8 เรื่องน่ารู้ก่อนดูภาคส่งท้าย Maze Runner: The Death Cure
ในที่สุดภาคสุดท้ายปิดไตรภาค “วงกตมฤตยู” ก็ได้ฤกษ์เข้าโรงฉายเสียที หลังจากต้องเลื่อนโปรแกรมฉายมานานเกือบปี สืบเนื่องมาจากอุบัติเหตุในกองถ่ายหนัง ส่งผลให้หนังเสร็จช้ากว่ากำหนด (และแน่นอนว่ามันส่งผลเสียต่อหนังตรงที่ว่า คนดูที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับหนังเรื่องนี้อาจจะหมดความสนใจไป เนื่องจากหนังภาค 2 ค่อนข้างอ่อนด้อยกว่าภาคแรก) ประกอบกับหนังในกลุ่ม Young Adult ที่เสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว (ภาคสุดท้ายของ The Hunger Game แป้กกว่าที่คิด) อย่างไรก็ตาม Maze Runner: The Death Cure ก็ยังจัดได้ว่ามันเป็นหนังฟอร์มใหญ่เปิดหัวปีนี้ ที่คุณไม่ควรพลาดอยู่ดี
1.เกิดอะไรในหนังภาคแรก
โธมัส (ดีแลน โอ ไบรอัน) ตื่นขึ้นมาขณะเขากำลังถูกส่งตัวไปยังทุ่งที่เรียกว่าเดอะเกลด เขาสูญเสียความทรงจำว่าตัวเองเป็นใครและเพราะเหตุใดเขาจึงได้กลายเป็นสมาชิกของชุมชนคนหนุ่มสาว ซึ่งในกลุ่มนั้นมี มินโฮ (ไค ฮอง ลี) ผู้นำนักวิ่งในเขาวงกต, นิวท์ (โธมัส โบรดี-แซงสเตอร์) เพื่อนรักและที่ปรึกษา, แกลลี (วิลล์ โพลเตอร์) ผู้นำและศัตรู และเทเรซา (คายา สโคเดลาริโอ) ชาวทุ่งเพียงคนเดียวที่เป็นผู้หญิงซึ่งถูกส่งตัวเข้ามาเป็นคนสุดท้ายและอาจมีความเป็นมาอันดำมืดร่วมกับโธมัส พวกเขาถูกขังไว้ด้วยกัน ล้อมรอบด้วยกำแพงสูง 200 ฟุตและเขาวงกตที่แปรสภาพไปตลอดเวลา พวกเขาพยายามหนีออกมาจากเขาวงกตจนสำเร็จ
2.เกิดอะไรในภาค Maze Runner: The Scorch Trials
เมื่อชาวทุ่งหนีออกจากเขาวงกตได้สำเร็จแต่กลับต้องมาพบสถานที่รกร้างว่างเปล่าที่เรียกว่าแดนมอดไหม้ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดมรณะที่แปรสภาพร่างของพวกเขาให้คล้ายคลึงกับซอมบี้ โธมัสและชาวทุ่งที่เหลือได้มาพบพันธมิตรใหม่พร้อมค้นพบเงื่อนงำเกี่ยวกับกลุ่มลึกลับที่อยู่เบื้องหลัง “การทดสอบ” ทั้งหมด นั่นก็คือองค์กรที่มีชื่อว่า WCKD
3.แล้ว Maze Runner: The Death Cure เกี่ยวกับอะไรบ้าง
แรงจูงใจขององค์กร WCKD ปรากฏชัดยิ่งขึ้น ดร. เอวา เพจ ผู้อำนวยการของ WCKD ใกล้จะค้นพบสิ่งซึ่งเธอเชื่อว่าสามารถรักษาโรคร้ายที่เรียกว่าโรคแฟลร์ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่คร่าชีวิตประชากรโลกไปเป็นจำนวนมาก แต่การรักษานี้ได้มาจากการสังเวยคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าจะมีภูมิต้านทานโรค
โธมัสต้องการช่วยให้คนที่ถูกจับตัวมาเป็นหนูทดลองได้เป็นอิสระ รวมถึงมินโฮเพื่อนของเขาด้วย เขาจึงต้องร่วมมือกับผู้รอดชีวิตที่เหลือทั้งเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่เพื่อเข้าต่อสู้ในสถานที่ซึ่งอาจเป็นเมืองสุดท้ายและเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของ WCKD
4.ความแตกต่างของฉากหลังในแต่ละภาค
ในฐานะผู้กำกับหนังทั้งสามภาค เวส บอลล์ อธิบายความแตกต่างระหว่างโลกที่เกิดเหตุการณ์ในแต่ละภาคว่า หนังภาคแรกที่มีเขาวงกตจะให้ภาพของคอนกรีตและความผุพัง ภาคสองจะเป็นผืนทรายและสนิมในแดนมอดไหม้ ส่วนภาคนี้ The Death Cure เป็นโลกของกระจกและเหล็ก แต่ละภาคต่างก็มีโทนสีของตัวเอง แต่โลกของเหล็กและกระจก โลกที่ชาวทุ่งไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามีอยู่จริงนี่เองที่กลายเป็นเป้าหมายเมื่อพวกเขาเปิดฉากต่อสู้กับ WCKD
5.เมืองสุดท้าย ในโลกของ Maze Runner
ทีมงานได้เดินทางไปยังเมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ ซึ่งเมืองแห่งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลกในปี 2014 โดย International Council of Societies of Industrial Design และนับว่าเป็นฉากอันสมบูรณ์แบบสำหรับใช้เป็น “เมืองสุดท้าย” ด้วยกลุ่มอาคารสูงและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ จึงกลายมาเป็นฉากหลังของหนังภาคนี้
6.จับตาฉากปล้นรถไฟ
ฉากแอ็คชั่นที่โดดเด่นมากในหนังภาคนี้คือ ฉากบุกปล้นรถไฟสนุกดีครับ ทีมนักแสดงกล่าวว่าฉากนี้เป็นฉากไฮไลท์ในการถ่ายทำหนังภาคนี้กันเลยทีเดียว เนื่องจากโลเคชั่นที่ทะเลทราย แถมอากาศที่ทะเลทรายคาลาฮารีก็ร้อนมาก ยังไม่รวมไปถึงฉากเสี่ยงตายที่นักแสดงต้องเล่น มีทั้งกระโดดลงจากรถและปีนขึ้นรถไฟ โดยรถไฟที่พวกเข้าบุกเข้าปล้นนั้นบรรทุกบรรดาหนุ่มสาวซึ่งล้วนมีภูมิคุ้มกันโรคแฟลร์และกำลังมุ่งหน้าไปยังห้องทดลองของ WCKD
7.จุดมุ่งหมายอันแท้จริงของ WCKD
จุดมุ่งหมายของ WCKD เป็นปัญหาทางศีลธรรมที่ท้าทายอย่างยิ่ง ดร. เอวา เพจคือตัวละครที่ห่วงใยในตัวผู้มีภูมิคุ้มกันอย่างแท้จริง แต่เธอก็มีความตั้งใจแรงกล้าที่จะต้องทำให้สำเร็จ ตัวละครของเธอไม่อาจรับมือกับความล้มเหลวได้ง่ายนัก เพราะเธอไม่เคยมองเห็นความล้มเหลวจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเธอ และตัวละครนี้มีบทพูดที่ทรงพลังที่เธอบอกว่า ‘มันไม่ใช่เรื่องของการล้มเลิก แต่คือการรู้ตัวว่าคุณพ่ายแพ้ไปแล้วต่างหาก’
ยิ่งไปกว่านั้นถ้าจะมองอีกด้านหนึ่งเราจะพบว่าองค์กร WCKD พวกเขาไม่ได้ทำเพื่อผู้ติดเชื้อและไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และไม่ได้ทำเพื่อรักษาชีวิต นั่นเป็นแค่คำพูดไร้สาระที่องค์กรปั้นแต่งขึ้นมา พวกเขาทำเพื่อเงินเท่านั้น
8.ผู้กำกับเวส บอลล์กับการบอกลาแฟรนชายส์นี้
ผู้กำกับเวส บอลล์คือผู้กำกับที่ปลุกปั้นหนังภาคแรกมาจนถึงภาคส่งท้าย เขามีวิธีมองภาพรวมของหนังก่อนที่จะลงมือถ่ายทำ หนังเรื่องนี้จึงอาจจะไม่ใช่หนังแฟรนไชส์แต่เป็นเหมือนหนังยาวมากๆหนึ่งเรื่อง หนังจึงมีสไตล์เฉพาะตัว มีวิสัยทัศน์เฉพาะตัว เขามีโทนอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนใคร มีความเป็นเด็กอยู่ในตัวสูง แถมความพิเศษของหนังชุดนี้คือการถ่ายทำบนจอแบบต้องอาศัยกรีนสกรีนและวิชวลเอฟเฟ็กต์ที่เขาใส่เข้ามาในภายหลัง ทำให้ผู้กำกับต้องมีความแม่นยำในการทำงานเป็นอย่างมาก
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ