รีวิว Darkest Hour ชั่วโมงพลิกโลก

รีวิว Darkest Hour ชั่วโมงพลิกโลก

รีวิว Darkest Hour ชั่วโมงพลิกโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วินสตัน เชอร์ชิล รัฐบุรุษอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ 2 สมัย หาใช่ตัวละครแปลกหน้าในโลกภาพยนตร์ ด้วยจำนวนหนังและซีรีส์ร่วม 70 เรื่อง ยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความเป็น ไอคอนทางการเมืองคนสำคัญของอังกฤษ

แต่ใครเลยจะรู้ว่าก่อนการมาถึงของ ทั้งชื่อเสียงและวีรกรรมทางการเมืองอันห้าวหาญ กลับมีรูปลักษณ์เป็นเพียงชายแก่ ดื่มหนัก สูบซิการ์จัดแบบมวนต่อมวนจน ฝุ่นควันคละคลุ้งไม่ต่างจากคำติฉินนินทามากมาย ทั้งการเป็นแกะดำของพรรคอนุรักษ์นิยม หรือแม้กระทั่งการได้ชื่อว่าเป็นโมฆะบุรุษพูดพึมพำ ร่างท้วม ขี้โรคแต่กลับไม่ยอมศิโรราบแม้ถูกกดดดันจาก ครม.ให้เจรจาสันติภาพกับนาซี

และ Darkest Hour คือหนังเรื่องนั้นที่นำเสนอ 2-3 สัปดาห์แรกของการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีท่ามกลางข้อกังขาของผู้คนรอบข้าง ได้แทบนั่งเก้าอี้ไม่ติดและยังเปี่ยมรสนิยมในการนำเสนอเรื่องราวช้ำๆที่ถูกเล่ากันจนเกร่อได้อย่างมีชั้นเชิง

Continuous effort – not strength or intelligence – is the key to unlocking our potential.
ศักยภาพคนเราต้องมาจากความมานะอย่างไม่ย่อท้อ หาใช่ความฉลาดหรือพละกำลัง

-วินสตัน เชอร์ชิล-

ความสนุกประการแรกของ Darkest Hour หาใช่ฉากสงครามปึงปัง ยิงกันสนั่นจอ แต่คือความดุเดือดจากการสร้างขั้วขัดแย้งระหว่าง วินสตัน เชอร์ชิล กับบุคคลรอบข้าง ทั้งในทางการเมืองที่ทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมรวมถึงพระเจ้าจอร์จที่ 6 ต่างแสดงความเคลือบแคลงใจต่อสถานะนายกรัฐมนตรีของเขา

หรือกล่าวง่ายๆ เชอร์ชิลเข้ามารับตำแหน่งแบบหนังหน้าไฟโดยแท้ ดังนั้นใน Darkest Hour เราจะเห็นวินสตัน เชอร์ชิลในฐานะมนุษย์ปุถุชนธรรมดาๆ ที่ยังกังขาในการตัดสินใจของตัวเองท่ามกลางสถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อความล่มจมทั้งตัวเองและประเทศชาติ แถมบ่อยครั้งเรายังรู้สึกได้ว่าเขาต้องต่อสู้เพียงลำพัง

ซึ่งหนังก็ถ่ายทอดผ่านภาษาภาพยนตร์ออกมาได้อย่างมีชั้นเชิงซึ่งต้องชื่มชม โจ ไรต์ ผู้กำกับเปี่ยมวิสัยทัศน์จาก Atonement ที่สามารถลำดับจัดวางเรื่องราวเสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่สร้างประวัติศาสตร์โลกของเชอร์ชิลแบบใกล้ชิด จนเหมือนตัวละครหายใจรดต้นคอคนดูโดยไม่ทิ้งอารมณ์ขันและดราม่าชวนซาบซึ้ง โดยเฉพาะฉากบนรถไฟใต้ดินตอนท้าย ที่แสดงถึงความงดงามของประชาธิปไตย เมื่อผู้นำโลกเลือกเสียงประชาชนเป็นแสงสว่างใน “ชั่วโมงอนธการ”  ที่เชื่อว่าใครดูจะต้องประทับใจแน่นอน

Courage is what it takes to stand up and speak; courage is also what it takes to sit down and listen.
นอกจากความกล้าที่จะยืนหยัดพูดในสิ่งที่เชื่อแล้ว ความกล้ายังรวมถึงการนั่งรับฟังคนที่เห็นต่างอีกด้วย

-วินสตัน เชอร์ชิล-

และคงเป็นเรื่องผิดบาปแน่ๆหากถึงบรรทัดนี้แล้ว ผมไม่กล่าวถึงการแสดงของ แกรี โอลด์แมน ในบท วินสตัน เชอร์ชิล ซึ่งจะว่าไปบทอดีตนายกรัฐมนตรีร่างท้วมพูดพึมพำเหมือนอยู่ในลำคอแทบจะกลายเป็นบทล่ารางวัลสำเร็จรูปไปแล้วสำหรับนักแสดงอังกฤษบนจอภาพยนตร์ เฉพาะเวทีลูกโลกทองคำปีที่แล้ว จอห์น ลิธการ์ด ก็เพิ่งคว้ารางวัลนักแสดงสมทบชายสาขาซีรีส์ก่อนแกรี โอลด์แมน ไปเสียด้วยซ้ำจนการหามุมมองใหม่ๆมาถ่ายทอดตัวละครนี้แทบจะมืดมนอนธการดั่งชื่อเรื่องเลยทีเดียว แต่ดั่งคำคมของวินสตัน เชอร์ชิลที่ว่าคนคิดบวกมักมองหาโอกาสในงานยากๆเสมอ แกรี่ โอลด์แมน เลือกทำวิจัยย่อมๆและสกัดมาเป็นคีย์เวิร์ดทางการแสดงคือการใช้เสียงทั้งฟังคลิปเสียงของเชอร์ชิลตัวจริง อ่านชีวประวัติ ปูมข่าว จนเขาสามารถเก็บมาเป็นข้อมูลเพื่อออกแบบการแสดงทั้งการพูดแบบติดลมหายใจติดขัดเพราะสูบซิการ์จำนวนมาก (ที่โอลด์แมนเองก็เลือกสูบซิการ์จริงๆถึง 400 มวน) รวมถึงลักษณะพื้นฐานตัวละครอย่างการพูดพึมพำ พูดไม่ชัด พูดติดอ่างแต่กลับทำให้ภาพรวมออกมาเหมือนโอลด์แมนได้ขายวิญญาณตนเองเพื่อแลกกับการเป็นวินสตัน เชอร์ชิล จนตลอด 2 ชั่วโมงของหนังคนดูจะรู้สึกเหมือนวินสตัน เชอร์ชิล กำลังเล่าเรื่องราวด้วยน้ำเสียงของตัวเองอย่างแท้จริง

The pessimist sees difficulty in every opportunity. The optimist sees the opportunity in every difficulty. คนคิดบวกมักมองหาโอกาสในงานยากๆเสมอ

วินสตัน เชอร์ชิล

แต่กระนั้นอุปสรรคในการสร้างตัวละครวินสตัน เชอร์ชิลก็หาได้หมดไม่... สิ่งหนึ่งที่ประจักษ์ชัดต่อคนดูมาตลอดคงหนีไม่พ้นการที่ผู้สร้างมักเลือกหยิบจับนักแสดงที่ แก่-อ้วน-ดูขึงขัง เจ้าอารมณ์ มารับบทนี้ ต่างจาก โอลด์แมน ที่ขาดคุณลักษณะแบบ “เชอร์ชิล” ทุกประการ

แต่ปัญหาด้านกายภาพก็หมดไปด้วยฝีมือของเมคอัพเอฟเฟกต์ คาซูฮิโร ซูจิ ที่ม็อคอัพร่างกายอ้วนท้วมและเสริมปรับแต่งรูปหน้าของโอลด์แมนได้อย่างแนบเนียนจนน่าจะมีโอกาสได้เห็นชื่อศิลปินเมคอัพเอฟเฟกต์คนนี้บนเวทีออสการ์อีกครั้งอย่างแน่นอน

ภาพ The Night Watch ของศิลปิน เรมแบรนต์ ที่มักเน้นแสงสาดลงมาจากที่สูงลงตรงกึ่งกลางภาพ โดยทิ้งพื้นหลังให้เกิดความมืดมิด สร้างแสงเงาในภาพได้อย่างละมุนตา

ภาพจากฉากรัฐสภาเปรียบเทียบการจัดแสงที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานเขียนของ เรมแบรนต์

แม้กระทั่งฉากเข้าเฝ้าถวายตัวรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างวินสตัน เชอร์ชิลกับพระเจ้าจอร์จที่ 6 ก็ยังได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนของเรมแบรนต์

และแน่นอนว่าเราไม่อาจละเลยงานกำกับภาพและออกแบบเสียงของหนังได้ ตั้งแต่การจัดแสงแบบเรมแบรนต์ที่มักให้แสงสาดมาจากหน้าต่างสูงๆลงมาตกกระทบใบหน้าหรือตัวนักแสดงท่ามกลางแบคกราวด์ที่แทบจะถูกความมืด กลืนกินดุจเดียวกับภาพ Nightwatch (1642) ของเรมแบรนต์ ศิลปินเอกชาวดัตช์

ซึ่งผ่านการคิดมาอย่างดีจากวิสัยทัศน์ของ บรูโน เดลบอนเนล ผู้กำกับภาพชาวฝรั่งเศส ที่เคยออกแบบภาพเท่ๆ ในหนังโรแมนติกโดนใจเด็กแนวอย่าง Amélie  [2001] และหนังเพลงภาพสุดจี๊ดอย่าง Across The Universe (2007)  ส่วนอีกเรื่องที่ขอพูดถึงเป็นการปิดท้ายคือการออกแบบเสียงอันชาญฉลาดของหนัง โดยขอหยิบยกฉากหลังถ่ายทอดเสียงแถลงการณ์ของเชอร์ชิล ที่หนังจงใจให้เราได้ยินเสียงการขยับร่างกายของเขาทั้งการนำกล่องไม้ขีดเคาะกับราวเหล็ก ไปจนถึงเสียงฝีเท้าที่ดังสนั่นเพื่อสื่อให้เห็นชายคนนึงที่แบกโลกไว้ทั้งใบได้อย่างคมคาย

We make a living by what we get, but we make a life by what we give. เราหาเลี้ยงตัวเองจากเงินเดือนที่ได้รับ แต่เราทำชีวิตให้มีความหมายด้วยการให้ผู้อื่น

-วินสตัน เชอร์ชิล-

และด้วยความประณีตทั้งงานกำกับของโจ ไรต์, การกลายเป็นวินสตัน เชอร์ชิลของแกรี โอลด์แมนแบบเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว ไปจนถึงงานออกแบบภาพและเสียงก็ทำให้ Darkest Hour กลายเป็นหนังการเมืองที่ทำให้ประวัติศาสตร์กลับมามีชีวิต โดยไม่ทิ้งอารมณ์ขันและแสดงถึงความงดงามของเสรีภาพและประชาธิปไตยได้อย่างน่าประทับใจ จนการออกจากโรงภาพยนตร์แล้วมาเปิดทีวีดูข่าวการเมืองบ้านเรากลายเป็นโศกนาฏกรรมไปเลย

Darkest Hour ฉาย 11 มกราคมนี้

 

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ รีวิว Darkest Hour ชั่วโมงพลิกโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook