ดสวนทาง

          เหมือนเป็นธรรมเนียมภาคปฏิบัติไปแล้วที่การใช้โซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ในการสะท้อนเสียงผู้ชมในรอบสื่อเพื่อเป็นการสะท้อนเสียงต้อนรับของบรรดาผู้ชมที่มีโอกาสได้ดูหนังก่อนใครเพื่อน ซึ่งส่วนมากเป็นบรรดาบล็อกเกอร์ นักวิจารณ์ สื่อมวลชน (ผู้เขียนก็เช่นเดียวกัน) แต่ตามวัฒนธรรมขี้เกรงใจของคนบ้านเรา คงต้องบอกว่าหลายครั้งทวิตเตอร์ก็เป็นการ “อวย” แบบเกินคุณภาพไปหลายเบอร์ ยิ่งไปกว่านั้นบรรดาค่ายหนัง โรงภาพยนตร์ มีหรือที่ใครอยากจะรีทวิตข้อความประเภท “หนังแย่มาก ไม่สนุกเลย” ดังนั้น การหาข้อมูล “กระแสหนัง” ที่ดี ควรพิจารณาจากเว็บบอร์ดที่สามารถพิมพ์ข้อความได้ยาวกว่า 140 ตัวอักษรนะ

 

 

2.ความพยายามแถตำนานที่ล้มเหลว

        TRANSFORMERS: THE LAST KNIGHT พยายามผูกตำนานประวัติศาสตร์โลกให้เข้ากับเรื่องราวความเป็นมาของหุ่นยนต์ทรานส์ฟอร์เมอร์ แต่ดูเหมือนว่าถ้าวิเคราะห์ให้ละเอียดแล้ว ถ้าหากบรรดาหุ่นเหล่านี้มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ของโลกมนุษย์จริงๆ ยิ่งทำให้เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในภาคที่ 1-4 มา ตรรกะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะนั่นหมายความว่าประวัติศาสตร์อันยาวนานร่วมพันปีที่ผ่านมานั้น ไม่สามารถทำให้มนุษย์สามารถฉุกคิดได้เลยว่า ควรมีการจัดตั้งหน่วยงาน (แม้จะเป็นหน่วยงานลับก็ควรจะมีการอ้างถึง พูดถึงมากกว่านี้) ในการเฝ้าระวังภัยจากหุ่นยนต์ฝ่ายดีเซปติคอน รวมถึงภัยจากต่างดาวแบบที่ไม่คาดคิด และเหตุใดกันองค์กรเหล่านี้ถึงยอมฝากความหวังของมนุษยชาติไว้กับตัวเอกในแต่ละภาคโดยไม่มีมาตรการใดๆเลย

          การผูกตำนานคิง อาเธอร์กับมังกร(หุ่นยนต์) สามหัวและพ่อมดเมอร์ลินนั้น เหมือนจะเป็นความพยายามในการบอกที่มาที่ไปและความสำคัญของคฑาเมอร์ลิน ในการหุ่นทรานส์ฟอร์เมอร์เอาสิ่งดังกล่าวมาซ่อนยังโลกมนุษย์ คำถามคือควินเทสซ่า (ตัวร้ายของภาคนี้) ทำไมถึงต้องรอยาวนานถึงขนาดนั้น ทั้งที่โอกาสในการโจมตีของนางก็มีมากมาย ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้สึกไม่สมเหตุสมผลอย่างสิ้นเชิง แต่พอไม่คิดแล้วก็รู้สึกไม่เข้าใจความคิดของตัวร้ายในหนังภาคนี้เลยให้ตายเถอะ

3.ทุกอย่างในหนังภาคนี้คลี่คลายอย่างง่ายๆไปหมด

          ความขัดแย้งในหนังทุกเรื่องคือชนวนสำคัญที่ทำให้ตัวละครในหนังเกิดการขับเคลื่อนเชิงพฤติกรรมและแรงจูงใจ (Motivation) พูดง่ายๆคือมันทำให้ปัจจัยสำคัญคนดูอยากติดตามว่าท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาในหนังจะถูกคลี่คลายไปยังไง

1.ออพติมัส ไพรมส์จากโลกนี้ไปเพื่อตามหาผู้สร้าง > ออพติมัส ไพรมส์เจอควินเทสซ่า แต่เขาโดนสะกดจิตให้ไปชิงคฑาเมอร์ลินเพื่อนำมาฟื้นพลังให้กับดาวไซเบอร์ตรอน > ออพติมัสกลับลงมาโลกเพื่อชิงคฑา แต่สักพักพอได้ยินเสียงของบัมเบิ้ลบี ก็ได้สติ! (ฮะ เอาง่ายๆ ฉากเดียวจบแบบนี้เลยเหรอ)

 

2.พระเอกเคด เยเกอร์ (มาร์ค วอลเบิร์ก) ทะเลาะ กัดกับวิเวียน (ลอร่า แฮดด็อค) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ตลอดทั้งเรื่อง ในแง่ทัศนคติ เชื้อชาติ เพศ ตลอดเวลา แต่แค่พวกเขาลงเรือดำน้ำ วิเวียนเห็นซิกส์แพคของเคด ทันใดนั้นทั้งคู่ก็ตกหลุมรักกัน!

3.การที่ตัวละครมนุษย์อย่างเคดและวิเวียนลงเรือดำน้ำในการเปลี่ยนระดับความลึกใต้ท้องทะเลแบบในหนังอาจจะทำให้ตัวละครหมดสติได้ แต่พวกเขากลับทำกิจวัตรทุกอย่างได้ปกติ ในขณะที่ฉากตัวละครเหล่านี้ต้องลอยขึ้นไปบนฟ้าพวกเขากลับใส่หน้ากากช่วยหายใจ (ตกลงว่าจะเว่อร์ไปเลย หรือจะเน้นความสมจริงสมจัง เอาสักอย่างไหมพี่ไมเคิล เบย์ ปรับตรรกะในสมองไม่ทัน)

4.และอีกมากมายที่ไม่มีความสมเหตุสมผลเชิงตรรกะในตัวเองอย่างสิ้นเชิง

 

 

4.ฉากต่อสู่ที่ซ้ำซาก ยาวนานและปราศจากความน่าตื่นตา

        เชื่อว่าบรรดาแฟนคลับของหนังทรานส์ฟอร์เมอร์ทุกคนคาดหวังกับฉากหุ่นยนต์ต่อสู้กัน ทว่าก็ต้องว่ากันตามตรงว่าในภาคนี้สัดส่วนในการที่เราจะได้เห็นหุ่นยนต์สู้กัน ก็จัดได้ว่าน้อย แถมฉากเหล่านี้ก็ไม่สนุกเอาซะเลย ไม่ว่าจะเป็นฉากช่วงต้นเรื่องที่หน่วย TRF มากวาดล้างหุ่นยนต์ทรานส์ฟอร์เมอร์ในเขตหวงห้าม การปะทะกันระหว่างออโตบอทและดีเซปติคอน ฉากการปะทะกันในยานต่างดาวที่เก็บคฑาเมอร์ลินและไคลแมกซ์ของเรื่อง

          ปัจจัยประการสำคัญที่ทำให้ฉากแอ็คชั่นไม่ค่อยสนุก มาจากการตัดต่อที่รวดเร็ว ฉับไวไปหมดจนคนดูเวียนหัว (หนังเรื่องนี้ใช้มือตัดต่อถึง 5 คน!!!!) จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าตกลงแล้วเราต้องโฟกัสการต่อสู้ที่ตัวละครไหน เพราะอิรุงตุงนังไปหมด ยิ่งไปกว่านั้นหนังภาคนี้ก็ไม่ให้เวลาคนดูกับหุ่นทรานส์ฟอร์เมอร์เท่าที่ควร เพราะมัวไปโฟกัสอยู่แต่เรื่องราวดราม่าของตัวละครมนุษย์ (ซึ่งไม่สนุกและน่ารำคาญ ไม่มีใครสนใจหรอกว่าอีลูกสาวพระเอกจะดราม่าอะไรกันนักหนา แต่ที่แน่ๆ ช่วยเล่าเรื่องของตัวละครที่โผล่หน้าสลอนในหนังภาคนี้ให้คนดูเข้าใจก่อนเถอะว่าพวกเขามีที่มาตื้นลึกหนาบางมากแค่ไหน)

 

 

5.ตัวละครมนุษย์ที่ไม่มีความเป็นมนุษย์

        เราอาจจะรู้จักเคด เยเกอร์มาบ้างแล้วจากหนังภาคก่อน แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เราสัมผัสได้มิติความเป็นมนุษย์มากเท่าไหร่ เขาอาจจะมีลูกสาวผมบลอนด์หน้าอกโตและอยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลกแต่ในขณะเดียวกันบรรดาตัวละครใหม่ในหนังภาคล่าสุดอย่างน้องหนูอิซาเบล (อิซาเบลล่า โมเนอร์) ที่หนังเคลมว่าเธออยู่กับหุ่นยนต์ทรานส์ฟอร์เมอร์ที่เธอมองว่าเขาคือคนในครอบครัวคนสุดท้าย หลังจากที่ครอบครัวมนุษย์ที่แท้จริงของเธอโดนดีเซปติคอนโจมตีจนล้มตายหมด ความสามารถของน้องหนูคือเก่งกาจ ฉลาดเฉลียวเรื่องเครื่องยนต์กลไก จนนำมาสู่คำถามว่านังหนูเอาเวลาไหนไปเรียนรู้ทักษะนี้ ยิ่งไปกว่านั้น อิซาเบลก็ยังพยายามบีบบังคับให้หุ่นกระป๋องตัวฟ้าของเธอออกศึกไปบู้อยู่บ่อยๆ โดยไม่ได้เป็นห่วงถึงอันตรายของเจ้าหุ่นตัวนี้เลย (วัดจากกิริยาท่าทางการแสดงออกของเธอ) แต่ทุกครั้งที่หุ่นพังเธอก็ซ่อมมันขึ้นมาใหม่ตลอด

 

          สาวอีกคนอย่างนางเอกของเรื่องอย่างวิเวียน หนังอาจจะทำให้คนดูเห็นว่าเธอเป็นถึงอาจารย์ประวัติศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัย ในการพาลูกศิษย์เดินชมพิพิธภัณฑ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เธอพูดถึงตำนานเมอร์ลินและคิง อาเธอร์รวมไปถึงเธอแสดงความเห็นออกมาอย่างชัดเจนว่าเธอ “ไม่เชื่อ” เรื่องเล่าปรัมปรา ทว่าบุคลิกที่ขัดแย้งย้อนแย้งกับสัมมาอาชีพของเธออย่างสิ้นเชิงคือฉากที่ตัวละครนี้และเคด พยายามค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตำนานเมอร์ลินที่เธอพลันฉุกคิดได้ว่า พ่อของเธอเคยหวงห้ามไม่ให้เข้ามายังห้องทำงาน นั่นก็เพราะว่ามีข้อมูลสำคัญที่จะทำให้เธอสามารถเดินทางไปหาคฑาเมอร์ลิน แต่ทันทีที่เธอเข้ามาให้ห้องนี้พร้อมเคด เยเกอร์พวกเขาเลือกใช้วิธีการ “พังข้าวของ” แบบคนไม่มีสมองทำกัน นี่เหรอคือพฤติกรรมของอาชีพอาจารย์ทางประวัติศาสตร์ และมันน่าจะสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า ผู้หญิงของผู้กำกับไมเคิล เบย์ทุกเรื่อง ไม่ว่าพวดเธอจะเป็นตัวละครอะไรก็ตาม จะต้องหน้าอกโตและสมองเท่าเม็ดถั่วอยู่เสมอ!

 

          ส่วนตัวละครสมทบอื่นๆในหนัง มีหน้าที่พูดมากๆและทำตัวน่ารำคาญตลอดเวลา โดยเฉพาะบทคนดำลูกน้องของเคด เยเกอร์นั่นแหละเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด

 

 

 

 

 

         

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook