เมื่อ “พิช วิชญ์วิสิฐ” จับเข่าคุยกับ “มิว รักแห่งสยาม” ความบันเทิงก็ได้เริ่มต้นขึ้น
เหตุผลง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ที่ พิช – วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล อยากจัดการแสดงเดี่ยวในชื่อ Private Conversation: A Farewell to Love of Siam ขึ้น ก็เพราะปีนี้เป็นวาระครบรอบ 10 ปีที่ภาพยนตร์ รักแห่งสยาม ออกฉาย และแจ้งเกิดให้เขามีนามสกุลพ่วงติดตัวว่า พิช รักแห่งสยาม หรือพิช ออกัส มานานร่วมทศวรรษ
และโปรดอย่าเข้าใจผิด คิดว่านี่เป็นงานเลี้ยงฉลอง แต่พิชตั้งใจจัดงานอำลาตัวตนเก่า เพื่อก้าวไปสู่การเป็น “พิช วิชญ์วิสิฐ” เต็มตัวเสียที
“สำหรับพิช anniversary เป็นการครบรอบเฉยๆ ไม่ใช่การเฉลิมฉลอง ไม่ได้แปลว่า 10 ปีแล้ว เรามาฉลองกันเถอะ แต่มันคือ ผ่านมา 10 ปีแล้ว เกิดอะไรขึ้นบ้าง เราผ่านอะไรกันมา และได้เรียนรู้อะไรบ้าง ดังนั้น การแสดงครั้งนี้คือการทิ้งทวน เซย์กู้ดบาย ไม่ต้องมานับอายุกันต่อ ลาแล้วกับการเป็นพิช รักแห่งสยาม เพราะพิชจะไปทำอย่างอื่นต่อแล้ว เราควรจะเดินหน้าต่อด้วยนามสกุลอื่นได้แล้ว”
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงอยากนั่งคุยกับ มิว เด็กหนุ่มผู้โดดเดี่ยวที่ใช้เสียงเพลงในการบอกเล่าความรู้สึก ถึงเรื่องราวในวันวานจนถึงวันนี้ของมิว ว่าเขาได้เติบโตขึ้นแค่ไหน ได้เรียนรู้อะไรบ้าง และปัจจุบันกำลังคิดอะไรอยู่
การแสดง Solo Performance ในชื่อ Private Conversation: A Farewell to Love of Siam เป็นส่วนหนึ่งของหลากหลายกิจกรรมใน Freeform Festival เทศกาลศิลปะ การแสดง และงานทดลองต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคมนี้ ที่แอ็กเมน เอกมัย โรงเรียนร้างระหว่างซอยเอกมัย 13 และ 15 ที่กำลังจะกลายร่างเป็นสเปซใหม่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งด้วยความแปลกใหม่ของพื้นที่แห่งนี้ ทำให้วิชญ์วิสิฐนึกถึงไอเดียจัดการแสดงเดี่ยวครั้งนี้ขึ้นมาได้
“พิชเคยทำละครเวทีมิวสิคัลแบบเล่นคนเดียวมาก่อนเมื่อต้นปีที่แล้ว เรื่อง Cocktails the Musical เรื่องนั้นเขียนเพลงเอง คิดเรื่องเอง แต่ไม่ได้กำกับเอง ผลลัพธ์ก็ประสบความสำเร็จพอสมควร ได้รางวัลทางการละครมาบ้าง” เขาเล่าถึงประสบการณ์แสดงเดี่ยวครั้งก่อน ที่เกิดขึ้นหลังจากพิชขลุกอยู่ในวงการละครเวทีมาได้ 5 ปี
“พิชชอบละครเวทีตรงที่มันจบไปเป็นโปรเจคท์ๆ และแต่ละรอบก็ไม่เหมือนกัน มันมีความสดของมัน ที่สำคัญคือ เป็นงานที่เราเห็นความตั้งใจของคนดู เขาจ่ายตังค์เพื่อมาดูเราแสดงด้วยความตั้งใจจริงๆ และเราก็ได้รับฟีดแบ็กให้ได้ยินได้เห็นทันที โดยไม่ต้องไปรอจากที่ไหน แถมเรายังแก้มือได้ด้วยการทำงานชิ้นต่อไป อีกอย่างคือ ทุกวันนี้มีโมเดิร์นเธียเตอร์เกิดขึ้นหลายแห่ง เราไม่จำเป็นต้องแสดงในโรงละครอย่างเดียว สามารถเล่นตามสวน หรือในคาเฟ่ก็ได้ เราสามารถเปลี่ยนที่ใดที่นึงให้เป็นสเปซขึ้นมาได้ ก็เลยรู้สึกว่า มันสะดวกกับเรา”
เมื่อได้พื้นที่ถูกใจ ไอเดียก็พลุ่งพล่านขึ้นในหัว
“พิชเริ่มปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าถ้ามีช่วงเวลาที่เราได้กลับไปคุยกับตัวละคร (มิว) มันจะเป็นยังไง ณ เวลานั้นผ่านมาจนถึงตอนนี้ เราก็ผ่านเวลา ได้เรียนรู้อะไรต่างๆ ดังนั้น มันก็เหมือนการคุยกับตัวเองเมื่อสิบปีที่แล้ว ซึ่งพอเรากลับไปดูเรื่อง รักแห่งสยาม อีกรอบ ก็เห็นถึงความแตกต่างจากตอนนี้หลายอย่าง เช่น ตอนนั้นเราเคยสงสัยบางคำถาม ณ วันนี้เราได้คำตอบแล้ว หรือในบางเรื่องเราก็เพิ่งตั้งคำถามกับมันตอนสิบปีให้หลัง ตอนแรกมีหลายประเด็นที่พิชอยากพูดมาก แต่ต้องตัดออกให้พอดีกับเวลา 1 ชั่วโมง”
“ปกติเวลาทำงาน พิชจะได้เรียนรู้ผลของงานหลังจากที่เราทำโชว์จนจบโปรเจคท์ไปแล้ว แต่สำหรับงานนี้ พิชเกิดความเข้าใจหลายอย่างเกิดขึ้นระหว่างที่ทำไปด้วย เพราะมันคือการคุยกับตัวเอง คุยไปจนถึงจุดที่ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เฮ้ย แล้วเราทำอันนี้ทำไมวะ หรือจะไม่ทำแล้ว เพราะเราก็เริ่มเข้าใจแล้วนี่หว่า” เขาหัวเราะให้กับความสับสนในใจ เมื่อคุยกับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ “แต่สุดท้ายแล้วมันก็น่าจะดี ถ้าเราแชร์ให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย ดังนั้น ขั้นตอนต่อมา ก็คือ การเลือกวิธีการบอก ว่าจะบอกด้วยการร้องเพลง การพูดเบาๆ การกระซิบ หรือจะตะโกนบอกคนดู”
ตลอดการแสดงทั้ง 9 รอบ เราจะได้เห็นวิชญ์วิสิฐพูดคนเดียวตลอด 1 ชั่วโมง ทำให้เรานึกสงสัยว่า เขาเคยพูดคนเดียวในชีวิตประจำวันบ้างรึเปล่า
“พิชเป็นคนพูดกับตัวเองไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว เหมือนคนบ้า คนเพ้อเจ้อ” เขายิ้มพลางตอบคำถามต่อสมมติฐานของเรา “อย่างเวลามีปัญหาชีวิต ตอนอาบน้ำก็จะบอกตัวเองว่า ฉันทำได้ๆๆ หรือพอหลังจากที่ชีวิตดีขึ้นแล้ว ตอนแปรงฟันอยู่ก็จะบอกตัวเองว่า ฉันกลับมาแล้วๆๆ” พิชหัวเราะร่า
“การพูดกับตัวเองมันเป็นการอยากได้ยินสิ่งที่เราคิด อย่างเวลาเราไปกินเหล้ากับเพื่อน ฟังเพื่อนระบาย แล้วเราก็แนะนำมันต่างๆ นานา ลองนึกดูดีๆ บางครั้งเราไม่ได้ตั้งใจจะบอกเขานะ แต่เราต้องการที่จะได้ยินและยืนยันกับตัวเองว่าสิ่งที่เราคิดมันถูก เราแค่หาตุ๊กตาตัวนึงมาวางข้างหน้าแล้วพูดกับมัน เพื่อที่จะย้ำว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้อง”
และเพื่อชวนคนอื่นให้ร่วมคิดผ่านการตั้งคำถามไปด้วยกัน พิชจึงเปิดเวทีให้ใครที่เคยสงสัยในตัวเขา ตัวละครอย่างมิว หรือใดๆ ก็ตามใน “รักแห่งสยาม” ส่งคำถามผ่านทาง https://www.facebook.com/freeformformfree/ เพื่อให้เขาตอบใน Private Conversation ครั้งนี้ หลังจากที่เมื่อสิบปีก่อนเขาเคยเป็นคนไม่ตั้งคำถามต่อสิ่งใด ซึ่งส่งผลกระทบต่อใจในวันนี้
“ตอนนั้นพี่มะเดี่ยว (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม) บอกให้ทำอะไร เราก็ทำตามอย่างว่าง่าย โดยพยายามไม่คิดต้าน เพราะถ้าเราตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องทำแบบนี้ การแสดงของมือใหม่อย่างเราก็จะติดขัด แต่กลายเป็นว่า ณ วันนี้ การไม่ตั้งคำถามก็เป็นผลเสียเหมือนกัน บางทีเวลาจะทำอะไร เราต้องตั้งคำถามว่าเราทำไปทำไม นี่เป็นเหตุผลที่พิชอยากชวนคนมาร่วมตั้งคำถาม เพราะบางทีเราคิดว่าเรารู้เรื่องนี้ แต่คนอื่นอาจจะยังไม่รู้ และทั้งที่บางคำถามก็เก่ามาก อย่างคำถามที่เจอมากที่สุดคือ จูบกับมาริโอเป็นยังไงบ้าง (หัวเราะ) แต่เรารู้สึกว่า อย่างน้อยเขาก็ถาม ซึ่งดีกว่าคนไม่ถามอะไรเลย อย่างน้อยการถามทำให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไป
“Private Conversation ก็เลยเป็นการถามตัวเอง ตอบตัวเอง ถามแล้วตอบไม่ได้ก็หาคำตอบเอาตรงนั้น ถ้าสุดท้ายไม่รู้ พิชก็จะตอบว่าไม่รู้”
ซื้อบัตรไปดู ไปฟังวิชญ์วิสิฐคุยกับตัวเองได้ที่ https://www.ticketmelon.com/event/farewelltoloveofsiam