8 เรื่องจำเป็นต้องรู้ก่อนไปดู Atomic Blonde
1.นี่คือหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายภาพ
ในยุคสมัยที่ภาพยนตร์มักจะหยิบเอาวรรณกรรมชื่อดัง หรือนำนิยายภาพ หนังสือการ์ตูนมาดัดแปลงกันอย่างคึกคัก เช่นเดียวกันกับ Atomic Blonde ถูกดัดแปลงมาจากนิยายภาพของ Oni Press ปี 2012 ชื่อ "The Coldest City" เขียนโดย แอนโทนี่ จอห์นสตัน และวาดโดย แซม ฮาท โดยองค์ประกอบที่อยู่ในหนังสือเล่มดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้บริบทของ “ยุคสงครามเย็น”
(ขอบคุณภาพจาก : http://bit.ly/2v4AIpt)
2.ยุคสงครามเย็นคืออะไร
พื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างมากในการทำความเข้าใจภาพยนตร์เรื่องนี้ “ในเชิงการเมือง” สงครามเย็นคือสงครามระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย แต่การสู้รบไม่ได้ใช้อาวุธทางทหารเข้าต่อสู้กันโดยตรง แต่ใช้โฆษณาชวนเชื่อในการแทรกซึม การแสวงหาอิทธิพลในประเทศเล็กๆ การแข่งขันการสร้างอาวุธและเทคโนโลยี ซึ่งชนวนเหตุของสงครามเย็นนั้นมาจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจทั้งสอง เพื่อแสดงความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นผลลัพธ์สืบเนื่องมาจากความล่มสลายของมหาอำนาจเดิมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างอังกฤษและเยอรมัน
(ขอบคุณภาพจาก : http://bit.ly/2vypwoi)
3.กำแพงเบอร์ลิน ตัวละครสำคัญของ Atomic Blonde
อีกส่วนสำคัญซึ่งมีบทบาทในหนังเรื่องนี้ คือตัวหนังดำเนินเหตุการณ์อยู่ในช่วงเวลาที่กำแพงเบอร์ลิน ในประเทศเยอรมันกำลังจะล่มสลาย (ถูกทำลายลง) แต่จุดเริ่มต้นของกำแพงเบอร์ลินนั้น เริ่มต้นขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง ประเทศเยอรมันถูกแบ่งให้ตกอยู่ภายใต้การดูและของมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย ซึ่งยึดถือแนวคิดทางการเมืองในรูปแบบของตัวเอง โดยเยอรมันถูกแบ่งออกเป็นเยอรมันตะวันตก (อยู่ภายใต้การดูแลของประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส) ส่วนเยอรมันตะวันออกอยู่ภายใต้การดูแลของสหภาพโซเวียต)
จากประเทศที่ผู้คนเคยไปมาหาสู่กันได้อย่างปกติ ชาวเยอรมันกับถูกแบ่งแยกกันเอง แม้ว่าชาวเยอรมันจากทั้งสองฝั่งจะสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ แต่ผู้คนก็เห็นความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และเพื่อสิ่งที่ดีกว่าจึงเกิดการอพยพกันอย่างมากของประชาชนจากเบอร์ลินตะวันออกไปยังเบอร์ลินตะวันตก นำไปสู่ประเด็นเรื่องการปิดพรมแดน และการปิดล้อมเบอร์ลินตะวันตก
(ขอบคุณภาพจาก http://bit.ly/2ht0yk2)
4.การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน
วันเริ่มต้นของกำแพงเบอร์ลินจวบจนวันเวลาที่กำแพงดังกล่าวได้แบ่งแยกชาวเยอรมันออกจากกัน กินเวลาถึง 28 ปี ซึ่งเกิดเรื่องราว เหตุการณ์มากมายที่สำคัญ แต่เราจะขอ “เล่าข้าม” ไปมิเช่นนั้น บทความนี้จะกลายเป็นบทความประวัติศาสตร์มากกว่าการแนะนำไปดูหนัง
กำแพงเบอร์ลิน ล่มสลายลงในวันที่ 9 พฤศจิกายนปี 1989 หลังจากประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียต พยายามปฏิรูปประเทศของตนเองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ทำให้ผู้คนในเยอรมันนี้ตะวันออกมีการประท้วงอย่างสงบ โดยเฉพาะเมืองโพสต์ดัม ไลฟ์ซิก และเดรสเดน เป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลเยอรมันนี้ตะวันออกถูกกดดันเป็นอย่างมาก กระทั่งมีการประกาศว่าจะเปิดพรมแดนให้กับชาวเยอรมันตะวันออกได้ข้ามผ่านพรมแดนอย่างอิสระ ทำให้ชาวเยอรมันตะวันออกมารวมตัวที่กำแพงเบอร์ลิน และเป็นเหตุผลที่ว่าวันที่ 9 พฤศจิกายนปี 1989 จึงถือเป็นวันที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย
5.เหตุการณ์ใน Atomic Blonde
ลอร์เรน โบรห์ตัน (ชารีส เธอรอน) สายลับหญิงสังกัดหน่วย MI6 ที่ถูกเรียกมารับภารกิจ โดยเธอถูกส่งตัวไปยังเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน 5 วันก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะล่มสลาย ภารกิจสำคัญของเธอคือการต้องช่วงชิง “สมุดรายชื่อบุคคลสำคัญ” ที่คาดการณ์ว่าหากใครได้ไปครอบครอง ฝั่งนั้นจะเป็นผู้กุมอำนาจคนต่อไปในโลกยุคต่อไป
6.ชารีส เธอรอนกับบทสายลับที่ “ดุ” ที่สุด
ดาราสาวดีกรีรางวัลออสการ์ พ่วงด้วยบท “ตัวแม่” ในหนังฟอร์มยักษ์มากมายหลายเรื่องในยุคหลัง ไม่ว่าจะเป็นบทราชินีผู้ชั่วร้ายใน Snow white and The Huntsman หรือวายร้ายไฮเทคในหนังภาคล่าสุดอย่าง Fast 8 นี่คือผลงานหนังแอ็คชั่นเรื่องล่าสุดของเธอ ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังควบตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างให้กับ Atomic Blonde ด้วย
7.เล่นจริง เจ็บจริงแบบโนสน โนแคร์
ถึงชารีส จะเป็นดาราที่อาจจะเรียกได้ว่า เบอร์ใหญ่และคร่ำหวอดในวงการหนังมาอย่างยาวนาน แต่การทำงานระดับโปรเฟชชั่นนัลของเธอก็เรียกได้ว่า “ไม่มีความเรื่องเยอะ” โดยใน Atomic Blonde นางเอกสาวตัดสินใจที่จะแสดงฉากต่อสู้ด้วยตัวเองกว่า 98 เปอร์เซ็นต์แบบไม่ใช่สตั้นท์แมน โดยเฉพาะฉากต่อสู้แบบประชิดตัว ฉากวิ่ง และหนังยังมีฉากไฮไลท์เด็ดของเรื่องคือฉากต่อสู้บนบันไดแบบลองเทค ซึ่งชารีสจะต้องโดนเหวี่ยงจากบันไดและถีบให้ร่วงจากที่สูง ซึ่งเธอตัดสินใจเล่นเอง ซึ่งผลจากฉากดังกล่าวเป็นผลทำให้เธอ “ฟันหัก 4 ซี่” และต้องเข้ารับการรักษาภายหลังจากการถ่ายทำ แต่ฉากดังกล่าวนั้น ใครได้ชมแล้วก็ต้องชื่นชมในความตั้งใจของเธอจริงๆ
8.โอกาสในการมีภาคต่อ
ถ้าหากหนังอย่าง John Wick จะเป็นหนังที่พูดถึง “นักฆ่า” ในโลกของผู้ชาย แล้วทำไม Atomic Blonde จะกลายเป็นหนัง “สายลับ นักฆ่า” เพศหญิงบ้างมาไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากหนังฮิตและทำเงินในระดับโลกมากพอ โอกาสที่หนังเรื่องนี้จะมีภาคต่อ ก็เรียกได้ว่ามีความเป็นได้สูงและทีมงานก็เตรียมพร้อมสำหรับประเด็นนี้ไว้แล้ว
จากต้นทุนในการสร้าง 30 ล้านเหรียญ หนังเปิดตัวในอเมริกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยอันดับที่ 4 บนตารางหนังทำเงิน ณ ปัจจุบันหนังทำเงินไปแล้ว 24 ล้านเหรียญ และในตลาดต่างประเทศอีก 4 ล้านเหรียญ ทำให้รายรับรวมตอนนี้ทั้งสิ้น 28 ล้านเหรียญ และหนังยังฉายอยู่ (ส่วนในตลาดหนังต่างประเทศเป็นการขายสิทธิจัดจำหน่ายให้กับค่ายหนังอิสระในประเทศนั้นๆ ทำให้รายรับรวมยังไม่สามารถสรุปได้) แต่คาดการณ์ว่าหนังอาจจะทำรายได้เกิน 50 ล้านเหรียญ