หลากเรื่องควรรู้ก่อนดู War For The Planet Of The Apes

หลากเรื่องควรรู้ก่อนดู War For The Planet Of The Apes

หลากเรื่องควรรู้ก่อนดู War For The Planet Of The Apes
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

         

 

ในปี 2011 Rise of the Planet of the Apes คือการหยิบเอาแฟรนชายส์หนังเรื่อง Planet of the Apes ของปี 1968 มาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง ซึ่งตัวหนังนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับหนังของเวอร์ชั่นต้นฉบับ หรือกระทั่งเวอร์ชั่นเกือบใหม่ของผู้กำกับทิม เบอร์ตัน อย่าง Planet of the Apes ในปี 2001 ความสำเร็จของแฟรนชายส์นี้ (แม้จะไม่ได้เปรี้ยงปร้างแบบแฟรนชายส์อื่นๆก็ตาม) แต่ไตรภาคพิภพวานรครั้งนี้ ก็จัดเป็นหนังในหนังเกรดเอบวกที่คนรักหนังฟอร์มยักษ์ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

 

 

จุดเริ่มต้นของพิภพวานร

 

          ใน Rise of the Planet of the Apes วิล ร็อดแมน (เจมส์ ฟรังโก้) นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานให้กับบริษัทเจนซิส กำลังพัฒนายีนที่สามารถฟื้นฟูเนื้อเยื่อสมองของมนุษย์ที่ถูกทำลายเพื่อรักษาโรคสมองเสื่อม ซึ่งพ่อของเขาป่วยเป็นโรคนี้  แต่เมื่อนำยาที่ชื่อเอแอลแซด-112 ไปทดลองกับลิง แต่เมื่อผลออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจบริษัทจึงยกเลิกโครงการดังกล่าวลง

          ด้วยความจับพลัดจับผลูวิลต้องดูแล ลิงชิมแปนซีกำพร้าจากโครงการดังกล่าวที่ชื่อว่าซีซาร์ แต่ซีซาร์นี่เองคือผลผลิตจากการที่มดลูกของแม่ซีซาร์ได้ทำปฏิกิริยากับยาเอแอลแซด-112 มันมีความฉลาดมีความคิดเป็นของตัวเอง ทำให้วิลแอบเข้าไปเอาตัวยาเอแอลแซด-112 มาศึกษาต่อโดยใช้พ่อตัวเองเป็นหนูทดลองร่วมกับซีซาร์ ผลลัพธ์ที่ได้คือพ่อของเขาอาการดีขึ้น แต่ในเวลาไม่นานวิลเริ่มพบว่าเขากำลังจะสร้างหายนะครั้งใหญ่ให้กับมวลมนุษย์ทั้งหมด

 

 

หายนะของมวลมนุษยชาติ

 

        หลังจากไวรัสไข้หวัดลิง (Simian Flu) ได้คร่าชีวิตมนุษย์โลกจนเกือบหมด เหลือเพียงมนุษย์เพียงหยิบมือที่มีภูมิต้านทานโรคนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เหล่าวานรใช้ชีวิตของตนอย่างสงบในป่าทางตอนเหนือของซานฟรานซิสโก จนกระทั่งวันหนึ่งพวกมันถูกผู้รอดชีวิตกลุ่มเล็กๆค้นพบ ชาวอาณานิคมและเหล่าวานรต่างพยายามอยู่ร่วมกันให้ได้ แต่สันติภาพอันเปราะบางระหว่างสองฝ่ายก็ได้ถูกทำลายลงโดยโคบา วานรที่ต้องการแก้แค้นที่มนุษย์เคยกักขังมันไว้ สงครามระหว่างมนุษย์และวานรจึงเปิดฉากขึ้นใน Dawn of the Planet of the Apes

 

 

 

ชนวนสงครามระหว่างวานรและมนุษย์

 

        ชาวอาณานิคมเพียงหยิบมือได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือออกไป โดยสัญญาณดังกล่าวไปถึงฐานลูอิส-แม็คคอร์ดที่ซึ่งทหารหลายร้อยนายมาลี้ภัยอยู่หลังเกิดเหตุไวรัสระบาด ทหารชายหญิงเหล่านี้เป็นกำลังพลทั้งหมดที่เหลืออยู่ของกองทัพสหรัฐ กองกำลังพิเศษจึงถูกส่งมาร่วมรบในสงครามครั้งดังกล่าว ทำให้ซีซาร์และเหล่าวานรถอนทัพกลับไปยังป่าลึก แม้มนุษย์จะติดตามไปแต่พวกเขาก็ไม่พบร่องรอยในการค้นหาครั้งนี้

 

 

สงครามครั้งสุดท้ายของซีซาร์

 

        ใน War For The Planet Of The Apes ว่าด้วยการที่มนุษย์ยังเกลียดแค้นชิงชังเหล่าวานรอันเป็นต้นเหตุของไวรัสล้างโลก พวกเขาคิดจะกำจัดซีซาร์และวานรทั้งหมดให้สิ้นซาก ซีซาร์พยายามจะพาฝูงของเขาไปยัง “บ้าน” แห่งใหม่ แต่หลังจากที่ผู้พันจอมเผด็จการ (วู้ดดี ฮาร์เรลสัน) เลือกจะเข้าปะทะอย่างไม่มีข้อแม้ ทำให้ซีซาร์ต้องทำสงครามที่เขาไม่ได้เริ่มต้นขึ้น แต่เขาเลือกที่จะปิดฉากสงครามครั้งนี้ด้วยตัวเขาเอง

 

 

การสำรวจความขัดแย้งในตัวละครซีซาร์

 

          ซีซาร์คือตัวละครลิงที่รับบทนี้โดยนักแสดงอย่าง แอนดี้ เซอร์คิส (ก่อนจะถูกนำไปทำซีจีไอกราฟฟิคให้กลายเป็นลิง) เป็นครั้งที่สาม ในครั้งนี้ตัวละครดังกล่าวถูกผลักดันความรู้สึกภายในจิตใจของตัวเองไปสู่ความขัดแย้งเต็มรูปแบบ ตัวละครซีซาร์ถือว่าเขามีร่างกายภายนอกเป็นวานร แต่ภายในร่างกายและความคิดของเขามีความเป็นมนุษย์อยู่ ที่สำคัญคือสงครามในครั้งนี้คือการต่อสู้เรื่องของสติปัญญา ความเห็นอกเห็นใจ สัญชาตญาณของมนุษย์ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทำให้เรามองเห็นคุณค่าในตัวเอง

 

 

 

War For The Planet Of The Apes ภาคที่บทภาพยนตร์เข้มข้นที่สุด

 

          โครงสร้างของหนังภาคที่ 3 ในไตรภาคใหม่ของพิภพวานรนี้ไม่ใช่แค่เพียงการเล่าเรื่องราวสงครามระหว่างมนุษย์กับวานรเท่านั้น แต่มันยังพูดถึงความตกต่ำทางสภาพจิตใจของมนุษย์เอง และในขณะเดียวกันมันยังพาคนดูไปสัมผัสด้านมืดของตัวละครอย่างซีซาร์ด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อเขาต้องตรวจสอบศีลธรรมภายในจิตใจตัวเอง และเมื่อเขาเริ่มตั้งคำถามกับหลักการในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติที่ตัวเองได้เคยวางเอาไว้ในกลุ่มของวานรด้วยกัน นี่คือบททดสอบครั้งสำคัญที่หนังภาคนี้จะพาคนดูไปสำรวจตัวละคร

 

 

แอนดี้ เซอร์คิส นักแสดงที่โลกลืม!

 

        นี่คงถึงเวลาแล้วที่โลกควรจะจดจำนักแสดงยอดฝีมือคนนี้สักทีกับ แอนดี้ เซอร์คิส ผู้รับบทเป็นซีซาร์ ซึ่งทีมงานนั้นใช้ พัฒนาการของเทคโนโลยีการจับความเคลื่อนไหวในการแสดงซึ่งสามารถบันทึกแม้กระทั่งรายละเอียดเล็กน้อยของความเคลื่อนไหว ท่าทาง และอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครแอนิเมชันซึ่งเล่นโดยนักแสดงที่เป็นมนุษย์

          จริงๆรู้หรือเปล่าว่า แอนดี้ เซอร์คิส นั้นคือนักแสดงผู้รับบทกอลลัมในมหากาพย์ Lord of the Rings ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวเอง และการกลับมาครั้งนี้เขาก็นำความซับซ้อนมาให้กับตัวละครซีซาร์อีกครั้ง ซึ่งพัฒนาการของตัวละครซีซาร์ในหนังภาคนี้นอกเหนือจากเรื่องความคิดแล้ว การที่ซีซาร์สามารถพูดได้มากขึ้นยิ่งเอื้อให้แอนดี้ สามารถสะท้อนบุคลิกความละเอียดของซีซาร์ได้มากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งส่งผลต่อวิธีการที่เขาเข้าถึงสิ่งต่างๆ วิธีการที่เขามองตนเองและผู้อื่น

 

 

          ด้วยความจริงจังตลอดการทำงานของหนังทั้งสามภาคที่ผ่านมา แอนดี้ เซอร์คิสทำการบ้านอย่างหนักในการสวมบทเป็นตัวละครซีซาร์ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพฤติกรรมและการแสดงออกทางสีหน้าของลิงในรูปแบบต่างๆ แต่ที่สำคัญที่สุดเมื่อตัวละครซีซาร์เป็นตัวละครที่พูดน้อย เขาจึงใช้วิธีการสื่อสารผ่านทางแววตาโดยไม่ต้องใช้คำพูดมากมายเลยสักคำเดียว ถึงขั้นที่วู้ดดี ฮาร์เรลสัน ผู้รับบทเป็นผู้พันซึ่งต้องปะทะกับซีซาร์ในหลายๆ แง่ กล่าวว่า “แอนดี้เป็นนักแสดงที่มีพรสวรรค์มากที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ผมเคยพบมา” เขาให้ความเห็น “ผมอึ้งไปเลยเมื่อได้เห็นว่าเขาถ่ายทอดพลังได้มหาศาลมากแค่ไหนโดยไม่ต้องพูดเลยสักคำเดียว ผมคิดว่าไม่เคยพบความสามารถในการสื่ออารมณ์ผ่านสายตาอย่างถึงขีดสุดระดับนี้มาก่อน ในฐานะนักแสดง ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเปรียบเทียบเขากับใครดี เขาโดดเด่นจนหาตัวจับยาก เขาเล่นได้ประทับใจมากจนบางครั้งผมต้องปรบมือให้เขาเลยพอเล่นจบเทค”  .... ไม่แน่ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะส่งให้แอนดี้ ได้มีโอกาสเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำชายครั้งแรกสักที!

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook