American Made ชีวประวัติหฤหรรษ์

American Made ชีวประวัติหฤหรรษ์

American Made ชีวประวัติหฤหรรษ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

เตือนกันก่อนเลยว่า อย่าเพิ่งด่วนตัดสินหนังจากโปสเตอร์หรือตัวอย่างหนัง ซึ่งผมเองก็รู้สึกเช่นกันว่ามันดูไม่น่าสนใจเอาเลย โดยเฉพาะหนังชีวประวัติย้อนยุคแบบนี้ ไม่ค่อยถูกตลาดกับคนดูในวงกว้างเสียด้วย แต่พอได้ดูกลับต้องชื่นชมครับ ว่าเป็นหนังส่วนน้อยจริง ๆ ที่เล่าเรื่องได้เก่งแบบนี้ หนังไม่มีฉากแอ็คชั่นเลยสักนาทีเดียว ไม่มีปริศนาให้ชวนติดตามใคร่รู้คำตอบ ตัวละครเต็มไปหมด มากคนมากสถานที่ แต่สามารถเล่าเรื่องได้สนุกน่าติดตามและเข้าใจได้ง่ายด้วย

ทอม ครุยส์ มารับบทเป็น แบร์รี่ ซีล นักบินมากประสบการณ์ของสายการบิน TWA ที่หาลำไพ่พิเศษเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยการลักลอบขนซิการ์หนีภาษี เรื่องไปรู้ถึงหู เชฟเฟอร์ เจ้าหน้าที่ CIA แทนที่จะจับกุม เชฟเฟอร์ กลับยื่นชักชวนให้แบร์รี่มาทำงานให้ CIA ด้วยการขับเครื่องบินเจ๊ตลักลอบถ่ายภาพมุมสูงภูมิลำเนาของเหล่าผู้ก่อการร้ายแต่ละประเทศ บ่อยครั้งที่แบร์รี่ บ่อยครั้งที่แบร์รี่บินเข้าไปในโคลัมเบีย และชื่อเสียงเขาไปถึงหูของพาโบล เอสโคบาร์ จึงส่งลูกน้องมาทาบทามให้แบร์รี่ ช่วยขนโคเคนเข้าอเมริกาด้วย แบร์รี่ ก็เลยกลายเป็นนกสองหัวที่ทำงานให้ทั้ง CIA และ เจ้าพ่อค้ายาเสพติดอันดับ 1 ของโลกไปพร้อมกัน ดูแล้วก็น่าทึ่งสนุกไปชีวิตหฤหรรษ์อย่างเหลือเชื่อของแบร์รี่ ซีล ดูแล้วก็ยังนึกว่าทำมั้ยเรื่องราวของแบร์รี่ ซีล ถึงเพิ่งได้ถูกนำมาสร้างเป็นหนังนะ ด้วยพื้นฐานนิสัยของแบร์รี่ ที่เป็นคนเก่ง ไหวพริบดี และกล้าเสี่ยงทำให้เขาตอบรับทุกข้อเสนอที่เข้ามา เราจึงได้เห็นแบร์รี่ ปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตายครั้งใหม่กับนายใหม่แทบจะทุก ๆ 20 นาทีของหนัง ชอบฉากขนโคเคนที่ต้องเอาเครื่องขึ้นกลางหุบเขาบนรันเวย์สั้น ๆ มาก ลุ้นดี หนังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วตลอด 1 ชั่วโมง 55 นาทีไม่มีช่วงให้ได้หาวเลย คนดูสนุกไปได้กับชีวิตของแบร์รี่ ที่รุ่งโรจน์จนเงินแทบจะทับตายขณะเดียวกันเขาก็มีปัญหาให้เขาต้องแก้ไขอยู่มากมายเช่นกัน

หนังเป็นฝีมือกำกับของดัก ลิแมน ที่เคยร่วมงานกับ ทอม ครุยส์ มาแล้วใน Edge Of Tomorrow (2014) ซึ่งยังคงสไตล์การการคุมหนังเนื้อหาหนัก ๆ ให้ไม่เครียดได้เช่นเคย ใน American Made เต็มไปด้วยผู้คนมากมายทั้ง ผู้ก่อการร้าย พ่อค้ายา และตำรวจทุกเหล่ากรม ซ้ำยังพาดพิงไปถึงการเมืองในยุคนั้นมาก บทหนังก็ค่อนข้างลงลึกถึงเกมการเมืองของโรนัลด์ เรแกน และมีชื่อบิล คลินตัน , จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เข้ามาในบทสนทนาแต่ดัก ก็แซมอารมณ์ขันเข้ามาได้ตลอดเวลา กลายเป็นหนังที่เบามาก ผิดกับเนื้อหา มีเสียงหัวเราะให้ได้ยินคลอไปตลอดเรื่อง ด้วยความที่เป็นหนังย้อนยุคไปในช่วง 1978 – 1986 ดัก ก็เลือกที่จะย้อมสีหนังให้ซีด ๆ จาง ๆ เหมือนดูหนังเก่า ๆ ซึ่งก็ไม่เห็นจำเป็นเลยนะ เพราะตลอดเรื่องหนังก็แทรกภาพจากวีดีโอเทปที่แบร์รี่ ซีล บันทึกภาพตัวเองเล่าชีวิตในช่วงนี้ของเขาเข้ามาเรื่อย ๆ อยู่แล้ว พอทำให้หนังสีซีดมันกลับทำให้ความน่าสนใจของหนังน้อยลงไปมาก แต่ส่วนที่เป็นสีสันของหนังบนเรื่องราวย้อนยุค คือการที่เราได้เห็นการทำธุรกิจวุ่นวายในยุคที่อุปกรณ์สุดทันสมัยคือ เพจเจอร์ อุปกรณ์สื่อสารหลักของแบร์รี่ก็คือตู้โทรศัพท์สาธารณะ ที่ต้องสาละวนกับการรับเครื่องนั้นทีเครื่องนี้ที ฉากนี้ถ้าคนเกิดทันยุค 70s 80s ก็น่าจะอินเป็นพิเศษ

ทอม ครุยส์ และ แบร์รี่ ซีล ตัวจริง

หนังใช้ทุนสร้างไป 80 ล้านเหรียญ เชื่อว่าเงินส่วนใหญ่หมดไปกับค่าตัวของ ทอม ครุยส์ นั่นแหละ เพราะหนังไม่ใช้ดารารู้จักเลย มีคุ้นหน้าก็แค่ ดอมห์แนล กลีสัน พระเอกจาก About Time (2013) และ บิล วีสลีย์ พี่ชายของรอนจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ หลาย ๆ ภาค  ดอมห์แนล มารับบทเชฟเฟอร์ เจ้าหน้าที่ CIA ผู้เข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของแบร์รี่ ตัวละครอื่น ๆ ดูทีมงานแคสติ้งจริงจังดีกับการหานักแสดงให้เหมือนบุคคลจริงในประวัติศาสตร์โดยเฉพาะพาโบล เอสโคบาร์ ที่มีหนังหลายเรื่องแล้วสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับเขา ก็หาตัวแสดงได้เหมือนจริงมาก ในช่วง 2-3 ปีหลังนี่ก็มีทั้งหนังและซีรีส์ที่เกี่ยวกับพาโบล อยู่หลายเรื่อง The Infiltrator (2016) และ Narcos ทีวีซีรีส์ที่จบไปแล้วในซีซัน 2 ก็มีบทของแบร์รี่ ซีล ออกมาสั้น ๆ เช่นกัน ในขณะที่คาแรคเตอร์ตัวประกอบดูจะละม้ายกับบุคคลจริง แต่กับตัวแบร์รี่ ซีล บทของทอม ครุยส์ กลับไม่ได้มีความใกล้เคียงกับตัวจริงเลยสักนิดเดียว และไม่ได้แม้จะพยายามแต่งตัวหรือเมคอัพให้เหมือนกับตัวจริงเลย แต่กับบุคลิกนิสัยตัวจริงจะเป็นอย่างนี้รึเปล่าก็ไม่รู้นะ แต่ทอม ครุยส์ ก็ถ่ายทอดบทบาทแบร์รี่ออกมาแบบลื่นไหล ในหนังนี่เราได้รู้จักแบร์รี่ ในภาพมนุษย์ที่อารมณ์ดีตลอดเวลา ใบหน้าเปื้อนยิ้มกับทุก ๆ สถานการณ์แม้ในขณะคับขัน

ด้วยเหตุที่หนังแสดงให้เห็นแต่ด้านสวยงาม ความสุขเพียบพร้อมที่เต็มไปด้วยเงินทองและทรัพย์สินของคนที่ทำงานนอกกฏหมายแล้วกลัวจะการเป็นการยั่วยุสร้างแรงบันดาลใจในทางที่ผิด หนังจึงต้องลงท้ายตามแบบหนังชีวประวัติทั่วไป ด้วยการขึ้นฟุตเตจและภาพนิ่งตัวตนจริงของแต่ละคน พร้อมคำบรรยายให้เห็นว่าจุดจบของแต่ละคนก็ไม่พ้นเงื้อมมือกฏหมาย หาเงินทองมาได้มากมายแต่ก็ไม่ได้ใช้กัน

สรุปได้ว่า American Made เป็นหนังชีวประวัติน้อยเรื่อง ที่เล่าเรื่องราวได้สนุกเกินคาด สมแล้วที่ได้คะแนนดีทั้ง IMDB และ Rottentomatoes อย่าให้หน้าหนังที่ดูไม่น่าสนใจ พาเราพลาดหนังสนุก ๆ ไปอีกเรื่องครับ

ภาพแบร์รี่ ซีล และ พาโบล เอสโคบาร์ ตัวจริง ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญในหนัง

แถมท้ายให้นิด หนังมีเหตุน่าสลดในวันสุดท้ายของการถ่ายทำ นักบินสตันท์แมนระหว่างบินกลับจากการเข้าฉากในโคลัมเบียเจอสภาวะหมอกลงจัดเป็นเหตุให้เครื่องตกเสียชีวิตพร้อมนักบินร่วม แต่ก็นับว่าเป็นโชคดีของทอม ครุยส์ ที่บินกลับมาด้วยเฮลิคอปเตอร์ในเส้นทางและสภาวะอากาศเดียวกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook