รีวิว THE POST จุดยืนของฐานันดรที่ 4

รีวิว THE POST จุดยืนของฐานันดรที่ 4

รีวิว THE POST จุดยืนของฐานันดรที่ 4
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คำว่าฐานันดรที่ 4 นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจาก เอ็ดมันต์ เบิร์ก ( Edmund Burke  1729 – 1797 ) นักการเมืองและนักทฤษฎีการเมืองชาวอังกฤษ ผู้สร้างหลักฐานขึ้นใหม่จากพื้นฐานทางจารีตประเพณีเดิมของอังกฤษมี 4 ฐานันดรได้แก่ ฐานันดรที่ 1 กษัตริย์ ( The Monarchy) ฐานันดรที่ 2 ศาสนา (The Church of England) ฐานันดรที่ 3 รัฐสภา (The Parliament) ฐานันดรที่ 4 หนังสือพิมพ์ (The Press)

หน้าที่ของฐานันดรที่ 4 คือการกระจายข้อมูลข่าวสาร ไปสู่ความรู้เห็นของพลเมือง และยังมีภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์แห่งกาลสมัยของตน ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญในการรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติประการหนึ่ง เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่อง The Post ที่ว่าด้วยเรื่องราวการตีแผ่เอกสารลับทางทหารของประเทศอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม โดยหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์

ตัวหนังโฟกัสไปที่ตัวละครอย่าง แคทธาริน แกรห์ม (เมอร์ริล สตรีพ)  เจ้าของสำนักพิมพ์หญิงคนแรกของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์และบ.ก.ผู้มุ่งมั่น เบน แบรดลี (ทอม แฮงค์ส) ที่ได้รับเอกสารลับซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นความลับอันใหญ่หลวงของรัฐบาลที่ครอบคลุมเวลาอันยาวนานกว่าสามทศวรรษและอยู่ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีถึงสี่คนด้วยกัน

หนังเผยให้คนดูเห็นถึงกระบวนการทำงานของสำนักหนังสือพิมพ์ที่แข่งขันกับเวลา ในขณะที่ฝ่ายบริหารอย่าง แคทธาริน เองก็ต้องต่อสู้กับฉันทาคติจากสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ในยุคสมัยนั้น ว่าการขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารแทนสามีผู้ล่วงลับของเธอนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิดเดียว

การรับมือกับการบริหารงานเป็นความยากเย็นประการหนึ่ง แต่สิ่งที่สาหัสกว่านั้นคือการที่เธอและเบน ต้องเผชิญนั้นคือการตัดสินใจเลือกความถูกต้อง (เปิดโปงความลับของรัฐบาลอเมริกา) หรือจะเลือกรักษาบริษัทและผู้ถือหุ้น (รักตัวเอง อยู่ในกรอบแห่งความปลอดภัย) ตลอดช่วงเวลากว่าครึ่งเรื่อง เราจะได้เห็นแนวความคิดของตัวละครอันหลากหลาย และตัวละครเหล่านี้คือ “สื่อมวลชน” ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของคนข่าว ที่ทำหน้าที่ของฐานันดรที่ 4 อย่างสุดความสามารถ

ถ้าหากคนดูจะประเมินว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังประวัติศาสตร์อันแสนน่าเบื่อหน่าย คงต้องบอกว่านั่นเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะนี่คือผลงานการกำกับของพ่อมดแห่งฮอลลีวูดอย่าง สตีเว่น สปีลเบิร์ก แถมยังได้นักแสดงดีกรีออสการ์ทั้งสองคนมาเติมรสชาติทางการแสดง อีกทั้งหนังยังใส่กลิ่นอายความระทึกขวัญแบบหนังการเมืองเข้ามา ทำให้บรรยากาศหลายครั้งในหนัง คนดูเหมือนถูกคุกคามจากศัตรูที่มองไม่เห็น (รัฐบาล) ที่แผ่อำนาจปกคลุมอยู่ตลอดเวลา

เหนืออื่นใดนอกจากความบันเทิงและแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่คนดูได้รับจากหนังเรื่องนี้แล้ว มันยังตั้งคำถามถึงการทำงานของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบันที่ “รูปแบบของสื่อ” เปลี่ยนแปลงจากหน้ากระดาษไปสู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ความรวดเร็ว ฉับไว และคุณภาพในการเป็นฐานันดรที่ 4 นั้น พวกเราชาวสื่อฯ ทำหน้าที่เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองอย่างเดียว หรือมองไปถึงภาพใหญ่อันหมายถึง “สังคม” ด้วย

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ รีวิว THE POST จุดยืนของฐานันดรที่ 4

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook