รีวิว CARS 3 สี่ล้อซิ่งชิงบัลลังก์แชมป์
หลังผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสนาม ไลท์นิ่งแมคควีน (ให้เสียงโดย โอเวน วิลสัน) รถแข่งสีแดงแรงฤทธิ์จำต้องซิ่งมิดไมล์เพื่อพิสูจน์ว่าเขายังคงเป็นรถแข่งแชมป์โลกที่มีลมหายใจอยู่ ท่ามกลางรถแข่งหน้าใหม่โดยเฉพาะ แจ็คสัน สตอร์ม (ให้เสียงโดย อาร์มี แฮมเมอร์) รถแข่งดาวรุ่งพุ่งแรงที่หวังดับอนาคตของเขา
แจคสัน สตอร์ม คู่แข่งหน้าใหม่ของ ไลท์นิ่ง แมคควีน
หลักไมล์ที่ 3 ของหนังชุด CARS
CARS ภาคแรกออกฉายในปี 2006 หรือเมื่อ 11 ปืที่แล้ว ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และเสียงวิจารณ์ทางบวกจนส่งให้หนังเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมเหมือนหนังจากสตูดิโอ พิกซ่าร์ เรื่องอื่นๆและผลพวงจากความโด่งดังของหนังก็ทำให้สตูดิโอดิสนีย์สามารถขายสิทธิคาแรกเตอร์แก่ผลิตภัณฑ์ต่างๆฟันกำไรมหาศาล จนดำเนินรอยตาม Toy Story อนิเมชั่นเรือธงของค่ายด้วยการสร้างภาคต่อ CARS 2 ออกฉายในปี 2011 โดยเพิ่มกิมมิคหนังสายลับในเรื่องราวจนออกนอกลู่ไปไกลทำให้เสียงวิจารณ์ไม่สู้ดีนักแถมทำรายได้ในประเทศน้อยกว่าทุนสร้างเสียอีก แต่ด้วยรายรับรวมทั่วโลกก็ยังสามารถผลักดันให้เกิดโปรเจคต์คล้ายกันอย่างหนังอนิเมชั่น Planes ทั้ง 2 ภาคในปี 2013 และ 2014 ที่แทบจะถอดทุกอย่างมาจาก CARS แค่เปลี่ยนจากรถเป็นเครื่องบินเท่านั้นเอง เพื่อหวังขายสิทธิคาแรคเตอร์ที่ทำกำไรมหาศาลให้ดิสนีย์แบบไม่สนคุณภาพหนัง
ดังนั้นวาระการกลับมาของ CARS ในสนามที่ 3 ที่สามนี้จึงมีนัยยะสำคัญในแง่ของการกู้ศรัทธาให้หนังชุดนี้ ซึ่งหนังตัวอย่างเองก็พยายามยกระดับความรุนแรงทางอารมณ์ด้วยการนำเสนอภาพรถไลท์นิ่งแมคควีนถูกชนจนพังยับเยินเพื่อกระตุ้นความสนใจผู้ชมวัยรุ่นที่ผ่านความรุนแรงของหนังซูเปอร์ฮีโร่มานักต่อนัก และแน่นอนว่าจากตัวอย่างก็พอทำให้เราเดาทางได้ไม่ยากว่าตัวหนังจะต้องพูดเรื่อง “วันเวลา”และ “ความร่วงโรย” ศัตรูตัวฉกาจของเหล่านักแข่ง ซึ่งหนังภาคนี้ก็ให้ภาพแมคควีนไม่ต่างจากรถแข่งตกรุ่นท่ามกลางรถแข่งรุ่นใหม่โดยเฉพาะ แจ็คสัน สตอร์ม ตัวแทนของรถยุคดิจิตอลที่ซ้อมกับซีมูเลเตอร์ คอมพิวเตอร์จำลองการแข่งในสนามจริง แถมทำความเร็วได้เกิน 200 ไมล์ต่อชั่วโมงแบบสบายๆ ซึ่งลำพังแค่ชื่อตัวละครก็เป็นสัญญะในตัวมันอยู่แล้วว่าสายฟ้า (lightening) อาจต้องหลีกทางให้ พายุ (storm) ลูกใหม่ที่โหมกระหน่ำพรั่งพร้อมทั้งกำลังเครื่องยนต์และความทะเยอทะยาน
โหยหาวันเก่าที่เราเคยเป็นหนึ่ง
หนังอุทิศครึ่งเรื่องแรกให้กับการที่ แมคควีน พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตนทำความเร็วได้ทัดเทียมแจ็คสัน สตอร์ม ซึ่งก็คือการได้ฝึกกับ ซีมูเลเตอร์ นั่นทำให้ แมคควีน พาเราไปรู้จักกับตัวละครใหม่ทั้ง สเตอร์ลิง (นาธาน ฟิลเลียน) นายทุนผู้มาเทคโอเวอร์ “รัสตีซ” กิจการที่เป็นสปอนเซอร์ให้เขาที่เสนอการฝึก แมคควีน เพื่อให้พร้อมลงแข่งในสนามฟลอริด้า โดยมี ครูซ รามิเรซ (คริสเตลา อาลอนโซ)เป็นเทรนเนอร์ให้ ซึ่งเรื่องราวในส่วนนี้มีการแฝงการวิพากษ์เรื่องระบบทุนนิยมมาแบบเนียนๆ โดยเฉพาะตัว สเตอร์ลิง ที่น่าจะมาจากสกุลเงิน ปอนด์สเตอร์ลิงที่ออกลายพ่อค้าหัวใสยื่นข้อเสนอให้แมคควีนแขวนยางแลกกับส่วนแบ่งสินค้าภายใต้แบรนด์จากชื่อของเขา ซึ่งหากเราคิดให้ดี หรือนี่พิกซ่าร์ต้องการเสียดสี ดิสนีย์ นายทุนตัวเองที่มักหากินกับการให้บริษัทในเครือผลิตคอนเทนต์มาเสริมการขายสิทธิคาแรกเตอร์ที่ทำกำไรมหาศาลให้ตัวเองกันนะ? แต่ถึงผู้สร้างจะตั้งใจหรือไม่ การเชื่อมโยงระหว่างระบอบทุนนิยมกับความต้องการของแมคควีนที่ต้องการพัฒนาศักยภาพตัวเองเพียงแค่ความเร็วก็ไม่ต่างจากการพัฒนาเพียงแค่เปลือก ซึ่งเป็นปัญหาของเด็กในยุคปัจจุบันที่ต้องดีกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น และเด่นกว่าคนอื่น จนมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ตกสำรวจกลายเป็นคนที่ละทิ้งความฝัน ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็น ครูซ รามิเรซ ผู้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องราวครึ่งหลัง
ครูซ รามิเรซ รถแข่งเทรนเนอร์ที่มีฝันยิ่งใหญ่
ความสุขที่แท้อาจมีมากกว่าแค่ความเร็ว
แน่นอนว่าหากครึ่งเรื่องแรกคือการต่อติดกับหนังภาคแรก ครึ่งหลังของหนังก็คือการตอกย้ำปมที่ภาคแรกวางไว้ หลังจากดั้นด้นหาวิธีเพิ่มความเร็วให้ตัวเองด้วยวิธีสมัยใหม่ไม่ได้ผล แมคควีน ก็กลับไปยังเมืองโธมัสวิลล์ที่อยู่ของตำนานรถแข่ง และคนที่เขาหวังพึ่งพาที่สุดก็คือ สโมคกี้ (คริส คูเปอร์) เทรนเนอร์ของ ด็อค ฮัดสัน ครูของเขา และจากการฝึกก็ทำให้แมคควีนค่อยๆค้นพบเป้าหมายในชีวิต โดยมี ครูซ รามิเรซ เทรนเนอร์ที่มองแมคควีนเป็นฮีโร่คอยอยู่เคียงข้าง ซึ่งเรื่องราวในครึ่งหลังนี้ยังเป็นการต่อยอดจากบทสรุปของหนังภาคแรกที่ท้ายเรื่อง แมคควีน ค้นพบคุณค่าของการเป็นรถนักแข่งที่มากกว่าแค่ชัยชนะ ซึ่งแม้ปมนี้จะไม่ยากต่อการคาดเดา แต่ต้องยอมรับจังหวะที่หนังฮุคใส่เรา โดยเฉพาะปมดราม่าระหว่าง แมคควีน กับ ด็อค ฮัดสัน ที่ซาบซึ้งมากโดยเฉพาะถ้าใครมีอาชีพเป็นครู คุณอาจเสียน้ำตาให้กับอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้เลย
สเตอร์ลิง รถนายทุนมหาเศรษฐี
ปลายทางคือเส้นชัยที่งดงาม
โดยเนื้อหาแล้ว CARS 3 อาจไม่ได้มีความแปลกใหม่ในการนำเสนอนัก แต่อย่างน้อยเรื่องราวของมันก็กลับมาอยู่ในลู่ทางที่ควรจะเป็นอีกครั้ง และเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า พิกซาร์ ยังคงเชื่อมือได้แม้จะเปลี่ยนตัวผู้กำกับจากสองภาคแรก โดย จอห์น แลสเซสเตอร์ ส่งไม้ต่อให้มือใหม่อย่าง ไบรอัน ฟี มากำกับเป็นครั้งแรก และที่สำคัญคือหนังให้ข้อคิดที่ดีมากและรับกับกระแสโลกอย่างความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างกลมกลืนและไม่ยัดเยียด จึงเป็นอีกงานที่คุ้มค่าตั๋วครับ