ชวน "หมิว ลลิตา" พูดถึง "มธุสร" ผู้หญิงที่ "ล่า" เพราะรัก
หากย้อนกลับไปเมื่อ 23 ปีก่อน ละครเรื่อง “ล่า” ที่สร้างจากบทประพันธ์ของคุณทมยันตี โด่งดังและสร้างการจดจำมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ล่า” มีเนื้อหาค่อนข้างรุนแรง เล่าเรื่องของมธุสร หญิงสาวที่ตัดสินใจพาลูกสาวออกไปมีชีวิตใหม่หลังแยกทางกับสามีเจ้าชู้ ชอบใช้กำลัง แต่เพราะโชคร้าย ลูกสาวของเธอถูกคนโฉดรุมข่มขืนในขณะที่เธอช่วยเหลือไม่ได้ จากนั้นมธุสรจึงออก “ล่า” ทรชนทั้ง 7 เพื่อชดใช้ในสิ่งที่เธอและลูกสาวต้องสูญเสีย
ไม่เพียงความหม่น ความกดดันที่ทำให้ละครเรื่อง “ล่า” ได้รับการยอมรับ แต่อีกส่วนผสมที่ลงตัวคือการแสดงเข้าถึงอารมณ์ผู้ชมจนทำให้นักแสดงชั้นครู "นก-สินจัย เปล่งพานิช" ผู้รับบท "มธุสร" ในตอนนั้นสามารถคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2537 จากเวทีโทรทัศน์ทองคำมาครอบครอง
เมื่อวันนี้ “ล่า” ถูกนำมาปัดฝุ่นสร้างเป็นละครอีกครั้งโดยได้ "หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส" นักแสดงระดับฝีมือ มารับบท มธุสร หญิงสาวผู้โชคร้าย ไม่เพียงเป็นความท้าทายของทีมงาน หมิว ลลิตา นักแสดงที่คอละครอาจจดจำเธอในภาพ "ปริศนา" สาวน้อยสดใสร่าเริงของท่านชายพจน์ "การบูร" หญิงสาวผู้มีความมั่นใจจากละคร "ยามเมื่อลมพัดหวน" และบทบาทอื่นๆ อีกมากมาย แต่สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สร้างความอึดอัด จนเจ้าตัวถึงกับเอ่ยปากว่า มธุสรคือบทบาทที่ท้าทายบทหนึ่งในชีวิตนักแสดงของเธอ
ตั้งแต่ได้รับการทาบทามให้มารับบท “มธุสร” หมิว ลลิตาใช้เวลาตัดสินใจอยู่นานเนื่องจากเป็นบทที่ค่อนข้างหนักและรุนแรง แต่ในฐานะนักแสดงที่โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงมาอย่างยาวนาน การที่ยังคงมีคนเห็นความสามารถพร้อมยื่นบทบาทสุดท้าทายนี้ให้ สำหรับเธอถือเป็นเรื่องน่ายินดี ต้องตอบรับ แม้จะมีความกังวลอยู่บ้างในช่วงแรก “ตอนแรกเรากังวลเพราะเรื่องค่อนข้างรุนแรง กลัวลูกไม่เข้าใจ แต่เพราะลูกๆ ดูหนังเยอะ พวกเขาเลยเข้าใจว่านี่คืองานของแม่”
ด้วยบทบาทของมธุสรในเรื่องคือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ชีวิตต้องดิ้นรน และเลี้ยงลูกเพียงลำพัง เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์เลวร้ายจนเกินจะรับไหว มธุสรต้องเปลี่ยนจากผู้หญิงไม่สู้คนกลายเป็นนักล่าหลายบุคลิก การหาแหล่งอ้างอิงถึงพื้นฐานความคิดและอารมณ์ของผู้เผชิญจุดหักเหครั้งใหญ่ในชีวิต จึงกลายเป็นการบ้านที่หมิว ลลิตาต้องทำงานอย่างหนัก “ หลังตัดสินใจรับบทมธุสร พี่ไม่ออกไปไหนเลย ทำการบ้านอยู่ที่บ้านตลอด ไม่ออกไปเจอใคร คิวถ่ายส่วนมากเป็นวันพฤหัสฯถึงวันอาทิตย์ วันที่เหลือเราก็นั่งศึกษาบท”
บทมธุสรเคยถูกตีความผ่านทั้งเวอร์ชันที่เป็นภาพยนตร์รับบทโดย อรัญญา นามวงศ์ รวมไปถึงรูปแบบละครทีวีรับบทโดยนก สินจัย เปล่งพานิช ด้วยเหตุนี้ หมิว ลลิตาที่ต้องมารับบทมธุสรในปี 2560 จึงมีโอกาสได้ชมบทบาทการแสดงของเวอร์ชั่นเดิมย้อนหลังเพื่อศึกษาเป็นแนวทาง แต่ผู้กำกับ ทีมงานหรือแม้แต่เธอเองกลับเลือกที่จะศึกษาอารมณ์จากแหล่งอื่นเพิ่มเติม เพื่อดีไซน์การแสดงเป็นมธุสรในแบบฉบับหมิว ลลิตา
“นักแสดงต้องใช้จินตนาการ แต่บางทีเราต้องอาศัยตัวอย่างจากหนังที่เคยสร้างมาแล้ว เราต้องศึกษาเกี่ยวกับนักแสดงในเรื่องที่มีความรู้สึกใกล้เคียงกับคนที่มีลักษณะเป็นแบบมธุสร หรือบางครั้งเราต้องศึกษาจากสารคดีเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิต คนที่พูดกับตัวเองหลายๆ คน แม้ตอนดูจะรู้สึกสงสาร แต่ในฐานะนักแสดงเราต้องขอหยิบส่วนนั้นเข้ามาใช้ในการแสดง เพราะเราไม่ได้มีต้นแบบนั้นอยู่ในตัว สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราศึกษาตัวละครได้ลึกซึ้งมากขึ้น”
เป็นเวลาถึง 6 เดือนที่หมิว ลลิตาต้องเก็บความเป็นมธุสรไว้กับตัวเอง มธุสรเป็นตัวละครที่ไม่เคยยิ้ม ไม่เคยหัวเราะตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะหลังเจอเหตุการณ์ในค่ำคืนอันแสนโหดร้าย ในฐานะผู้ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และการแสดงของมธุสรเธอจึงต้องรู้สึกเครียด ในขณะที่ต้องสร้างความเครียดควบคู่ไปด้วย
“การเข้ามารับบทนี้ต้องเครียดอยู่แล้ว มันเป็นบทที่ต้องใช้อารมณ์ เราต้องใช้ความเครียดเป็นงานในขณะที่ตัวเราเองต้องทำหน้าที่สร้างความเครียดขึ้นมาเพื่อใช้ในการแสดง แต่การสร้างความเครียดนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะบ่มเพาะความเครียดให้เกิดขึ้นในตัวเรา แต่จริงๆ แล้วมันคือการทำสมาธิเพื่อให้เราเข้าถึงบทละคร เราจะให้เวลากับมันเมื่อมีฉากสำคัญ แต่เราไม่ได้อยู่กับมันตลอดเวลา เพราะเราไม่สามารถทำงานกับความเครียดได้ ทุกอย่างมันมีระยะเวลา เทคนิค และวิธีการของมัน เมื่อจบวันทุกอย่างต้องจบ เราจะไม่พกความเป็นมธุสรกลับบ้าน”
ละครเรื่องล่าปิดกล้องไปนานจนละครออนแอร์อย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้ ระหว่างการทำงานที่ค่อนข้างหนักสำหรับทั้งทีมงานและเหล่านักแสดง ความทับซ้อนหนึ่งที่น่าจะทำให้เราเชื่อว่า หมิว ลลิตา คือมธุสรได้ดีนั่นคือทั้งเธอและมธุสรมีความเป็น “แม่” เหมือนกัน และนั่นน่าจะเป็นสิ่งเดียวที่ หมิว ลลิตา บอกว่าเธอเหมือนกับมธุสร และใช้พลังความเป็น “แม่” เข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่างที่มธุสรทำลงไป
“เรากับมธุสรคงมีแค่ความเป็นแม่เหมือนกัน แต่มธุสรก็คือผู้หญิงที่คุณทมยันตีสร้างขึ้นมาตามประสบการณ์ และเราเพียงเข้ามาสวมบทบาทนี้ ความเป็นแม่อาจช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกที่จะต้องปกป้องและทำเพื่อลูก แต่มันคงเทียบไม่ได้กับมธุสรหรือคนที่เขาเจอเรื่องราวเหล่านั้นและรู้สึกบอบช้ำจริงๆ”
จริงอยู่ที่มธุสรเป็นแค่ตัวละครหนึ่งจากบทประพันธ์ แต่มันไม่เกินจริงที่เราพบว่ามี “มธุสร” อยู่ในสังคมทุกยุค ทุกสมัย ผู้หญิงโชคร้าย ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ และทุกคนอาจเผชิญกับการเป็น “มธุสร” ได้หมด ในฐานะผู้ที่เข้ามารับบทมธุสร หมิว ลลิตา ก็หวังแต่เพียงว่า มธุสรจะเป็นผู้หญิงที่ช่วยเตือนทุกคนไม่ให้ประมาทกับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเลือกคู่ครอง การดำเนินชีวิต และการตัดสินใจกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ